เฉลียงไอเดีย : 10 เกษตรกรหัวขบวน เล่าประสบการณ์เยือนเนเธอร์แลนด์ เก็บเกี่ยวความรู้พัฒนาชุมชน

เฉลียงไอเดีย : 10 เกษตรกรหัวขบวน เล่าประสบการณ์เยือนเนเธอร์แลนด์ เก็บเกี่ยวความรู้พัฒนาชุมชน

ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ได้จัดกิจกรรมภายใต้ “โครงการยกระดับมาตรฐานและมูลค่าสินค้าเกษตร” พากลุ่มเกษตรกรคนไทยซึ่งเป็นหัวขบวนในการช่วยพัฒนาการเกษตรและชุมชน พร้อมทั้งคณะผู้สื่อข่าวสายเศรษฐกิจ ไปศึกษาดูงานไกลถึงประเทศเนเธอร์แลนด์ ซึ่งเป็นประเทศที่มีความโดดเด่นด้านเกษตรกรรมแนวหน้าของโลก

การเดินทางปักหมุดหลายจุดหมาย ทั้งหมู่บ้านกังหันลม ซานส์ สคานส์ (zaan schan), ศูนย์นวัตกรรมพืชสวนเรือนกระจก หรือ WORLD HORTI CENTER (WHC), สวนเคอเคนฮอฟ (Keukenhof Garden), ตลาดประมูลดอกไม้อัลซเมียร์ หรือ Flora Holland Aalsmeer, หมู่บ้านกีธูร์น (Giethoorn) และตลาดขายดอกไม้ริมคลองกลางเมืองอัมสเตอร์ดัม (Bloemenmarkt) ซึ่งแต่ละสถานที่ล้วนมีความสำคัญในการขับเคลื่อนภาคการเกษตรของเนเธอร์แลนด์ จะทำให้เกษตรกรหัวขบวนได้เห็นแนวคิดและนำองค์ความรู้ที่ได้กลับมาพัฒนาการเกษตรในพื้นที่ชุมชนของตนเอง

Advertisement

โดย 1 ใน 10 เกษตรกรหัวขบวนที่ร่วมเดินทางศึกษาดูงานกับ ธ.ก.ส.ที่เนเธอร์แลนด์ในครั้งนี้ นภัสวรรณ เมณะสินธุ์ จากวิสาหกิจชุมชนผู้ผลิตดอกเบญจมาศบ้านตาติด จ.อุบลราชธานี เล่าประสบการณ์ว่า ได้ไอเดียดีๆ กลับมาปรับใช้ได้ ส่วนแรกคือที่ WORLD HORTI CENTER ศูนย์นวัตกรรมพืชสวนเรือนกระจกของเนเธอร์แลนด์ ควบคุมสภาพอากาศให้เหมาะแก่การปลูกพืชได้ตลอดเวลา ขณะที่ดอกเบญจมาศหน้าร้อนจะปลูกได้ไม่เต็มเหมือนหน้าหนาว ซึ่งดอกเบญจมาศมี 7 สี ขาว แดง เหลือง ม่วง ส้ม ชมพู เขียว แต่นอกฤดูอย่างหน้าร้อนจะปลูกได้เพียงสีเหลืองสีเดียว ส่วนสวนเคอเคนฮอฟ (Keukenhof) จะนำไปพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยว ทั้งลักษณะการจัดสวน รูปแบบการจัดซุ้มที่สามารถนำไปปรับใช้ได้

“การดูงานครั้งนี้่น่าจะนำความรู้ไปปรับเปลี่ยนได้หลายอย่าง เช่น ปลูกในโรงเรือนและระบบเรือนกระจก ยังได้แอบถามทาง WORLD HORTI CENTER รับดูแลเกษตรกรต่างชาติไหม แต่เขาบอกว่าตอนนี้ยังรับเฉพาะเกษตรกรในพื้นที่เท่านั้น” นภัสวรรณระบุ

Advertisement

ด้าน ณวิสาร์ มูลทา จาก I Love Flower Farm จ.เชียงใหม่ ระบุว่า สิ่งที่ได้เห็นและนำไปพัฒนาในชุมชนได้คือเรื่องของการท่องเที่ยว ก็ไม่ยากเกินที่เราจะนำไปพัฒนา เป็นสิ่งที่เรามีอยู่แล้ว อย่างที่นี่ตัวตนเขาชัดเจนมาก ไม่ว่าจะตัวตนในด้านของดอกทิวลิป รองเท้าไม้ และกังหันลม 3 อย่างในประเทศนี้เรามองเห็นว่าเป็นจุดเด่นที่คู่กับเนเธอร์แลนด์มาร้อยกว่าปีแล้ว

“คิดว่าถ้าทุกคนแต่ละชุมชนมองเห็นธุรกิจ หรือแม้กระทั่งสถานที่ท่องเที่ยวที่มีตัวตน ดึงเอกลักษณ์ได้ เป็นจุดเด่นแน่ๆ สามารถนำมาพัฒนาเป็นเรื่องของการท่องเที่ยวได้ ไม่ใช่แค่ธุรกิจที่ได้ประโยชน์ แต่สามารถต่อยอดไปยังพื้นที่ใกล้เคียงให้เกิดอิมแพคกับชุมชน ดึงดูดคนเข้ามาในชุมชนได้อย่างแน่นอน ขอบคุณ ธ.ก.ส.มากๆ ที่มอบโอกาสให้ไปศึกษาดูงานครั้งนี้ ส่วนตัวจะนำไปพัฒนาชุมชน ประยุกต์ใช้กับธุรกิจอย่างคุ้มค่าที่สุด” เจ้าของ I Love Flower Farm ระบุ

ขณะที่เกษตรกรหัวขบวนแห่ง เอ็น.พี.พี. ออคิด ผู้ผลิตและจำหน่ายกล้วยไม้ตัดดอก จ.นนทบุรี นัฐวุฒิ เนตรประไพ ระบุว่า สิ่งที่ได้รับรู้คือวิธีคิดของผู้ประกอบการธุรกิจเกษตร มีการทำงานวิจัยและพัฒนาการผลิตตลอดเวลาเพื่อทำให้ผลผลิตดีขึ้น ระบบตลาดใช้มาตรฐานความเชื่อใจ ที่สำคัญที่สุดคือมายด์เซต ทำให้สินค้าเกษตรมีคุณภาพ ราคาเหมาะสม ทำให้เกิดความยั่งยืนได้

“ที่ประทับใจคือตลาดประมูลไม้ดอกอัลซเมียร์ ระบบโลจิสติกส์ที่นี่ดีมาก ไม่มีมือโดนดอกไม้สักดอก ดอกไม้ทุกดอกจะติดบาร์โค้ด รู้แหล่งที่มา ถ้าตลาดไม้ดอกบ้านเราพัฒนาไปจุดนี้ได้ทุกอย่างจะเพอร์เฟ็กต์ เพราะวิชาความรู้การปลูกทุกอย่างเกษตรกรบ้านเราค่อนข้างแน่นอยู่แล้ว” นัฐวุฒิระบุ

นอกจากเกษตรกรหัวขบวนกลุ่มผู้ปลูกไม้ดอกแล้ว ยังมีเกษตรกรหัวขบวนผู้เพาะเลี้ยง “ผำ หรือไข่ผำ” กมลวรรณ รุ่งประเสริฐวงศ์ เจ้าของแบรนด์ TEAMPHUM (ทีมผำ) ไร่แสงสกุลรุ่ง จ.กาญจนบุรี ระบุว่า สำหรับการเดินทางมาเนเธอร์แลนด์ในครั้งนี้ สิ่งที่ได้คือไอเดียในเรื่องของเทคโนโลยี หรือนวัตกรรม ที่ช่วยควบคุมกระบวนการผลิตภาคการเกษตรที่สามารถคำนวณผลผลิตที่แน่นอน คำนวณรายได้อย่างชัดเจน และแพคเกจจิ้งที่อยู่ภายใต้แนวคิดรักษ์โลก เป็นแนวคิดที่จะไปปรับใช้ ช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลผลิตผำได้

“ต้องยอมรับว่าความรู้ของทางยุโรปโดดเด่นกว่าเอเชียแน่นอน ไม่ว่าจะด้านการเกษตร หรือการแปรรูป และออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่ทันสมัย และยังสื่อถึงความเป็นเอกลักษณ์ สร้างจุดเด่นให้กับชุมชน จะนำไปปรับใช้กับผลิตภัณฑ์ไข่ผำ และจะนำความรู้ไปบอกต่อกับชุมชน หรือกลุ่มเกษตรกรอื่นๆ เมื่อมีโอกาสแน่นอน” เจ้าของแบรนด์ TEAMPHUM ระบุ

ส่วน สุรีรัตน์ สิงห์รักษ์ เกษตรกรหัวขบวนจากตัวแทนจากวิสาหกิจชุมชนลองเลย จ.เลย และเจ้าของแบรนด์กาแฟลองเลย ระบุว่า ดีใจมากที่รู้ว่า ธ.ก.ส.เลือกให้มาทริปนี้ เพราะไม่คิดมาก่อนว่าจะได้มาไกลถึงยุโรป ก่อนมาได้ศึกษาข้อมูลและมีคำถามมากมาย สิ่งที่สนใจคือพลังงานสะอาดและการจัดการน้ำของคนเนเธอร์แลนด์ จนเมื่อได้มาก็พบคำตอบว่า ที่เขาประสบความสำเร็จเพราะให้ความสำคัญกับการศึกษาวิจัย อีกทั้งยังมีระบบบริหารจัดการที่ดีทุกมิติ

“วันนี้ได้มาเห็นอะไรดีๆ เราคืออนาคตของชุมชน อนาคตของโลก ใช้ชีวิตทำธุรกิจส่งต่อให้คนข้างหลังมีอนาคตที่ยั่งยืน ลองเลยคืโอกาสที่ทุกท่านให้กับเรา ลองในภาษาอังกฤษคือยาวนาน ยั่งยืน เลยคือจังหวัด ลองเลยคือโอกาสที่ทุกท่านหยิบยื่นให้กับพวกเรา” เจ้าของแบรนด์กาแฟลองเลยระบุ

ด้าน ทัพพ์ธนพนธ์ สภาพันธ์ เกษตรกรหัวขบวนแห่ง พีเจ ริช อินเตอร์กรุ๊ป ผู้ผลิตและจำหน่ายพืชผัก ผลไม้และกล้วยหอมทองส่งห้างโมเดิร์นเทรดรายใหญ่ภาคใต้ตอนล่าง ระบุว่า การมาดูงานในครั้งนี้คิดว่าการใช้เทคโนโลยีนวัตกรรมที่จะเอาชนะภัยธรรมชาติได้ เพราะกล้วยไม่มีฤดูกาล แต่ปัญหาของกล้วยตอนนี้ต้องเจอลมมรสุม วิธีการแก้ปัญหาตอนนี้ปลูกพืชกันลมทางธรรมชาติ ต่อไปจะพัฒนาปลูกในโรงเรือนขนาดใหญ่ได้หรือไม่ต้องมาพิจารณาอีกที

“เกษตรกรบ้านเขามองภาครวมเป็นหลัก ไม่มองปัจเจกบุคคลเหมือนบ้านเรา เขาร่วมกันคิด ร่วมกันทำ ร่วมกันแบ่งปันประโยชน์ อันนี้น่าสนใจมากครับ อยากให้มาแข่งเรื่องคุณภาพมากกว่าราคา ถ้าเราซื่อสัตย์จะอยู่ได้อย่างยั่งยืนมั่นคง” ทัพพ์ธนพนธ์ระบุ

สอดคล้องกับ ศุภชัย มิ่งขวัญ จากไร่ภูตะวันออร์แกนิค ฟาร์ม จ.อำนาจเจริญ ระบุว่า สิ่งได้เห็นในครั้งนี้คือเรื่องของแนวคิด เกษตรกรบ้านเขาจะไม่แยกกันแบบต่างคนต่างปลูก ซึ่งเหมือนกับที่เคยไปทำงานเกษตรกรรมที่อิสราเอลมา ทำให้มีการรวมกลุ่มกันช่วยพัฒนาคุณภาพมากกว่าการแข่งขันราคากัน รวมทั้งเรื่องของการตลาดเกษตรกรไทยต้องปรับ ต้องวางแผนการผลิต ผลิตตามคำสั่งซื้อ ไม่ใช่ปลูกไปแล้วค่อยหาตลาดขาย แต่เราต้องมีการตกลงกับผู้รับซื้อว่าต้องการผลผลิตเท่าไหร่ แล้วเราค่อยคำนวณราคาแล้วตกลงกัน

ศุภชัยระบุอีกว่า อย่างไรก็ดี แม้จะเปลี่ยนแนวคิดมาเป็นการทำเกษตรแบบที่มีการวางแผนการตลาดได้แล้ว แต่สิ่งที่เป็นปัญหาของไทยคือเรื่องเมล็ดพันธุ์ จากประสบการณ์ที่ผ่านมาเคยกว้านซื้อเมล็ดพันธุ์ผักมาเพาะกว่า 2 แสนเมล็ด แต่งอกแค่หลักพันเท่านั้น ทำให้หลุดแผนการผลิต ดังนั้น จึงไปขอเรียนรู้การผลิตเมล็ดพันธุ์กับมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ได้รับการสนับสนุนจาก ธ.ก.ส.เช่นกัน

“การมาครั้งนี้ได้เลือกซื้อเมล็ดพันธุ์จากเนเธอร์แลนด์ไปหลายชนิด โดยเฉพาะพวกปลูกช่วงหน้าหนาว เอาไปทดลองปลูกที่บ้านเรา เพื่อทำการเพาะเมล็ดพันธุ์ เพราะเมล็ดพันธุ์ของเนเธอร์แลนด์เป็นเมล็ดพันธุ์อินทรีย์ รับรองมาตรฐานสากล และเป็นเมล็ดพันธุ์ที่สามารถนำไปขยายพันธุ์ต่อได้ ผมคิดว่าการศึกษาดูงานครั้งนี้คุ้มค่า จะนำไปเพิ่มมูลค่ากับฟาร์มตนเอง และจะนำความรู้ที่ได้รับไปเผยแพร่ถ่ายทอดสู่ชุมชนด้วย” ศุภชัยระบุ

เช่นเดียวกับเกษตรกรหัวขบวนจาก จ.ชลบุรี อย่าง ยงยุทธ เลารุจิราลัย เจ้าของสวนเดอะ ฟิกเนเจอร์ การ์เด้น ผู้ผลิตและจำหน่ายมะเดื่อฝรั่ง ระบุว่า แต่ละจุดที่ได้ดูงานมีจุดแข็งที่แตกต่างกัน ส่วนตัวแล้วสิ่งที่เด่นๆ ที่เห็นของที่นี่คือเนเธอร์แลนด์มีจุดเด่นเรื่องแนวคิดการบริหารจัดการกับระบบการทำงานเป็นทีม ทำให้ต้นน้ำถึงปลายน้ำมีความเข้มแข็งมาก จนอยากให้โมเดลนี้เกิดที่ไทยบ้าง จะนำแนวคิดกับไอเดียที่ได้ครั้งนี้ไปปรับใช้กับตัวเองมากที่สุด เช่น ระบบโรงเรือน หรืออย่างน้อยนำไปถ่ายทอดให้พี่น้องเกษตรกรในกลุ่มของตนเองได้รับรู้ เพื่อให้เกิดมุมมองใหม่ๆ

“จุดเด่นเรื่องแนวคิดการจัดบริหารจัดการระบบการทำงานเป็นทีม ที่เราใช้อยู่ปัจจุบันปลูกในระบบโรงเรือน แต่ถ้าจะใช้ระบบเรือนกระจกก็ต้องมาดูในเรื่องต้นทุนด้วยว่าจะคุ้มหรือไม่ อย่างน้อยได้ไอเดียเกร็ดเล็กเกร็ดน้อย รวมถึงเห็นความเข้มแข็งของภาคเอกชนที่ร่วมมือกัน” เจ้าของสวนเดอะ ฟิกเนเจอร์ การ์เด้น ระบุ

นอกจากนี้ยังมีกลุ่มผู้ประกอบการหัวขบวนด้านการพัฒนาชุมชนให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ โดย ณัฐพล ศรีวิลัย จากโฮมสเตย์บ้านนาต้นจั่น จ.สุโขทัย ระบุว่า หมู่บ้านกีธูร์นมีระบบการจัดการเหมือนที่ชุมชนของเราที่นั่งรถอีแต๊ก แต่ที่นี่เขานั่งเรือชมรอบหมู่บ้าน เขาจะหักค่ารายได้ไปบำรุงพื้นที่ส่วนกลาง ไปใช้ อาทิ ดูแลความสะอาด คลอง เส้นทางสัญจรในหมู่บ้าน ซึ่งของบ้านนาต้นจั่นเราก็เหมือนกัน เราเก็บค่ารถอีแต๊ก 450 บาท ก็หักเข้าชุมชนเพื่อเอาไปบำรุงสถานที่ต่างๆ

“อีกส่วนที่อยากจะนำไปปรับใช้ คือการแต่งบ้านต่างๆ ที่นี่เขามีมุมเล็กๆ มีสวนสวยน่ารักหน้าบ้าน แล้วถ้าชุมชนเราเอากลับไปใช้ อาจจะเป็นจุดขายจุดหนึ่งให้กับชุมชนของเราได้” ตัวแทนโฮมสเตย์บ้านนาต้นจั่นระบุ

ปิดท้าย สุชา วันศุกร์ ตัวแทนจากชุมชนบ้านไหนหนัง ชุมชนประมงพื้นบ้าน จ.กระบี่ ระบุว่า จากการไปดูงานครั้งนี้ได้สร้างประสบการณ์และแรงบันดาลใจในการไปปรับใช้เพื่อการพัฒนาให้ตรงกับบริบทในพื้นที่ ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง โดยเฉพาะหมู่บ้านกีธูร์นที่ไร้ถนน แต่ใช้เรือเป็นพาหนะ เป็นหมู่บ้านที่มีความสงบ สะอาดและเป็นระเบียบ และมีการใช้เรือที่เป็นเครื่องยนต์พลังงานสะอาด

“กรณีชุมชนบ้านไหนหนัง การท่องเที่ยวทางทะเลชุมชนใช้เครื่องยนต์โซลาร์เซลล์ ยังมีควันและเสียงดัง ในอนาคตชุมชนจะหาแนวทางมาปรับใช้เครื่องยนต์พลังงานโซลาร์เซลล์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม” สุชาทิ้งท้าย

แม้การเดินทางในครั้งนี้จะจบลงแล้ว แต่ ธ.ก.ส.ยังสานต่อการพัฒนาเกษตรกรรมและชุมชนต่อเนื่อง ทั้งผลิตภัณฑ์ทางการเงิน อย่างสินเชื่อ โครงการสินเชื่อธุรกิจชุมชนสร้างไทย หรือโครงการล้านละร้อย ที่เกษตรกรหัวขบวนนำเงินไปต่อยอดพัฒนาชุมชนของตัวเอง ซึ่งเกษตรกรที่ร่วมเดินทางในทริปนี้เป็นลูกค้าของโครงการดังกล่าวเช่นกัน และ ธ.ก.ส.ยังเปิดรับลูกค้าเกษตรกร หรือผู้ประกอบการหัวขบวนขอสินเชื่อได้ต่อเนื่อง ผ่านกรอบวงเงินที่เหลืออีกประมาณ 1.4-1.5 หมื่นล้านบาท

ขณะเดียวกัน ธ.ก.ส.ยังต่อยอดทำโครงการ New Gen Hug บ้านเกิด Season 2 ที่เฟ้นหาสุดยอดเกษตรกรรุ่นใหม่ที่มีไอเดียสร้างสรรค์เพื่อสานต่อการยกระดับศักยภาพการแข่งขันให้กับธุรกิจเกษตร และร่วมสร้างธุรกิจในชุมชนของตัวเอง ซึ่งมีเงินรางวัลรวมกว่า 1 ล้านบาทอีกด้วย โดยเกษตรกรหัวขบวนในทริปนี้เคยเข้าร่วมการแข่งขันเช่นกัน

เพราะ ธ.ก.ส.ไม่ใช่แค่สถาบันการเงิน แต่มุ่งยกระดับการเกษตรไทยในทุกมิติ เกษตรกรหัวขบวนเองจะเป็นหนึ่งในกำลังขับเคลื่อนการเกษตรและชุมชนของไทยไปด้วยกัน

ณัฐชนัน ฐิติพันธ์รังสฤต

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image