วิสาขบูชารำฦก

วิสาขบูชารำฦก

วิสาขบูชารำฦก

ความเป็นมนุษย์หรือคนที่เกิดมาในโลกนี้นอกจากปัจจัยสี่ อาหารเครื่องนุ่งห่มที่อยู่อาศัยในยามเจ็บป่วยมียาและวิถีปฏิบัติในการดูแลชีวิตให้หายจากความป่วยไข้แล้ว การดำรงชีวิตนอกจากภาวะดังกล่าวแล้วยังต้องมีสิ่งอื่นเพื่อให้ชีวิตมีความสุขสบายมากขึ้นทั้ง อารมณ์ จิตใจ สังคม อุดมการณ์ ความเชื่อประเพณีวัฒนธรรมรวมไปถึงความเชื่อในหลักการของศาสนาที่ตน ชุมชนเผ่าเมืองประเทศชาติได้นำหลักการและวิธีปฏิบัติไปสู่การใช้ชีวิตอย่างมีความสุข

ศาสนาพุทธก่อกำเนิดเมื่อสองพันปีเศษมาแล้ว เจ้าชายสิทธัตถะซึ่งเป็นบุคคลที่อยู่ในฐานะของราชวงศ์พระมหากษัตริย์มีชีวิตความเป็นอยู่ที่พรั่งพร้อมในทุกๆ ด้าน หนทางชีวิตหนึ่งที่แสวงหาทางออกแห่งความทุกข์ของสัตว์โลกที่ประสบกับวงเวียนชีวิตทั้งการเกิด แก่ เจ็บ ตาย การแสวงหาหลักการ หลักธรรมที่จะนำมาเหล่ามวลมนุษย์ให้พ้นจากความทุกข์ความเดือดร้อนในชีวิตถึงที่สุดที่เรียกว่า นิพพาน

วันวิสาขบูชา ได้เริ่มต้นเป็นครั้งแรกในสมัยสุโขทัย ซึ่งสันนิษฐานว่าได้รับแบบแผนมาจากลังกาเมื่อประมาณ พ.ศ.420 ในสมัยพระเจ้าภาติกุราชเป็นผู้ประกอบพิธีวิสาขบูชาเพื่อถวายเป็นพุทธบูชา นับจากนั้นมาองค์พระมหากษัตริย์ของเมืองดังกล่าวจึงได้มีพิธีวันวิสาขบูชาสืบต่อเนื่องมาจนมาถึงสมัยสุโขทัย ในบันทึกในหนังสือนางนพมาศ ได้มีสาระสำคัญคือ เมื่อถึงวันวิสาขบูชาพระเจ้าแผ่นดิน ข้าราชบริพารทั้งฝ่ายหน้า ฝ่ายในตลอดถึงประชาชนชาวสุโขทัย ช่วยกันตกแต่งพระนครด้วยดอกไม้ จุดประทีปโคมไฟให้ดูสว่างไสวไปทั่วพระนครเป็นเวลาสามวันสามคืน เมื่อถึงเวลาเย็นก็มีการเสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ไปยังพระอารามหลวง ทรงเวียนเทียนรอบพระประธาน

Advertisement

ชาวสุโขทัยส่วนใหญ่จะรักษาศีล ถวายภัตตาหารแด่พระสงฆ์ ฟังธรรม ถวายสลากภัต สังฆทาน บริจาคทานแก่คนยากจน ทำบุญไถ่ชีวิตสัตว์ คำหรือประโยคหนึ่งที่เราท่านมักได้ยินก็คือ ประชาชนชาวบ้านของกรุงสุโขทัย โอยศีล โอยทาน สิ่งหนึ่งที่พบเห็นได้เชิงประจักษ์ก็คือพระพุทธรูปปางสุโขทัยมีรูปลักษณะที่อ่อนช้อย นุ่มนวล ใบหน้ายิ้มมีความเมตตากรุณาแก่ผู้ที่ได้พบเห็นและกราบไหว้…

สาระสำคัญหนึ่งของวันวิสาขบูชาก็คือ เพื่อระลึกนึกถึงองค์พระพุทธเจ้าที่ทรงประสูติ ตรัสรู้และปรินิพพาน ตรงกับวันเพ็ญเดือนวิสาขะมาศ เดือนหก สามเหตุการณ์ในเวลาดังกล่าว ก็คือทรงประสูติที่พระราชอุทยานลุมพินี ซึ่งตั้งอยู่ระหว่างกรุงกบิลพัสดุ์และเทวทหะ ตรัสรู้ใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์ ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา พุทธคยา รัฐพิหาร และพระองค์ได้ประกาศเผยแผ่พระศาสนาเป็นเวลา 45 ปี จนกระทั่งพระชนมพรรษา 80 พรรษา ก็ได้เสด็จดับขันธปรินิพพานที่สาลวโนทยาน แคว้นมัลละ เมืองกุสินารา รัฐอุตตรประเทศของประเทศอินเดีย…

ศาสนาพุทธได้เผยแผ่ไปในหลายประเทศทั่วโลกทั้งแถบตะวันตกและตะวันออก โดยเฉพาะเมืองไทยเราได้รับความเชื่อต่อจากลัทธิผี ปรากฏการณ์ของธรรมชาติมาเป็นศาสนาพุทธในวันเวลาต่อมา ปัจจุบันเมืองไทยเรามีวัดทั่วประเทศ 42,655 วัด จำนวนพระสงฆ์ สามเณรทั้งประเทศจำนวน 205,539 รูป และมีวัดร้างจากทั่วประเทศในจำนวน 5,388 วัด (สำนักงานศาสนสมบัติ ข้อมูล ณ วันที่ 30 ธันวาคม 2565)

Advertisement

บริบทหนึ่งของชาวพุทธในเมืองไทยเราในวันเวลาที่ผ่านมา คนไทยส่วนหนึ่งมีความเชื่อมั่นศรัทธาในองค์บรมศาสดา ทั้งหลักการคำสอน ศาสนพิธี วัดวาอาราม วัตรปฏิบัติของพระภิกษุสงฆ์ที่ได้ประพฤติดีประพฤติชอบตามหลักพระธรรมวินัย การทำบุญตักบาตร การบริจาคทาน สร้างวัดสร้างศาสนวัตถุ งานบุญประเพณีต่างๆ งานศพ งานแต่งงาน ทำบุญบ้าน ทอดกฐินผ้าป่าสามัคคี หรือแม้กระทั่งการร่วมกันสร้างโรงพยาบาล โรงเรียน หรือหน่วยงานราชการที่เป็นสาธารณะที่ประชาชนจักได้ใช้ประโยชน์ร่วมกัน นอกจากนั้นก็ยังมีพระที่ทำงานเกื้อกูลประชาชนทั้งเปิดสถานที่ดูแลผู้ป่วยโรคมะเร็ง คนตกงาน เด็กกำพร้า ผู้ติดเชื้อเอชไอวี ผู้ป่วยเอดส์ หรือแม้กระทั่งเปิดสถานชีวภิบาลต้นแบบ (สถานที่ดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคอง : Palliative Care)

ข่าวหรือข้อมูลหนึ่งที่ถูกนำเสนอในสื่อประเภทต่างๆ ของสังคมไทยเราในวันเวลาที่ผ่านมา มีพระภิกษุบางรูปที่ประพฤติผิดพระธรรมวินัยและกฎหมายของบ้านเมือง การใช้ยาเสพติดที่ผิดกฎหมาย การประพฤติผิดทางเพศ การทำร้ายร่างกาย รวมไปถึงคดีความต่างๆ เราท่านที่เป็นชาวพุทธหากมีใจที่ไม่มั่นคงหวั่นไหวไปในกระแสของโลกธรรมย่อมนำให้ความศรัทธาเชื่อมั่นในพระรัตนตรัยลดน้อยลงไป หลายคนก็อาจจะมีการตีตราว่า “ศาสนาเสื่อม” หลักคำสอนหนึ่งของชาวพุทธเราก็คือ การกระทำกรรมทั้งอดีต ปัจจุบัน อนาคตกรรม การสร้างกุศลกรรมความดี การเชื่อมั่นถึงการเวียนว่ายตายเกิด การเกิดใหม่รวมถึงการไม่ต้องมาเกิดอีกนับภพนับชาติ…

ปรากฏการณ์หนึ่งในแวดวงคณะสงฆ์ไทยเราในปัจจุบันก็คือ จำนวนผู้ที่เข้าไปบรรพชาเป็นสามเณร และอุปสมบทเป็นพระภิกษุลดน้อยลงอย่างมีนัยสำคัญ นั่นก็คือผู้คนที่เป็นวัยรุ่นยุคปัจจุบันและคนที่กำลังทำงานสร้างครอบครัวหรือสร้างอนาคตก็จะนิยมไม่ไปบวช หรืออาจจะบวชในระยะเวลาที่สั้นๆ อาทิ บวชหน้าไฟในงานศพ บนสิ่งศักดิ์สิทธิ์บวชสามวันเจ็ดวัน หรือแม้กระทั่งนานวันก็คือบวชเพื่อเข้าพรรษา สิ่งหนึ่งที่เราท่านพบเห็นก็คือหากเป็นวันในต่างจังหวัดจะพบจำนวนพระภิกษุที่ประจำอยู่ในวัดในจำนวนที่น้อยลง บางครั้งคราหากมีพิธีกรรมทางศาสนาก็ต้องไปจัดหาพระภิกษุจากวัดต่างๆ มาเพื่อให้ครบตามจำนวน…

ข้อเท็จจริงประการหนึ่งก็คือ ในวัดต่างๆ จะมีพระภิกษุที่เป็นผู้สูงอายุเข้าไปบวชด้วยเหตุผลของชีวิตในมิติต่างๆ สุขภาพร่างกาย จิตใจ ความคิด การพัฒนาศักยภาพเพื่อสืบทอดพระศาสนาก็ลดน้อยลง อาทิ พระหลายรูปมีปัญหาด้านสุขภาพทั้งโรคหัวใจ ความดันโลหิต สมอง จิตและระบบประสาท รวมถึงโรคอื่นๆ ความเจ็บป่วยทำให้พระภิกษุร่วมในวัดต้องช่วยกันดูแลสุขภาพ ซึ่งนำมาที่ภาครัฐ กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบาย แผนงานที่จะช่วยคุณภาพชีวิตของพระสงฆ์เหล่านั้นที่นำเสนอนโยบายผ่านมหาเถรสมาคมที่เรียกว่า พระคิลานุปัฏฐาก มีการสร้างกุฏิชีวาภิบาล โดยสมเด็จพระมหาธีราจารย์ ประธานฝ่ายสาธารณสงเคราะห์ของมหาเถรสมาคม

นโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายสมศักดิ์ เทพสุทิน ได้มีนโยบาย พ.ศ.2567 ก็คือ 4282 ยกระดับ 30 บาทรักษาทุกที่ แก้ไขปัญหายาเสพติด ควบคุมกัญชา พัฒนาอุตสาหกรรมสมุนไพร แก้ปัญหาสุขภาพจิต สร้างขวัญกำลังใจบุคลากร/อสม. สนับสนุนให้เปิดสถานชีวาภิบาล มีการค้นหา คัดกรองผู้ป่วยลดป่วยลดตาย มีการแพทย์ปฐมภูมิ พัฒนาหน่วยบริการทุกระดับ ส่งเสริมการมีบุตร มีผลิตภัณฑ์การแพทย์ชั้นสูง พัฒนามาตรฐานการแพทย์แผนไทย และส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ…

ในภาพรวมรัฐและคณะสงฆ์ต่างมีนโยบาย แผนงาน แผนปฏิบัติการเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนไทยและคุณภาพชีวิตของพระสงฆ์ พระภิกษุสามเณร นักบวชในพระศาสนา รวมไปถึงเหล่าศาสนิกที่ต้องขับเคลื่อนประเทศไปในทิศทางที่เหมาะสม การพัฒนาประเทศจึงต้องมีประชากรที่มีคุณภาพมีประสิทธิภาพศักยภาพ คุณธรรม จริยธรรม ศีลธรรม เมืองไทยเรามีภูมิศาสตร์ประเทศที่มีความพร้อมของธรรมชาติรอบด้านทั้งทะเล ภูเขา แม่น้ำ ทรัพยากรธรรมชาติ คนไทยเรามีความเก่งทั้งความรู้ความสามารถ ความฉลาดมิได้แพ้ไปจากผู้คนในประเทศต่างๆ ทั่วโลกมากนัก…

วันเวลานี้ วิสาขบูชารำฦกเวียนมาอีกครั้งหนึ่ง เราท่านทั้งหลายได้ตระหนัก เรียนรู้วิเคราะห์นำหลักการ ธรรมะของพระศาสนาที่มีอยู่ในพระไตรปิฎก มาปรับใช้ในชีวิตประจำวัน ครอบครัว สังคม ประเทศชาติอย่างแท้จริงและค้นพบหลักการแห่งความสุขของชีวิตหรือไม่อย่างไร…

เฉลิมพล พลมุข

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image