มัดรวมการเมืองปลายปี 2566

มัดรวมการเมืองปลายปี 2566

ปลายปี 2566 ซึ่งเป็นปีที่มีความพลิกผันทางการเมืองเป็นอย่างมาก เลยใช้โอกาสนี้บันทึกเรื่องราวต่างๆ เอาไว้สักหน่อย

กอปรกับเมื่อสัปดาห์ที่แล้วมีโอกาสไปแลกเปลี่ยนทรรศนะกับผู้คนในเรื่องนี้อยู่หลายวง ทำให้ได้เรียนรู้เรื่องราวหลายเรื่องที่น่าสนใจเลยนำเอาบางส่วนมาบันทึกเก็บไว้

ประการแรก ปีนี้มีเรื่องของการเลือกตั้งทั่วไปของประเทศไทยเป็นครั้งที่สองหลังจากการทำรัฐประหารเมื่อหลายปีก่อน

Advertisement

หลายปีจนแทบจะจำไม่ได้

หลายปีจนเรียกว่าคนรุ่นหนึ่งเติบโตมาจากความหายไป และความกระท่อนกระแท่นของประชาธิปไตย

สำหรับผมการเลือกตั้งครั้งนี้มีความพิเศษเป็นอย่างมาก

Advertisement

แต่ความพิเศษที่สุดของการเลือกตั้งครั้งนี้น่าจะอยู่ตรงการทำความเข้าใจกรอบเวลาของการเลือกตั้งว่าสิ้นสุดลงเมื่อไหร่

หมายถึงว่าการเลือกตั้งครั้งนี้จะสิ้นสุดลงเมื่อไหร่

โดยทั่วไปการเลือกตั้งกับการตั้งรัฐบาลมักจะเป็นกระบวนการเดียวกัน หมายถึงว่า เราพอจะมองออกว่าการเลือกตั้งนั้นเมื่อผลออกมามันจะสะท้อนออกมาถึงเจตจำนงของประชาชนผู้เลือกและพรรคการเมืองที่เสนอตัวเข้าชิงชัยในการเลือกตั้งครั้งนั้น

การพลิกขั้วย้ายข้างทางการเมืองไม่ได้เกิดขึ้นง่ายๆ ถ้าจะมีก็อาจจะเป็นพรรคเล็ก หรือพรรคกลางสักพรรคหนึ่ง ไม่ใช่พรรคใหญ่ดังที่เป็นมา

เรียกว่าในประวัติศาสตร์การเมืองไทยอาการสลับขั้วย้ายข้างทางการเมืองแบบที่เป็นอยู่หลังการเลือกตั้งในครั้งนี้ไม่เคยมีมาก่อน

สิ่งที่พอเทียบเคียงกันได้ก็ยากเย็น

จุดเทียบที่หนึ่งคือ การเมืองในยุค พล.อ.เปรม ที่มีลักษณะของการที่ไม่มีใครบอกหรอกว่าเลือกตั้งแล้วจะยกให้ป๋าเป็นนายกฯ แต่ด้วย “ข้อมูลใหม่” บางอย่างที่ทำให้พรรคประชาธิปัตย์จำต้องกลับคำ

จุดเทียบที่สองคือ ในช่วงหลังคือหลังรัฐธรรมนูญปี 2540 และผ่านความขัดแย้งสีเสื้อ คงเป็นไปได้ยากที่การจัดตั้งรัฐบาลจะไม่ตรงกับผลการเลือกตั้งเหมือนในครั้งนี้

ไม่นับคำมั่นสัญญาต่างๆ ที่แต่ละฝ่ายให้ไว้ในช่วงหาเสียง

กล่าวโดยสรุป สำหรับผมแล้วการเลือกตั้งในรอบนี้เราจะต้องมองตั้งแต่ช่วงการหาเสียง มาจนถึงช่วงสิ้นสุดการเลือกตั้ง นับคะแนน แล้วก็ต้องลากยาวมาถึงช่วงการจัดตั้งรัฐบาลจนสำเร็จ

ไม่ใช่แค่ช่วงที่ผลการเลือกตั้งสำเร็จ เพราะการเลือกตั้งจะต้องมีนัยยะของการจัดตั้งรัฐบาลจนเป็นผลสำเร็จด้วย

ประการที่สอง ความตื่นตัวของประชาชนในรอบนี้มีความสำคัญเป็นอย่างมาก นอกเหนือจากเรื่องของการแพร่ขยายของสื่อออนไลน์

เพราะสื่อหลักเองก็ลงมาเล่นในโลกออนไลน์ด้วย

สิ่งที่เป็นตัวพลิกผันสำคัญคือเวทีดีเบตที่ขยายตัวไปเป็นอย่างมาก และเป็นการขยายตัวที่เห็นว่าบางฝ่ายของพรรคการเมืองไม่ให้ความสนใจในเรื่องนี้ ขณะที่พรรคอย่างก้าวไกลให้ความสำคัญในเรื่องนี้เป็นอย่างมาก

เพื่อไทยเองอาจจะยังเชื่อยุทธศาสตร์เดิมว่าไม่ต้องให้ความสนใจมากก็ยังจะได้คะแนน เช่น ในครั้งเลือกตั้งสมัยที่คุณยิ่งลักษณ์นำทัพก็ไม่ได้ไปดีเบต แต่ในโลกวันนี้ความเปลี่ยนแปลงในเรื่องความถี่ของการดีเบต และที่สำคัญการต้องตอบคำถามกับพิธีกรที่แต่ละคนก็สั่งสมประสบการณ์มานาน และรวบรวมความสงสัยจากประชาชนที่หลากหลายกลายเป็นเรื่องสำคัญ

แม้กระทั่งการขึ้นไปเผชิญหน้ากับฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง ซึ่งเป็นสิ่งที่หลายฝ่ายดูจะพึงใจว่าในความเป็นจริงการเมืองรัฐสภาก็จะต้องมีความเจริญทางจิตใจและสติปัญญาในระดับหนึ่ง แม้จะวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างไรก็ตาม

ประการที่สาม มีคำถามว่า ตกลงคะแนนเสียงที่เราเห็นในครั้งนี้คือที่สุดที่ก้าวไกลจะได้เสียงแล้วหรือยังก้าวไกลจะสามารถได้เสียงมากกว่านี้ในครั้งต่อไปหรือไม่

ผมคิดว่าคงจะยังพิสูจน์ไม่ได้ง่ายๆ เพราะยังมีเวลาอีกสามปีที่จะได้เห็นผลงานของพรรคก้าวไกล และต้องไม่ลืมว่าคะแนนเสียงที่เลือกพรรคก้าวไกลในรอบนี้ต่างจากคะแนนเสียงที่เลือกพรรคอนาคตใหม่ในรอบที่แล้ว

เพราะคะแนนเสียงที่เลือกก้าวไกลในรอบนี้ไม่ใช่แค่คนรุ่นใหม่ในทางความหมายของประชากรศาสตร์ แต่เป็นคะแนนที่มาจากเสื้อแดง และคะแนนที่มาจากฝ่ายตรงข้ามของทักษิณที่ไม่พอใจกับการบริหารงานของประยุทธ์ และยังมีคะแนนที่มาจากฝ่ายอื่นๆ อีกด้วย

ดังนั้น ถ้าจะมองคะแนนคนที่เลือกก้าวไกลคงจะต้องมองในแง่ของการเป็นที่ไหลรวมกันของคะแนนจากหลายฝั่งฝ่าย ซึ่งมีความวูบไหวอยู่สูง

ก้าวไกลเองก็คงเข้าใจในจุดนี้แหละครับ

คำตอบของผมคือการทำนายผลคะแนนของก้าวไกลในครั้งต่อไปยังไม่ง่ายนัก และตัวแปรสำคัญคือเรื่องของบ้านใหญ่ด้วย

มาถึงประการที่สี่ นั่นก็คืออนาคตของบ้านใหญ่ทางการเมือง ซึ่งเมื่อผลการเลือกตั้งออกมาเราฟันธงว่าบ้านใหญ่ลดความนิยมลงอย่างชัดเจน หลายจังหวัดบ้านใหญ่พ่ายแพ้ทั้งในเขต และทั้งคะแนนบัญชีรายชื่อ

แต่บางเขตบ้านใหญ่แม้ยังจะได้เขตแต่เพลี่ยงพล้ำกับบัญชีรายชื่อของจังหวัดตนเอง คะแนนของพรรคที่บ้านใหญ่สังกัดนั้นต่ำเตี้ยเรี่ยดินมากในกระดานของบัญชีรายชื่อ

แต่เมื่อมีการจัดตั้งรัฐบาลแล้วเราจะพบว่า พรรคเพื่อไทยได้รวบรวมพรรคที่วางฐานคะแนนไว้ที่บ้านใหญ่เอาไว้ด้วยกัน รัฐบาลนี้จึงเป็นรัฐบาลของบ้านใหญ่ ทำให้เห็นว่าบ้านใหญ่แม้จะแพ้แก่ก้าวไกลทั้งแบบหมดรูป และแบบที่เสียคะแนนบัญชีรายชื่อ แต่บ้านใหญ่ก็ได้มาเชื่อมโยงกับโครงข่ายอำนาจของรัฐบาล

ด้วยเหตุนี้คงจะต้องพิจารณาว่าบ้านใหญ่จะหายไปจริงหรือไม่ หรือจะกลับมากันแน่

และส่วนที่สำคัญก็คือ การเลือกตั้งท้องถิ่นในครั้งต่อไปที่จะถึงบ้านใหญ่จะสามารถยึดครองพื้นที่เพื่อสร้างความมั่นคงในการเลือกตั้งทั่วไปครั้งต่อไปได้แค่ไหน

ผมทำนายได้แค่ก้าวไกลอาจจะยังเจาะพื้นที่เลือกตั้งท้องถิ่นได้ไม่มาก แต่จะไม่เกี่ยวข้องทางตรงกับการเลือกตั้งทั่วไปอีกสามปีข้างหน้ามากนัก

ประการที่ห้า หลายคนวิพาษ์วิจารณ์การทำงานของ กกต.กันมากมาย สำหรับผม กกต.มีหลายส่วนที่ต้องถูกวิพากษ์วิจารณ์เป็นอย่างมาก

แต่สิ่งที่ต้องเข้าใจก็คือ ต้องแยกทำความเข้าใจ กกต.ออกเป็นสามส่วน คือส่วน 5 เสือ กกต. ส่วนสำนักงานหลักของ กกต. และส่วนการปฏิบัติงานของ กกต.ในแต่ละเขตที่เรียกว่าคณะกรรมการ กกต.ประจำหน่วยเลือกตั้ง

ส่วนที่ทำงานหนักและไม่ได้รับความเข้าอกเข้าใจที่สุดคือ ส่วนสำนักงานหลักของ กกต.นั่นแหละครับ พวกนี้ทำงานหนัก คนน้อย และต้องพึ่งพาหน่วยงานอื่นมากจนทำให้ทำงานได้ไม่เต็มที่

หลายครั้งความเห็นต่างๆ ที่เสนอขึ้นไปก็ถูกปัดตก

ส่วน กกต.ที่เป็น 5 เสือ พวกนี้การเมืองสูง บางเรื่องก็ตอบคำถามสังคมได้ยาก ทำไมจึงเคาะเช่นนี้ ทำไมจึงปล่อยบางกรณีให้หลุดมือ

ส่วน กกต.ระดับล่างก็ตรวจสอบได้ยาก เพราะพวกนี้เป็นกลุ่มข้าราชการท้องถิ่นที่รวมตัวกันมารับงานของ กกต. พวกนี้มีดุลพินิจสูง บางเรื่องก็ทำผิดกฎหมายเลือกตั้งเสียเอง และขาดการตรวจสอบจากประชาชน

ดังนั้น การจะจับตาตรวจสอบ กกต.ต้องมีความเข้าใจการทำงานของ กกต.เป็นอย่างมาก คือต้องจับตา และเห็นอกเห็นใจการทำงานของคนเหล่านี้เป็นอย่างมาก และไม่ใช่จะต้องตั้งตนเป็นฝ่ายตรงข้ามกับ กกต.เสมอไป

ประการสุดท้าย แม้การเลือกตั้งและการจัดตั้งรัฐบาลจะจบลงไปแล้ว การทำงานในรัฐสภาก็ยังจะต้องเดินหน้าต่อไป พรรคก้าวไกลเองก็กำลังเผชิญสภาวะที่กระอักกระอ่วนพอสมควรว่าจะทำหน้าที่เป็นแกนนำฝ่ายค้านอย่างไร

ในทางหนึ่งการค้านไม่ใช่จะทำไม่ได้ พรรคฝ่ายค้านในอดีตมีมามาก

แต่การเป็นฝ่ายค้านที่สร้างสรรค์ คือเป็นฝ่ายค้านที่ต้องการจะผลักดันร่างกฎหมายที่เป็นประโยชน์กับสังคม จะค้านแบบหัวชนฝาแบบเดียวเลยก็คงทำได้ยาก

การแสวงหาความเป็นจริงทางการเมืองที่ต้องร่วมมือ และค้านด้วยในการเดินหน้าทางการเมืองจึงเป็นเรื่องที่ท้าทายก้าวไกลเป็นอย่างมาก

ขนาดสองในสามของผู้ก่อตั้งเองยังต้องออกมาส่งสัญญาณบ่อยๆ ถึงการพัวพันที่เหมาะสมกับเพื่อไทยและรัฐบาล หรือการไม่มองว่าเพื่อไทยเป็นศัตรู ซึ่งหลายครั้งแกนนำสองท่านนั้นก็ยังโดนทัวร์ลงจากผู้สนับสนุนก้าวไกลที่หลากหลาย ก็ย่อมแสดงให้เห็นว่าการเดินทางจากนี้ไปของก้าวไกลไม่ใช่เรื่องง่าย

และคงต้องตั้งคำถามว่าในการเลือกตั้งครั้งหน้า ก้าวไกลจะเริ่มแคมเปญการรณรงค์การเลือกตั้ง หรือการกลับสู่โหมดเผชิญหน้าได้เมื่อไหร่

ประการสุดท้าย รัฐบาลนี้ภายใต้การนำของเพื่อไทยจะสามารถเปลี่ยนแปลงการเมืองไปในทิศทางที่ก้าวหน้าเพิ่มขึ้นได้มากแค่ไหน คำตอบของผมคือ ต้องรอดูว่าเมื่อ ส.ว.ชุดนี้สิ้นสุดลง และเมื่อการเลือกตั้ง ส.ว.ชุดหน้าได้ผลออกมาแล้ว เราถึงจะได้เห็นความมุ่งมั่นของเพื่อไทยอย่างแท้จริง

แต่ต้องอย่าลืมว่าการเลือกตั้ง ส.ว.รอบหน้าก็จะไม่ใช่การเลือกตั้งแบบตรงไปตรงมาเหมือนรัฐธรรมนูญ 40 เพราะจะมีการเลือกตามกลุ่มอาชีพ

และบทบาทของคุณทักษิณเองจะอยู่ตรงไหน หลังจากการเปลี่ยนแปลงกฎหมายการคุมขัง และการเคลื่อนไหวเรื่องนิรโทษกรรม

สุดท้ายผมคิดว่าพรรคเพื่อไทยจะเลือกแนวทางการเมืองแบบกลางๆ ค่อนไปทางประนีประนอมกับกลุ่มอำนาจเก่ามากกว่าแนวทางก้าวหน้าแบบก้าวกระโดด เพราะเพื่อไทยเรียนรู้แล้วว่า หากต้องการรักษาอำนาจทางการเมืองเอาไว้ก็มีแต่ต้องเอาฝ่ายที่ขวากว่าเป็นพวกเหมือนครั้งนี้เท่านั้น

การแข่งกันก้าวหน้ากับก้าวไกลอาจจะเสียฐานคะแนนจากพันธมิตรทางการเมืองในรอบนี้ของเพื่อไทย

และนี่คือบางส่วนของการเมืองในรอบปีหน้าที่กำลังจะมาถึงครับผม

พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image