จับตาตรึงพลังงานปี’67 ส.อ.ท.เด้งรับเสนอออกค่าไฟต่ำกว่า3บ.

พลังงานไทยปี 2567 น่าติดตามอย่างมาก เมื่อ นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ฉายภาพแผนการทำงานว่าจะดูแลราคาพลังงานไทยให้อยู่ในระดับนี้ตลอดปี ทั้งค่าไฟ ที่เริ่มเห็นสัญญาณต้นทุนทรงตัว เพราะจะมีปริมาณก๊าซในแหล่งอ่าวไทยเพิ่มขึ้น รวมทั้งน้ำมัน โดยเฉพาะดีเซลต้องอยู่ระดับไม่เกิน 30 บาทต่อลิตรต่อไป นอกจากนี้ ราคาแอลพีจีและเอ็นจีวีจะดูแลให้อยู่ระดับนี้ต่อไปด้วยเช่นกัน

โดยเน้นย้ำว่าทั้งหมดต้องอาศัยความร่วมมือจากรัฐบาล ทุกหน่วยงานรัฐ

แนวทางทำงานจะแบ่งเป็น 2 ส่วนคือ 1.การเดินหน้า รื้อ ลด ปลด สร้าง เต็มรูปแบบควบคู่การดูแลราคาพลังงาน รองนายกฯพีระพันธุ์ประเมินกฎหมายหลายฉบับที่กำลังปรับแก้ รื้อ หรือยกร่างใหม่จะชัดเจนทั้งหมดในปีนี้ อาทิ ประเด็นโครงสร้างราคาน้ำมัน ปัจจุบันประกอบด้วย ราคาหน้าโรงกลั่นของฝั่งเอกชนบวกฝั่งรัฐ คือภาษีต่างๆ ทั้งจากกระทรวงการคลัง และกระทรวงมหาดไทย บวกส่งเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง หรือกองทุนฯอุดหนุน ซึ่งฝั่งรัฐกลายเป็นต้นทุนที่เพิ่มขึ้นเกือบ 100%

ดังนั้น 2.จะหารือกับ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นการหารือระดับรัฐมนตรี เพื่อเป็นนโยบายรัฐบาลในการช่วยเหลือประชาชนอย่างถาวร เพราะโครงสร้างจากรัฐมีมานานตั้งแต่ตั้งกระทรวง ไม่มีการปรับแก้

Advertisement

เมื่อลั่นวาจาจะดูแลราคาพลังงานทั้งปี ฝั่งเอกชนอย่างสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) จึงเด้งรับทันทีเพราะข้อเสนอที่น่าสนใจ

นายอิศเรศ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ระบุว่า ภาครัฐมีนโยบายดูแลราคาพลังงานนับเป็นสิ่งที่ดีเพื่อลดค่าครองชีพประชาชนและต้นทุนให้กับธุรกิจโดยเฉพาะผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและย่อม (เอสเอ็มอี) แต่ทางออกของอัตราค่าไฟฟ้านั้นจำเป็นต้องเดินหน้าแก้ไขที่ต้นเหตุที่มีเป้าหมายในระยะสั้น กลางและยาว โดย ส.อ.ท.ได้จัดทำแนวทางเพื่อเป็นข้อเสนอให้กับภาครัฐที่เกี่ยวข้องที่สำคัญ 2 แนวทางหลัก ได้แก่ 1.เร่งแก้ไขระยะเร่งด่วนเพื่อลดภาระค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (Ft) เพื่อให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยปี 2567 ไม่เกิน 3.60 บาท/หน่วย และ 2.การแก้ไขปัญหาระยะกลางและยาวเพื่อค่าไฟฟ้าเฉลี่ยไม่เกิน 3 บาท/หน่วย

สำหรับแนวทางระยะเร่งด่วนนั้นประกอบด้วย 5 แนวทางสำคัญ ได้แก่ 1.การขับเคลื่อนเชิงรุก ที่คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) และคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ต้องวางแนวทางบริหารเชิงรุกโดยยึดประโยชน์ค่าครองชีพของภาคประชาชน และขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศเป็นที่ตั้ง โดย กพช.เปรียบเสมือน ครม.เศรษฐกิจด้านพลังงาน ควรประสานหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อรับนโยบายและลดความสับสน และตอบโจทย์ประชาชนได้ เช่น ในการประกาศค่า Ft ขณะที่ กกพ.นั้นการพิจารณาค่า Ft ขาดการปรับปรุงข้อมูลค่าพลังงานให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป การเปิดรับฟังความเห็นเนื้อหาเข้าใจยาก ขาดการมีส่วนร่วม จึงต้องพิจารณาให้เกิดความถูกต้อง เปิดเผยและตรวจสอบได้ เป็นต้น

Advertisement

2.บทบาทรัฐวิสาหกิจ ควรสร้างความเข้มแข็งให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ในทุกมิติ ช่วยดูแลด้านสภาพคล่อง เช่น ชะลอส่งเงินเข้ากระทรวงการคลัง ฯลฯ ให้ กฟผ.ดูแลหน่วยงาน System Operator (S.O.) เช่นเดิม การสรรหาผู้ว่าการ กฟผ.ควรปราศจากการแทรกแซง

3.ควรแก้ไขด้านปริมาณ (Supply) ไฟฟ้าที่มากกว่าความต้องการ (Demand) ค่าความพร้อมจ่าย (AP) ควรลดมาร์จินและยืดเวลาโดยสัญญาใหม่ควรลดผลตอบแทนลง (Low risk, Low return) ไม่เร่งปริมาณไฟฟ้าโดยทบทวนแผนพลังงานแห่งชาติ เพิ่มการใช้ไฟโดยสนับสนุนรถขนาดใหญ่ทั้งรถบัสและรถบรรทุกใช้ไฟฟ้าโดยจัดทำมาตรการส่งเสริมการผลิตและการใช้

4.ส่งเสริมและปลดล็อกพลังงานสะอาด เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ ให้สะดวกและเป็นธรรม โดยควรสนับสนุนทั้งภาคครัวเรือนและธุรกิจในการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป โดยครัวเรือนควรผลักดันมาตรการทางการเงินและคลังสนับสนุน ภาคธุรกิจควรยกเว้นขอใบอนุญาตร.ง.4 โดยพิจารณาเฉพาะความปลอดภัยและโครงสร้างอาคาร และทั้ง 2 ส่วนควรสนับสนุนการทำ Net Metering เป็นการชั่วคราวเพื่อเร่งการติด

5.ปรับโครงสร้างก๊าซธรรมชาติ (NG) เพื่อลดมาร์จินของผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็ก (SPP) ลดค่าผ่านท่อก๊าซฯให้เป็นธรรม และเพิ่มประสิทธิภาพการจัดหาทั้ง NG และ LNG (ก๊าซธรรมชาติเหลว) ทบทวนค่าผ่านท่อโดยเฉพาะท่อที่คุ้มทุนแล้ว กำหนดราคาขายก๊าซผู้ผลิตไฟฟ้าทุกประเภท (IPP SPP IPS) ให้เป็นราคาเดียวกันกับ IPP นำเข้า LNG จากประเทศที่มีราคาถูกและเพิ่มการนำเข้า NG จากพม่าให้มากที่สุด เป็นต้น

สำหรับแนวทางแก้ไขระยะกลางและยาวเพื่อค่าไฟฟ้าไม่เกิน 3 บาท/หน่วย ประกอบด้วย 2 แนวทางหลัก ได้แก่ 1.เร่งเจรจาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลระหว่างไทยกับกัมพูชา (OCA) โดยยึดหลักความมั่นคงทางเศรษฐกิจควบคู่ไปกับความมั่นคงเรื่องเขตแดน 2.เร่งเปิดระบบตลาดเสรีทั้งไฟฟ้าและก๊าซธรรมชาติ และลดผูกขาดใดๆ สำหรับการเปิดตลาดเสรีรัฐต้องมีระบบ Smart Grid & Smart Meter โดยเปิดให้มีการขายไฟฟ้าแบบระหว่างบุคคล (P2P) และ Net Metering เปิดให้มีการใช้โครงข่ายไฟฟ้าของการไฟฟ้าฯให้บุคคลที่สาม (TPA) ในอัตรา Wheeling Charge ที่เหมาะสมและเป็นธรรม และ TPA ท่อส่งปัจจุบันเหมาะกับผู้ใช้รายใหญ่ทำให้ผู้ใช้รายย่อยขาดโอกาส ฯลฯ

รองนายกฯพีระพันธุ์จะซื้อไอเดีย ส.อ.ท.หรือไม่ รอลุ้นกัน!!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image