‘ผบ.อ๊อบ’เชื่อ สหรัฐฯ ไว้ใจไทย ส่ง F-35 ร่วมฝึกผสม COPE TIGER ครั้งแรก

ทอ.ไทย จับมือ สิงคโปร์-สหรัฐฯ ร่วมฝึกผสม COPE TIGER เน้นการยุทธ์ทางอากาศ ขณะที่ ‘ผบ.อ๊อบ’เชื่อ สหรัฐฯ ไว้ใจไทย ส่ง F-35 ร่วมฝึกครั้งแรก เตรียมนำข้อมูลไปพัฒนากองทัพ ทำแผนรบร่วมเหล่าทัพปี 71-80

เมื่อวันที่ 19 มีนาคม ที่กองบิน 1(บน.1) จ.นครราขสีมา กองทัพอากาศ(ทอ.) เข้าร่วมการฝึกผสมโคปไทเกอร์ ประจำปี 2567 (COPE TIGER 2024) เป็นการฝึกผสมทางอากาศที่มีการสนธิกำลังทางอากาศใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จาก 3 ประเทศ ได้แก่ ไทย สิงคโปร์ และสหรัฐอเมริกา เข้าร่วมการฝึก ที่กองบิน 1 จ.นครราชสีมา โดยมีการพัฒนารูปแบบการฝึกให้เข้ากับสถานการณ์การสู้รบในปัจจุบัน และมีการสมมติสถานการณ์เสมือนจริง ทั้งด้านการควบคุมและสั่งการ การฝึกยุทธวิธีการรบระหว่างเครื่องบินรบต่างแบบ การฝึกโจมตีทางอากาศต่อเป้าหมายภาคพื้นดินที่มีการต่อต้านจากกอาวุธของหน่วยต่อสู้อากาศยานภาคพื้น การฝึกด้านการข่าวกรองยุทธวิธีโดยใช้อากาศยานไร้คนขับ และการให้การสนับสนุนของหน่วยสนับสนุนต่างๆ

สำหรับวัตถุประสงค์การฝึกครั้งนี้ เพื่อพัฒนาขีดความสามารถใช้อากาศยานแบบผสม และเพิ่มทักษะของผู้เข้าร่วมการฝึก รวมไปถึงการดำเนินกลยุทธ์ โดยเฉพาะการวางแผนทำงานร่วมกันอย่างเป็นระบบ อีกทั้งยังเป็นการกระชับความสัมพันธ์ระหว่างมิตรประเทศที่เข้าร่วมการฝึกอีกด้วย ไฮไลท์ปีนี้ มีเครื่องบิน F-35 ของสหรัฐฯ มาร่วมฝึกด้วยเป็นครั้งแรกเต็มรูปแบบ จำนวน 8 ลำ เดินทางจากฐานทัพสหรัฐในรัฐอลาสก้า นอกจากนี้ สหรัฐฯ ยังนำเครื่องบิน F-16 จำนวน 10 ลำ มาจากฐานทัพในเกาหลีใต้ มาร่วมฝึกกับ เครื่องบิน F-16 และ F-5 ของกองทัพอากาศ ไทย และเครื่องบิน F-15 ของกองทัพอากาศสิงคโปร์

Advertisement

พล.อ.ทรงวิทย์ หนุนภักดี ผู้บัญชาการทหารสูงสุด(ผบ.ทสส.) กล่าวภายหลังตรวจเยี่ยมกองอำนวยการฝึกร่วม COPE TIGER และเยี่ยมชมเครื่องบิน F-35 ว่า รูปแบบการฝึก COPE TIGER มีประเด็นในเรื่องการใช้กำลังทางอากาศขนาดใหญ่ และฝึกเรื่องการรักษาความปลอดภัย การวิเคราะห์ภาพถ่ายทางอากาศ วันนี้มีความละเอียดมากขึ้นโดยใช้ทั้งเครื่องบินถ่ายภาพอากาศและใช้ระบบโดรนหรือ ไอเอสอาร์ มาผสมเป้าหมายการวิเคราะห์ทางอากาศ ทั้งหมดนี้ ตนก็กำลังเรียนรู้อยู่ โดยกองทัพไทยมีความจำเป็นต้องนำองค์ความรู้เหล่านี้ไปพัฒนาในอนาคต

ส่วนการที่เครื่องบิน F-35 ของสหรัฐฯ มาฝึกมาครั้งแรกนั้น ถือว่ามีความไว้วางใจเรา ในฐานะที่เป็นพันธมิตรต่อกัน ทั้งในแง่ของการฝึกร่วม และส่วนที่เป็นสนธิสัญญา ถือว่าเป็นนิมิตหมายที่ดีที่เรามีประเทศที่เป็นพันธมิตรและมีความไว้วางใจเรา รวมถึงสิงคโปร์ด้วย ที่นำเอา F 16 และ F15 มาร่วมฝึกด้วย

Advertisement

“วันนี้ตั้งใจมาเอาข้อมูลนำไปทำแผนพัฒนากองทัพ ปี 71-80 ตอนนี้กำลังก่อร่างสร้างตัวและพยายามทำอยู่ วันนี้สิ่งที่ผู้บัญชาการทหารอากาศทำอยู่ อยากให้พี่น้องประชาชนเชื่อมั่นว่าเราจะนำกองทัพอากาศไปสู่คีย์เวิร์ดที่ว่า unbeatable AirForce”พล.อ.ทรงวิทย์ กล่าว

เมื่อถามว่าความพร้อมของ กองทัพอากาศ ซึ่งเป็นปัจจัยในการให้สหรัฐฯ ยอมขาย F-35 ให้เรานั้น พล.อ.ทรงวิทย์ กล่าวว่า ขณะนี้เป็นเรื่องของการพัฒนาขีดความสามารถเพื่อดูว่าในอนาคตข้างหน้า ทอ.จะมีฝูงบินใหม่กี่ฝูง เพื่อทดแทนของเดิม ส่วนรายละเอียดทางเทคนิคขอให้ทางกองทัพอากาศพูด ผู้บัญชาการทหารสูงสุดก็มีลิมิตในการรับรู้ ซึ่งหลักๆวันนี้เรารับรู้เรื่องที่น่าดีใจดีใจ 2 เรื่องคือ การอำนวยการระหว่างเหล่าทัพในการรบ และประสบความสำเร็จในระบบต่างๆไปพอสมควร อีกส่วนหนึ่งคือระบบป้องกันภัยทางอากาศที่สามารถเชื่อมโยงระบบป้องกันทางอากาศระหว่างเหล่าทัพได้ ตามแนวคิดของผู้บัญชาการทหารอากาศ ที่ต้องการสร้างกองทัพอากาศให้มีความเข้มแข็ง โดยเริ่มจากการเตรียมกำลังด้วยการฝึก และความพร้อมเชิงกายภาพ ซึ่งคือเครื่องบินรบ รวมทั้งต้องปฏิบัติงานร่วมกับมิตรประเทศได้ นอกจากนี้ยังมีเรื่องของระบบการควบคุมบังคับบัญชา ซึ่งตนได้ไปเยี่ยมชมในครั้งนี้ด้วย

ผบ.ทสส. กล่าวอีกว่า สิ่งที่น่าภูมิใจของกองทัพอากาศคือ การใช้ระบบดาต้าลิ้งค์ในการรบ ร่วมกับเหล่าทัพอื่นได้ หน้าที่ของกองทัพไทยคือการทำให้ระบบนี้กระจายไปสู่ทุกภาคส่วนของตัวกองทัพ ไม่ว่าจะเป็นกองทัพบก กองทัพเรือ กองทัพอากาศ สิ่งที่เห็นว่ามีพัฒนาการสูงมากถึงระบบป้องกันภัยทางอากาศ ระหว่างหน่วยบัญชาการป้องกันภัยทางอากาศ (นปอ.) ของ กองทัพบก กับ หน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่ง (สอ.รฝ. ) ของกองทัพเรือ

“ผมคิดว่าถ้าเราสามารถจัดกำลังรบรวมกันได้ พี่น้องประชาชนชาวไทยจะได้กองทัพที่มีประสิทธิภาพ พร้อมปฎิบัติงานในการป้องกันประเทศที่มีขีดความสามารถสูงสุด” พล.อ.ทรงวิทย์ กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image