เลาะอยุธยา จับเข่าคุย เถ้าแก่ท้องถิ่น 2พี่น้องผุด‘สวนสัตว์’ตามความฝัน 1ลูกเขยแปลงโฉม‘ขนมถาด’แม่ยาย

เลาะอยุธยา จับเข่าคุย เถ้าแก่ท้องถิ่น
2พี่น้องผุด‘สวนสัตว์’ตามความฝัน
1ลูกเขยแปลงโฉม‘ขนมถาด’แม่ยาย

หลังจากภาพชัดเจนขึ้นของการฟื้นตัวของการท่องเที่ยว และทั่วโลกคลายกังวลต่อการแพร่ระบาดของเชื้อโรคโควิด ทำให้ออกมาใช้ชีวิตนอกบ้าน เดินทาง และท่องเที่ยว จนเกือบเข้าภาวะปกติ ดังนั้น เมื่อการท่องเที่ยวฟื้น ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับภาคท่องเที่ยวก็เริ่มฟื้นตัวตาม ทั้งในแง่เปิดกิจกรรมเต็มรูปแบบ เพิ่มการลงทุน และแข่งขันจัดกิจกรรมจูงใจกำลังซื้อ

ผนวกกับนโยบายรัฐบาล “เศรษฐา” เร่งกระตุ้นเศรษฐกิจที่ซบเซาจากพิษไข้โควิดระบาด หนึ่งในนั้นคือผ่านความช่วยเหลือและฟื้นฟูกิจการ จากหน่วยงานต่างๆ ของภาครัฐ

ล่าสุดผู้เขียนได้มีโอกาสลงพื้นที่สำรวจธุรกิจท้องถิ่นในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ไปกับบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ที่ทำหน้าที่ช่วยค้ำประกันเงินกู้ ที่ต้องการกู้เงิน ขยายกิจการ เสริมสภาพคล่อง พร้อมพูดคุยกับ 2 ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ได้รับการค้ำประกันเงินกู้จาก บสย. โดยก่อนหน้านี้ สิทธิกร ดิเรกสุนทร กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บสย. ระบุว่า กำลังยกระดับการให้บริการและบทบาทสำนักงานเขตที่กระจายอยู่ 11 จังหวัด ปรับโฉมเป็น SMEs Gateway สู่ “บสย.F.A.Center สาขา” โดยหนึ่งในจังหวัดนำร่องคือสาขาพระนครศรีอยุธยา

Advertisement

ธุรกิจแรกที่เข้าไปพูดคุยเป็นพี่น้องตระกูล “เรืองเนตร” กับอรุณ (ผู้น้อง) วัย 36 ปี และวาเศรษฐี (ผู้พี่) วัย 40 ปี เจ้าของฟาร์มจระเข้ศรีอยุธยา อยู่ใน อ.ภาชี

อรุณกล่าวถึงที่มา “ในช่วงเกิดการระบาดของโควิด ด้วยธุรกิจเลี้ยงฟาร์มจระเข้ โรงชำแหละ สินค้าแปรรูปจากจระเข้ ต้องหยุดลง การขายและส่งออกเครื่องหนังจระเข้ ซึ่งเป็นธุรกิจเริ่มต้นจากรุ่นคุณพ่อ (วิเชียร เรืองเนตร) เจอผลกระทบ เมื่อว่างงานก็คิดว่าจะเปิดคาเฟ่ แบบกินกาแฟไปด้วย ชมสัตว์เลี้ยงไปด้วย ประกอบกับผมชอบเลี้ยงสัตว์ ได้เลี้ยงสิงโต เสือ ยีราฟ เป็นหลัก จากเดิมที่ทำฟาร์มจระเข้ เดิมตั้งใจจะพัฒนาที่ดินจากที่มีอยู่ 2-3 ไร่ แต่พอมีจำนวนสัตว์ชนิดต่างๆ สะสมเพิ่มเรื่อยๆ คุณพ่อเองก็เห็นว่าชอบ ก็ตามใจ ส่งเสริม จนขยายพื้นที่และเพิ่มจำนวนสัตว์ชนิดต่างๆ ขึ้นเรื่อยๆ ด้วยความชอบทุกอย่างอยู่ในหัว ออกแบบเองว่าตรงไหนเป็นพื้นที่อะไร ทั้งกรงสัตว์ สวนต้นไม้เล็ก สวนเล็กๆ และส่วนให้บริการ ลงมือพัฒนาเองทุกอย่าง ผมเสียแต่ค่าแรงก่อสร้าง ที่แตกต่างจากสวนสัตว์อื่นๆ คือผมต้องการให้ผู้มาชมได้สัมผัสกับสัตว์อย่างใกล้ชิด โดยมีพนักงานที่มีความชำนาญคอยดูแลตลอดเวลา ป้องกันความปลอดภัยอย่างรอบคอบ จนวันนี้ขยายพื้นที่ไปถึง 70 ไร่แล้ว จากเริ่มแรกมีสัตว์ให้ชม 64 ชนิด ตอนนี้เกิน 164 ชนิดแล้ว และกำลังเพิ่มชนิดและจำนวนสัตว์หายากต่อเนื่อง จากวันที่ตั้งใจจะทำเป็นคาเฟ่ ถึงวันนี้เกินความคาดหวังไปมากแล้ว พอลงเงินไปเรื่อยๆ เกิน 50 ล้านบาท วันนี้น่าจะลงไปแล้ว 200 ล้านบาท ก็มองว่าทำแค่ความชอบไม่ได้แล้ว ต้องทำเป็นธุรกิจและเป็นธุรกิจยั่งยืนไปถึงลูกหลาน ความฝันสูงสุดของผม ต้องการให้สวนสัตว์แห่งนี้ ติด 1 ใน 3 ที่นักท่องเที่ยวทั่วโลกมาเอเชีย ต้องอยากมาชม เราพูดได้เลยเทียบกับสิงคโปร์ได้แล้ว คนสิงคโปร์เองยังมาดูสวนสัตว์เราเลย เราภูมิใจด้วยมีชนิดสัตว์ที่ในโลกก็ไม่มีหรือหายาก”

Advertisement

พร้อมกันนี้ วาเศรษฐีเล่าเสริมว่า “แรกๆ ก็ทำใจ เพราะจากธุรกิจเดิมทำฟาร์มจระเข้และแปรรูปเป็นกระเป๋าและอื่นๆ จากจระเข้ เคยขายกระเป๋าราคาขายส่งกับบริษัททัวร์โดยเฉพาะจีน ใบหนึ่งราคาเป็นหมื่นเป็นแสน ตอนขายดีส่งออกเป็น 10 ล้านบาทต่อเดือน แต่ถึงวันนี้ก็อยากเลิกชำแหละจระเข้ หันมาเป็นเลี้ยงด้วยความรัก และปรับธุรกิจให้บริการ ซึ่งเร็วๆ นี้จะเปิดการโชว์จระเข้ และเพิ่มการโชว์อีกหลายชนิด หากเทียบกับรายได้ที่เก็บค่าบัตรเข้า ผู้ใหญ่ 150 บาท เด็ก 50 บาท เด็กสูงไม่เกิน 100 เซนติเมตร ให้เข้าฟรี สำหรับคนไทย ส่วนต่างชาติ ผู้ใหญ่ 300 บาท เด็ก 100 บาท หากเทียบรายได้แตกต่างกันมาก แต่เราสบายใจ จากเดิมต้องชำแหละสัตว์เพื่อนำมาแปรรูปต่างๆ ซึ่งเราไม่หยุดแค่นี้ มีแผนจะต่อยอดบริการอื่นๆ เช่น เตรียมพัฒนาที่ดินใกล้เคียงสวนสัตว์อีก 70 ไร่เป็นรีสอร์ตที่พัก เริ่มที่ 50 หลัง เพื่อใช้เป็นแหล่งพักผ่อนและจัดสันทนาการ พร้อมได้เข้าชมสวนสัตว์แบบไม่ต้องรีบไปกลับ และอีกหลายโครงการที่จะเกิดขึ้นในช่วง 2-3 ปีจากนี้ เรามีที่ดินใกล้เคียงกันของคุณพ่อสะสมไว้เพื่อรอพัฒนา 500 ไร่ เราเชื่อว่าการท่องเที่ยว ถือเป็นปัจจัย 5 ของคน ที่ต้องการพักผ่อนและผ่อนคลาย ขณะที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยาเป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมของคนไทยและต่างชาติ ดูจากสวนสัตว์เรามีคนไทยจากทั่วประเทศ ทั้งจากเหนือ ใต้ ออก ตก เข้ามาชมต่อเนื่อง และที่มาซ้ำสัดส่วนเกิน 20% แล้ว ต่างชาติอย่างจีน อินเดีย ก็เข้ามาชมต่อเนื่อง”

จากนั้น 2 พี่น้องได้พาชม ก็ได้เห็นถึงบรรยากาศครอบครัวคนไทยและนักท่องเที่ยวต่างชาติ เข้ามาชมอย่างหนาตา เฉลี่ยต่อสัปดาห์กว่า 2 หมื่นคน หากเป็นวันหยุดยาวหรือวันหยุดพิเศษ อย่างวันเด็กที่ผ่านมา วันเดียวยอดทะลุ 1 หมื่นคน ตลอดทางเดิน ก็ได้ชมได้สัมผัสกับสัตว์หายากหลายชนิด ซึ่งเป็นความภูมิใจและไฮไลต์ของสวนสัตว์แห่งนี้ อย่าง ไลเกอร์ (สิงโตผสมเสือ) ไลไลเกอร์ (ไลเกอร์ผสมสิงโต) ซึ่งถูกระบุว่าไลไลเกอร์ชมได้ที่นี่ที่เดียวกับตัวแรกชื่อบุญรอด เดินไปเรื่อยๆ ก็จะเห็นต่างชาติขึ้นไปนั่งรถกระเช้าใกล้ชิดกับยีราฟ

“สวนสัตว์อยู่ได้ต้องอาศัยนักท่องเที่ยว ผมอยากบอกถึงรัฐบาลให้ส่งเสริมการท่องเที่ยวต่อเนื่อง เห็นด้วยกับเพิ่มวีซ่าฟรี และวีซ่าถาวร ถ้าไม่มีนักท่องเที่ยวธุรกิจก็จะลำบาก ส่วนการบริการเพื่อให้อยู่รอดได้ เราก็จะปรับต่อเนื่อง เพื่อไม่ให้คนมาเที่ยวเบื่อ ถ้า 10 วันจุดนั้นไม่มีคนถ่ายรูป ก็จะรื้อเปลี่ยนใหม่” อรุณกล่าวทิ้งท้าย

ทั้งหมดนี้ สมกับจุดประสงค์การเปิดสวนสัตว์นี้ เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ ขยายพันธุ์และรักษาพันธุ์สัตว์ใกล้สูญพันธุ์ เป็นแหล่งท่องเที่ยวประจำจังหวัด มุ่งสร้างความเจริญให้กับชุมชน และเป็นสถานที่ผ่อนคลาย

พอตกบ่ายก่อนเข้ากรุงเทพฯ ได้เข้าไปนั่งคุยกับ วัชรากร กสิหัตถ์ วัย 33 ปี ผู้ริเริ่ม “ขนมหม้อแกง แม่ยาย” อยู่ในตำบลไผ่ลิง

เขาเริ่มเล่าว่า “ผมจบ ม.3 ก็เข้าทำงานในห้าง และได้รู้จักภรรยา (กิตติยา โพธิยา) ที่คุณแม่เขา (วงเดือน โพธิยา) ทำอาชีพทำขนมไทยเปิดแผงขายขนมในเทศกาลเมืองกำแพงเพชร ทำมาตลอดเกือบ 10 ปี จนช่วงเกิดภัยธรรมชาติน้ำท่วมในประเทศไทย ปี 2554-55 แม่ยายสุขภาพไม่ค่อยดี ก็โทรมาหาภรรยาผม ขอให้กลับไปรับช่วงร้านขนมที่กำแพงเพชร ซึ่งภรรยาเขาทำขนมเป็นอยู่แล้ว แต่ผมทำไม่เป็นเลย ก็มาถามผมว่าทำไหวไหม ผมก็บอกขอลองไปทำก่อน เลยพักงานที่ตอนนั้นทำที่ปทุมธานี ไปช่วยแม่ยายก่อน หากทำได้ภรรยาก็จะลาออก และไปทำด้วยกันทั้ง 2 คนและรับช่วงต่อ ผมฝึกเกือบ 2 เดือน ก็โทรกลับมาบอกแฟนว่า โอเค ทำได้ ให้ลาออกเลย เดินทางไปกำแพงเพชร ตอนนั้นมีลูกคนแรกฝากไว้กับพ่อผมที่ปทุมธานี ไม่ได้ไปด้วย เพียงส่งเงินกลับมาให้ลูก แต่พอห่างลูกก็คิดถึง เพราะไปค่อนข้างนานและระยะทางเดินทางไกล บวกกับค่าใช้จ่ายไม่พอ ติดลบ ด้วยยอดขายไม่เหมือนแม่ยาย เพราะคนขายเปลี่ยนหน้า อยู่โน่นรายได้ก็ไม่พอ ดังนั้นเมื่อได้วิชาแล้ว ก็กลับมาทำขนมที่ปทุมธานี เปิดร้านขาย เพื่ออยู่กับลูก ประกอบกับแม่ยายสุขภาพดีขึ้น เขาทำต่อเอง กลับมาปทุมธานีก็ทำขนมแบบเร่ขายตามตลาดนัด ประมาณ 1 ปี ล้มลุกคลุกคลาน ฝนตกก็หนีฝนกันวุ่นวาย เหมือนผู้ค้าขายเร่ตามตลาดนัดทั่วไปประสบกัน ยอดขายน้อย ขนาดต้องเอาของไปจำนำ รถเกือบโดนยึด ช่วงกลับมาจากกำแพงเพชรใหม่ๆ ค่อนข้างแย่”

จนวันหนึ่ง ถูกรางวัลจากการทายผลฟุตบอล ได้เงินมา 1 แสนบาท ทำให้ฮึดสู้ต่อ ใช้เงิน 1 แสนบาท ใช้ลงทุนกับอุปกรณ์เครื่องมือทำขนมจนหมด โดยเอาวิชาทำขนมที่ได้จากแม่ยายมาปรับสูตร เพิ่มวิธีการขาย หวังเป็นอาชีพหลักให้ได้ เริ่มโดยไปสำรวจตลาดน้ำอโยธยา เห็นว่ามีนักท่องเที่ยวมาแยะ ชื่อตลาดก็ไทยๆ ก็หวังว่าขนมไทยๆ จะขายได้ดี เลยเช่าแผงขนาดเล็กสุดก่อน 2 คูณ 2 ตารางเมตร ทำขนมไทยแบบน้ำแบบถาดมาตักขายชิ้นละ 5 บาท 10 บาท และ 20 บาท

“วันแรกที่ตลาดน้ำอโยธยาขายไม่ดี แม้จะมีนักท่องเที่ยวมาเดินแยะ ไม่มีใครสนใจเลย ผมกับภรรยาก็มานั่งกันว่าจะทำอย่างไร จะขายแบบเดิมไม่ได้แล้วและทำอย่างไรให้ซื้อเป็นของฝาก เพราะอยุธยาเป็นเมืองท่องเที่ยว ซึ่งที่ตลาดน้ำมีห่อหมกถ้วยดินเผาขายอยู่ ผมซื้อห่อหมกมากินและเหลือถ้วยดินเผา ไม่ได้ใช้ประโยชน์ จึงลองนำมาใช้กับขนมหม้อแกง ปรากฏว่า มันใช้ได้แต่ไม่สวย เพราะสีถ้วยกับขนมหม้อแกงเป็นสีเดียวกันคือน้ำตาล จึงหาภาชนะที่สวยมากขึ้น ลองกับถ้วยน้ำจิ้มก็ไม่ผ่าน จนไปจตุจักรเจอถ้วยตราไก่ ลองทำก็พบว่าสวยและรสชาติยังดี จึงใช้ถึงทุกวันนี้

ก็ประมาณ 12 ปีแล้ว จากเมนูแรกๆ คือ ขนมหม้อแกง ขนมต้ม ถั่วแปบ ขนมสอดไส้ ขนมชั้น กล้วยหรือฟักทองบวช ขนมน้ำกะทิชนิดต่างๆ เริ่มแรก 15 ชนิด เพิ่มเป็นกว่า 30 ชนิดในวันนี้ มีการผลิตออกจากครัวทั้งขนมแบบถาด ขนมแบบน้ำ วันละกว่า 1,300 ชิ้น ผมดีใจที่เป็นส่วนทำให้ขนมถาดที่มีรสชาติคุ้นเคยและหาทานได้ตามท้องตลาด ได้วางขายตามค้าปลีกสมัยใหม่และมีร้านของตนเอง”

วัชรากรเล่าต่อว่า หลังจากโควิดระบาด โซเชียลเข้ามามีอิทธิพลสูงขึ้น ขณะที่การเดินเที่ยวตามตลาดสดและซื้อของฝากน้อยลง จึงได้เพิ่มช่องทางใหม่ตามยุคสมัย เช่น การเปิดจุดขายตามสถานีบริการน้ำมัน ทำให้วันนี้ขนมหม้อแกง แม่ยาย มีวางขายในปั๊ม 12 แห่ง อาทิ ปั๊ม ปตท.วังน้อย แก่งคอย นครสวรรค์ อ่างทอง ชลบุรี โดยกำลังพัฒนาเป็นระบบแฟรนไชส์ในอนาคต

“ปี 2567 นี้จะขยายไปปั๊มคอมมูนิตี้มากขึ้น ต่างจังหวัดปั๊มใหม่หมด รองรับคนแวะปั๊มแวะซื้อของฝากด้วย ผ่านเฟซบุ๊ก ติ๊กต็อก ปีนี้ติ๊กต็อกมากขึ้น โซเชียลทำให้คนรู้จักมากขึ้นในช่วง 2 ปีมานี้ วันนี้ผมมาเกินฝัน คุยกับพนักงาน ผมไม่ได้คาดหวังจะเปิดถึง 100 สาขา แต่ขอแค่ทุกคนไม่เหนื่อย ทำงานอย่างมีความสุข ผมและทุกคนมีรายได้เลี้ยงครอบครัว ก็โอเคแล้ว ตอนนี้มีลูกมือผลิต 18 คน จะทำให้ที่มีอยู่ต่อยอดในเชิงเมนูใหม่และแยกความชัดเจนของขนม อย่างภายใต้ บ้านแม่ยาย มีให้เลือกทั้งขนมถาดและขนมน้ำ ส่วนตราขนมจำเริญ เป็นขนมผสมน้ำกะทิ เน้นขายตามตลาด”

เมื่อถามถึงความอยู่รอดของขนมไทย วัชรากรยืนยันว่า ขนมไทยอยู่รอดได้ แต่ต้องเริ่มให้วัยรุ่นรู้จัก เริ่มกิน คนรุ่นใหม่ ไม่ได้มองแค่น่าทาน มองถึงในครัว คำนึงความสะอาด สิ่งแวดล้อม และรับได้กับการปรับราคาตามต้นทุน อย่าง 3 ปีก่อนนี้ขนมหม้อแกงขาย 40 บาท/ถ้วยหรือถุง ตอนนี้ ขยับเป็น 60 บาทได้ แต่ผู้ซื้อต้องพอใจกับวิธีการนำเสนอและหีบห่อต้องปรับตลอดเวลา

จากที่ฟังการบอกเล่าของ 2 ธุรกิจ แม้จะแตกต่างกันทั้งในด้านประเภทของธุรกิจ และเงินทุน แต่สิ่งที่เหมือนกันคือ ความตั้งใจและฝ่าฟันอุปสรรค โดยยึดความฝันที่จะสร้างองค์ความรู้ที่มีอยู่ นำมาต่อยอดเป็นธุรกิจของครอบครัว ไปตามยุคสมัย ไม่ว่าจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร

นวลนิตย์ บัวด้วง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image