‘ทางรอด’แฟรนไชส์ไทย 5 แสนล้าน ยึดหลักรัฐบาล ปลุก‘ความเชื่อมั่น’

‘ทางรอด’แฟรนไชส์ไทย5แสนล้าน ยึดหลักรัฐบาล ปลุก‘ความเชื่อมั่น’

เ สียงสะท้อนถึงกำลังซื้อและการใช้จ่ายที่อยู่ในภาวะฝืด หนาหูขึ้น สะท้อนจากดัชนีราคาผู้บริโภค (เงินเฟ้อ) ทั่วไปติดลบต่อเนื่อง 5 เดือน และเงินเฟ้อพื้นฐาน ไม่รวมอาหารสดและพลังงาน แม้ยังบวกแต่บวกในอัตราต่ำมากไม่ถึง 1% แล้วในวันนี้

อีกเสียงที่เป็นการยืนยันว่ากำลังซื้อไม่ดีนักในวันนี้ คือ ผู้ประกอบการริมทาง ที่ใกล้ชิดกับประชาชนมากที่สุด หนึ่งในนั้นมีธุรกิจแฟรนไชส์ร่วมอยู่ด้วย

ตามข้อมูลกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เผยว่า ธุรกิจแฟรนไชส์ที่พัฒนาผ่านเกณฑ์มาตรฐานคุณภาพการบริหารจัดการธุรกิจแฟรนไชส์ตั้งแต่ปี 2552 จนถึงปัจจุบัน รวม 525 ราย แบ่งตามประเภทธุรกิจ ธุรกิจอาหาร 234 ราย หรือสัดส่วน 44% ตามด้วยธุรกิจเครื่องดื่ม 103 ราย สัดส่วน 20% ธุรกิจการศึกษา 68 ราย บริการ 63 ราย ธุรกิจค้าปลีก 33 ราย และธุรกิจความงามและสปา จำนวน 24 ราย โดยปัจจุบันธุรกิจแฟรนไชส์ไทยมีมูลค่าตลาดกว่า 3 แสนล้านบาท อัตราเพิ่มปีละ 15-20%

Advertisement

โดยในแต่ละปีมีผู้ประกอบการรายใหม่ๆ ที่สนใจเข้าสู่ธุรกิจแฟรนไชส์กว่า 20,000 ราย จึงนับเป็นกลุ่มธุรกิจที่สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโตมากขึ้น

สุทธิชัย พนิตนรากุล นายกสมาคมแฟรนไชส์และไลเซนส์ประเทศไทย กล่าวสถานการณ์ธุรกิจแฟรนไชส์ในปี 2567 ว่า

“เป็นที่สังเกตได้ว่า ขณะนี้เศรษฐกิจไทยไม่ค่อยดีนัก สะท้อนได้จากกำลังซื้อในห้างสรรพสินค้าบางโลเกชั่น คนหายไปมาก จำนวนคนที่เดินเข้าห้างลดลงอย่างมาก ซึ่งเมื่อบวกกับผลกระทบต่อเนื่องจากการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 จึงส่งผลกระทบอย่างมากต่อผู้ประกอบการในธุรกิจแฟรนไชส์ และเชื่อว่ากำลังซื้อที่หายไปมากในช่วงก่อนหน้านี้ถึงวันนี้ ได้กระทบต่อการทำธุรกิจโดยเฉพาะภาคบริการ ซึ่งแฟรนไชส์ก็เป็นหนึ่งในภาคบริการ พร้อมกันนี้ จับสังเกตได้ว่า แม้มองว่าเศรษฐกิจไม่ดีและกำลังซื้อไม่ได้ฟื้นตัวมากนัก แต่ดูจากรายได้ประจำของพนักงานและแรงงานไทยยังเหมือนเดิม ดูจากอัตราคนว่างงานไม่ได้เพิ่มขึ้นหรือเปลี่ยนแปลงจนมีนัยสำคัญ สะท้อนว่าคนยังมีงานประจำทำและพอมีรายได้ เพียงแต่ไม่กล้าใช้จ่าย เก็บเงินสดไว้กับตัวเอง และจากที่ได้มีการตอบถามและได้มีการติดต่อเพื่อเจรจาซื้อขายระบบแฟรนไชส์ พบว่าจำนวนไม่น้อยที่อยากลงทุน แต่ยังกลัวๆ ไม่รู้ว่าจะลงทุนอะไรหรือเลือกแฟรนไชส์อย่างไร ที่จะได้ประสบความสำเร็จ

Advertisement

ซึ่งปัจจัยที่มีผลต่อการตัดสินใจการลงทุนของผู้ประกอบการรายใหม่ หรือรายเก่าที่อยากเปลี่ยนอาชีพ และหากถามว่าอุตสาหกรรมแฟรนไชส์ไทยขาดอะไร พบว่า ประเด็นแรก คือ ขาดความมั่นใจต่อสถานการณ์ในอนาคต ไม่รู้ว่าจะมีทิศทางอย่างไร ถือเป็นเรื่องสำคัญต่อการตัดสินใจผู้ประกอบการ เราพบว่าคนที่มีเงินก้อนต้องการลงทุนแต่ลังเลการตัดสินใจ เดิมไม่เกิน 3-6 เดือน วันนี้เร็วสุดคิดกันเป็นปี แม้เป็นการลงทุนในวงเงินที่ไม่ได้สูง แต่กังวลว่าลงแล้วเงินจะจมหรือเจอภาวะขาดทุนหรือไม่ ดังนั้น เงินได้มากก็มีแต่เก็บ ไม่นำมาลงทุนใหม่ๆ หรือเพิ่มรายได้จากการลงทุนต่อยอดจากเงินที่มี ซึ่งธุรกิจแฟรนไชส์เป็นตัวสะท้อนได้ดี ด้วยแฟรนไชส์ ถือเป็นอุตสาหกรรมหนึ่งในภาคบริการ และเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้เป็นอย่างดี โดยที่รัฐบาลไม่ต้องช่วยเหลือมากเหมือนภาคบริการอื่นๆ

ประการต่อมา คือ ขาดความต่อเนื่องมาตรการหรือโครงการกระตุ้นกำลังซื้อ หากรัฐบาลจะกระตุ้นกำลังซื้อก็อยากให้กระตุ้นแบบโยนก้อนหินใหญ่ลงน้ำที่จะเกิดแรงกระเพื่อมไปทั่ว ไม่ควรใส่กรวดหรือเม็ดทราย เพราะโยนลงน้ำก็จะหายไปไม่ได้แรงกระเพื่อมเท่าที่ควร รัฐบาลควรต้องตัดสินใจออกมาตรการใหญ่จริงๆ สัก 2-3 อย่างต่อเนื่อง ที่จะมีผลต่อความมั่นใจว่าเศรษฐกิจไทยฟื้นแล้ว และคนมีรายได้สามารถนำเงินมาต่อยอดทำธุรกิจ ยังยืนยันคนไทยมีเงินแต่ขาดความมั่นใจและกลัวเงินจม หากปล่อยไปอย่างนี้ จะกลายเป็นแรงสะสมต่อการลงทุนขนาดกลางและย่อมในอนาคต ทั้งๆ ที่การลงทุนระดับเล็กๆ หรือผ่านระบบแฟรนไชส์ จะเป็นทั้งแรงจูงใจใช้เงิน และวันนี้ จะเป็นการโชว์ถึงซอฟต์พาวเวอร์อาหารไทยหรือสินค้าไทย ไม่แพ้ใครในโลก โดยเฉพาะอาหารและเครื่องดื่ม ไทยเรามีการลงทุนที่หลากหลาย รสชาติและราคาไม่สูง หาซื้อของกินของอร่อยได้ทุกถนน ก็อยากฝากถึงรัฐบาล ให้ทำมาตรการใหญ่อะไรก็ได้ 1-2 เรื่องโดยเร็วที่สุด ที่สะท้อนให้เห็นว่ารัฐบาลทำได้ ทำเป็น และทำสำเร็จ ซึ่งที่ผ่านมา ประชาชนอาจมองว่ายังไม่ชัดเจน จึงเป็นตัวรั้งการลงทุนรายเล็กรายน้อยหดตัวอย่างมาก

อีกประการ คือ ปัญหาหนี้ครัวเรือน หรือหนี้รายบุคคล ในวันนี้ค่อนข้างสูง เมื่อคนมีรายได้ก็จะนำไปลดหนี้ซึ่งไม่ได้เป็นการเงินต่อเงินเหมือนการนำเงินไปลงทุนทำอาชีพหรือทำธุรกิจ ที่จะมีการหมุนเวียนหลายรอบและไปหลายเส้นทาง อย่างเปิดร้านหนึ่ง ก็มีทั้งเช่าพื้นที่ ซื้อของตกแต่ง วัตถุดิบ จ้างแรงงาน เป็นต้น เรื่องนี้หากรัฐอยากช่วยเหลือ ก็อยากให้จัดหามาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ เชื่อว่ายังมีจำนวนไม่น้อยที่อยากเปลี่ยนอาชีพหรือมีอาชีพที่สอง เพื่อหารายได้เข้าบ้าน แต่ก็ยังลังเลใช้เงินที่กำไว้ หากมีเร่งกระตุ้นจากเงินสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำและมีหน่วยงานรัฐช่วยกระตุ้นและผลักดันระบบแฟรนไชส์อย่างจริงจังต่อเนื่อง ให้ขยายตัวทั้งในประเทศและส่งเสริมไปต่างประเทศ จะเป็นแรงปลุกและให้ธุรกิจแฟรนไชส์ไทยอยู่รอดได้อย่างยั่งยืน

ส่วนปัจจัยเรื่องภาคท่องเที่ยวจากต่างชาติฟื้นตัวจากจำนวนนักท่องเที่ยวที่เข้าไทยมากขึ้นนั้น สำหรับธุรกิจแฟรนไชส์ยังได้รับอานิสงส์ทางอ้อม เพราะกว่า 80% รายได้ยังต้องพึ่งพากำลังซื้อคนในประเทศ ซึ่งในปี 2567 ประเมินว่าอุตสาหกรรมแฟรนไชส์สัญชาติไทยจะมีมูลค่าตลาด 3-4 แสนล้านบาท แม้โควิดคลี่คลายลงแล้ว แต่ยังขยายตัวได้เพียง 5-10% ต่อปีเท่านั้น เดิมขยายได้ 20-30%
โดยมูลค่าแฟรนไชส์ไทยในวันนี้ยังต่ำกว่าก่อนเกิดโควิดระบาดอยู่มาก ซึ่งก่อนโควิดระบาดอุตสาหกรรมแฟรนไชส์ไทยมีมูลค่าถึง 5 แสนล้านบาท ซึ่งที่ผ่านมาทั้งจากผลกระทบโควิดระบาดและการขาดความมั่นใจดังที่กล่าวไว้สาขาที่เปิดบริการยังเหลือแค่ 30% จากเคยเปิดก่อนเกิดโควิดระบาด เมื่อแยกเป็นประเภทกว่า 60% เป็นกลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม ส่วนอีก 40% คือ กลุ่มบริการทั่วไป (เช่น ซักผ้าหยอดเหรียญ) กลุ่มการศึกษา ที่ปีนี้ยังขยายตัวติดลบและเงียบมาก กลุ่มสปา แม้ได้นักท่องเที่ยวต่างชาติ แต่เจอปัญหาขาดแรงงาน โดยเฉพาะหมอนวดไทย หายไปจากตลาดกว่า 50% เป็นต้น

ปี 2567 นี้ สมาคมเร่งดำเนินการหลายเรื่องเพื่อให้แฟรนไชส์ไทยอยู่รอดอย่างยั่งยืน และแข่งขันได้จากแฟรนไชส์ต่างชาติที่เริ่มเข้ามามากขึ้น ทั้งจากจีน และประเทศในเอเชียด้วย แม้แฟรนไชส์ไทยจะครองตลาดอยู่ แต่ในอนาคตหากไม่ปรับตัวก็จะเจอปัญหาเหมือนหลายอุตสาหกรรม อย่างผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ เมื่อแรงผลักให้เป็นรถพลังงานไฟฟ้า ดังนั้น สิ่งที่สมาคมดำเนินการ อาทิ จัดจับคู่เจ้าของแฟรนไชส์กับสถานบริการน้ำมัน เพื่อเช่าพื้นที่ในปั๊มในราคาถูก เช่น เอ็มโอยูแล้วกับคาลเท็กซ์ รวมถึงพันธมิตรอื่นๆ เช่น สมาคมจัดหางานคนต่างด้าว ที่จะจับคู่หาแรงงานเพื่อประจำในสาขาแฟรนไชส์หรือโรงงาน ช่วยลดปัญหาต้นทุนแรงงานและขาดแคลนแรงงานคนไทย

อีกมุมมองสะท้อนถึงเศรษฐกิจไทยดีขึ้นหรือเงียบ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image