รุ่งโรจน์ หวั่น ‘อโยธยา’ ถูกบังคับสูญหาย ซัดรัวหลักฐานพรึบ เก่ากว่าสุโขทัยแน่

รุ่งโรจน์ หวั่น ‘อโยธยา’ ถูกบังคับสูญหาย ซัดรัวหลักฐานพรึบ เก่ากว่าสุโขทัยแน่

เมื่อวันที่ 30 มีนาคม ที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ชั้น LG ฮอลล์ 5-7 สมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (PUBAT) พร้อมด้วยพันธมิตรสำนักพิมพ์ ร่วมจัดงาน ‘สัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 52 และสัปดาห์หนังสือนานาชาติ ครั้งที่ 22’ ตั้งแต่วันที่ 28 มีนาคม – 8 เมษายนนี้ โดยบรรยากาศการจัดงานวันที่ 3 เป็นไปอย่างคึกคักเนื่องจากเป็นวันหยุดสุดสัปดาห์

บรรยากาศตั้งแต่เวลา 11.00 น. ที่บูธสำนักพิมพ์มติชน ‘J47’ ในวันที่ 3 ของงาน มีผู้คนแวะเวียนมาเลือกซื้อ เลือกอ่านหนังสือเป็นจำนวนมาก โดยสำนักพิมพ์มติชน มีหนังสือแนวประวัติศาสตร์ การเมือง ศิลปวัฒนธรรม และจิตวิทยาพัฒนาบุคคล เป็นแม่เหล็กดึงดูดให้นักอ่านมาหาซื้ออ่านเป็นจำนวนมาก

เวลา 13.00 น. เริ่มกิจกรรมแจกลายเซ็นนักเขียน ‘Read up Sign’ ตลอดช่วงบ่าย ที่บูธสำนักพิมพ์มติชน นำโดย นายสรกล อดุลยานนท์ หรือ หนุ่มเมืองจันท์, รศ.ดร.รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล เจ้าของผลงานดัง ‘อโยธยาก่อนสุโขทัย ต้นกำเนิดอยุธยา’ และน.ส.วรรณพร เรียนแจ้ง ผู้แปลหนังสือ เดินทางมาพบปะแฟนหนังสือ The Museum of Other People พิพิธภัณฑ์แห่งผู้เป็นอื่น พร้อมแลกเปลี่ยนบทสนทนาอย่างเป็นกันเอง

Advertisement

จากนั้นเวลา 18.00 น. เริ่มเวที Matichon’s Special talk “อโยธยาเก่าแก่กว่าสุโขทัยจริงหรือ?” นำพูดคุยโดย รศ.ดร.รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล เจ้าของผลงาน ล้อมวงไปด้วยนักอ่านอย่างอบอุ่น

ในตอนหนึ่งของช่วงทอล์ก รศ.ดร.รุ่งโรจน์ กล่าวว่า เรื่องราวของอโยธยาหายไป แล้วสุโขทัยเป็นราชธานีแห่งแรก เกิดขึ้นหลังสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเสนอว่าสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 หรือ พระเจ้าอู่ทอง เสด็จมาจากเมืองอู่ทอง ประกอบกับการยึดมั่นว่าสุโขทัยเป็ยราชธานีแห่งแรก อโยธยาก็เงียบหายไป ตั้งแต่ช่วง ร.6-7 และช่วงสมัยครามโลก

Advertisement

รศ.ดร.รุ่งโรจน์กล่าวอีกว่า จนมาถึงสมัยรัฐบาลจอมพล. ป พิบูลสงคราม ครั้งที่ 2 ตอนปลาย ก็เริ่มมีการพูดถึงอโยธยาอีกครั้ง โดยการเขียนของนายธนิต อยู่โพธิ์ ก็ได้ทำให้นายจิตร ภูมิศักดิ์ ได้สืบสานงานต่อ รวมถึงงานของอาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม ที่มีการเอาหลักฐานโบราณวัตถุมาพูดขึ้นอีก

“ทั้งนี้ทั้งนั้นเหตุผลที่ว่า นักวิชาการกระแสหลักนั้น ยังยึดติดกับสุโขทัยเป็นราชธานีแห่งแรก และที่มาของพระเจ้าอู่ทอง ก็เลยทำให้ไม่กล้าออกมาอภิปรายถกเถียง

ดังนั้นอโยธยาจึงถูกนักวิชาการกระแสหลัก เรียกว่า เมืองในจินตนาการ เหมือนความหวานชื่น เมื่อหลับตื่นก็หายไป ไม่มีตัวตนจริง แต่ทีนี้พอเอาเข้าจริงแล้วมันต้องกลับไปทบทวนใหม่ว่า เรารู้ส่าสุโขทัยไม่ใช่ราชธานีแรก และสมเด็จพระรามาธิบดีที่1 ก็ไม่ได้มาจากเมืองอู่ทอง เรื่องอโยธยาก็มีสิทธิเอากลับมาทบทวนว่า มันมีจริงหรือเปล่า อย่าให้มันเป็นแค่เมืองในความฝัน” รศ.ดร.รุ่งโรจน์กล่าว

เมื่อถามถึงความสำคัฐของ ‘วัดสมณโกฏฐาราม’ บนปกหนังสือ

รศ.ดร.รุ่งโรจน์กล่าวว่า วัดสมณโกฏตามเอกสารคำให้การของวัดประดู่ทรงธรรม บอกว่าพระมหาธาตุที่เป็นหลักของพระนคร มาพระปรางค์อยู่ 5 แห่ง 1.วัดราชบูรณะ 2.วัดมหาธาตุ 3. วัดพระราม ซึ่ง 3 วัดนี้อยู่ในเกาะเมือง

“ระบุชัดแน่ว่าวัดมหาธาตุ พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 สร้าง และ วัดราชบูรณะ สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 สร้าง ส่วนวัดพระราม สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถสร้างอยู่บนตำแหน่งศูนย์กลางของเมือง วัดสมณโกฏก็ต้องเข้ากับกรณีเหล่านั้น และที่สำคัญภาพจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ วัดสมณโกฏ มีพระปรางค์ที่ใหญ่มาก คนยืนอยู่ตัวกระจึ๋งเดียว พร้อมแสดงตำแหน่งพระปรางค์อย่างเด่นชัด

หลายอย่างในการกำหนดอายุโบราณสถานอธุธยามีปัญหามาก เพราะว่าเราไปติดกับปัญหาว่าก่อนหน้า พ.ศ.1893 มันไม่มีอะไร เรามองเหมือนว่าอยุธยาเกิดจากกระบอกไม้ไผ่ พอถึงพ.ศ.1893 มีจานบินอยู่หนองโสน มันไม่ใช่อย่างนั้น มันต้องมีอยู่ก่อน” รศ.ดร.รุ่งโรจน์ชี้

รศ.ดร.รุ่งโรจน์กล่าวว่า มีการกำหนดว่าอะไรก็ตามที่ใกล้เคียงดับวัดมหาธาตุ ลพบุรี อันนั้นจะต้องเก่า แต่เก่าได้สูงสุดได้แค่พ.ศ. 1893 ทำไมใกล้เคียงกว่านั้นไม่เป็น ทำไมใกล้เคียงมากไม่เป็นพ.ศ. 1850 เพราะฉะนั้นอะไรหลายชิ้น มีความใกล้เคียงกับวัดมหาธาตุ ลพบุรีเยอะ อะไรก็ตามกำหนดไม่เกินพ.ศ 1893 ที่เป็นเพดานกำหนดสำคัญ

เมื่อถามว่าจากการค้นคว้าหลักฐาน พบว่า ‘อโยธยา’ เป็นรากฐานสำคัญของอยุธยาหรือไม่

รศ.ดร.รุ่งโรจน์กล่าวว่า เอกสารก่อนพ.ศ. 1893 มีสำคัญอยู่ 4 ชิ้น 1. โองการแช่งน้ำ และพระอัยการ ซึ่งหมายถึงกฎหมายอีก 3 ฉบับ กล่าวคือ โองการแช่งน้ำเป็นเรื่องราวมีมาก่อนกรุงศรีอยุธยา ซึ่งมีการใช้ภาษาไท-ลาวเกิดขึ้น แสดงว่ากลุ่มผู้มีอำนาจใช้ภาษากลางในภาษาราชการ

“โองการแช่งน้ำเป็นตัวที่บ่งบอกว่า ระบบกษัตริย์ในอโยธยา พัฒนาไปกว่าระบบวงศ์พระร่วง หัวเมืองแม่น้ำปิง วัง เพราะระบบกษัตริย์เหล่านี้บอกว่า เกิดจากฤาษี หรือ พญานาค แต่อโยธยาบอกว่าสืบมาจากองค์สมมุติไปเลย เป็นกษัตริย์องค์แรกตามคัมภีร์อคัญญสูตรดูศักดิ์สิทธิ์กว่า ฉะนั้นโครงสร้างเหล่านี้เป็นโครงสร้างที่เก่าแก่มา เพียงแต่ว่าเรายึดติดว่าไม่มีเมืองก่อน 1893 แล้วอันนี้ล่ะ หมายความว่าอย่างไร” รศ.ดร.รุ่งโรจน์ชี้

หลักฐานที่ชี้ว่าเมืองอโยธยาเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว เกิดจากการค้าขายกับเรือสำเภา?

รศ.ดร.รุ่งโรจน์กล่าวว่า ตั้งแต่ช่วงพ.ศ. 1500-1600 รางวงศ์ซ่งส่งเรือสำเภามาค้าขายเอง ศูนย์กลางเดิมจากลพบุรี มาหาแหล่งใหม่ที่สำเภาจีนเข้าได้ก็เลยมาเป็นศูนย์รวมที่อโยธยา เราจะพบตัวอย่างพระพุทธรูปหินทราย แพตเทิร์นที่เราเรียกว่าอู่ทอง กระจายตัวอยู่ตามชุมชนที่รองรับการค้าสำเภากับจีน

เมื่อถามว่าอโยธยาทำไมเก่ากว่าสุโขทัยได้?

รศ.ดร.รุ่งโรจน์กล่าวว่า หนังสือเล่มนี้ตนชี้ว่าอโยธยาเป็นศูนย์กลางที่เก่าแก่กว่าสุโขทัย คือ สุโขทัยเป็นชุมชนอยู่แล้ว แต่ความเป็นเซ็นเตอร์เกิดที่อโยธยาแล้วขึ้นไปที่สุโขทัย

“อโยธยาประกาศใช้กฎหมายอย่างเป็นทางการปี 1776 โครงสร้างภาษามีความซับซ้อนมาก โดยเฉพาะที่หลายท่านไปตรวจสอบ ช่วงพีเรียดร่วมสมัยจารึกของพระมหาธรรมราชา พระยาลิไท กษัตริย์สุโขทัยยังเป็นพ่อขุนบางกลางหาว เพิ่งได้เป็นพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ แต่อยุธยาเป็นสมเด็จพระรามาธิบดีไปเรียบร้อยแล้ว” รศ.ดร.รุ่งโรจน์กล่าว

 

รศ.ดร.รุ่งโรจน์กล่าวว่า เนื้อหาข้างในพูดถึงว่าอโยธยาเป็นเซ็นเตอร์ก่อนสุโขทัย ถ้าจะบอกว่าสุโขทัยเจอเครื่องถ้วยซ่ง งั้นบ้านเชียงก็เก่ากว่าอโยธยาเพราะเจอเครื่องถ้วยเหมือนกัน แต่สุโขทัยไม่เคยแสดงอะไร ที่แสดงความเป็นเซ็นเตอร์เก่ากว่าอโยธยา

เมื่อถามว่าการพัฒนาพื้นที่อโยธยากับการอนุรักษ์ จะสามารถอยู่ร่วมกันได้หรือไม่?

รศ.ดร.รุ่งโรจน์กล่าวว่า การพัฒนาก็จะต้องควบคู่ไปกับการอนุรักษ์ เพียงปัญหามีอยู่ว่า ถ้าเราคิดว่ามันไม่มี เราก็เลยละเลย เปรียบเสมือนว่ามันหาย เหมือนถูกบังคับให้สูญหาย สะกดจิตกันเองให้มันหายไป

“เอาง่ายๆหนังสือเล่มนี้บอกว่า อโยธยาเป็นต้นกำเนิดอยุธยา อยูธยาเป็นต้นกำเนิดกรุงธนบุรี ธนบุรีต้นกำเนิดรัตนโกสินทร์ ซึ่งอโยธยาเป็นตัวรัฐที่ใช้ภาษาไทในทางการที่มีความเก่าแก่ และลักษณะแบบแผนสำนวนภาษา ก็สืบต่อมาถึงช่วงรัตนโกสินทร์” รศ.ดร.รุ่งโรจน์ชี้

รศ.ดร.รุ่งโรจน์กล่าวทิ้งท้ายว่า คำนำในหนังสือตนเขียนชัดว่า ไม่ได้คัดค้านรถไฟความเร็วสูง ซึ่งตอนนั้นพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ ก็บอกแล้วว่า จะให้มีการสร้างหลายแนวทางเลือก แต่ทำไมยังอุตส่าห์ตัดทางเข้าสู่ตัวเมืองอโยธยา ต้นทาง ที่เป็นรากเหง้าของประวัติศาสตร์

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image