‘ผุสดี คีตวรนาฏ’ นั่งปธ.ชมรมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์อาวุโส สมัย2 ย้ำ!จริยธรรมสำคัญสูงสุด

‘ผุสดี คีตวรนาฏ’ นั่งปธ.ชมรมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์อาวุโส สมัย2 ย้ำ!จริยธรรมสำคัญสูงสุด

เมื่อวันที่ 29 มีนาคม สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย จัดการเลือกตั้งคณะกรรมการชมรมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์อาวุโส ประจำปี 2567 ที่โรงแรมริเวอร์ไซด์ เขตบางพลัด กรุงเทพมหานคร โดยมีสมาชิกชมรมฯ เข้าร่วมกว่า 60 คน ทั้งนี้ ที่ประชุมมีมติเป็นเอกฉันท์ให้ นางผุสดี คีตวรนาฏ อดีตนายกสมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทย เป็น ประธานชมรมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์อาวุโส ต่อในวาระที่ 2 ตั้งแต่ปี 2567-2569 และมีคณะกรรมการ 7 คน ได้แก่ 1.นายบุตรดา ศรีเลิศชัย 2.นายสมาน สุดโต 3.นายสวิชย์ บำรุงสุข 4.นายสายัณห์ พรนันทารัตน์ 5.นายตุลย์ ศิริกุลพิพัฒน์ 6.นายไพสันต์ พรหมน้อย และ 7.นายมานะ โอภาส

นางผุสดี เปิดเผยว่า ความตั้งใจของตนในวันนี้ อยากจะมาอำลาตำแหน่งประธานชมรมฯ แต่วันนี้ทุกคนไว้วางใจให้ตนเป็นประธานชมรมฯ ต่อ จึงต้องขอขอบคุณสมาชิกชมรมฯ ทุกคนที่ไว้วางใจให้ได้ทำหน้าที่ในการบริหารชมรมฯ ต่อไป

Advertisement

นอกจากนี้ นางผุสดี ยังกล่าวเสวนาในหัวข้อ “จากชีวิตคนหนังสือพิมพ์ สู่สื่อโลกยุคโซเชียล” ว่า ตนศึกษาจบจากคณะวารสารศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ด้วยความชอบในอาชีพการเป็นนักข่าว จึงได้ตัดสินใจเข้ามาทำงานในแวดวงหนังสือพิมพ์ ตั้งแต่ปี 2507 จากนั้นได้ลองไปทำงานด้านโทรทัศน์อยู่ช่วงหนึ่ง ก่อนจะกลับมาทำงานที่หนังสือพิมพ์เนชั่นยาวนานถึง 14 ปี จึงได้ตัดสินใจอีกครั้ง โดยเลือกออกมาทำหนังสือพิมพ์จีน

นางผุสดี กล่าวว่า ต้องยอมรับว่าการทำงานสื่อในยุคโซเชียลนั้น นักข่าวสามารถเข้าถึงแหล่งข่าว แหล่งข้อมูลได้มากกว่าการทำข่าวยุคก่อน โดยเฉพาะตนที่เข้ามาทำงานในช่วงเผด็จการทหาร ดังนั้น การทำข่าวจะมีข้อจำกัดมากขึ้น การจะเข้าถึงแหล่งข่าวเป็นเรื่องที่ทำได้ยากมาก เพราะอำนาจในการตัดสินใจว่าจะให้สัมภาษณ์หรือไม่นั้น ก็ขึ้นอยู่กับแหล่งข่าว จึงทำให้ข่าวในช่วงนั้นเป็น “ข่าวแห้ง” ไร้สีสัน แต่ยุคปัจจุบัน นักข่าวสามารถเข้าถึงแหล่งข่าวได้มากขึ้น มีอินเตอร์เน็ตในการสืบค้นข้อมูลได้ง่ายมากขึ้น เราจึงต้องใช้ประโยชน์จากสิ่งนี้ให้ได้สูงสุด

“แม้ว่าปัจจุบันเราจะเข้าสู่ยุคของโซเชียลมีเดีย แต่สิ่งสำคัญที่สุดของ คนสื่อ คือ จริยธรรม เมื่อเราได้ข่าวมาแล้วต้องสืบค้นให้ได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ไม่ใช่ได้ยินเรื่องอะไรมาแล้วเขียนเป็นตุเป็นตะ เพราะการสร้างความเชื่อถือ เป็นหน้าที่ของคนทำสื่อ เราจะต้องนึกไว้ว่าเสมอว่าจะทำอย่างไรให้ผู้อ่านได้ประโยชน์จากสิ่งที่เรารายงานไป ไม่ใช่ก่อให้เกิดความสับสนในสังคม” นางผุสดี กล่าว

Advertisement

ด้าน นายสมาน กล่าวว่า ตนเริ่มทำงานที่หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ ตั้งแต่ปี 2523 จึงได้เห็นพัฒนาการของหนังสือพิมพ์ภาษาต่างประเทศในไทยมาอย่างต่อเนื่อง ช่วงแรกที่เข้าไปทำงานนั้น ได้ประจำอยู่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และ กระทรวงคมนาคม

“ในยุคที่ยังไม่มีอินเตอร์เน็ตนั้น นักข่าวจะต้องใช้ชีวิตหาข่าวในช่วงเช้า และหลังเที่ยงจะต้องรีบเข้าไปโรงพิมพ์ เพื่อส่งข่าวที่ได้มา ช่วงนั้นยังต้องใช้เครื่องพิมพ์ดีด ซึ่งหลายครั้งนักข่าวก็มักจะตกข่าว เนื่องจากยังไม่มีอินเตอร์เน็ต การจะติดตามข่าวนั้นเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก ประกอบกับข่าวสารต่างๆ ที่มาหลังเที่ยง ก็อาจจะต้องตกข่าวไปด้วยเช่นกัน ชีวิตนักข่าวยุคโซเชียล สำหรับผมก็ได้เข้าสู่ยุคโซเชียลตั้งแต่อยู่หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ ซึ่งต้องยอมรับว่าไม่ถนัด จะต้องสอบถามคนทำงานรุ่นใหม่ๆ โดยเฉพาะการใช้สมาร์ทโฟน ถ้าต้องใช้งานในเชิงลึกก็จะทำไม่ได้เลย แต่การมีโซเชียลก็มีข้อดีมากมาย ดังนั้น นักข่าวต้องเพิ่มทักษะให้ตัวเอง เพื่อใช้โซเชียลให้เกิดประโยชน์ต่อเราและส่วนรวม ถ้าเป็นผู้สื่อข่าวก็ต้องสามารถนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อผู้อ่านได้” นายสมาน กล่าว

 

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image