‘อรรถพล ฤกษ์พิบูลย์’ ย้ำ 4 จุดยืน ปตท. ก่อนส่งไม้ต่อซีอีโอคนใหม่

‘อรรถพล ฤกษ์พิบูลย์’ ย้ำ 4 จุดยืน ปตท. ก่อนส่งไม้ต่อซีอีโอคนใหม่

วันที่ 12 พฤษภาคม 2567 “อรรถพล ฤกษ์พิบูลย์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) คนที่ 10 จะครบวาระการดำรงตำแหน่ง

ด้วยบทบาทบริหาร ปตท. ยักษ์ธุรกิจพลังงานของไทยที่มีทรัพย์สินมูลค่า 3.46 ล้านล้านบาท และหนี้สิน 1.9 ล้านล้านบาท

ปัจจุบัน ปตท. เป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญของประเทศไทยในการก้าวข้ามการเปลี่ยนแปลง สู่การปรับตัวทันท่วงที จนขึ้นเป็นผู้นำที่ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อยกระดับขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ พร้อมพัฒนาสังคมและยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทย

Advertisement

เมื่อเร็วๆ นี้ ซีอีโออรรถพล เปิดเผยถึงการทำงานในช่วงท้ายว่า ปตท. ถือเป็นองค์กรด้านพลังงานของประเทศอยู่ในสถานะองค์กรที่เป็นทั้งรัฐวิสาหกิจและเป็นบริษัทที่จดทะเบียนภายใต้การดูแลของคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (คณะกรรมการ ก.ล.ต.)

สิ่งสำคัญจะต้องคำนึงคือ 1.บาลานซ์ Stakeholders หรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย โดยสร้างสมดุลระหว่างการทำธุรกิจ การดูแลชุมชน สังคม สิ่งแวดล้อม และความมั่นคงของประเทศ ซึ่ง ปตท.ไม่ได้สิทธิพิเศษประโยชน์จากภาครัฐ ดังนั้น การทำธุรกิจส่วนใหญ่จะต้องมีการแข่งขันกันตลอดเวลา ซึ่งการแข่งขันต้องคำนึงถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียด้วยเช่นกัน

2.Change Management ต้องพร้อมรับทุกการเปลี่ยนแปลง อาทิ การวางแผน การวางระบบงาน การปรับเปลี่ยนโครงสร้างด้านต่างๆ ที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ซึ่งทุกครั้งที่เปลี่ยนจะส่งผลกระทบต่อตัวพนักงานและองค์กร จึงต้องบริหารการเปลี่ยนแปลงให้ได้ เพราะความไม่แน่นอนมีอยู่ตลอดเวลา

Advertisement

3.Positive Thinking ที่ต้องมีไว้รับกับทุกสถานการณ์ เพื่อให้บริหารจัดการให้ได้ในทุกสถานการณ์ หากเป็น Negative Thinking เชื่อว่าการบริหารจัดการในด้านต่างๆ จะไม่ดีและติดขัดได้

4.TeamWork การสร้างทีมเวิร์กถือเป็นอีกแนวคิดการทำงานที่สำคัญ เมื่อองค์กรมีความพร้อมด้านบุคลากรที่ดี องค์กรจะเติบโตและแข็งแกร่งต่อไป

ซีอีโออรรถพล กล่าวถึงความคาดหวังต่อทิศทางพลังงานในอนาคตว่า ยังคงยืนยันอยากจะเห็นประเทศไทยมีความมั่นคงด้านพลังงานต่อไป หากมองในปัจจุบันสามารถพูดได้เลยว่าประเทศไทยมีความมั่นคงด้านพลังงานมาก เพราะ ปตท.มีการลงทุนด้านอินฟราสตรัคเจอร์ที่ครอบคลุม อาทิ ด้านน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ พลังงานหมุนเวียน และต่อยอดธุรกิจใหม่ๆ ตามเทรนด์โลก ทำให้อุ่นใจได้ว่าประเทศไทยมีความมั่นคงด้านพลังงาน

ปัจจุบัน ปตท.ยังลงมาทำธุรกิจพลังงานในระดับสากล จนสามารถทำให้ประเทศไทยได้เข้าถึงแหล่งพลังงานได้ทั่วโลก ทั้งน้ำมัน เทอร์มินอล เครือข่ายท่อ แอลเอ็นจีหรือแม้แต่โลจิสติกส์ ถือว่าครอบคลุมทั้งในและต่างประเทศ

อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวยังคาดหวังว่า อนาคตอยากให้ประเทศไทยมีความมั่นคงด้านพลังงานแบบนี้ตลอดไป เพราะไม่ว่ารูปแบบของการใช้พลังงานของโลกและของประเทศจะเปลี่ยนไปอย่างไร จะต้องมีหน่วยงานที่คอยมอนิเตอร์ และพร้อมที่จะลงทุนต่อเนื่อง เพื่อให้ธุรกิจพลังงานก้าวทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก

เมื่อขอให้ฝากแนวคิดการทำงานถึง นายคงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือซีจี ซึ่งจะมาดำรงตำแหน่ง ซีอีโอ ปตท.คนที่ 11 วันที่ 13 พฤษภาคม 2567 ซีอีโออรรถพลระบุว่า ส่วนตัวมองว่าที่ผ่านมา ปตท.มีการเปลี่ยนผู้นำองค์กรตลอดในรูปแบบของกลุ่ม ปตท.

“ซีอีโอ ใหม่ถือเป็นครอบครัวเดียวกันกับในกลุ่ม ปตท.อยู่แล้ว จุดนี้ถือเป็นอีกจุดที่สบายใจว่าน่าจะรู้บทบาทและภารกิจใน ปตท.ดีอยู่แล้ว”

ดังนั้น การบริหารนโยบายตามแนวคิด PTT Group Way เชื่อว่าจะประสบความสำเร็จและรับไม้ต่อได้ดี ทำให้กลุ่ม ปตท.เติบโตต่อไปได้ เหมือนกับที่มีการส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่นมาโดยตลอด

ซีอีโออรรถพล ยังระบุถึงสถานการณ์เศรษฐกิจไทย ว่า ปัจจุบันเศรษฐกิจโลกขยายตัวต่อเนื่องและเงินเฟ้อชะลอตัว ขณะที่เศรษฐกิจไทยขยายตัวดีขึ้น แต่อาจเผชิญกับอุปสรรคหลายด้าน

ปัจจัยที่น่าจับตามองของโลกมี 5 ด้าน ได้แก่ 1.การฟื้นตัวของเศรษฐกิจ 2.นโยบายการเงินของแต่ละประเทศ การควบคุม 3.การผลิตน้ำมันดิบของกลุ่มโอเปค 4.อุปทานจากกลุ่มนอน-โอเปค และ 5.ความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์

โดย ปตท.ตั้งงบลงทุนช่วง 5 ปี (2567-71) วงเงิน 89,203 ล้านบาท เป็นการลงทุนของ ปตท.และบริษัทที่ ปตท.ถือหุ้น 100% เฉพาะปีนี้ลงทุนประมาณ 20,000-30,000 ล้านบาท

แผนลงทุนตลอด 5 ปี แยกเป็นกลุ่มธุรกิจที่สำคัญ ดังนี้ ธุรกิจก๊าซธรรมชาติ 30,636 ล้านบาท คิดเป็น 34% ธุรกิจท่อส่งก๊าซธรรมชาติ 14,934 ล้านบาท คิดเป็น 17% ธุรกิจใหม่และโครงสร้างพื้นฐานและสำนักงานใหญ่ 12,789 ล้านบาท คิดเป็น 14% ธุรกิจการค้าระหว่างประเทศและปิโตรเลียมขั้นปลาย 3,022 ล้านบาท คิดเป็น 4% และลงทุนในบริษัทที่ ปตท. ถือหุ้น 100% จำนวน 27,822 ล้านบาท คิดเป็น 31%

“ธุรกิจของ ปตท. ดำเนินการภายใต้วิสัยทัศน์ Powering Life with Future Energy and Beyond ขับเคลื่อนทุกชีวิต ด้วยพลังแห่งอนาคต เพื่อสร้างความมั่นคงทางพลังงานและมุ่งสู่ธุรกิจพลังงานอนาคตและธุรกิจใหม่ที่ไปไกลกว่าพลังงาน เพื่อบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี 2583 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี 2593 จากการเพิ่มสัดส่วนการลงทุนโดยมุ่งธุรกิจใหม่” ซีอีโออรรถพลทิ้งท้าย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image