ผบ.ทร.เป็นประธานเปิดการฝึกครูฝึกฝีพายเรือพระราชพิธี ขบวนพยุหยาตราทางชลมารค

ผบ.ทร. เป็นประธานเปิดพิธีการฝึกครูฝึกฝีพายเรือพระราชพิธี ขบวนพยุหยาตราทางชลมารค เฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ

เมื่อเวลา 09.20 น. วันที่ 12 กุมภาพันธ์ พลเรือเอก อะดุง พันธุ์เอี่ยม ผู้บัญชาการทหารเรือ เป็นประธานในพิธีเปิดการฝึกครูฝึกฝีพายเรือพระราชพิธี (นายเรือ นายท้าย) ในโอกาสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี จะเสด็จพระราชดำเนินในงานพระราชพิธีถวายผ้าพระกฐิน โดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ณ วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร ในวันที่ 27 ตุลาคม 2567 เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 ณ แผนกเรือราชพิธี กองเรือเล็ก กรมการขนส่งทหารเรือ เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ โดยมี พลเรือโท วิจิตร ตันประภา รองเสนาธิการทหารเรือ สายงานกำลังพล ในฐานะประธานคณะจัดเตรียมความพร้อมขบวนเรือพระราชพิธี พร้อมทั้งคณะอนุกรรมการฝ่ายฝึกซ้อมกำลังพลฝีพาย ให้การต้อนรับ

พลเรือเอก อะดุง พันธุ์เอี่ยม ผู้บัญชาการทหารเรือ กล่าวว่า การฝึกครั้งนี้เป็นภารกิจสำคัญเพื่อเตรียมการจัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ในการพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐิน ซึ่งเป็นกิจกรรมหนึ่งในการจัดงานเฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 โดยการฝึกอบรมครูฝึกฝีพายครั้งนี้ เป็นขั้นตอนแรกที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง ในการถ่ายทอดความรู้ รูปแบบ และวิธีปฏิบัติ เพื่อให้การปฏิบัติในขบวนเรือพระราชพิธีเป็นไปด้วยความสง่างามและสมพระเกียรติสูงสุด ซึ่งปัจจุบันมีขบวนเรือพระราชพิธีเหลือเพียงประเทศไทยแค่ประเทศเดียวในโลก

Advertisement

“นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ของพสกนิกรชาวไทย ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาให้จัดพิธีถวายผ้าพระกฐินทางชลมารค โดยกองทัพเรือเป็นผู้รับผิดชอบในการจัดการพระราชพิธีครั้งนี้ บัดนี้กองทัพเรือเริ่มดำเนินการแบ่งเป็น 2 ส่วน ได้แก่ เตรียมการสำหรับฝีพาย และในส่วนของการซ่อมทำเรือพระราชพิธี ซึ่งดำเนินการร่วมกับกรมศิลปากร และอู่ทหารเรือธนบุรี กรมอู่ทหารเรือ” ผบ.ทร.กล่าว

Advertisement

ผบ.ทร.กล่าวต่อว่า ครั้งนี้เราใช้เรือมากที่สุด 52 ลำ และใช้นายท้ายเรือพระราชพิธีทุกลำเป็นนายทหารโรงเรียนทั้งสิ้น ส่วนอื่นๆ ยังคงเป็นพระราชพิธีที่จะรักษาวัฒนธรรมและประเพณีของไทยให้คงอยู่สืบไป สำหรับกาพย์เห่เรือจะเป็นการแต่งใหม่ทั้งหมด เนื้อหาจะเป็นการเทิดทูนพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพระราชกรณียกิจต่างๆ ที่ทรงบำบัดทุกข์บำรุงสุขแก่ประชาชน ประพันธ์โดย พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย มีจำนวน 4 บท ประกอบด้วย พระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา จำนวน 1 บท, พระราชพิธีเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน จำนวน 3 บท นอกจากนี้ ยังได้มีการส่งพนักงานเห่เรือพระราชพิธี ของกรมการขนส่งทหารเรือ เข้ารับการอบรมเพื่อเพิ่มทักษะการเห่เรือพระราชพิธี และรับคำแนะนำการขับเห่เรือพระราชพิธี จากคุณครูสมชาย ทับพร ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีไทยขับร้อง) วิทยากรสำนักการสังคีต กรมศิลปากร

“สำหรับการซักซ้อมและวันงานพระราชพิธี กองทัพเรือร่วมกับกรมเจ้าท่า จะแจ้งให้ประชาชนที่สัญจรทางแม่น้ำเจ้าพระยาทราบล่วงหน้าเพื่อรบกวนประชาชนน้อยที่สุด” ผบ.ทร.กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การฝึกครูฝึกฝีพายเรือพระราชพิธี ถือเป็นขั้นตอนสำคัญขั้นตอนแรกของการเตรียมความพร้อมขบวนเรือในงานพระราชพิธี เสด็จพระราชดำเนินโดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค เนื่องจากก่อนการอัญเชิญเรือราชพิธีลงจากคาน เพื่อทำการฝึกซ้อมฝีพายในน้ำ ต้องประกอบพิธีบวงสรวงเรือครูฝึกฝีพายเรือราชพิธี โดยใช้เรือรุ้งประสานสายและเรือเหลืองใหญ่ ซึ่งเป็นเรือฝึกครูฝึกฝีพาย ประกอบด้วย การฝึกครูฝึกฝีพาย การฝึกนายเรือ และการฝึกนายท้าย เพื่อให้กำลังพลที่เป็นฝีพายประจำเรือพระราชพิธีมีความรู้ความเข้าใจในรูปแบบการพาย และการปฏิบัติต่างๆ เป็นไปในทิศทางเดียวกัน

โดยการฝึกครูฝึกฝีพายเรือในครั้งนี้ ประกอบด้วย นายเรือ 58 นาย นายท้ายเรือ 104 นาย เมื่อกำลังพลที่เข้ารับการฝึกข้างต้นเสร็จสิ้น จะได้รับหน้าที่เป็นครูฝึกฝีพายเรือพระราชพิธีของหน่วยรับเรือที่ตนสังกัด ได้แก่ การฝึกพายเรือบนบก (การฝึกพายบนเขียงฝึก) และการฝึกพายเรือในน้ำ เพื่อให้มีทักษะการบังคับเรือในน้ำ และหลังจากนั้นจะเข้าสู่การฝึกปรับรูปกระบวนในแม่น้ำเจ้าพระยาต่อไป

ขณะที่ ในส่วนของรูปแบบการจัดขบวนเรือพยุหยาตราทางชลมารค ในครั้งนี้ใช้เรือจำนวนทั้งสิ้น 52 ลำ ซึ่งจัดขบวนเป็น 5 ริ้ว ความยาว 1,200 เมตร กว้าง 90 เมตร โดยใช้กำลังพลประจำเรือในขบวนเรือพระราชพิธี รวมทั้งสิ้น 2,200 นาย อาทิ เรือริ้วสายกลาง 10 ลำ ประกอบด้วย เรือพระที่นั่งทรง 1 ลำ คือ เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ เป็นเรือพระที่นั่ง ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงประทับ, เรือพระที่นั่งรอง 2 ลำ คือ เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ 9 และเรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์, เรือทรงผ้าไตร 1 ลำ คือ เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช

สำหรับ การแต่งบทเห่เรือ จำนวน 4 บท โดย พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย เป็นผู้ประพันธ์ ประกอบด้วย พระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา จำนวน 1 บท, พระราชพิธีเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน จำนวน 3 บท เพื่อใช้ในการพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา และงานพระราชพิธีเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐินโดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค

ในส่วนของแผนปฏิบัติงานการเตรียมความพร้อมการจัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารค 2567 ของกองทัพเรือ มีรายละเอียดในการแบ่งงานการเตรียมความพร้อมออกเป็น 6 กลุ่มหลักดังนี้ การเตรียมความพร้อมด้านกำลังพลและการฝึกซ้อมฝีพาย ประกอบด้วย การจัดกำลังพลประจำเรือ ระหว่าง 3 มกราคม-6 กุมภาพันธ์ รวม 25 วันงาน การฝึกครูฝึกฝีพาย ระหว่าง 12 กุมภาพันธ์-มีนาคม รวม 20 วันงาน การฝึกฝีพายบนเขียง ระหว่าง 18 มีนาคม-16 พฤษภาคม รวม 40 วันงาน การฝึกฝีพายในหน่วยในเรือในน้ำ ระหว่าง 28 พฤษภาคม-30 กรกฎาคม รวม 40 วันงาน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image