แจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต ความหวังผันเศรษฐกิจเข้าระบบ หลุดพ้นความเหลื่อมล้ำ!!

ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS โดยธนาคารกรุงไทย จํากัด (มหาชน) เปิดเผยบทความเรื่องมาตรการดิจิทัลวอลเล็ต 1 หมื่นบาท ระบุว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยหลังการแพร่ระบาดของโควิดต้องเผชิญกับการเติบโตที่เปราะบาง ซึ่งในระยะหลังอัตราการเติบโตอยู่ในระดับต่ำกว่าศักยภาพมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะตัวเลขจีดีพีล่าสุดในไตรมาสที่ 4/2566 ซึ่งเติบโตได้เพียง 1.7% จากปีก่อน และเมื่อเทียบรายไตรมาสแล้วหดตัวลง 0.6% จากช่วงไตรมาสก่อน ขณะที่ตัวเลขทั้งปี 2566 เศรษฐกิจไทยขยายตัวเพียง 1.9% ชะลอลงจาก 2.5% ในปี 2565

เมื่อพิจารณาถึงปัจจัยหลักที่จำกัดการเติบโตทางเศรษฐกิจจะพบว่า ไทยมิได้เผชิญกับแรงกดดันจากภาวะการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกที่ส่งผลให้การส่งออกสินค้าฟื้นตัวอย่างอ่อนแอเท่านั้น แต่ในภาคอุปสงค์ภายในประเทศ การใช้จ่ายเพื่อการบริโภคและการลงทุนของภาครัฐและเอกชนต่างอ่อนกำลังลง

ปัจจัยระยะสั้นประการหนึ่ง คือ กระบวนการงบประมาณปี 2567 ที่ใช้เวลานานกว่าที่คาด ซึ่งส่งผลกระทบต่อการบริโภคและการลงทุนของรัฐบาล นอกจากนี้ การบริโภคภาคเอกชนยังมีทิศทางชะลอตัวลงตามรายได้ที่ยังฟื้นตัวได้ไม่ทั่วถึงและภาระหนี้ครัวเรือน ภาวะดังกล่าวบ่งชี้ว่าเศรษฐกิจไทยกำลังขาดแรงส่งซึ่งจะฉุดรั้งการฟื้นตัวในระยะข้างหน้า

ดังนั้น เศรษฐกิจไทยจึงต้องการแรงหนุนเพิ่มเติมจากนโยบายการเงินการคลังเพื่อการฟื้นตัวที่ต่อเนื่อง มาตรการดิจิทัลวอลเล็ต ซึ่งรัฐบาลมีแผนว่าจะเริ่มดำเนินการโอนเงินให้กับผู้เข้าร่วมมาตรการในช่วงไตรมาสที่ 4/2567 จึงอาจเป็นแรงหนุนการฟื้นตัวต่อไปในระยะข้างหน้า

Advertisement

มาตรการดิจิทัลวอลเล็ต สนับสนุนกำลังซื้อเพื่อกระตุ้นการบริโภคในระยะข้างหน้า และถือเป็นเครื่องมืออัดฉีดเข้าระบบที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อกระตุ้นอุปสงค์ภายในประเทศซึ่งอยู่ในภาวะอ่อนแอ และช่วยประคองการเติบโตทางเศรษฐกิจท่ามกลางอุปสงค์ภายนอกประเทศที่ฟื้นตัวอย่างเปราะบางและมีความเสี่ยงสูงจากปัจจัยหลายด้าน

มาตรการดังกล่าวมีมูลค่าทั้งสิ้น 5 แสนล้านบาท หรือคิดเป็น 2.8% ของจีดีพี ซึ่งการโอนเงินโดยตรงถึงมือประชาชนเพื่อเพิ่มกำลังซื้อและหนุนการใช้จ่ายอุปโภคบริโภคผ่านร้านค้าปลีกในภูมิลำเนาของตนจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก ทั้งยังช่วยหนุนให้กิจกรรมการค้าปลีกรายย่อยเข้าสู่ระบบ อันจะเป็นที่มาของรายได้รัฐบาลในอนาคต อีกทั้งยังผลักดันให้เกิดการพัฒนาระบบฐานข้อมูลและการใช้จ่ายอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งถือเป็นโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัลที่สำคัญของประเทศ

คาดว่ามาตรการดิจิทัลวอลเล็ตจะหนุนการขยายตัวของจีดีพีได้ประมาณ 1.2-1.6% โดยนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจที่มุ่งเป้าไปยังกลุ่มผู้มีรายได้ปานกลางถึงระดับล่างให้เกิดการใช้จ่ายเพิ่มเติมผ่านร้านค้าปลีกในพื้นที่ใกล้บ้านจากการโอนเงินโดยตรง จะช่วยสร้างแรงกระตุ้นต่ออุปสงค์ภายในประเทศผ่านเงินที่ถูกหนุนเวียน ทั้งจากผู้บริโภคไปยังร้านค้าปลีก และจากร้านค้าย่อยทอดต่อไปยังเครือข่ายของระบบการค้ารวมถึงผู้ผลิต

Advertisement

ผลกระทบจากมาตรการนี้ต่อภาคเศรษฐกิจส่วนรวมจะเกิดขึ้นผ่านผลของตัวคูณทวีทางการคลัง (ฟิสเคิล มัลติพลายเออร์) ซึ่งสะท้อนกลไกของการจับจ่ายใช้สอยอันจะกระตุ้นให้เกิดการหมุนเวียนของเม็ดเงินในระบบเศรษฐกิจ ผ่านกิจกรรมต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นตามมา คาดว่าตัวคูณทวีทางการคลังอยู่ที่ประมาณ 0.4-0.7 เท่า และส่งผลกระทบต่อการขยายตัวของจีดีพี โดยทางการประเมินไว้ที่ 1.2-1.6% ซึ่งใกล้เคียงกับตัวเลขคณะกรรมการ กกร.เคยคาดไว้ที่ 1.0-1.5%

ศูนย์วิจัยมองว่านโยบายนี้ถือเป็นมาตรการเร่งด่วน (ควิกวิน) ที่จะผลักดันอุปสงค์ภายในประเทศให้สามารถฟื้นตัวดีขึ้น ทั้งยังกระตุ้นความเชื่อมั่นต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า สำหรับตัวเลขประมาณการจีดีพีปี 2567 ล่าสุดของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ 2.6% ซึ่งต่ำกว่าการคาดการณ์ของสำนักวิจัยหลายแห่งนั้น ยังไม่ได้พิจารณาถึงปัจจัยบวกที่อาจเกิดขึ้นจากมาตรการดิจิทัลวอลเล็ต

อย่างไรก็ตาม ผลกระทบของการดำเนินมาตรการนี้ยังอาจต้องคำนึงผลของการโยกเงินงบประมาณ 2567 ผ่านการจัดสรรเม็ดเงินที่นำมาจากโครงการอื่น รวมถึงปรากฏการณ์ที่การเพิ่มขึ้นของการใช้จ่ายหรือการลงทุนของภาครัฐส่งผลให้การบริโภคหรือการลงทุนของภาคเอกชนลดลง (เคราดิ้ง เอาต์ เอฟเฟ็กต์) จากต้นทุนทางการเงินที่อาจเพิ่มสูงขึ้นตามการเร่งระดมทรัพยากรการเงินของภาครัฐ

มาตรการดิจิทัลวอลเล็ตอาจเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยผันเศรษฐกิจนอกระบบเข้าสู่ระบบมากยิ่งขึ้น โดยเศรษฐกิจนอกระบบของไทยมีขนาดใหญ่ คิดเป็นสัดส่วนมากถึง 48.4% ของจีดีพี มากเป็นอันดับ 14 ของโลก จาก 158 ประเทศ ที่มีฐานข้อมูลของธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) โดยสูงกว่าค่าเฉลี่ยของโลกที่อยู่ที่ 32.7% และสูงกว่าเกือบทุกประเทศในเอเชีย ไม่ว่าจะเป็นประเทศมาเลเซีย อินโดนีเซีย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ และเกาหลีใต้ ซึ่งมีสัดส่วนเศรษฐกิจนอกระบบต่อจีดีพีที่เฉลี่ยเพียง 26.7%

มีข้อมูลประชาชนและธุรกิจรายย่อย (เอสเอ็มอี) ที่อยู่ในระบบค่อนข้างน้อย ส่วนหนึ่งสะท้อนจากการมีผู้ที่อยู่ในฐานระบบภาษีน้อย จากประชากรทั้งหมด 66 ล้านคน มีผู้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเพียง 10-11 ล้านคน และมีธุรกิจนอกระบบจำนวนมาก โดยปัจจุบันนี้ มีจํานวนเอสเอ็มอี 3.2 ล้านราย แต่เป็นนิติบุคคลเพียง 8.4 แสนราย หรือคิดเป็น 26% ซึ่งนั่นหมายความว่า มีเอสเอ็มอีจำนวนมากเกือบ 2.4 ล้านราย หรือ 74% ที่ไม่มีข้อมูลงบการเงินในระบบฐานข้อมูลของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า

ประเทศที่มีเศรษฐกิจนอกระบบขนาดใหญ่มักจะเผชิญปัญหาทางเศรษฐกิจและสังคมหลายด้าน จากการศึกษาของเวิลด์แบงก์พบว่าประเทศที่มีเศรษฐกิจนอกระบบขนาดใหญ่มักจะมีรายได้ต่อหัวในระดับต่ำกว่า มีปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำสูงกว่า มีการกำกับดูแลและธรรมาภิบาลที่แย่กว่า มีผลิตภาพ (โปรดักทิวิตี้) ทั้งมิติของภาคธุรกิจและแรงงานที่ต่ำกว่า มีความยืดหยุ่น (รีซิลเยินซ์) ต่อวิกฤตต่างๆ ต่ำกว่า และมีการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่ช้ากว่าประเทศที่มีเศรษฐกิจนอกระบบขนาดเล็ก

ทั้งนี้ ภาครัฐต้องให้ความสำคัญกับการผันเศรษฐกิจนอกระบบเข้ามาในระบบมากยิ่งขึ้น ซึ่งมาตรการดิจิทัลวอลเล็ตอาจเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญที่สามารถต่อยอดได้ในอนาคต อีกทั้งยังเป็นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศโดยอาศัยข้อมูลเป็นแกนกลาง หรือเรียกได้ว่ากำลังอยู่ในยุคที่อุปกรณ์ดิจิทัลและอินเตอร์เน็ตได้เข้ามามีบทบาทอย่างมาก (ดาต้า ดริฟเวิน อีโคโนมี) ทำให้เข้าใจปัญหาที่แท้จริง 

ตั้งอยู่บนข้อมูลที่ดีพอที่จะนำไปสู่การตัดสินใจในการดำเนินนโยบายต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพในระยะถัดไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image