กนอ.กางแผนสกัดแล้งอีอีซี อุ้มอุตสาหกรรม ฟันเฟืองเศรษฐกิจไทย

กนอ.กางแผนสกัดแล้งอีอีซี อุ้มอุตสาหกรรม ฟันเฟืองเศรษฐกิจไทย

ประเทศไทยเข้าสู่ฤดูร้อนอย่างเป็นทางการแล้ว เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

โดยกรมอุตุนิยมวิทยา ได้ออกประกาศ เรื่อง การเข้าสู่ฤดูร้อนของประเทศไทย พ.ศ.2567 ระบุว่า ประเทศไทยได้สิ้นสุดฤดูหนาวและเข้าสู่ฤดูร้อนแล้ว ในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2567 โดยในตอนกลางวันบริเวณประเทศไทยมีอากาศร้อนเกือบทั่วไปต่อเนื่อง อุณหภูมิสูงสุดมากกว่า 35 องศาเซลเซียส เนื่องจากได้รับอิทธิพลจากรังสีดวงอาทิตย์เพิ่มมากขึ้น ประกอบกับมีลมฝ่ายใต้พัดปกคลุมบริเวณประเทศไทยตอนบน ซึ่งเป็นรูปแบบลักษณะอากาศของฤดูร้อน

กรมอุตุนิยมวิทยายังระบุด้วยว่า บริเวณภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือจะยังคงมีอากาศเย็นในตอนเช้าจนถึงประมาณกลางเดือนมีนาคม และคาดว่าฤดูร้อน จะสิ้นสุดประมาณกลางเดือนพฤษภาคม 2567

Advertisement

จากประกาศดังกล่าวทำเอาคนไทยปาดเหงื่อ เพราะไม่เพียงอากาศร้อนระอุที่ทรมาน ไทยยังมีความเสี่ยงจากภาวะภัยแล้งที่แวะเวียนทักทาย บางครั้งก็อาละวาด จนภาคการบริโภค ภาคเกษตร และภาคอุตสาหกรรม เสียหายอย่างมาก

โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรม ฟันเฟืองขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่จำเป็นที่สุดในเวลานี้ ท่ามกลางเศรษฐกิจไทยที่ฟื้นตัวอย่างช้า จนรัฐบาลมองว่ากำลังวิกฤตพยายามเดินหน้านโยบายเศรษฐกิจชิ้นใหญ่อย่างเงินดิจิทัลวอลเล็ต ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวก็ต้องลุ้นเศรษฐกิจทั่วโลก โดยเฉพาะจีน ว่าจะฟื้นตัวจนกระตุ้นให้นักท่องเที่ยวออกมาจับจ่ายนอกประเทศได้มากพอหรือไม่

ประเด็นภัยแล้ง จึงเป็นหัวข้อหลักที่รัฐบาล เศรษฐา ทวีสิน ให้ความสำคัญอย่างมาก

Advertisement

เรื่องนี้ กรมชลประทาน รับลูกนายกรัฐมนตรีทันที เร่งจัดประชุมคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ เพื่อติดตามและวิเคราะห์สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำ แหล่งน้ำ และแม่น้ำสายหลักต่างๆ สำหรับเป็นข้อมูลในการบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องและเหมาะสมในแต่ละพื้นที่

ข้อมูลสถานการณ์น้ำ พบว่า อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้นประมาณ 50,251 ล้าน ลบ.ม. (66% ของความจุอ่างฯ รวมกัน) เป็นน้ำใช้การได้ 26,309 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลัก (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้นประมาณ 13,912 ล้าน ลบ.ม. (56% ของความจุอ่างฯ รวมกัน) มีปริมาณน้ำใช้การได้ 7,216 ล้าน ลบ.ม. จนถึงขณะนี้ทั้งประเทศมีการใช้น้ำไปแล้วกว่า 15,916 ล้าน ลบ.ม. (64% ของแผนฯ) เฉพาะลุ่มเจ้าพระยามีการใช้น้ำไปแล้วประมาณ 5,815 ล้าน ลบ.ม. (67% ของแผนฯ)

ด้านสถานการณ์การเพาะปลูกข้าวนาปรัง ทั้งประเทศมีการทำนาปรังไปแล้วประมาณ 8.50 ล้านไร่ หรือร้อยละ 147 ของแผนฯ เฉพาะลุ่มเจ้าพระยา มีการทำนาปรังไปแล้วประมาณ 5.68 ล้านไร่ หรือร้อยละ 188 ของแผนฯ ด้านสถานการณ์ค่าความเค็มยังอยู่ในเกณฑ์ควบคุมได้ แต่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษในบริเวณลุ่มน้ำแม่กลอง โดยมีการปรับการระบายน้ำจากเขื่อนแม่กลองให้สอดคล้องกับการขึ้นลงของน้ำทะเล

โดย กรมชลประทาน ได้ดำเนินการปรับลดการส่งน้ำเข้าพื้นที่บริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยา พร้อมรณรงค์ขอความร่วมมือเกษตรกรไม่ทำนาปรังรอบ 2 พร้อมติดตามการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี ให้เป็นไปตามตามข้อตกลงอย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันผล
กระทบที่อาจจะเกิดขึ้น

ในส่วนของพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ลุ่มน้ำชีมูล ให้มีการติดตามการบริหารจัดการน้ำอย่างเพียงพอ ตลอดจนวางแผนการบริหารจัดการน้ำ เตรียมพร้อมเครื่องจักร เครื่องมือ ทุกพื้นที่ทั่วประเทศ เพื่อรองรับสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นได้ โดยให้มีการพยากรณ์ล่วงหน้า เพื่อประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงได้เตรียมการรับมือ

นอกจากนี้ ยังเรียกร้องทุกภาคส่วนร่วมใจกันใช้น้ำอย่างประหยัด เพื่อให้ปริมาณน้ำที่มีอยู่เพียงพอต่อการอุปโภคบริโภค และรักษาระบบนิเวศ ไปจนถึงต้นฤดูฝนหน้า ตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี ที่ได้กำชับให้กรมชลประทานบริหารจัดการน้ำให้แก่ประชาชนทั่วประเทศอย่างเต็มประสิทธิภาพ

ด้านภาคอุตสาหกรรม หน่วยงานหลักอย่าง การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ยืนยันเดินหน้าบริหารจัดการน้ำภาคอุตสาหกรรมอย่างเต็มที่

เรื่องนี้ “วีริศ อัมระปาล” ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ให้ข้อมูลกับ “มติชน” ถึงการรับมือการขาดแคลนน้ำในภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะพื้นที่ อีอีซี ไข่แดงอุตสาหกรรมไทย ว่า กนอ.มีมาตรการเตรียมพร้อมเต็มที่ ปัจจุบันอีอีซีมีความต้องการใช้น้ำประมาณ 1.5 ล้าน ลบ.ม./วัน หรือ 460 ล้าน ลบ.ม./ปี โดยอ่างเก็บน้ำในอีอีซีมีปริมาณความจุประมาณ 680 ล้าน ลบ.ม. และสามารถผันน้ำจากพื้นที่จันทบุรีมาเติมได้ประมาณ 500,000 ลบ.ม./วัน หรือ 70 ล้าน ลบ.ม./ปี ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีการผันน้ำมาใช้

ทั้งนี้ ภาคเกษตรในพื้นที่จะได้รับจัดสรรน้ำในลำดับก่อนภาคอุตสาหกรรม ซึ่งในส่วนของ กนอ. อาทิ นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด มีความต้องการใช้น้ำประมาณ 250,000 ลบ.ม./วัน หรือ 90 ล้าน ลบ.ม./ปี โดย กนอ.มีการตรวจสอบปริมาณน้ำใน 4 อ่างเก็บนํ้าหลักของกรมชลประทานทุกสัปดาห์ ได้แก่ อ่างเก็บน้ำดอกกราย อ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล อ่างเก็บน้ำคลองใหญ่ และอ่างเก็บน้ำประแสร์ ยังอยู่ระดับ 56-86% ซึ่ง กนอ.เชื่อว่าเราจะสามารถมีน้ำใช้ไปจนถึงฤดูฝนปีนี้

ผู้ว่าวีริศยังระบุว่า กนอ.มีการเตรียมการรองรับกรณีเกิดภัยแล้งในพื้นที่เรียบร้อยแล้ว สรุปดังนี้ 1.โครงการที่ กนอ.ดำเนินการแล้ว จำนวน 4 โครงการ ได้แก่ 1.โครงการสูบน้ำสระพักน้ำดิบ ความจุ 1.6 ล้าน ลบ.ม., โครงการสูบน้ำจากคลองน้ำหู ทับมา ปริมาณน้ำสูงสุด 30,000 ลบ.ม./วัน, โครงการผลิตน้ำรีไซเคิลคลองชากหมาก ปริมาณน้ำสูงสุด 5,000 ลบ.ม./วัน และโครงการรับน้ำเอกชนเพื่อลดการใช้น้ำในอ่างหลักของกรมชลประทาน ปริมาณน้ำ 125,000 ลบ.ม./วัน

2.โครงการที่ กนอ.กำลังศึกษาเพื่อดำเนินการในอนาคต ได้แก่ ระบบผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเล (Desalination Plant) ปริมาณ 200,000 ลบ.ม./วัน 3.กนอ.ได้แจ้งรณรงค์ให้ผู้ประกอบการในพื้นที่มาบตาพุดใช้น้ำอย่างประหยัด ลดน้ำสูญเสีย และพิจารณานำหลักการ 3 R (Reduce Reuse and Recycle) มาเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำภายในโรงงาน เพื่อเตรียมการรองรับภัยแล้งปี 2566-2567 เรียบร้อยแล้ว

และ 4.กนอ.จัดหาแหล่งน้ำสำรอง : ได้ลงนามในสัญญาซื้อขายน้ำดิบระหว่าง กนอ.กับบริษัท วาย.เอส.เอส.พี.แอกกริเกต จำกัด เพื่อเพิ่มศักยภาพการให้บริการน้ำในภาคอุตสาหกรรม โดยบริษัทดำเนินการจัดหา และจ่ายน้ำดิบให้ กนอ.เพื่อใช้ในการบริหารจัดการน้ำ เพื่อใช้ในนิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบังในปริมาณไม่น้อยกว่า 15,000 ลบ.ม./วัน และนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดในปริมาณไม่น้อยกว่า 200,000 ลบ.ม./วัน ในราคาที่เหมาะสม

ขณะเดียวกัน นิคมอุตสาหกรรมทุกแห่งก็มีแหล่งน้ำสำรองเป็นของตนเอง สามารถจ่ายน้ำให้โรงงานในนิคมอุตสาหกรรมได้ตั้งแต่ 2-15 เดือน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image