ประเทศที่ยังมีมหาวิทยาลัย (แต่ไม่รู้ทำไงกับการอุดมศึกษา)

ประเทศที่ยังมีมหาวิทยาลัย (แต่ไม่รู้ทำไงกับการอุดมศึกษา)

ในช่วงนี้หลายมหาวิทยาลัยมีการหยั่งเสียงและสรรหาผู้บริหารมหาวิทยาลัยชุดใหม่ ซึ่งมหาวิทยาลัยที่ผมทำงานก็มีเรื่องนี้กับเขาเหมือนกัน

จะมาพูดถึงระบบมหาวิทยาลัยของไทย เรื่องที่สนุกแล้วต้องคุยให้คนทั้งโลกฟังก็คือ มหาวิทยาลัยของไทยโดยเฉพาะที่เรียกว่ามหาวิทยาลัยของรัฐ ซึ่งเดี๋ยวนี้เขาน่าจะเรียกว่ามหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ เพราะอ้างว่าออกนอกระบบกันแล้ว

แต่สิ่งที่น่าสนใจกว่านั้นก็คือ เมื่อ “ออกนอกระบบ” สมัยที่ออกนอกระบบใหม่ๆ เมื่อสักยี่สิบปีก่อนทุกคนก็คงนึกว่ามันจะมีเสรีภาพ มีอิสระในการทำงาน

Advertisement

มาจนถึงวันนี้เป็นไงล่ะครับ ลองมาตั้งหลักแล้วถามอะไรง่ายๆ ไหมครับว่า “ระบบที่ออกมานั้น” มัน “คือระบบอะไรกันแน่?”

พูดง่ายๆ ก็คือทุกคนทราบกันดีว่าเมื่อออกนอกระบบมาแล้ว ระบบใหม่ที่กำกับมหาวิทยาลัยนั้นสลับซับซ้อนมากขึ้นกว่าเดิมหลายเท่า ทั้งเรื่องระเบียบ เรื่องการเงิน เรื่องอันดับมหาวิทยาลัยในประเทศและโลก รวมทั้งเรื่องความคิดในการบริหารมหาวิทยาลัยและสร้างระบบการศึกษาที่เรียกว่าระดับอุดมศึกษาของประเทศนี้

นี่ยังไม่นับแรงกดดันทางธุรกิจ การบริหารเพื่อแสวงหารายได้ในการ “เลี้ยงตัวเอง” ของแต่ละมหาวิทยาลัย ซึ่งมันสะท้อนชัดว่ามันเชื่อมโยงกับการตัดสินใจสำคัญของผู้คนในประเทศนี้ ที่คนจากหลายชนชั้นต้องเลือกมหาวิทยาลัยในแบบที่ถูกจำกัดโดยฐานะทางเศรษฐกิจอย่างจริงๆ จังๆ มีตังค์น้อยก็ต้องไปเรียนในบางแห่งมากกว่า

Advertisement

เรื่องพื้นฐานเลยครับ เถียงกันแต่ว่า กยศ.ควรกู้ หรือให้เรียนฟรี ดอกเบี้ยมีเท่าไหร่ ก็เถียงกันต่อไป มหาวิทยาลัยก็มีล้นกว่าจำนวนเด็ก

ยังไม่คิดแม้แต่จะสร้างทุนอย่างจริงจังให้เด็กส่วนหนึ่งสามารถสอบเข้าเรียนได้ด้วย หรือมีโครงการใช้ทุนเมื่อเรียนจบนอกจากพวกสายสาธารณสุข เช่นสาขาอื่นก็ควรจะได้เรียนในราคาที่ถูกลง หรือฟรี แต่เลือกใช้ทุนกับชุมชน หรือกับองค์กรต่างๆ บ้าง นี่คือเรื่องพื้นฐานที่ยังไม่ได้ทำ ไม่ได้คิด

ระบบพื้นฐานที่สร้างความเครียดให้กับเด็กคือสอบให้ติดก่อน แล้วมาขอทุนที่หลัง กระบวนการให้ทุนก็เชยโบราณ ต้องมาแสดงความขาดแคลนให้คณะกรรมการดู ทั้งที่น่าจะออกแบบระบบการให้ทุนการศึกษาที่ดีกว่านี้

ถ้ามหาวิทยาลัยเป็นหนึ่งในศูนย์กลางของความศรัทธาแล้ว การบริจาคทุนให้มหาวิทยาลัยเหมือนสถาบันอื่นๆ ที่ศักดิ์สิทธิ์ก็คงจะต้องมีมากกว่านี้แหละครับ (อย่าว่าแต่มหาวิทยาลัยเลยครับ โรงพยาบาลยังเถียงกันเรื่องสามสิบบาท และงบประมาณ ทั้งที่ถ้าค่านิยมของสังคมคิดว่ามหาวิทยาลัย โรงเรียน และโรงพยาบาลมันสำคัญทางจิตวิญญาณของพวกเราจริงๆ ยอดบริจาคมันต้องมากกว่านี้ เพราะสถาบันการศึกษา และสถาบันด้านสาธารณสุข เป็นรากฐานสำคัญของรัฐ สังคม และเศรษฐกิจของประเทศ)

อีกเรื่องที่สำคัญก่อนจะเข้ารายละเอียดก็คือ จากสัปดาห์ก่อนที่พูดเรื่องการวัดผล PISA ไป แล้วสิ่งหนึ่งที่เรายังไม่ได้คิดกันมากก็คือผลกระทบที่มาจากโควิดที่มีต่อระบบการศึกษาของไทย ซึ่งเอาเข้าจริงโควิดประมาณสามปีนี่ผมว่าอย่างน้อยมันสร้างปัญหาให้สังคมไทยได้ประมาณหนึ่งทศวรรษเป็นอย่างน้อยล่ะครับ

เอาง่ายๆ ตอนโควิดสามปีนี่การเรียนในระดับมหาวิทยาลัยมันกระท่อนกระแท่นเต็มทน ตั้งแต่ปีหนึ่งบางรุ่นที่ไม่ได้เจอกันทั้งปี บางคนมาเจอกันจริงๆ ปีสาม

บางคนมาเจอกันปีหนึ่ง แต่เป็นวิชาพื้นฐาน พอเข้าภาควิชาก็ไม่ได้เรียนลงลึกเฉพาะทางอย่างจริงจัง

บางคนช่วงใกล้จบซึ่งสำคัญ ก็หายไปปีนึง

ไม่นับปริญญาโทและเอกที่หลายคนพลาดโอกาสไปแลกเปลี่ยน หรือเข้าห้องทดลองในบางเวลา แม้กระทั่งเก็บข้อมูลที่สำคัญ

นั่นคือกระทบไปแล้วส่วนหนึ่งที่ใกล้ตัวผม

นี่โควิดจบก็คือเรากำลังสอนเด็กรุ่นใหม่ที่รากฐานไม่แน่นตอนมัธยมปลาย เพราะพวกเขาเรียนมัธยมปลายมาอย่างกระท่อนกระแท่น และถ้าในระดับบัณฑิตศึกษา พวกเขาก็เรียน ป.ตรีมาอย่างกระท่อนกระแท่น

อีกไม่เกินสองสามปีเราก็จะเจอเด็กที่พื้นฐานมัธยมต้นกระท่อนกระแท่นมาก่อน

สรุปว่าการศึกษาที่ได้รับผลกระทบจากโควิดมันลึกและกว้างมาก เรื่องนี้ไม่ได้แค่นำมาบ่น แต่คงต้องถามว่าอย่างน้อยในระดับมหาวิทยาลัยจะมีการเตรียมความพร้อมของเด็กรุ่นใหม่ๆ ที่จะมาเข้าเรียนได้อย่างไร

แทนที่จะวนกันอยู่แต่เรื่องควรมีกิจกรรมรับน้องไหม หรือระเบียบการแต่งกายจะเป็นอย่างไร

เรื่องต่อมาก็คือ นั่งฟังผู้บริหารมหาวิทยาลัยพูดเรื่องวิกฤตการศึกษาแล้ว ส่วนมากเป็นเรื่องของวิกฤตของมหาวิทยาลัย ไม่ใช่วิกฤตของการอุดมศึกษา

อธิบายใหม่ก่อนว่า บางทีการเข้าใจทั้งมหาวิทยาลัยและการอุดมศึกษาในบ้านเราอาจไม่ใช่เรื่องเดียวกัน มหาวิทยาลัยเกิดเมื่อไหร่ อันนี้จับต้องได้ไม่ยาก

แต่ถ้าจะถามว่า “การอุดมศึกษา” หรือ higher education ของประเทศไทยมีเมื่อไหร่

หรือมีแล้วหรือยัง

อันนี้โคตรจะตอบยาก

เพราะมหาวิทยาลัยในฐานะที่เป็นสถาบันที่กฎหมายกำหนด มี พ.ร.บ. มีระเบียบ มีองค์กร และบุคลากรทำงานอันนี้จับต้องได้

แต่มหาวิทยาลัยในฐานะที่ทำหน้าที่ในการให้บริการด้านอุดมศึกษา และผลิตความรู้ในระดับอุดมศึกษา อันนี้ตอบได้ยาก

ตอบง่ายๆ คือมีตามมาตรฐานฝรั่ง หรือไม่มีเพราะเป็นเพียงวิ่งไล่ตามฝรั่ง

ตอบให้ยากคือ ความพยายามสร้างและผลิตความรู้ รวมทั้งการมีบทบาทของมหาวิทยาลัยในสังคมตนเอง และการสร้างผู้คนให้เขามีชีวิตที่สมบูรณ์ ไม่ใช่แค่พร้อมจะออกไปสู่ตลาดแรงงาน เรื่องนี้จะมาฟันธงว่ามีหรือไม่มีไม่ได้ ต้องค่อยๆ ทำความเข้าใจไปในแต่ละกรณี

แต่สิ่งที่ฟันธงได้คือ ผู้บริหารทุกมหาวิทยาลัยแข่งขันกันโชว์วิสัยทัศน์การบริหารมหาวิทยาลัยไปสู่มหาวิทยาลัยในระดับโลก

ตั้งแต่เรื่องงบวิจัย การผลิตผลงานวิจัย การตีพิมพ์ในวารสารมาตรฐานโลก คือสิ่งที่ต้องมีต้องสนับสนุน

และการสร้างวิสัยทัศน์ประเภทคน งาน เงินต้องไปด้วยกัน (เด็กเรียนบริหารปีหนึ่ง หรือเรียน ปวช.ก็พูดได้)

สิ่งที่หายไปก็คือการถกเถียงเรื่องคุณค่าของมหาวิทยาลัยในการแก้ปัญหาประเทศ มากกว่ารางวัลและจำนวนงานวิจัย

และสิ่งที่สำคัญคือการถกเถียงเรื่องปรัชญาการศึกษา โดยเฉพาะปรัชญาของการศึกษาในระดับอุดมศึกษาที่มากไปกว่าการไล่จับตัวชี้วัดว่าตอนนี้เขาวัดด้วยอะไร ก็ทำตามไปเรื่อยๆ

ไม่ใช่ว่าตัวชี้วัดไม่สำคัญ เพราะเอาจริงตัวชี้วัดต่างๆ มันถูกพัฒนามาจากข้อถกเถียงในเรื่องของปรัชญาการศึกษาอยู่ไม่น้อย

แต่การทำไปวันๆ และพัฒนาผู้เชี่ยวชาญในการวัดประเมิน สุดท้ายมันก็คือการสร้างระบบอุตสาหกรรมและพิธีกรรมในการวัดประเมินที่หลอกตัวเองไปเรื่อยๆ โดยไม่กล้ายอมรับว่าแต่ละมหาวิทยาลัยจะมีจุดเด่นของตัวเองอย่างไร เพราะปลายทางคือการถูกจับแปะประจานว่าอยู่ตรงไหนในกระดานคุณภาพการศึกษาโดยเปรียบเทียบ (เอาจริงๆ คุยกับคนที่เขาอยู่ในระดับบริหารระบบประกันคุณภาพ เขายังบอกเลยว่ามันเป็นเหมือนระบบการตรวจสุขภาพของเรา บางทีต้องทำความเข้าใจให้ลึกซึ้งกว่านั้น และมีไว้เพื่อปรับปรุง หรือเฝ้าระวัง หรือวางแผนให้อยู่ภายใต้ข้อจำกัด ไม่ใช่มีไว้เอามาบีบพนักงานไปเรื่อยๆ)

ระบบแบบที่เป็นอยู่ท้ายสุดมันก็คือการสร้างความแปลกแยกให้กับบุคลากรการศึกษา

และก็โทษกันเองไปเรื่อยๆ พวกทำวิจัยเก่งก็มองว่าพวกสอนมากเป็นภาระ พวกสอนมากก็มองว่าพวกวิจัยเก่งสอนน้อยก็ผลักภาระการสอนมาให้พวกเขา ไม่เกิดความสมานฉันท์ของผู้คนในองค์กรที่จะร่วมกันต่อรองอะไรได้ และรู้สึกถึงความเป็นชุมชน ท่ามกลางแนวโน้มที่ทุกคนกลายเป็นพนักงานบริษัทเข้าไปทุกที

อีกเรื่องหนึ่งที่ต้องตั้งคำถามกับความไม่พอดีกันของระบบมหาวิทยาลัยกับระบบอุดมศึกษาก็คือ ระบบมหาวิทยาลัยไทยวัดได้ว่าเริ่มเมื่อไหร่ แต่ระบบการสรรหาผู้บริหารพิสดารล้ำลึก ซึ่งก็ไม่ได้หมายความว่าต้องเป็นประชาธิปไตยระดับหาเสียงกันตรงๆ นั้นมันมีผลดีกับมหาวิทยาลัย และสังคมจริงๆไหม?

ระบบมหาวิทยาลัยไทยหาเสียงแบบกระมิดกระเมี้ยนภายใต้ระบบคนดีบอกต่อ คนดีบอกต่อที่ผู้ใหญ่ หรือผู้มีอำนาจจิ้มเอา การแสดงวิสัยทัศน์แม้ว่าจะอ้างว่าแสดงให้ประชาคม แต่คนเลือกไม่ใช่คณะผู้เลือกตั้ง แต่เป็นกลุ่มคนเล็กๆ กลุ่มหนึ่งที่มีสิทธิตัดสินใจ

ที่เลือกๆ กันไปถ้าบริหารไม่ดี ใครรับผิดชอบ

หรือว่าก็จิ้มกันมา ก็อยู่ๆ กันไป พนักงานมหาวิทยาลัยและนักศึกษาก็ทำตาปริบๆ กับมหาวิทยาลัยต่อไปอีกสี่ปีแปดปี

ในแง่ของปรัชญาการศึกษาในระดับอุดมศึกษา สิ่งที่ขาดหายไปคือการมองว่ามหาวิทยาลัยจะเป็นทางออกให้สังคมอย่างไร อันนี้อย่าไปฝัน เพราะมหาวิทยาลัยสนใจจะมีอันดับในโลก และมองว่าตัวเองเป็นมหาวิทยาลัยระดับโลก

ช่วงนี้ผมไม่แน่ใจว่ามีผู้บริหารคนไหน หรือว่าที่ผู้บริหารคนไหนออกมาระบุว่าปัญหาของสังคมไทย และปัญหาของชุมชนที่มหาวิทยาลัยตั้งอยู่ในคืออะไร และมหาวิทยาลัยจะใช้ความรู้ในระดับอุดมศึกษาในการแก้ปัญหานี้อย่างไร

หลายปีก่อนผมเห็นผู้บริหารมหาวิทยาลัยยังรวมตัวขับไล่รัฐบาลอยู่เลย (คือเลยขั้นให้ข้อเสนอ) และไม่นานจากนั้นก็เข้าไปเป็นกรรมการของรัฐบาลเผด็จการตั้งหลายชุด

ผมเห็นมหาวิทยาลัยพยายามทำตามตัวชี้วัดเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่แปลก ไม่นับจะสร้างหลักสูตรมากมาย

แต่ต้องไม่ลืมว่าแนวคิดการพัฒนาที่ยั่งยืนเหล่านี้มันมาจากการต่อสู้อันยาวนานของการท้าทายความรู้และปฏิบัติการบางอย่างในโลกจนกระทั่งมันถูกยอมรับกลายเป็นแนวคิดกระแสหลัก

เหนือสิ่งอื่นใดเรายังต้องตั้งคำถามและผลักดันการสร้างองค์ความรู้ในเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืนให้ลึกซึ้งขึ้น ไม่ใช่แค่กางตัวชี้วัดและทำไปเรื่อยๆ หรือเลือกทำแค่บางข้อ

เอาเข้าจริงวันนี้ผมไม่เห็นใครพูดถึงปรัชญาการศึกษากันอีกต่อไป และไม่เห็นคนพูดเรื่องอะไรที่ไปไกลกว่าการพัฒนาที่ยั่งยืนในหมู่ผู้บริหารสักเท่าไหร่ และในสังคมภาพรวม

บางทีอาจเป็นยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป เพราะในสมัยก่อนความเฟื่องฟูในเรื่องของการถกเถียงเรื่องจิตวิญญาณ ความหมายของชีวิตที่เป็นเรื่องที่คนหนุ่มสาวสนใจ มีหนังสือที่หาการศึกษาทางเลือก แนวทางหลุดพ้น ความคิดเรื่องเสรีภาพ การท้าทายแนวคิดเหตุผลแบบตะวันตกออกมาเกลื่อน

ตอนนี้มีแต่เรื่องของดิสรัปชั่น โอกาสในวิกฤต การนำเอาความรู้ไปสู่ตลาด

ลองตั้งคำถามต่อจาก PISA ในสัปดาห์ที่แล้ว สิ่งที่พบก็คือ ถ้า PISA เขาวัดพื้นฐานว่าหลักการศึกษาภาคบังคับแล้วเด็กในสังคมจะเอาตัวรอดอย่างไร

การตั้งคำถามกับเรื่องของการศึกษาระดับอุดมศึกษาก็คือ การศึกษาที่สูงกว่านั้นจะสร้างและพัฒนาเด็กอย่างไร ให้เขาเป็นคนเต็มคน ให้เขาแสวงหาความหมายของชีวิตได้ ไม่ใช่เกิดปัญหาแบบที่ผ่านมาว่าเรียนไม่ตรง ไม่รู้จะเรียนอะไร กระโดดตึกตายก็มีทุกปี

มหาวิทยาลัยไม่ได้หมดบทบาท หรือถูกท้าทายโดยเอไอ หรือโลกออนไลน์ง่ายๆ หรอกครับ ถ้ามหาวิทยาลัยเข้าใจว่าอยู่ตรงไหนในการสร้างและให้บริการด้านอุดมศึกษา

มัวแต่ไปวนเวียนกับเรื่องความรู้ ข้อมูล เทคนิค ก็จมอยู่กับคู่แข่งที่ไม่ใช่คู่แข่งไปวันๆ แบบที่เอามาพูดจาหากินกันนั่นแหละครับ

ซ้ำไปว่ามหาวิทยาลัยบางแห่งยังเป็นเจ้าของธุรกิจเสียเอง แต่ยังหาตัวแบบการลงทุนที่ไม่สร้างความยั่งยืนให้กับชุมชน

ผมไม่ได้คิดว่าเด็ก หรือนักศึกษาควรจะมีสิทธิเต็มร้อยในการเลือกผู้บริหารหรอกครับ แต่ผมไม่เห็นกระบวนการทำงานร่วมกันว่ามหาวิทยาลัยกับเด็กจะมีเป้าหมายเดียวกันในการก้าวไปด้วยกัน

ผมไม่เห็นระบบการต่อรองของมหาวิทยาลัยกับนายจ้างและธุรกิจมากกว่าผลิตคนป้อนเข้าระบบ ทั้งที่ธุรกิจและเอกชนจะต้องมีระบบการเทรนที่แตกต่างจากมหาวิทยาลัย เพราะเอกชนเป็นองค์กรแสวงหากำไร แต่มหาวิทยาลัยแม้ออกนอกระบบแต่เขาต้องเป็นสถาบันสาธารณะในกำกับของสังคม

แม้กระทั่งมหาวิทยาลัยเอกชนก็ยังเน้นย้ำคุณธรรมอีกหลายประการที่ผลิตคนเข้าสู่สังคม เพราะมหาวิทยาลัยในต่างประเทศที่ไม่ใช่มหาวิทยาลัยรัฐเขาไม่ได้เกิดจากบริษัท แต่เขาเกิดจากความรักและศรัทธาต่อความเชื่อ และการส่งต่อคุณงามความดีให้กับลูกหลาน ท้องถิ่น ชุมชน เขาอาจเป็นองค์กรแสวงหารายได้ แต่ไม่ใช่องค์กรแสวงหากำไร

การมีระยะห่างกับระบบธุรกิจและเอกชนจึงเป็นเรื่องสำคัญ ไม่ใช่ปฏิเสธ แต่ต้องมองก่อนว่ามหาวิทยาลัยยังเป็นพื้นที่ในการสร้างเสรีภาพให้พวกเขาได้คิดได้ทดลองเพื่อได้มาซึ่งความรู้ และมหาวิทยาลัยอาจต้องเสนอแนวทางที่สำคัญให้สังคมไทยและสังคมโลกเห็นว่า ผู้ที่จบออกมาจากมหาวิทยาลัยแห่งนี้มีคุณค่าพิเศษในทางบวกต่อสังคมอย่างไร จนเป็นแบบอย่างและเป็นที่ยอมรับ

แต่ต้องไม่ใช่เป็นที่ยอมรับเพียงเพราะผู้บริหารและผู้สอนทำตามระบบการออกแบบการศึกษาที่นึกเองคิดเอง แต่ต้องมาจากการมีปฏิสัมพันธ์กับสังคมที่สลับซับซ้อนกว่าระบบเทศกาลการอบรมการออกแบบการศึกษา และการประเมินคุณภาพการศึกษาแบบที่เป็นอยู่ในทุกๆ ปี

สุดท้ายผมคิดว่าเราก็คงจะมีมหาวิทยาลัยต่อไป แต่ความหวังว่ามหาวิทยาลัยกับการศึกษาในระดับอุดมศึกษาจะเชื่อมโยงกันอย่างไรอันนี้ไม่แน่ใจ

เราจะยังมีผู้บริหารมหาวิทยาลัยรุ่นต่อๆ ไป มีมหาวิทยาลัยที่ผลิตความรู้และบัณฑิตต่อไปเรื่อยๆ มีการบริหารมหาวิทยาลัยที่สลับซับซ้อน

แต่เป้าหมายและคุณค่าของการศึกษาในระดับอุดมศึกษาของบ้านเราจะเป็นอย่างไร อันนี้บางทีอย่าเพิ่งรีบไปวัดประเมิน เอาแค่รู้สึก สัมผัส และมีจินตนาการกับมันร่วมกันให้ได้ก่อนน่าจะดีครับ

พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image