สะพานแห่งกาลเวลา : ความล้มเหลวของ5G กับการมาถึงของ6G

ย้อนเวลาถอยหลังกลับไปเมื่อไม่ช้าไม่นาน ผู้คนในแวดวงเทคโนโลยี โดยเฉพาะเทคโนโลยีด้านการสื่อสาร โทรคมนาคม พากันพูดถึง 5จี เทคโนโลยีสื่อสารไร้สายรุ่นที่ 5 กันมากมายชนิดเป็นบ้าเป็นหลัง

ถึงตอนนี้ 6-7 ปีต่อมา แม้แต่นักวิชาการด้านไอที โทรคมนาคมเอง มองย้อนกลับไปแล้วได้แต่ยอมรับกันว่า ผิดหวัง ผิดหวังเพราะ 5จี ไม่ได้นำพาอะไรมาให้สังคมมนุษย์เหมือนอย่างที่คาดหวังหรือ “อวย” กันเอาไว้ก่อนหน้านี้

ตัวอย่างเช่นในเวทีประชุมด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีโซหู ประจำปี 2024 ซึ่งมีขึ้นที่ปักกิ่ง ประเทศจีน เมื่อไม่นานมานี้ ผู้เชี่ยวชาญอย่าง ศาสตราจารย์หวัง เจี้ยงโจว ศาสตราจารย์ประจำสำนักวิศวกรรม ของมหาวิทยาลัยเคนท์ แห่งสหราชอาณาจักร บอกกับผู้เข้าร่วมการประชุมว่า ตนเองผิดหวังกับเทคโนโลยี 5จี จริงๆ

สาเหตุสำคัญที่นำพาซึ่งความล้มเหลวของ 5จี อาจเป็นเพราะผู้คนในแวดวงไอทีด้วยกันนั่นแหละที่ “อวย” เทคโนโลยีการสื่อสารไร้สายรุ่นที่ 5 นี้กันมากจนเกินไป

Advertisement

แล้วสุดท้ายที่อวย-อวยกันเอาไว้ก็ไม่ได้เกิดเป็นรูปเป็นร่าง ไม่ได้เป็นมรรคผลกันเสียเป็นส่วนใหญ่

หากมองย้อนกลับไปในอดีต เราจะเห็นความแตกต่างอย่างใหญ่หลวงที่พัฒนาการของเทคโนโลยีสื่อสารไร้สายแต่ละเจเนอเรชั่นนำพามายังประโยชน์ให้กับมนุษย์ได้ชัดเจน

การก้าวกระโดดจากยุค 2จี มายังยุค 3จี นี่ชัดเจนอย่างมาก เพราะทำให้เราไม่ต้องถูกจำกัดอยู่แค่เฉพาะการส่งข้อความสั้นที่เป็นตัวอักษร (text messages) เพียงอย่างเดียวอีกต่อไปแล้ว เพราะ 3จี ช่วยให้เราสามารถส่งทั้งภาพ ทั้งเพลง ไปในเครือข่ายได้ด้วย

Advertisement

ผลที่ได้ก็คือการเติบใหญ่ขยายตัวของแอพพลิเคชั่น ที่เป็นที่นิยมมาจนถึงทุกวันนี้ อย่าง คิวคิว (QQ) เกมต่างๆ รวมไปถึงการก้าวย่างเข้ามาของเทคโนโลยี สตรีมมิ่ง ที่มีบทบาทและยังผลทางด้านเศรษฐกิจอย่างคาดไม่ถึงในเวลาต่อมา

พอ 3จี พัฒนาคลี่คลายขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็น 4จี ก็ช่วยให้เกิดสิ่งที่เราไม่คิดว่าจะเป็นที่นิยมกันมาก่อนนั่นคือ การชำระเงินผ่านเครือข่ายไร้สาย หรือที่เรียกกันว่า โมบายเพย์เมนต์ และที่สำคัญก็คือการบังเกิดขึ้นของแอพพลิเคชั่นอย่าง ไลน์, วีแชต และ “เต้าหยิน” หรือ “ติ๊กต็อก”

ความล้มเหลวของ 5จี ก็คือ เราไม่ได้เห็นความแตกต่างหรือการเปลี่ยนแปลงใหญ่หลวงที่ว่านี้เมื่อมีการประยุกต์ใช้ 5จี โดยเฉพาะสิ่งที่ส่งผลต่อมวลชนคนหมู่มากในสังคม

ในทรรศนะของศาสตราจารย์หวัง สิ่งที่ 5จี ล้มเหลวมากที่สุดก็คือ มาตรฐานทางเทคนิคของยุค 5จี ยังไม่สามารถตอบสนองความต้องการสำหรับการประยุกต์ใช้ใน “อุตสาหกรรมแนวดิ่ง” (vertical industry) อันหมายถึงภาคอุตสาหกรรมหรือโรงงานการผลิตขนาดใหญ่ต่างๆ ได้

ที่ 5จี ตอบสนองไม่ได้นั่นเป็นเพราะ “ความหน่วง” (latency) หรืออาการชะลอช้าของข้อมูลในเครือข่าย ยังไม่เพียงพอที่จะรองรับความต้องการในการนำมาประยุกต์ใช้ในบางอุตสาหกรรมได้

หวัง เจี้ยงโจว เชื่อว่า ความล้มเหลวที่เกิดขึ้นกับ 5จี นั้นเทคโนโลยีไร้สายรุ่นที่ 6 หรือ 6จี จะเป็นผู้แก้ไข และทำให้ความคาดหวังหลายๆ อย่างที่เคยมีตอนเกิด 5จี กลายเป็นจริงขึ้นมา

“เทคโนโลยี 6จี ที่กำลังอยู่ระหว่างการพัฒนา ได้รับการคาดหวังว่าจะเป็นการปฏิวัติเพื่อแก้ปัญหาที่เคยเกิดขึ้นจนทำให้ 5จี ไม่สามารถใช้งานในอุตสาหกรรมแนวดิ่งได้” เขาระบุ

ตอนนี้มีประเทศจำนวนหนึ่ง รวมทั้งยักษ์ใหญ่อย่าง สหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่น กำลังพัฒนา 6จี อย่างขะมักเขม้น เป้าหมายก็เพื่อ “กำหนดมาตรฐาน” ของเทคโนโลยีรุ่นใหม่นี้ออกมา

สหรัฐอเมริกา เริ่มเปิดใช้งานช่วงคลื่นความถี่ (spectrum) ระดับเทราเฮิรตซ์ ซึ่งจำเป็นสำหรับ 6จี ออกมาใช้เพื่อการทดลองเทคโนโลยีนี้แล้ว ทั้งยังทำงานร่วมกับภาคเอกชนเพื่อการวิจัยและพัฒนา “มาตรฐาน” ของ 6จี พร้อมกันไปด้วย

ญี่ปุ่น เตรียมใช้งานเทคโนโลยีสำคัญๆ ที่เป็นองค์ประกอบของ 6จี ในราวปี 2025 และคาดหวังว่าจะเริ่มให้บริการการสื่อสารโทรคมนาคมที่ “เกินกว่า 5จี” ได้ภายในปี 2030

6จี คืออย่างไร? เอาง่ายๆ ก็คือ การสื่อสารด้วยโครงข่ายไร้สายที่เร็วกว่า 5จี ไม่ต่ำกว่า 100 เท่า ระดับความหน่วงหรือลาเทนซีลดลงจากระดับมิลลิเซคันด์ สู่ระดับไมโครเซคันด์

ไอทียู (สหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ) ที่เป็นหน่วยงานภายใต้สหประชาชาติ ให้ภาพเอาไว้ว่า 6จี จะทำให้ “การสื่อสารแบบอิมเมอร์ซีฟ” เป็นจริงขึ้นมา, จะทำให้เกิดการเชื่อมต่อขนาดมหึมา (ultra-large-scale connectivity), มีความเสถียรเชื่อถือได้สูง ความหน่วงต่ำมาก, ที่สำคัญคือ เกิดบูรณาการระหว่างการสื่อสารโทรคมนาคมกับเอไอ (ปัญญาประดิษฐ์) ขึ้นมาได้, เกิดการหลอมรวมระบบเซ็นเซอร์เข้ากับการสื่อสาร (ลองจินตนาการถึงรถยนต์ที่เคลื่อนที่โดยไร้คนขับ) และเกิดการเชื่อมต่อแบบทั่วถึงกันเป็นการทั่วไป

ใครที่นึกไม่ออกว่า การสื่อสารแบบอิมเมอร์ซีฟ เป็นยังไง ก็ลองนึกถึงภาพยนตร์ไซไฟ ที่ 2 คนอยู่ห่างกันเป็นพันๆ กิโล แต่ติดต่อกันแบบเห็นตัว เคลื่อนไหวไปมาอยู่ซึ่งๆ หน้าได้ นั่นแหละครับ

ครับ เรากำลังพูดถึงบริการ “โฮโลกราฟิก คอมมูนิเคชั่น” ที่จะมาถึงพร้อมกับ 6จี นั่นเอง

ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image