ผ่าตัวเลขจีดีพีเกษตร ลุ้นมังกรคืนชีพ!!

 ภาคการเกษตรถือเป็นอีกหนึ่งเครื่องยนต์ที่สำคัญในการขับเคลื่อนผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (จีดีพี) ซึ่งในปี 2566 แม้ต้องเผชิญกับหลายปัจจัยทั้งเรื่องสภาพอากาศที่มีความแปรปรวนฟ้าฝนไม่เป็นไปตามฤดูกาล ความขัดแย้งระหว่างประเทศมหาอำนาจในโลก ที่มีผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมกับประเทศไทย แต่ภาพรวมด้านการส่งออก สินค้าเกษตรยังมียอดสั่งซื้อตลอดทั้งปี สะท้อนให้เห็นถึงความต้องการของตลาดที่ยังให้ความสนใจกับสินค้าของไทยอย่างเนื่อง

สอดรับกับการประเมินของ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) โดย นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการ สศก. ให้ข้อมูลไว้ว่า ปัจจุบันเนื้อที่ทางการเกษตรอยู่ที่ 149.75 ล้านไร่ คิดเป็น 46.7% ของเนื้อที่ทั้งประเทศ มีจำนวนครัวเรือนเกษตร 7.8 ล้านครัวเรือน และแรงงานที่อยู่ในภาคเกษตรสูงถึง 51% ของจำนวนแรงงานทั้งประเทศ นอกจากนี้ ในวิกฤตต่างๆ ภาคเกษตรยังช่วยรองรับและโอบอุ้มเศรษฐกิจไทย โดยเป็นแหล่งรองรับแรงงานที่ถูกเลิกจ้างจากภาคเศรษฐกิจอื่น

ในช่วงปี 2565-2566 หลายประเทศมีความกังวลเกี่ยวกับความมั่นคงทางอาหารจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมทั้งปัญหาด้านห่วงโซ่อุปทานของโลก แต่ประเทศไทยยังคงสามารถผลิตสินค้าเกษตรและอาหารที่สำคัญได้เพียงพอต่อความต้องการภายในประเทศ และมีศักยภาพในการส่งออกไปยังต่างประเทศ โดยมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์ของไทยเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 1.50 ล้านล้านบาทต่อปี จึงถือว่าภาคเกษตรเป็นอีกหนึ่งแหล่งรายได้ที่สำคัญของประเทศ

สำหรับแนวทางการขับเคลื่อนการเสริมความแข็งแกร่งให้ภาคเกษตร สู่รายได้ที่มั่นคง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เน้นการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้ในการยกระดับคุณภาพและมาตรฐานสินค้าเกษตร เพิ่มความสามารถในการแข่งขัน ตลอดจนสร้างรายได้และคุณภาพชีวิตที่ดีแก่เกษตรกร ภายใต้นโยบาย ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้

Advertisement

ภาวะเศรษฐกิจการเกษตร ปี 2566 พบว่า ขยายตัว 0.3% เมื่อเทียบกับปี 2565 โดยสาขาปศุสัตว์ สาขาประมง สาขาบริการทางการเกษตร และสาขาป่าไม้ ขยายตัว ขณะที่สาขาพืชหดตัว เมื่อจำแนกแต่ละสาขา ปี 2566 จะเห็นได้ว่า สาขาพืช หดตัว 1.3% เนื่องจากปริมาณฝนน้อยกว่าปีที่ผ่านมา ประกอบกับมีช่วงอากาศร้อนยาวนานตั้งแต่ต้นปีจนถึงเดือนพฤษภาคม 2566 และภาวะฝนทิ้งช่วงในบางพื้นที่ ทำให้ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำสำคัญและแหล่งน้ำตามธรรมชาติลดลง

ส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโตและการให้ผลผลิตของพืช โดยพืชสำคัญที่มีผลผลิตลดลง ได้แก่ ข้าวนาปี มันสำปะหลัง อ้อยโรงงาน สับปะรดโรงงาน ยางพารา ปาล์มน้ำมัน ลำไย และเงาะ สำหรับผลผลิตพืชที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ข้าวนาปรัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ทุเรียน และมังคุด

สาขาปศุสัตว์ ปี 2566 ขยายตัว 4.7% เป็นผลจากความต้องการบริโภคสินค้าปศุสัตว์ที่มีอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับเกษตรกรมีการบริหารจัดการฟาร์มที่ได้มาตรฐานและมีการควบคุมเฝ้าระวังโรคระบาดได้ดี โดยสินค้าปศุสัตว์ที่มีผลผลิตเพิ่มขึ้น ได้แก่ สุกร ไก่เนื้อ และโคเนื้อ ขณะที่สินค้าปศุสัตว์ที่มีผลผลิตลดลง ได้แก่ ไข่ไก่ และน้ำนมดิบ

Advertisement

สาขาประมง ในปี 2566 ขยายตัว 2.2% โดยกุ้งทะเลเพาะเลี้ยงมีปริมาณผลผลิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากเกษตรกรมีการบริหารจัดการฟาร์มที่ดี แม้ว่าเกษตรกรยังคงประสบปัญหาด้านต้นทุนการผลิตที่อยู่ในระดับสูง และบางพื้นที่ยังพบโรคระบาดกุ้ง แต่เกษตรกรสามารถควบคุมโรคได้ดี ทำให้ในภาพรวมไม่กระทบต่อการเลี้ยงมากนัก

ขณะที่สัตว์น้ำที่นำขึ้นท่าเทียบเรือมีปริมาณลดลง เนื่องจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงซึ่งเป็นต้นทุนการผลิตหลักของการทำประมงทะเลยังอยู่ในระดับสูง และสภาพอากาศมีความแปรปรวน สำหรับปลานิลและปลาดุกมีผลผลิตลดลง เนื่องจากปัญหาด้านต้นทุนอาหารสัตว์และสภาพอากาศไม่เอื้ออำนวยต่อการเลี้ยง

สาขาบริการทางการเกษตร ปี 2566 ขยายตัว 0.6% โดยในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ สภาพอากาศทั่วไปเอื้ออำนวยและมีปริมาณน้ำเพียงพอ ทำให้เกษตรกรขยายเนื้อที่เพาะปลูกข้าวนาปรัง และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ส่งผลให้มีการจ้างบริการเตรียมดินและเก็บเกี่ยวผลผลิตพืชดังกล่าวเพิ่มขึ้น

ส่วนในช่วงครึ่งหลังของปี 2566 บางพื้นที่ประสบปัญหาฝนทิ้งช่วงและภัยแล้ง เกษตรกรบางส่วนงด เลื่อน หรือปรับเปลี่ยนช่วงเวลาในการเพาะปลูก ทำให้กิจกรรมการจ้างบริการเตรียมดินและเก็บเกี่ยวผลผลิตพืชที่สำคัญลดลง โดยเฉพาะข้าวนาปี และมันสำปะหลัง

สาขาป่าไม้ ปี 2566 ขยายตัว 2.5% โดยไม้ยางพาราเพิ่มขึ้น เนื่องจากเกษตรกรมีการตัดโค่นสวนยางพาราเก่ามากขึ้น ประกอบกับความต้องการไม้ยางพาราเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ของจีนเพิ่มขึ้น ไม้ยูคาลิปตัสเพิ่มขึ้นตามความต้องการใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตเยื่อกระดาษทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ สำหรับรังนกมีการส่งออกไปตลาดจีนลดลง และครั่งมีผลผลิตลดลง เนื่องจากได้รับผลกระทบจากสภาพอากาศที่แห้งแล้ง ไม่เอื้ออำนวยต่อการเจริญเติบโต

สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจการเกษตร ปี 2567 คาดว่าจะขยายตัวอยู่ในช่วง 0.7-1.7% จากปัจจัยสนับสนุน ทั้งการดำเนินนโยบายของภาครัฐ ความต้องการสินค้าเกษตรในตลาดโลกที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น ราคาสินค้าเกษตรหลายชนิดยังอยู่ในเกณฑ์ดี และแนวโน้มเศรษฐกิจไทยที่คาดว่าจะขยายตัว ในรายสาขา ดังนี้ สาขาพืช ปี 2567 คาดว่าจะขยายตัว 0.6-1.6% สาขาปศุสัตว์ ขยายตัว 1.7-2.7% สาขาประมง ขยายตัว 0.5-1.5% สาขาบริการทางการเกษตร ขยายตัว 0.3-1.3% และสาขาป่าไม้ ขยายตัว 2.4-3.4%

ส่วน ปัจจัยที่ต้องเฝ้าระวังในปี 2567 คือภัยแล้ง มีพื้นที่ทำการเกษตรที่เสี่ยงน้ำน้อย และมีโอกาสเกิดภัยแล้งในปี 2567 โดยใช้ข้อมูลปริมาณน้ำฝน อุณหภูมิ ความชื้นในดิน ความดันในชั้นบรรยากาศ ข้อมูลการบริหารจัดการน้ำในปี 2566 ข้อมูลสถิติการผลิตพืชที่สำคัญรายจังหวัด ข้อมูลปฏิทินการผลิตสินค้าเกษตรที่สำคัญรายเดือน ปี 2566/67 รวมไปถึงข้อมูลพื้นที่เฝ้าระวังเสี่ยงขาดแคลนน้ำด้านการเกษตรของกรมพัฒนาที่ดิน ซึ่งพื้นที่ทำการเกษตรที่เสี่ยงน้ำน้อย อาจส่งผลกระทบต่อการผลิตพืชผลทางการเกษตร ทำให้ผลผลิตที่เกษตรกรจะได้รับลดลง ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่นอกเขตชลประทาน รวมทั้งสิ้น 32 จังหวัด

อย่างไรก็ตาม การขับเคลื่อนการพัฒนาภาคเกษตรในอนาคตยังต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงและความท้าทายภายใต้ข้อจำกัดและโอกาสหลายด้าน ซึ่งจะต้องดำเนินการ อาทิ บริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ เตรียมการรองรับสถานการณ์ภัยแล้งและภัยพิบัติต่างๆ ส่งเสริมการทำการเกษตรเพื่อรองรับข้อกำหนดทางการค้าด้านสิ่งแวดล้อม ยกระดับสินค้าเกษตรให้มีคุณภาพมาตรฐาน มีความปลอดภัย ส่งเสริมการรวมกลุ่มและเชื่อมโยงเครือข่ายการผลิต การแปรรูป และการตลาด เพื่อนำไปสู่เกษตรและบริการมูลค่าสูง ทำให้เกษตรกรมีความมั่นคงในการประกอบอาชีพ

ต้องติดตามสถานการณ์กันต่อไปว่า ตลอดทั้งปี 2567 ภาคการเกษตรจะดีใจรับปีมังกรทอง หรือเศร้าใจจากมังกรดุ 

เพราะยังมีปัญหาที่ต้องจับตาทั้งเอลนีโญ และสงครามระหว่างประเทศอีกหลายยก!!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image