การจัดการขยะ ‘เกาะลันตา’

การจัดการขยะ ‘เกาะลันตา’

การจัดการขยะ ‘เกาะลันตา’

สองปีที่ผ่านมา มีโอกาสร่วมงานที่เกาะลันตาอีกครั้งในฐานะที่ปรึกษาโครงการของสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย จำได้ว่าครั้งแรกที่มากว่า 20 ปีที่แล้ว เพื่อร่วมกับผู้ประกอบการโรงแรมและชาวบ้านกลุ่มหนึ่งหาแนวทางการจัดการขยะภายในเกาะลันตา เวลานั้นการเดินทางต้องขึ้นแพขนานยนต์ 2 ทอด เพราะยังไม่มีสะพานสิริลันตาที่เชื่อมระหว่างเกาะลันตาใหญ่กับเกาะลันตาน้อย ครั้งนั้นได้เห็นเตาเผาขนาดเล็กที่ติดตั้งแล้วโดยกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข แต่ไม่สามารถใช้งานได้ ในบริเวณกองขยะขององค์การบริหารส่วนตำบลศาลาด่าน ซึ่งต่อมาได้รับการยกฐานะเป็นเทศบาลตำบล ส่วนเตาเผาขนาดเล็กตัวนั้น เวลานี้ยังคงอยู่ที่เดิมแต่มีต้นไทรขึ้นปกคลุมจนดูน่าเกรงขามราวกับอนุสาวรีย์ศักดิ์สิทธิ์

ปลายปี 2564 คณะทำงานสถาบันสิ่งแวดล้อมไทยทำการรวบรวมข้อมูลปริมาณขยะที่เกิดขึ้นในท้องถิ่นทั้ง 6 แห่งของอำเภอเกาะลันตา และสำรวจองค์ประกอบขยะปี 2564 สถานการณ์โควิดทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวน้อยกว่าปกติ ปริมาณขยะที่รวบรวมได้ของปีนั้น ประมาณ 45 ตันต่อวัน ขยะส่วนใหญ่กว่า 40% เป็นเศษอาหาร กิ่งไม้ ใบไม้ และมีขยะพลาสติกประเภทต่างๆ มากกว่า 25% นับว่าเป็นสัดส่วนค่อนข้างมากเมื่อเทียบกับสัดส่วนของขยะพลาสติกของเมืองใหญ่ๆ และกว่า 80% ของปริมาณขยะทั้งหมดเกิดขึ้นในพื้นที่ของเทศบาลตำบลศาลาด่านและองค์การบริหารส่วนตำบลเกาะลันตาใหญ่ซึ่งทั้งสองท้องถิ่นเป็นแหล่งท่องเที่ยวมีโรงแรมและร้านอาหารกระจุกตัวเป็นจำนวนมาก สองท้องถิ่นที่มีพื้นที่ติดต่อกัน ขยะถูกจัดเก็บไปเทกองในพื้นที่ติดกัน จนเป็นกองขยะขนาดใหญ่ 2 กองที่ห่างกันไม่เกิน 200 เมตร ต่างฝ่ายต่างจัดการกองของตัวเองตามกำลังขีดความสามารถและทรัพยากร

วิธีกำจัดขยะด้วยการเทกองของท้องถิ่นในอำเภอเกาะลันตา สะท้อนถึงข้อจำกัดด้านงบประมาณและขีดความสามารถของท้องถิ่น มีเพียงเทศบาลตำบลศาลาด่านที่ได้รับงบประมาณให้ก่อสร้างและติดตั้งระบบคัดแยกจากจังหวัดกระบี่ แต่ก็ไม่สามารถเดินระบบได้เพราะขาดงบประมาณสำหรับเป็นค่าใช้จ่ายในการเดินระบบ ปริมาณขยะที่เทกองของแต่ละท้องถิ่นสะสมมากขึ้นเรื่อยๆ จนน่ากังวลว่า เมื่อจำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น ปัญหาการจัดการขยะจะกลายเป็นอุปสรรค ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศที่เปราะบางของความเป็นเกาะในทะเลอันดามัน เกิดผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของชุมชนที่อยู่กันค่อนข้างหนาแน่น

Advertisement

แผนการจัดการขยะในภาพรวมของจังหวัดกระบี่ กำหนดให้มีการรวมกลุ่มของท้องถิ่นในการจัดการขยะแบ่งเป็นกลุ่มท้องถิ่นในเขตอำเภอเมือง และกลุ่มของอำเภอเกาะลันตาและอำเภอคลองท่อมโดยให้ท้องถิ่นหาพื้นที่เพื่อพัฒนาระบบกำจัดขยะรวมของกลุ่ม แต่จนถึงปลายปี 2566 ที่ผ่านมาก็ไม่สามารถหาพื้นที่สำหรับก่อสร้างระบบกำจัดขยะได้ เพราะไม่เป็นที่ยอมรับของชุมชน อีกทั้งขนาดของโครงการหรือปริมาณขยะรวมน้อยเกินไปจนไม่เหมาะสมในการลงทุน

สุดท้ายจึงมีข้อสรุปให้รวมทุกท้องถิ่นทั้งจังหวัดเป็นกลุ่มเดียวโดยมีระบบกำจัดของเทศบาลเมืองกระบี่เป็นหลักโดยประเมินจากขีดความสามารถที่ยังสามารถรองรับขยะได้ทั้งหมด

สำหรับขยะในพื้นที่เกาะลันตาหากต้องขนไปกำจัดที่เทศบาลเมืองกระบี่ จำเป็นต้องมีระบบขนส่งและสถานีขนถ่ายเพื่อลดค่าใช้จ่ายในการขนส่ง กอปรกับสะพานแห่งที่สองที่จะเชื่อมระหว่างเกาะกลางกับเกาะลันตาน้อยจะเริ่มก่อสร้างในปี 2567 เมื่อสะพานเปิดใช้งานจะช่วยให้การขนส่งขยะของท้องถิ่นในอำเภอเกาะลันตาไปยังสถานีขนถ่ายเป็นไปได้ สะดวกและมีค่าใช้จ่ายถูกลง

Advertisement

หลังจากร่วมกันกำหนดโครงสร้างระบบกำจัดลงตัวแล้ว ท้องถิ่นต่างๆ ในอำเภอเกาะลันตาก็ย้อนกลับมาให้ความสำคัญกับการจัดการขยะที่ต้นทางเพื่อลดปริมาณขยะที่ต้องนำไปกำจัดให้เหลือน้อยที่สุด ไม่ให้งบประมาณของท้องถิ่นหมดไปกับค่าขนส่งและกำจัดขยะจนไม่มีงบพัฒนาด้านอื่นๆ “การจัดการต้นทาง” จึงได้รับการออกแบบผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมโดยท้องถิ่น ชุมชน ผู้ประกอบการโรงแรมและร้านอาหาร รวมถึงโรงเรียนและสถานที่ราชการทั้งหมดภายใต้การสนับสนุนอย่างจริงจังของนายอำเภอและคณะทำงานสถาบันสิ่งแวดล้อมไทยจนได้แบบแผนการจัดการขยะของลันตาหรือ “Lanta Model”

ขยะพลาสติกกับเศษอาหาร กิ่งไม้ ใบไม้ เป็นเป้าหมายแรกที่ต้องลงมือแยกออกและนำไปใช้ประโยชน์ การลดการใช้พลาสติกที่ไม่จำเป็น ลดขยะเศษอาหารด้วยความร่วมมือของทุกภาคส่วนด้วยการใช้สื่อหลากหลายเพื่อให้ข้อมูล จัดกิจกรรมรณรงค์ จากโรงเรียน สู่ชุมชน สู่สถานประกอบการและสถานที่ราชการ จากนั้นจึงเกิดกระบวนการนำเอาขยะพลาสติกและเศษอาหารที่แยกได้ไปใช้ประโยชน์ ฝาขวดพลาสติกที่พบมากตามชายหาดถูกรวบรวมอย่างเป็นระบบเพื่อนำไปเป็นวัตถุดิบในการขึ้นรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่มูลค่าเพิ่มได้อย่างน่าพอใจ ขยะพลาสติกที่เคยเป็นขยะทะเล เศษแห อวนถูกรวบรวม ส่งต่อให้เครือข่ายร้านรับซื้อทั้งในและนอกพื้นที่ ขณะที่เศษอาหารได้รับความร่วมมือจากผู้ประกอบการทั้งร้านอาหารและโรงแรม คัดแยกวัสดุที่ไม่ใช่เศษอาหารออกเพื่อให้เศษอาหารเหล่านั้นสามารถใช้เป็นอาหารสัตว์ได้อย่างปลอดภัย โดยเฉพาะฟาร์มเป็ดที่มีชื่อเก๋ไก๋ว่า Eco duck farm

ส่วนเศษอาหารที่เหลือ ใบไม้และกิ่งไม้ที่ไม่ถูกใช้เป็นอาหารสัตว์ก็จะกลายเป็นวัตถุดิบสำหรับทำปุ๋ยหมักของกลุ่มเกษตรกรต่อไป

ตลอดระยะเวลา 2 ปีของกิจกรรมที่ทำซ้ำๆ เพื่อตอกย้ำความสำคัญและความจำเป็นที่ต้องมีการจัดการขยะจากต้นทาง จนเกิดแนวโน้มที่ดีขึ้นมีร้านอาหารและโรงแรมเข้าร่วมกิจกรรมคัดแยกขยะและเศษอาหารมากขึ้นมีชาวบ้านจัดระบบการจัดเก็บเศษอาหารอย่างสม่ำเสมอ สำหรับโรงแรมนอกจากจะสามารถปริมาณขยะภายในโรงแรมได้ยังสามารถบันทึกข้อมูลการนำขยะประเภทต่างๆ ไปใช้ประโยชน์ซึ่งเป็นข้อมูลแสดงอัตราการนำกลับมาใช้ใหม่ที่เป็นตัวชี้วัดสำคัญของการเป็นโรงแรมสีเขียว สุดท้ายคือประโยชน์ที่ท้องถิ่นได้รับจากปริมาณขยะที่ลดลง นอกจากนั้น แบบแผนการลดและคัดแยกขยะของลันตาได้รับการพัฒนาขึ้นจนเป็นแบบแผนการจัดการขยะสำหรับงานเทศกาลหรืองานกิจกรรมใหญ่ๆ เกิดการมีส่วนร่วมในการคัดแยกขยะงานเหล่านั้นอย่างมีประสิทธิภาพและเหลือขยะที่เป็นภาระให้ท้องถิ่นนำไปกำจัดน้อยลงมาก แบบแผนดังกล่าวคือการจัดตั้ง สถานีคัดแยกขยะหรือ Waste Station ที่บัดนี้เป็นแบบแผนที่ได้รับการขยายผล นำไปใช้ในงานต่างๆ ของจังหวัดกระบี่

คงอีก 5 ปีเป็นอย่างเร็วกว่าท้องถิ่นในเกาะลันตาจะได้ใช้สะพานแห่งที่สองในการขนขยะไปยังสถานีขนถ่ายเพื่อนำไปกำจัดที่ศูนย์กำจัดขยะของเทศบาลเมืองกระบี่ ระหว่างนี้เป็นเรื่องที่ท้องถิ่นต่างๆ ต้องช่วยกันประคับประคองใช้พื้นที่เท่าที่มีอยู่ให้สามารถรองรับปริมาณขยะโดยไม่ส่งผลกระทบต่อชุมชนและภาพลักษณ์ของแหล่งท่องเที่ยว การจัดการขยะที่ต้นทางจึงต้องดำเนินต่อไปอย่างเข้มข้น และความร่วมมือระหว่างท้องถิ่นโดยเฉพาะ 4 ท้องถิ่นในพื้นที่เกาะ ได้แก่ เทศบาลตำบลเกาะลันตาใหญ่ เทศบาลตำบลศาลาด่าน อบต.เกาะลันตาใหญ่ และ อบต.เกาะลันตาน้อย ต้องร่วมมือกันอย่างจริงจัง และควรร่วมมือกันพัฒนาระบบเก็บขนเพื่อให้งานเก็บขยะ งานรักษาความสะอาดเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ความร่วมมือเช่นนี้มีรูปแบบคล้ายรูปแบบของ “สหการ”

เมื่อโครงสร้างการรวมกลุ่มของท้องถิ่นเพื่อการจัดการขยะของจังหวัดกระบี่กลายเป็นกลุ่มเดียว สถานีขนถ่ายจึงมีบทบาทสำคัญที่จะช่วยลดค่าใช้จ่ายในการขนส่งของท้องถิ่นที่อยู่ห่างจากศูนย์กำจัดเทศบาลเมืองกระบี่เกิน 50 กิโลเมตร โดยสถานีขนถ่ายซึ่งรวมระบบขนส่งจากสถานีขนถ่ายไปยังศูนย์กำจัดขยะจำเป็นต้องได้รับการพัฒนาอย่างน้อย 2 สถานี เพื่อรองรับปริมาณขยะของอำเภอเกาะลันตา อำเภอลำทับ และอำเภอคลองท่อม สถานีหนึ่ง และสำหรับอำเภออ่าวลึกและอำเภอปลายพระยา อีกหนึ่งสถานี

ทั้งสถานีขนถ่ายและระบบขนส่งควรได้รับการบริหารจัดการโดยเอกชนภายใต้การกำกับของท้องถิ่นที่มีศักยภาพในการจัดการไม่ว่าจะเป็นเทศบาลเมืองกระบี่หรือองค์การบริหารส่วนจังหวัดกระบี่เพื่อให้ค่าธรรมเนียมในการขนส่งอยู่ในระดับที่เหมาะสมที่ท้องถิ่นสามารถจ่ายให้ได้

สำหรับระบบกำจัดขยะของเทศบาลเมืองกระบี่ยังมีบางประเด็นที่ทั้งเทศบาลเมืองกระบี่และคณะกรรมการจัดการสิ่งปฏิกูลและมูลฝอย จังหวัดกระบี่ต้องพิจารณา เช่น การแก้ไขสัญญาเพื่อให้เอกชนคู่สัญญาสามารถรับกำจัดขยะของท้องถิ่นที่นอกเหนือจากที่กำหนดไว้ในสัญญาเดิม และต้องช่วยเหลือให้เอกชนสามารถเจรจากับคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานเพื่อจำหน่ายพลังงานไฟฟ้าเพิ่มจากเดิม เมื่อปริมาณขยะที่นำมากำจัดเพิ่มขึ้น การที่เอกชนจะมีรายได้เพิ่มจากการจำหน่ายพลังงานไฟฟ้าก็จะช่วยให้ค่ากำจัดขยะไม่สูงจนเกินความสามารถของท้องถิ่นที่จะจ่ายได้

การจัดการขยะของเกาะลันตาเกี่ยวข้องและเป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างการจัดการขยะรวมของจังหวัดกระบี่ แม้ว่าในพื้นที่เองจะพัฒนากระบวนการจัดการขยะที่ต้นทางอย่างเข้มข้น แต่ก็ยังมีอีกหลากหลายประเด็นที่ต้องได้รับการสนับสนุนและช่วยเหลือจากจังหวัดซึ่งประเด็นเหล่านั้นล้วนเกี่ยวข้องกับระเบียบ กฎหมาย ไม่ว่าความร่วมมือของท้องถิ่น การจัดทำสถานีขนถ่ายและระบบขนส่ง ตลอดจนการแก้ไขสัญญาระหว่างท้องถิ่นกับเอกชน

หวังว่าประกาศิตที่ท่านนายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน เปล่งไว้เมื่อวันที่ 4 กันยายน ปีที่ผ่านมาว่า “ติดกฎหมายก็แก้ ถ้าติดที่คนก็เปลี่ยน” จะได้ช่วยคลี่คลายประเด็นต่างๆ จนทำให้การจัดการขยะของเกาะลันตาและจังหวัดกระบี่เป็นแบบอย่างการจัดการขยะที่ดีแก่จังหวัดและภูมิภาคอื่นๆ ต่อไป

ดร.พิรียุตม์ วรรณพฤกษ์
นักวิชาการสิ่งแวดล้อมอิสระ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image