‘ทวี-บิ๊กหลวง’เยือนเรือนจํากลางกรุงลิสบอน อายุ 151 ปี ศึกษาข้อมูลบำบัดยาเสพติด

‘ทวี-บิ๊กหลวง’เยือนเรือนจํากลางกรุงลิสบอน อายุ 151 ปี ศึกษาข้อมูลบำบัดยาเสพติด

เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน ที่กรุงลิสบอน ประเทศโปรตุเกส พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม พร้อมด้วย นายนิยม เติมศรีสุข ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงยุติธรรม นายเพิ่มพงษ์ เชาวลิต สมาชิกวุฒิสภา พล.ต.ท.ภาณุรัตน์ หลักบุญ เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมการแพทย์ นายมานะ ศิริพิทยาวัฒน์ รองเลขาธิการ ป.ป.ส. น.ส.สุภาพรรณ เตียพิริยะกิจ อัครราชทูตที่ปรึกษา ณ กรุงลิสบอน และคณะ ได้เดินทางไปยังเรือนจํากลางกรุงลิสบอน (Lisbon Prison) เพื่อรับฟังการบรรยายสรุปการบริหารงานในเรือนจำ และระบบจัดการนักโทษ โดยมีคุณโรมูโล มาเธอุส ผู้อำนวยการฝ่ายการบริการเรือนจำและการฟื้นฟูทางสังคม (Mr. Romulo Mateus, Directorate of Prison Services and Social Rehabilitation) ให้การต้อนรับ พร้อมทั้งได้ให้ข้อมูลสภาพทั่วไปของเรือนจำว่า เรือนจำกลางกรุงลิสบอน สร้างขึ้นเมื่อปี 1873 โดยปัจจุบันมีอายุกว่า 151 ปี แล้ว สำหรับผู้ต้องราชทัณฑ์ทั่วประเทศมี 80 แห่ง ผู้ต้องขังรวมจำนวน 11,280 คน ซึ่งส่วนมากเป็นความผิดฐานค้ายาเสพติด ฉ้อโกง และลักทรัพย์ตามลำดับ

ได้ข้อมูลเกี่ยวกับมาตรการบำบัดผู้ต้องราชทัณฑ์ในเรือนจำ ซึ่งมีการดำเนินการมากว่า 31 ปีแล้ว โดยในเบื้องต้นจะรับบำบัดทั้งผู้ติดยาเสพติดและผู้ติดแอลกอฮอล์ โดยผู้เข้ารับการบำบัดต้องเซ็นสัญญาและข้อตกลง อาทิ ไม่แอบใช้สารเสพติด และจะอยู่ในระเบียบวินัย เป็นต้น จากนั้นผู้ต้องราชทัณฑ์จะเข้าสู่โมเดลบำบัด ซึ่งใช้เวลา 18 เดือน โดยแบ่งเป็น 1) การปรับตัว 7 เดือน 2) การรับผิดชอบตัวเอง 5 เดือน 3) การใช้ชีวิตและอบรมต่าง ๆ 3 เดือน 4) การกลับเข้าสู่สังคม 3 เดือน นอกจากนั้น ยังมีกระบวนการในการฝึกวินัยและพัฒนาพฤตินิสัยควบคู่กันไปอีกด้วย ได้เข้าดูสภาการบำบัดจริงในเรือนจำ ห้องพักที่อยู่ห้องละ 3 คน เน้นการรักษาความสะอาดทั้งห้องนอน ห้องน้ำ สถานที่กิจกรรมประจำวันต้องรักษาความสะอาด และมีทีมสหวิชาชีพให้คำปรึกษาประชุมติดตามพฤติกรรมของผู้ถูกบำบัดเป็นรายบุคคลเป็นประจำตลอดโปรแกรม 1 ปี 6 เดือน

Advertisement

พ.ต.อ.ทวี ได้กล่าวขอบคุณ ผู้อำนวยการฯ และคณะที่ได้ให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ พร้อมทั้งขอนำโปรตุเกสโมเดลมาศึกษาและประยุกต์ใช้ให้เข้ากับบริบทของประเทศไทย ซึ่งเชื่อมั่นว่าจะทำให้กระบวนการบำบัดผู้ต้องขังที่ติดยาเสพติดเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และเกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image