จับตา ‘บอร์ด กสทช.’ พิจารณาคำคัดค้านไม่ให้ ‘พิรงรอง’ ปฏิบัติหน้าที่ในวาระเกี่ยวกับกลุ่มบริษัททรู

จับตา ‘บอร์ด กสทช.’ พิจารณาคำคัดค้านไม่ให้ ‘ดร.พิรงรอง’ ปฏิบัติหน้าที่ในวาระเกี่ยวกับกลุ่มบริษัททรู หลังอนุฯ โทรทัศน์มีมติเอกฉันท์ไม่รับคำคัดค้านไปก่อนหน้า

เมื่อวันที่ 27 พ.ค. 2567 มีรายงานข่าวว่า คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เตรียมพิจารณาหนังสือคัดค้านการปฏิบัติหน้าที่ของศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.พิรงรอง รามสูต กสทช.ด้านกิจการโทรทัศน์ ซึ่งยื่นโดยบริษัททรู ดิจิทัล กรุ๊ปและบริษัททรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) โดยก่อนหน้านี้ คณะอนุกรรมการพิจารณาอนุญาตด้านกิจการโทรทัศน์ของ กสทช. มีมติเอกฉันท์ไม่รับคำคัดค้านปฏิบัติหน้าที่ของ กสทช. พิรงรองในการพิจารณาที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มบริษัททรู

ในวันที่ 27 พ.ค. 2567 คณะกรรมการ กสทช. มีกำหนดการประชุมบอร์ด ครั้งที่ 11/2567 ต่อเนื่องจากวันที่ 23 พ.ค. โดยหนึ่งในวาระการประชุมจะมีการพิจารณาหนังสือคัดค้านการปฏิบัติหน้าที่ของศ.กิตติคุณ ดร.พิรงรอง ซึ่งยื่นโดยบริษัททรู ดิจิทัลฯ และบริษัททรู คอร์ปอเรชั่นฯ เป็นระเบียบวาระที่เป็นการประชุมแบบจำกัดจำนวนผู้เข้าฟัง (ลับ) การมีคำร้องคัดค้านดังกล่าว สืบเนื่องจากกรณีที่บริษัท ทรู ดิจิทัลฯ ผู้ให้บริการแอปพลิเคชั่นทรูไอดี เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง ศ.กิตติคุณ ดร.พิรงรอง ต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง เมื่อปี 2566 โดยกล่าวหาว่าปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ กรณีที่สำนักงาน กสทช. มีการออกหนังสือแจ้งไปยังผู้รับอนุญาตประกอบกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ จำนวน 127 ราย ซึ่งอาจทำให้ผู้ได้รับอนุญาตเข้าใจว่าโจทก์เป็นผู้ทำผิดกฎหมาย และอาจส่งผลให้ผู้รับอนุญาตอาจระงับเนื้อหารายการต่าง ๆ ที่โจทก์นำไปออกอากาศ โดยศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางได้มีคำสั่งประทับรับฟ้องคดีเมื่อวันที่ 14 มี.ค. 2567 ต่อมาเมื่อวันที่ 2 เม.ย. 2567 บริษัท ทรู ดิจิทัลฯ และบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่นฯ ได้ร่วมกันมีหนังสือคัดค้านการปฏิบัติหน้าที่ฯ ส่งมาถึง ศ.กิตติคุณ ดร. พิรงรอง และประธาน กสทช.

ในช่วงเวลาเดียวกัน บริษัท ทรู ดิจิทัลฯ ได้ยื่นคำร้องที่มีเนื้อหาแบบเดียวกันไปยังศาลอาญาคดีทุจริตฯ ด้วย เพื่อให้ศาลสั่งระงับการปฏิบัติหน้าที่ กสทช. และประธานอนุกรรมการด้านกิจการโทรทัศน์ ของ ศ.กิตติคุณ ดร.พิรงรอง ไว้ชั่วคราวจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษา แต่เมื่อวันที่ 14 พ.ค. ที่ผ่านมา ศาลได้มีคำสั่งยกคำร้อง โดยระบุว่า หลังจากโจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้และศาลมีคำสั่งประทับรับฟ้องไว้แล้ว ไม่ปรากฏว่าจำเลยมีการกระทำใดหรือพฤติการณ์ใดที่แสดงให้เห็นว่าเป็นปฏิปักษ์ หรือขัดขวาง หรือกลั่นแกล้งการประกอบธุรกิจของโจทก์ หรือกลุ่มบริษัทในเครือโจทก์ จึงยังไม่มีน้ำหนักและเหตุผลเพียงพอที่ศาลจะมีคำสั่งให้จำเลยหยุดปฏิบัติหน้าที่ หรือกำหนดมาตรการหรือออกข้อกำหนดใด ๆ ตามที่โจทก์ร้องขอ แต่หากมีพฤติการณ์เปลี่ยนแปลงไป ศาลอาจมีคำสั่งเป็นอย่างอื่นได้

Advertisement

ต่อมา เมื่อวันที่ 24 พ.ค. 2567 ที่สำนักงาน กสทช. ระหว่างการประชุมคณะอนุกรรมการพิจารณาอนุญาตด้านกิจการโทรทัศน์ มีการพิจารณาหนังสือของบริษัท ทรู ดิจิทัลฯ และ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่นฯ ซึ่งยื่นร้องคัดค้านการปฏิบัติหน้าที่ กสทช. และคณะอนุกรรมการใดๆ ที่ กสทช. ได้แต่งตั้ง ศ.กิตติคุณ ดร.พิรงรอง รามสูต กสทช.ด้านกิจการโทรทัศน์เพื่อปฏิบัติหน้าที่ โดยคัดค้านไม่ให้พิจารณาในทุกเรื่องที่เกี่ยวข้องกับกิจการของบริษัท ทรู ดิจิทัลฯ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่นฯ และบริษัทในกลุ่มบริษัททรู ที่อยู่ภายใต้การอนุญาตและการกำกับดูแลการประกอบกิจการของ กสทช.

แหล่งข่าวจากสำนักงาน กสทช. ระบุว่า คณะอนุกรรมการพิจารณาอนุญาตด้านกิจการโทรทัศน์ ได้นำหนังสือคัดค้านดังกล่าวมาพิจารณาเป็นวาระลับ ขณะที่ ศ.กิตติคุณ ดร.พิรงรอง แจ้งต่อที่ประชุมอนุกรรมการฯ ก่อนการประชุมว่าไม่ประสงค์แสดงความคิดเห็นและร่วมลงมติในวาระนี้ อย่างไรก็ตาม อนุกรรมการฯ ได้ลงมติเอกฉันท์ไม่รับคำคัดค้านไว้พิจารณา ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้

1. หนังสือมอบอำนาจให้ผู้แทนมายื่นคัดค้าน พิจารณาแล้วเป็นการมอบอำนาจในลักษณะของตัวการตัวแทนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่กำหนดขอบเขตการมอบอำนาจให้เฉพาะการติดต่อประสานงานทั่วไป และการออกหนังสือ การให้ข้อมูล การยื่นเอกสาร การรับเอกสาร การตอบข้อซักถาม การแสดงความเห็นใด ๆ ในเรื่องการดำเนินการเกี่ยวกับการประกอบกิจการโทรคมนาคม กิจการวิทยุคมนาคม และกิจการอื่นใดของผู้ร้องซึ่งเป็นการมอบอำนาจในเรื่องที่เกี่ยวกับการประกอบกิจการของผู้ร้อง แต่มิได้มอบอำนาจให้ดำเนินการยื่นคัดค้านการปฎิบัติหน้าที่ของ กสทช. ตาม พรบ. วิธีปฏิบัติราชการทางปกครองฯ ดังนั้น การมอบอำนาจให้มายื่นคำร้องจึงไม่สมบูรณ์ คำร้องดังกล่าวจึงยังไม่สามารถรับไว้พิจารณาได้

Advertisement

2.การยื่นคัดค้านการปฏิบัติหน้าที่ประธานอนุกรรมการฯ ในทุกเรื่องที่เกี่ยวข้องกับบริษัททรู ดิจิทัลฯ บริษัท ทรูคอร์ปอเรชั่นฯ และกลุ่มบริษัทในเครือบริษัททรูฯ ในลักษณะคาดการณ์ล่วงหน้าแบบเหมารวมว่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้ร้องนั้น ไม่สามารถกระทำได้ เนื่องจากการพิจารณาเหตุตามมาตรา 16 แห่ง พรบ. วิธีปฏิบัติราชการทางปกครองฯ ต้องพิจารณาข้อเท็จจริงเป็นรายกรณีไป

3.หากพิจารณาตามมาตรา 16 (2) ของพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 จะเห็นได้ว่าผู้ร้อง คือบริษัท ทรู ดิจิทัลฯ และบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่นฯ ไม่ได้เป็นผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคม กิจการกระจายเสียง และกิจการโทรทัศน์ในการกำกับดูแลของ กสทช. และสำนักงาน กสทช. จึงยังไม่มีนิติสัมพันธ์ใดกับ กสทช. หรือสำนักงาน กสทช. ที่จะถือว่าเป็นคู่กรณีที่มีสิทธิยื่นคำคัดค้านตามกฎหมาย

4.ในการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการพิจารณาอนุญาตด้านกิจการโทรทัศน์ เป็นกรณีที่ กสทช. แต่งตั้งเพื่อมอบหมายให้ทำหน้าที่กลั่นกรองให้คำปรึกษา ข้อเสนอแนะ และความเห็นต่อ กสทช. เพื่อให้ที่ประชุม กสทช. นำมาประกอบการพิจารณาตัดสินใจ วินิจฉัย ชี้ขาด หรือออกคำสั่งทางปกครองตามอำนาจหน้าที่ ดังนั้นมติคณะอนุกรรมการฯ ที่ออกมาในทุกเรื่องจึงไม่ใช่คำสั่งทางปกครองแต่อย่างใด

นอกจากนี้ คดีของผู้ร้องคัดค้านซึ่งยื่นฟ้องต่อศาลอาญาคดีทุจริตฯ ยังอยู่ในขั้นตอนการตรวจสอบเอกสารชั้นพนักงานคดี จึงยังถือว่า ศ.กิตติคุณ ดร.พิรงรองเป็นผู้บริสุทธิ์ เพราะกระบวนการทางศาลยังไม่ได้มีการพิพากษาตัดสินใดๆ และเมื่อวันที่ 14 พ.ค. 2567 ที่ผ่านมา ศาลได้มีคำสั่งยกคำร้องคัดค้านการปฏิบัติหน้าที่ในลักษณะเดียวกันนี้ไปแล้ว

แหล่งข่าวยังให้ข้อมูลอีกว่า ภายหลังจากที่คณะอนุกรรมการชุดดังกล่าวได้ลงมติไม่รับหนังสือคัดค้านไว้พิจารณาแล้วนั้น ศ.กิตติคุณ ดร.พิรงรอง ได้ดำเนินการประชุมต่อไปในฐานะประธานอนุกรรมการพิจารณาอนุญาตด้านกิจการโทรทัศน์ โดยมีการพิจารณาคำขอยกเลิกใบอนุญาต รวม 4 ช่องรายการ ของบริษัท ทรู วิชั่นส์ กรุ๊ป จำกัด ในฐานะผู้รับอนุญาตให้บริการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ จาก กสทช. ซึ่งที่ประชุมก็มีมติเอกฉันท์ให้ข้อเสนอแนะต่อเจ้าพนักงานเพื่อแจ้งให้ผู้รับใบอนุญาตพิจารณาทบทวนมาตรการเยียวยาผู้บริโภคตามที่บริษัทเคยเสนอเป็นแนวปฏิบัติไว้ก่อนหน้านี้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image