สะพานแห่งกาลเวลา : เสพติดโทรศัพท์

หลายคนอาจคิดว่านี่เอาเรื่องเก่ามาเล่าใหม่อีกแล้ว ซึ่งจริงๆ ก็ใช่อยู่ส่วนหนึ่ง เพราะเรื่องนี้เคยเขียนถึงมาแล้วก่อนหน้านี้ แต่อีกส่วนหนึ่งก็คือข้อเท็จจริงที่ว่า ปัญหาเรื่องการเสพติดการใช้สมาร์ทโฟน รวมไปถึงการใช้อินเตอร์เน็ตนี้นับวันยิ่งเป็นปัญหารุนแรงมากขึ้นทุกที

ตัวอย่างล่าสุดที่ทำให้จำเป็นต้องหยิบเรื่องนี้มาพูดถึงกันอีกครั้งหนึ่งก็คือ ผลสำรวจการสืบค้นในสหราชอาณาจักร (ยูเค) ที่ในช่วงสองสามปีที่ผ่านมานี้มีการสืบค้นเพื่อหาข้อมูลและความช่วยเหลือที่เชื่อมโยงกับอาการติดสมาร์ทโฟนในยูเคเพิ่มขึ้นถึง 500 เปอร์เซ็นต์

นั่นหมายความว่า มีคนจำนวนมากไม่ใช่เล่นกำลังประสบกับปัญหานี้อยู่และร้องขอความช่วยเหลืออยู่ในเวลานี้

ผมเข้าใจเอาเองว่า ไม่ว่าเราจะตระหนักหรือไม่ก็ตาม ปัญหาการเสพติดสมาร์ทโฟน หรืออินเตอร์เน็ต (หรือแท็บเล็ต โน้ตบุ๊ก อะไรก็แล้วแต่) ก็เกิดขึ้นในเมืองไทยเราเช่นเดียวกัน รู้ตัวหรือไม่รู้ตัวเป็นอีกเรื่องหนึ่ง

Advertisement

แล้วจะแก้ปัญหานี้กันอย่างไรดี หนทางเดียวที่ดีที่สุดก็คือ ทำความเข้าใจให้ถ่องแท้ว่า อาการติดโทรศัพท์ หรือติดอินเตอร์เน็ตที่ว่านี้คืออะไร อาการแสดงออกอย่างไร แล้วก็มีทางไหนที่จะช่วยบรรเทาได้บ้าง

ปัญหาเรื่องนี้ในยูเคใหญ่โตมากถึงขนาดสำนักงานสาธารณสุขแห่งชาติ (เอ็นเอชเอส) และหน่วยงานทางการที่เกี่ยวข้องต้องพากันศึกษาวิจัยและเผยแพร่ข้อมูลออกมาอย่างเป็นงานเป็นการกันแล้ว

เอ็นเอชเอสให้นิยามเรื่องนี้ไว้ในทำนองว่า อาการติดโทรศัพท์ หรือแอพพลิเคชั่นในโทรศัพท์ หรือติดอินเตอร์เน็ตนั้น บ่งชี้ได้ไม่ยาก ด้วยการไตร่ตรองตามข้อเท็จจริงว่า เราสามารถควบคุมการใช้งานมันได้หรือไม่ เราจะมีอาการ “เสพติด” ในกรณีที่เราไม่สามารถควบคุมการใช้งานได้ ไม่สามารถจำกัดการใช้งานได้ จนการใช้งานสิ่งเหล่านี้ส่งผลที่เป็นอันตรายสะท้อนกลับมายังตัวเรา

Advertisement

เอ็นเอชเอสเปรียบเทียบเอาไว้ว่า การติดสมาร์ทโฟน หรือติดอินเตอร์เน็ต ก็เหมือนกับการติดการพนัน, ติดยาเสพติด, ติดเหล้า หรือติดบุหรี่ พูดง่ายๆ ก็คือ ในความเป็นจริงทุกสิ่งที่มีอยู่นี้เราสามารถเสพติดได้หมดทั้งนั้น

รายงานที่เป็นทางการของยูเคในเวลานี้บอกไว้ชัดเจนว่า ในเวลานี้แต่ละเดือนมีคนร้องขอให้ช่วยแก้ปัญหาติดวิดีโอโป๊ (บนอินเตอร์เน็ต) มากกว่าจำนวนคนที่ร้องขอความช่วยเหลือเรื่องติดโคเคน หรือยาเสพติดอื่นใดไปแล้ว

เลสเตอร์ มอร์ส ผู้ก่อตั้ง “รีแฮบส์ ยูเค” องค์กรเพื่อให้ความช่วยเหลืออาการเสพติด ระบุว่า พฤติกรรมการเสพติดสิ่งซึ่งเรียกรวมๆ ว่า การเสพติดดิจิทัล (digital addictions) นั้นก็เหมือนกับการเสพติดอื่นๆ ที่มักเริ่มต้นจากปัญหาที่เกิดขึ้นกับตัวผู้ใช้ อาทิ ความเครียด ไม่สบาย กระวนกระวายใจ จนกลายเป็นความปรารถนาแรงกล้าที่จะ “หนี” จากโลกความเป็นจริงไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

คนที่ต้องการหนีเหล่านี้บางคนหันเข้าหายาเสพติดเพราะต้องการลืมด้วยการเมายา หรือหลอน แต่ระยะหลังมานี้มีอีกเป็นจำนวนมากที่ใช้สมาร์ทโฟนและอินเตอร์เน็ตเป็นหนทางในการหลบหนีจากโลกที่เป็นจริง

การระบาดใหญ่ทั่วโลกของโควิด-19 ที่ทำให้ทุกคนถูกจำกัดการใช้ชีวิตในความเป็นจริง ส่งผลให้เกิดอาการเสพติดทางดิจิทัลมากขึ้นและรุนแรงขึ้นจนกลายเป็นพฤติกรรมเสพติดในที่สุด

ผู้เชี่ยวชาญอย่าง พาเมลลา โรเบิร์ตส์ นักจิตวิทยาบำบัด จำแนกอาการ “เสพติด” หรือส่อว่าจะติดเอาไว้ สำหรับใช้การสำรวจตัวเอง ดังนี้

1 การใช้สมาร์ทโฟน (หรืออุปกรณ์อื่นใด) ของคุณส่งผลกระทบร้ายแรงต่อการนอนหรือไม่

2 คุณเช็กสมาร์ทโฟนอยู่ตลอดเวลา ทั้งๆ ที่ไม่มีความจำเป็นต้องตรวจสอบหรือเปล่า

3 พฤติกรรมบางอย่างที่คุณทำกลายเป็นวิธีที่ทำเป็นประจำแน่นอนหรือเปล่า (เช่น การส่งไลน์หาใครๆ ที่อยู่รอบตัวคุณแทนที่การพูดคุยด้วย)

4 คุณกำลังมีปัญหาในครอบครัว, ที่ทำงาน หรือมีปัญหาสุขภาพ อันเป็นผลมาจากการใช้งานมันหรือไม่

5 คุณตรวจสอบข้อมูลข่าวสาร หรือชอร์ต เมสเสจ บนโทรศัพท์อย่างต่อเนื่องทั้งๆ ที่ไม่จำเป็น อย่างที่มักมีคนพูดกันว่าขอให้ได้ไถโทรศัพท์ดูเท่านั้นเอง โดยไม่สนใจเพื่อน หรือคนรอบข้างหรือไม่

6 ชีวิตของคุณกำลังเกิดปัญหาจากการใช้งานเชิงดิจิทัลของตัวเองหรือเปล่า

7 คุณเคยพยายามแก้ไขพฤติกรรมการใช้งานของตัวเอง แต่ไม่เป็นผลหรือไม่

เหล่านี้คือตัวอย่างของคำถามที่ใช้ถามตัวเองเพื่อดูว่าเราเข้าข่ายจะติด หรือกำลังติดสมาร์ทโฟนหรือเปล่า ซึ่งถ้าหาก “ซื่อสัตย์” กับตัวเองพอ ก็น่าจะตระหนักรู้ได้ไม่ยาก

ในส่วนของทางแก้ ผู้เชี่ยวชาญอย่าง แทนยา กูดิน ให้ข้อเสนอแนะไว้สองสามประการ แรกสุดคือ การสร้างเขตพื้นที่ห้ามใช้สมาร์ทโฟนเด็ดขาด (เช่น ห้องน้ำ, ห้องนอน เป็นต้น) ถัดมาก็คือ พยายามเปลี่ยนแปลงรูปแบบที่เราใช้อยู่ประจำ เช่น เปลี่ยนการเสพวิดีโอ เป็น ออดิโอ หรือเสียงแทน ประการที่สามก็คือ พยายามทำตัวให้ยุ่งเข้าไว้ หางานอะไรก็ได้ที่ช่วยให้มืออยู่ห่างจากโทรศัพท์ไม่ต้องถูไถหน้าจอแบบไร้จุดประสงค์ได้

ถ้าพยายามหลายประการเหล่านี้แล้วยังไม่ได้ผลละก็ ต้องปรึกษาจิตแพทย์อย่างเป็นงานเป็นการแล้วละครับ

ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image