ภาพเก่าเล่าตำนาน : กองทัพอาระกัน…คือ กำปั้นเหล็ก

1กองทัพของนักรบอาระกัน (AA : Arakan Army)…หลอมรวมอุดมการณ์ เพื่อขอแยกตัวออกจากสหภาพพม่า น่ายำเกรง

เด็กหนุ่มชาวอาระกันหลายพันคน ได้รับการฝึกจากกองทัพกะฉิ่น (KIA: Kachin Independent Army) ที่อยู่ทางตอนเหนือติดกับจีน กลายเป็น “กำปั้นเหล็ก” ที่แกร่งกล้า ในสงครามกลางเมือง

ที่สำคัญ คือ ผู้นำกองทัพที่ หนุ่ม เข้มแข็ง ฉลาด มีการศึกษา พูดภาษาอังกฤษได้ดี มานำทัพในการทำสงครามกับกองทัพพม่า

ชาวอาระกัน…ที่อยู่ในรัฐยะไข่ ทางตะวันตกของพม่า ยืนยันว่าเป้าหมายสุดท้ายของการสู้รบ คือ การเป็นเอกราช ขอเป็นประเทศที่ไม่ขึ้นกับระบบการปกครองของรัฐบาลพม่าอีกต่อไป…

Advertisement

หลายร้อยปีที่ผ่านมา ยะไข่ เมืองชายทะเล เมืองของชาวพุทธ เป็นเอกเทศ หากแต่ช่วงอังกฤษเข้ายึดครองพม่า เลยติดร่างแหเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของอาณานิคม และเมื่ออังกฤษยอมให้พม่าเป็นเอกราช…สับสนอลหม่าน เลยหลุดเข้าไปอยู่ในการปกครอง “สหภาพพม่า” ชาวยะไข่ดิ้นรนไขว่คว้าเอกราช แต่ขาดผู้นำ ขาดอำนาจต่อรอง

ชาวยะไข่ มิใช่ชาวพม่า สมัยโบราณถูกกองทัพพม่ารังแกมาตลอด ถูกจับเป็นทาสไปทำสงครามเพื่อชาวพม่า

ยะไข่ ตกอยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษ 42 ปี ก่อนที่อังกฤษจะรวบอำนาจการปกครองแบบอาณานิคมในพม่าได้ทั้งหมด

Advertisement

ชาวอาระกันเป็นชาวพุทธ ได้รับอิทธิพลจากอินเดีย

มหาอำนาจอังกฤษ ที่ใช้บริษัทเอกชนออกหน้าเพื่อทำการค้า ทำการเกษตร นำพาผู้อพยพจำนวนมากจากฝั่งเบงกอล ที่เป็น “มุสลิม” ให้เข้ามาทำงานในอาระกัน ทำให้จำนวนประชากรชาวมุสลิมเพิ่มขึ้นและกลายเป็นรากฐานของความกลัวในหมู่ชาวยะไข่ ซึ่งก่อเกิดความขัดแย้งทางเชื้อชาติมาถึงทุกวันนี้

ชาวยะไข่ที่นับถือพุทธกับมุสลิม ฆ่าฟันกันหนัก ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ชาวพุทธยะไข่ไปเข้าร่วมกับกลุ่มชาตินิยมพม่าที่ร่วมมือกับญี่ปุ่นส่วนชาวยะไข่มุสลิมไปร่วมมือกับอังกฤษและฝ่ายสัมพันธมิตร กลายเป็นขมิ้นกับปูน

เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติลง รัฐบาลจัดระเบียบให้ชาวยะไข่ที่นับถือพุทธที่อพยพมาอยู่ทางภาคใต้กลับขึ้นไปอยู่ทางเหนือที่มีมุสลิมอยู่ให้หนาแน่นมากขึ้น แล้วจัดให้ชาวยะไข่พุทธมารับตำแหน่งบริหารแทนชาวมุสลิมที่อังกฤษแต่งตั้งไว้ พุทธและมุสลิมรบกันหนัก

เรื่องราวลุกลาม ขยายตัว ถึงขนาดมุสลิมบางส่วนเรียกร้องให้นำยะไข่เหนือไปรวมกับปากีสถานตะวันออกแต่ปากีสถานไม่เห็นด้วย

พ.ศ.2491 เหตุการณ์ “จบลงแบบไม่จบ” อึมครึม…พื้นที่ยะไข่เป็นส่วนหนึ่งของสหภาพพม่า

พ.ศ.2504 กลุ่มมุสลิมได้เรียกร้องให้ตั้ง “เขตบริหารชายแดนมยู” ขึ้นในยะไข่ ซึ่งรัฐบาลของนายกรัฐมนตรีอู นุ รับหลักการ

พ.ศ.2505 เกิดรัฐประหารโดยนายพลเน วิน การตั้งเขตบริหารชายแดนดังกล่าวถูกยกเลิกไป

พ.ศ.2517 ยะไข่ได้รับการยกสถานะขึ้นเป็น “รัฐ” ในพม่า

การกระทบกระทั่งระหว่างชาวพุทธกับมุสลิม เกิดขึ้นต่อเนื่อง

ยะไข่มีประชากรประมาณ 3.3 ล้านคน ซึ่งหลายคนต้องอาศัยเกษตรกรรมการประมงและการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำเพื่อหาเลี้ยงชีพ

ไม่ว่าจะเป็นใครมาปกครองประเทศ “รัฐยะไข่” ไม่เคยได้รับการเหลียวแล โครงสร้างพื้นฐานต่ำต้อย คุณภาพชีวิตต่ำเตี้ยกว่ารัฐอื่นๆ

รัฐยะไข่กลายเป็นเส้นทางที่สำคัญของการขนส่งยาเสพติดประเภทเมทแอมเฟตามีน จากทางตะวันออกเฉียงเหนือของเมียนมา ผ่านบังกลาเทศไปยังอินเดียและตะวันออกกลาง

ชีวิตที่ยากจน แร้นแค้น ทำให้นายโคฟี อันนัน อดีตเลขาธิการสหประชาชาติ เคยเข้ามาสอดส่องเพื่อแก้ปัญหา พยายามจะแยกการตั้งถิ่นฐานออกจากกัน หากแต่ก็ได้แต่พูดกันไปมา แล้วก็เลิกรากันไป

ไหนจะต้องเผชิญกับ “คนต่างศาสนา” ไหนจะต้องประสบกับความยากจน ถูกละทิ้งจากการพัฒนาโดยสิ้นเชิง…

ความเจ็บช้ำ สะสมมาหลายชั่วอายุคน ปลายทาง คือ “เอกราช”

คนไทยไม่ค่อยคุ้นกับรัฐยะไข่ของพม่า เพราะอยู่ทางทิศตะวันตกโน่น ไกลโพ้นจากไทย โครงสร้างพื้นฐานแย่มาก หลายปีที่ผ่านมามีแต่พาดหัวข่าวเรื่องรุนแรงทางศาสนา ซึ่งนำไปสู่การขับไล่มุสลิม และการทำลายล้างหมู่บ้านนับร้อยแห่งของคนเหล่านั้น

ขอรวบรัดตัดตอนมาถึง…กองทัพอาระกัน…เพื่อชาวยะไข่

ชาวอาระกันพยายามก่อร่างสร้างกองกำลัง ด้วยเหตุไม่ต้องการอยู่ภายใต้การปกครองของรัฐบาลทหารพม่า

พ.ศ.2561-2563 เป็นช่วงที่ความขัดแย้งกับรัฐบาล ทำสงครามแบบเลือดเดือด รัฐบาลพม่าประกาศให้กองทัพอาระกัน (AA) เป็นองค์กร “ก่อการร้าย”

1 กุมภาพันธุ์ 2564 มิน อ่อง ลาย ยึดอำนาจการปกครองประเทศ ผู้นำอาระกันประกาศ…ขอต่อสู้กับกองทัพพม่า

AA ทำงานร่วมกับ “ฝ่ายการเมือง” ซึ่งใช้ชื่อว่า สหสันนิบาตแห่งอาระกัน หรือยูแอลเอ (United League of Arakan : ULA) ได้ก่อตั้ง “คณะปกครองคู่ขนาน” ปกครองพื้นที่ส่วนใหญ่ของรัฐยะไข่ ตั้งแต่ตอนกลางไปจนจดตอนเหนือสุด…

ยุทธการ 1027 ที่ 3 กองกำลังภราดรภาพ จับมือกอดคอกันเพื่อทำสงครามกับรัฐบาลทหารพม่า กองทัพอาระกันเป็น 1 ใน 3 ของกองกำลังที่ฉายแววโดดเด่นในการสู้รบ

กองทัพ AA คัดเลือกเฉพาะชาวพุทธเข้าไปเป็นทหาร ฝ่ายการเมืองที่ตั้งขึ้นมาดูแลประชาชนเป็นอย่างดี ชาวพุทธในรัฐยะไข่ไว้เนื้อเชื่อใจ ให้ความร่วมมือ เกิดเอกภาพ บังเกิดพลังในหมู่ชาวอาระกัน

ความโชคดีของชาวอาระกัน คือ ได้ผู้นำที่ เก่ง กล้า มีวิสัยทัศน์

พลตรี ตวัน มรัต นาย (MG Twan Mrat Naing) ผู้นำสูงสุด และผู้บัญชาการทหารสูงสุดของกองกำลัง AA มิได้จบการศึกษาจากสถาบันทางทหารที่ไหน หากแต่สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีทางด้านวิศวกรรมจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสิตตะเว (Sittwe)

เรียนรู้การต่อสู้จากประสบการณ์ตรงของชีวิต กล้าคิด กล้าทำงานแบบเป็นขั้นตอน คิดหาทางกอบกู้อธิปไตย เพื่อประชาชนชาวยะไข่ ที่สูญเสียไป มุ่งมั่นให้ชาวยะไข่ได้กำหนดชะตากรรมและอนาคตของตนเอง

พลตรี ตวัน มรัต นาย เป็นใครมาจากไหน?

เขาเกิดเมื่อ 7 พฤศจิกายน พ.ศ.2521 จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัย ต้องการเป็นทหารเพื่อกอบกู้แผ่นดินเกิด

หนุ่มชาวยะไข่ไปทำงานเป็นไกด์นำเที่ยวในเมืองย่างกุ้ง เพราะพูดภาษาอังกฤษได้ เป็นคนขยัน ชอบเรียนรู้ ได้เห็นโลกภายนอก

ในเวลานั้น ความยากจน บีบบังคับให้ชาวยะไข่จำนวนมาก ไปทำงานขุดแร่หยกในรัฐกะฉิ่น ทางตอนเหนือติดกับจีน

พ.ศ.2552 เขาเดินทางขึ้นไปรัฐกะฉิ่น

พบเห็น พูดคุยกับผู้ใหญ่ของชาวกะฉิ่น ที่มีความอัดอั้นกับการปกครองของรัฐบาลทหารพม่า จนกลายเป็น “เพื่อนสนิท” กับผู้นำของกองทัพกะฉิ่น (KIA : Kachin Independence Army)

ไกด์หนุ่ม สุมหัวปรึกษาหารือกับชาวยะไข่กลุ่มหนึ่ง (ที่มาทำงานหาเงินในรัฐกะฉิ่น) เพื่อเอกราชของชาวยะไข่

10 เม.ย.2552 คือ วันประวัติศาสตร์ ชาวยะไข่ 26 คน เห็นพ้องต้องกันเพื่อก่อตั้ง “กลุ่ม AA” ในรัฐกะฉิ่น โดย KIA ที่ไม่ชอบรัฐบาลทหารพม่าขอเป็นพี่เลี้ยงสนับสนุนทุกสิ่งทุกอย่าง

(KIA เป็นอีก 1 กองกำลังชนกลุ่มน้อยต่อต้านรัฐบาล ซึ่งทรงอิทธิพล เข้มแข็ง มีเงินทุน)

AA ที่ถูกฝึกแล้ว ถูกทดสอบให้เข้าสนามรบจริง

พ.ศ.2555 กองทัพกะฉิ่นจับมือกับ AA เข้าตีฐานทหารพม่า ได้รับชัยชนะ สู้รบอีกหลายศึก มีชัยชนะต่อเนื่องทำให้ชาวยะไข่เชื่อถือ ผู้คนหลายพันคนแห่กันมาเข้าร่วมกองกำลังของตน

กองทัพ AA ก้าวหน้า เติบโตทั้งปริมาณและคุณภาพ จากการนำของนายพลหนุ่ม

ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา AA ได้กลายเป็น 1 ในองค์กรที่มีอำนาจและประสบความสำเร็จมากที่สุดของประเทศ แม้ว่าจะเป็นกลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์กลุ่ม “ใหม่ล่าสุด” ในพม่าก็ตาม

ในการให้สัมภาษณ์กับ Asia Times เมื่อเดือนมกราคม พ.ศ.2565 ผู้บัญชาการ พลตรี ตวัน มรัต นาย กล่าวว่า AA ได้เพิ่มขึ้นเป็น 30,000 นาย ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในรัฐยะไข่ แม้ว่าทหารอย่างน้อย 6,000 นายไปทำการรบ ในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ

แถมท้ายครับ…หลังรัฐประหาร…รัฐบาลทหารพม่าเคยร้องขอทางการไทยให้ควบคุมตัวภรรยาและลูกของเขา

6 ธันวาคม 2562 ภรรยาของเขาและลูกสองคนของเธอถูกเจ้าหน้าที่ ตม. ไทยควบคุมตัวที่เชียงใหม่ เมื่อเธอไปที่นั่นเพื่อต่ออายุวีซ่า ตม.เชียงใหม่ จับกุมเธอเนื่องจากมีชื่อของเธออยู่ในรายชื่อผู้ที่เกี่ยวข้องกับกองทัพอาระกัน

25 กุมภาพันธ์ 2563 ครอบครัวที่ถูกควบคุมตัวได้เดินทางไปยังสวิตเซอร์แลนด์ภายใต้สถานลี้ภัยทางการเมืองโดย UNHCR

สงครามกลางเมืองในพม่าดุเดือด กองทัพ AA คือกำปั้นเหล็กที่มีเป้าหมาย เพื่อเอกราช เพื่อแผ่นดินของชาวยะไข่

พลเอกนิพัทธ์ ทองเล็ก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image