Poll tax กับค่าธรรมเนียมการสมัครสมาชิกวุฒิสภา 2,500 บาท จึงจะมีสิทธิเลือกสมาชิกวุฒิสภา

Poll tax แปลเป็นภาษาไทยง่ายๆ คือ ภาษีรายหัวที่รัฐเรียกเก็บกับประชาชนในอดีต ซึ่งประชาชนในสมัยก่อนทั่วโลกที่มีสิทธิเลือกตั้งมักจะหมายถึงประชาชนที่เป็นชายบรรลุนิติภาวะแล้ว สำหรับประชาชนที่เป็นสตรีก็ไม่มีสิทธิเลือกตั้งอยู่แล้ว ปัจจุบันนี้ภาษีรายหัวได้ถูกยกเลิกไปจนหมดแล้วเนื่องจากเป็นภาษีที่ไม่เป็นธรรม เนื่องจากไม่ได้จัดเก็บตามความสามารถของประชาชนผู้ที่ต้องเสียภาษีแบบว่ามีมากจ่ายมาก มีน้อยจ่ายน้อย ใช่คนรวยกับคนจนต้องเสียภาษีจำนวนเท่ากันหมดซึ่งไม่เป็นธรรม

สำหรับ Poll tax ที่จะกล่าวถึงในบทความนี้ไม่ใช่เป็นภาษีที่รัฐต้องการเงินรายได้เข้ารัฐเหมือนอย่างภาษีทั่วไป หากแต่เป็นภาษีที่ 11 มลรัฐทางภาคใต้ของสหรัฐอเมริกาในช่วงหลังสงครามกลางเมืองนำมาใช้ เพื่อกีดกันชาวอเมริกันผิวดำผู้เคยเป็นทาสมาก่อนแต่ได้สิทธิในการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งในฐานะที่เป็นประชาชนอเมริกันอย่างสมบูรณ์ จากบทแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่ 15 เมื่อ พ..2413 ไม่ให้มีสิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้งเพราะยากจนไม่มีเงินมาเสียภาษีรายหัวแบบ Poll tax ซึ่งชาวอเมริกันผิวขาวผู้ยากจนก็พลอยไม่มีสิทธิไปเลือกตั้งได้เช่นกัน จนกระทั่งใน พ..2507 จึงมีบทแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่ 24 ที่ห้ามทุกมลรัฐของสหรัฐอเมริกาออกกฎหมาย Poll tax หรือภาษีรายหัวอย่างเด็ดขาด เพราะเป็นการกีดกันประชาชนผู้ยากจนในสิทธิการออกเสียงเลือกตั้งซึ่งเป็นสิทธิพื้นฐานของประชาชนทุกคนอยู่แล้ว

เรื่องภาษีรายหัวนี้ประเทศไทยก็เคยมีภาษีรายหัวที่รัฐเรียกเก็บกับประชาชนในอดีตเหมือนกัน เนื่องจากรัฐต้องจัดเก็บมาเพื่อนำมาใช้เป็นเบี้ยหวัดเงินเดือนให้กับขุนนางที่มาทำงานราชการ จึงเรียกว่าเงินค่าราชการซึ่งเก็บตามพระราชบัญญัติเก็บเงินค่าราชการ ร..120 (..2444) โดยจัดเก็บเอาจากชายฉกรรจ์ อายุตั้งแต่ 18-60 ปีทุกคน โดยเก็บในอัตราคนละ 6 บาทต่อปี จะเห็นได้ว่าฐานที่นำมาใช้ในการจัดเก็บภาษีนั้นไม่ได้มาจากรายได้ การบริโภค ทรัพย์สิน หรือการเข้าแสวงหาประโยชน์ในทรัพยากรธรรมชาติ แต่เป็นเงินที่บังคับเก็บจากราษฎรชายไทยทุกคนที่บรรลุนิติภาวะ หากผู้ใดไม่สามารถจ่ายเงินค่าราชการได้นั้น ข้าหลวงเทศาภิบาลมีอำนาจสั่งให้บุคคลนั้นไปทำงานโยธาเป็นเวลาไม่เกิน 30 วัน ต่อมาได้มีการออกพระราชบัญญัติลักษณะการเก็บเงินรัชชูปการ พ..2462 ขึ้นมาใช้แทนพระราชบัญญัติเก็บเงินค่าราชการ พ..2444 เพื่อการเก็บภาษีรายหัวแบบเงินรัชชูปการนี้กระชับอุดข้อยกเว้นของบุคคลที่ไม่ต้องเสียภาษีรายหัวจึงให้น้อยลงทำให้เก็บเงินภาษีได้มากขึ้น

อย่างไรก็ดี ภาษีรายหัว หรือ Poll tax นี้จัดเป็นภาษีที่ไม่เป็นธรรม เนื่องจากไม่ได้จัดเก็บตามความสามารถของประชาชนผู้ที่ต้องเสียภาษี จึงถูกยกเลิกไปเมื่อ พ..2482 เมื่อมีการปรับปรุงระบบภาษีใหม่โดยการประกาศใช้พระราชบัญญัติประมวลรัษฎากรจึงเป็นการยกเลิกภาษีรายหัว หรือ Poll tax โดยเด็ดขาด

Advertisement

เชื่อไหมครับว่า สำหรับประเทศไทยหลังจากเวลาผ่านไปร่วม 80 ปี ของการยกเลิก Poll tax หรือภาษีรายหัวไปแล้ว ก็ได้มีการขุดเอาภาษีรายหัวขึ้นมาบังคับใช้อีกในรูปของค่าธรรมเนียม การสมัครสมาชิกวุฒิสภา 2,500 บาท จึงจะมีสิทธิเลือกสมาชิกวุฒิสภา จำนวน 200 คน ซึ่งได้บัญญัติในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ..2561 มาตรา 15 ว่า   

ผู้ซึ่งประสงค์จะสมัครเข้ารับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภาต้องยื่นใบสมัครด้วยตนเอง พร้อมด้วยเอกสารและหลักฐานประกอบการสมัคร และชำระค่าธรรมเนียมการสมัครจำนวนสองพันห้าร้อยบาท

เป็นที่น่าสังเกตว่าการกำหนดค่าธรรมเนียม จะเขียนเป็นกฎหมายลำดับรอง เช่น ระเบียบ ประกาศ ซึ่งอาจแก้ไขได้ง่าย เปลี่ยนแปลงไปตามสภาพเศรษฐกิจได้ ในกระบวนการเลือกสมาชิกวุฒิสภานั้น ผู้ที่รับผิดชอบจัดการ คือ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) การเขียนค่าธรรมเนียมน่าจะอยู่ในระเบียบที่เกี่ยวข้องที่ออกโดยคณะกรรมการการเลือกตั้ง แต่ค่าธรรมเนียม 2,500 บาท นี้เขียนไว้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ..2561 ซึ่งเป็นกฎหมายลำดับศักดิ์สูงกว่าพระราชบัญญัติ การจะแก้ไขต้องอาศัยเสียงทั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา เห็นชอบร่วมกัน จึงเห็นได้ว่าค่าธรรมเนียม 2,500 บาท นั้นเป็นองค์ประกอบหลักที่จงใจเขียนเอาไว้เพื่อป้องกันไม่ให้ปรับเปลี่ยนได้ง่าย ค่าธรรมเนียมที่สูงเป็นอุปสรรคสำหรับคนรายได้น้อย และอีกแง่มุมหนึ่งก็ทำให้คนที่ต้องการจัดตั้งคนไปสมัครเพื่อเลือกตัวเองก็มีต้นทุนสูงขึ้นด้วย

Advertisement

ผู้มีสิทธิลงคะแนนเลือกสมาชิกวุฒิสภาคือผู้เสนอตัวเป็นผู้สมัครสมาชิกวุฒิสภานั่นเอง ที่ไปลงคะแนนเลือกกันเอง โดยผู้สมัครต้องมีคุณสมบัติตามเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด เช่น มีอายุไม่ต่ำกว่า 40 ปี มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ หรือทำงานในด้านที่สมัครไม่น้อยกว่า 10 ปี ซึ่งมีด้วยกัน 20 กลุ่มอาชีพ เกิดหรือมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในอำเภอที่สมัครติดต่อกันไม่น้อยกว่าสองปี หรือทำงาน เคยทำงาน เคยศึกษาอยู่ในอำเภอที่สมัครติดต่อกันไม่น้อยกว่าสองปี ที่สำคัญต้องเสียภาษีรายหัว (Poll tax) จำนวน 2,500 บาท เป็นค่าสมัคร เพื่อตีตั๋วเข้าไปใช้สิทธิลงคะแนนเสียงอีกด้วย

ครับ! นอกจากการขุดเอาภาษีรายหัว (Poll tax) ขึ้นมาใช้ในการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาในครั้งนี้แล้ว การเลือกสมาชิกวุฒิสภาชุดใหม่จะมีจำนวนลดลงเหลือ 200 คน โดยจะใช้ระบบเลือกกันเองของแต่ละกลุ่มอาชีพรวม 20 กลุ่ม และเลือกแบบไต่ระดับ จากระดับอำเภอ สู่ระดับจังหวัด และระดับประเทศ ไม่เพียงเท่านั้น ยังให้มีการเลือกไขว้กลุ่มในแต่ละระดับด้วย ซึ่งแม้แต่ผู้จัดการเลือกตั้ง คือคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เองถึงกับออกมายอมรับว่าเป็นการเลือกตั้งที่ซับซ้อนที่สุดในโลก

โกวิท วงศ์สุรวัฒน์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image