ยากล่อมประสาท 4.0 โดย พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์

ตอนนี้ไปที่ไหนก็มีแต่การพูดถึงเรื่องของไทยแลนด์ 4.0 กันเยอะแยะไปหมด ส่วนหนึ่งอาจไม่ใช่เพราะมันเป็นสาระสำคัญ แต่เพราะมีการอนุมัติงบประมาณประชาสัมพันธ์กันอย่างครึกโครม ที่น่าหวาดกลัวจริงๆ ไม่ใช่ตัวแนวคิดเรื่องไทยแลนด์ 4.0 ในฐานะนโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจ

เท่ากับเรื่องของการที่แนวคิดหนึ่งๆ ที่เคยมีการนำเสนอและเผยแพร่ในหมู่นักวิชาการกลายมาเป็นนโยบายและยุทธศาสตร์ชาติ ที่น่าหวาดกลัวจริงๆ ไม่ได้อยู่ตรงที่กลายเป็นนโยบายของรัฐ แต่การที่รัฐเป็นรัฐเผด็จการ โดยเฉพาะเผด็จการทหาร แนวนโยบายนี้เลยกลายเป็นเรื่องที่ต้องทำให้กลายเป็นอุดมการณ์รัฐ (state ideology) อย่างเร่งด่วนด้วยกลไกรัฐทหาร

และที่สำคัญการทำให้เป็นอุดมการณ์รัฐผ่านเผด็จการทหารแบบบ้านเรา มันกลายเป็นการทำงานผ่านการประชาสัมพันธ์แบบที่มีทหารเป็นแกนนำ กล่าวโดยทั้งหมดก็คือ กระบวนสำคัญคือการแปลงความคิดทางการพัฒนาทางเศรษฐกิจแบบหนึ่งให้กลายเป็นอุดมการณ์ของรัฐผ่านระบบปฏิบัติการทางจิตวิทยา ในนามของการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ ทำความเข้าใจ ลามไปถึงการปรับทัศนคติ

ไม่ได้ใช้กำลังบังคับโดยตรง

Advertisement

ผมขอพักเรื่องนี้ไว้ก่อน อยากชวนคุยนอกเรื่องสักแป๊บ แล้วกลับมาคุยเรื่อง 4.0 อีกที เริ่มจากหลายวันก่อน มีคำถามจากนักศึกษาท่านหนึ่งมาขอพูดคุยกับผมในบางส่วนของประเด็นยุทธศาสตร์ชาติ เขาเริ่มตั้งคำถามว่า ตกลงประเทศไทยจะอยู่อย่างไรในสถานการณ์โลก คำถามยอดฮิตก็คือ การไปเป็นมิตรกับจีน โดยตีจากโลกตะวันตกนี้เป็นแนวทางที่ถูกต้องหรือไม่

คำถามประมาณนี้คงเป็นคำถามยอดฮิต และรัฐบาลก็พยายามจะบอกว่าการมุ่งหน้าสู่จีนเป็นทางที่เราเลือก และเป็นทางที่ได้ประโยชน์

ประเด็นที่ผมตอบนักศึกษาท่านนั้นคือ เราคงต้องตั้งคำถามให้ดีว่า ตกลงเราเลือกคบจีน เพราะเราเลือกได้จริงๆ หรือเรามองว่าคนอื่นไม่คบเรา โดยเฉพาะโลกตะวันตก และเรากล้า ยอมรับแค่ไหนว่าที่เขาไม่คบเรานั้นเพราะเราไปกระทำผิดบรรทัดฐานทางการเมืองของโลก นั่นคือการถอยออกจากประเทศที่เป็นประชาธิปไตย

Advertisement

การถอยออกจากประเทศที่เป็นประชาธิปไตยนั้นนำมาซึ่งความเสียหายมากมายทางเศรษฐกิจ เพราะหลายประเทศเขามีเงื่อนไขว่าเขาจะช่วยเหลือหรือลงทุนในประเทศเราไม่ได้ ไม่ใช่เพราะเขาไม่อยากทำเสมอไป แต่เพราะมันมีบรรทัดฐานบางอย่างในประเทศเหล่านั้นที่รัฐบาลประเทศเหล่านั้นเขามีพันธสัญญา ทั้งกับประเทศอื่นๆ และกับประชาชนของเขาเอง

ในอีกด้านหนึ่งเราก็พบลีลาของจีนมากมายในการต่อรองเพื่อประโยชน์ของประเทศเขาภายใต้หน้าฉากของความร่วมมือและการเป็นมิตรประเทศ ดังที่เราทราบกันอยู่ ท่ามกลางแรงกดดันนานาชาติเหล่านี้หรือไม่ ที่การนำเสนอนโยบายเรื่องไทยแลนด์ 4.0 ถูกนำเสนอขึ้นมา เพื่อให้คนในประเทศรู้สึกว่า ทุกอย่างจะโอเค

ถ้าเราเร่งพัฒนาเศรษฐกิจและพัฒนาคนในประเทศ ผ่านการพัฒนาเทคโนโลยี นวัตกรรม และความรู้ต่างๆ ถามว่าถ้าพรุ่งนี้เราเป็นไทยแลนด์ 4.0 จริงๆ แล้วประเทศเราไม่มีการเลือกตั้งและประชาธิปไตยเนี่ย ต่างประเทศเขาจะคบหากับเราเหรอครับ เพราะเงื่อนไขในการเจรจาการค้าการลงทุนจำนวนมากมันเป็นเรื่องของหลักการประชาธิปไตยและหลักการสิทธิมนุษยชน ไม่ใช่ความเป็นไทยที่พยายามเสริมสร้างกันอยู่ผ่านปฏิบัติการทางจิตวิทยาสักหน่อย

เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องว่าตกลงต้องมาเถียงว่าประชาธิปไตยดีจริงไหม อันนั้นเชิญไปเถียงกันตามโซเชียลเน็ตเวิร์กของตัวเองครับ ใครอยากคิดอย่างไรเอาที่สบายใจ แต่เงื่อนไขที่เรากำลังเผชิญอยู่นั้นคือกติกาโลก

ก็ต้องแก้โดยตอบคำถามกับกติกาของโลก ไม่ใช่ตอบคำถามด้วยชาตินิยม

ทีนี้เรื่องที่น่าสนใจของไทยแลนด์ 4.0 ต่อมาก็คือ การหยิบฉวยข้อค้นพบอันกลายเป็นสูตรสำเร็จในการอธิบาย หรือเรียกง่ายๆ ว่าวาทกรรมทางเศรษฐศาสตร์ที่ว่าประเทศไทยตกอยู่ในปัญหากับดักรายได้ปานกลาง เข้ามาขยายผลในการสร้างนโยบาย ยุทธศาสตร์ และปฏิบัติการทางจิตวิทยาแบบไทยแลนด์ 4.0

ไม่ได้บอกว่าไม่จริง แต่คำถามคือจริงในเงื่อนไขไหน เมื่อห้าสิบปีที่แล้ว วาทกรรมการพัฒนาของบ้านเราคือการบอกว่า ประเทศไทยจะพัฒนาต้องมีการพัฒนาอุตสาหกรรม มีเมืองเป็นหลัก ให้แรงงานราคาถูกที่เป็นคุณสมบัติของประเทศยากจนที่ทุนน้อย แต่แรงงาน (ในชนบท) เหลือเฟือ สักยี่สิบปีต่อมา เมื่อพูดถึงการเป็นประเทศอุตสาหกรรมใหม่ เราเริ่มตั้งคำถามว่าเศรษฐกิจมันจะพัฒนาได้ก็ต่อเมื่อมีรัฐที่ทรงประสิทธิภาพ แต่อาจจะมีปัญหาเรื่องประชาธิปไตย

มาวันนี้คำอธิบายหลักของปัญหาเศรษฐกิจไทยก็คือ เรามีปัญหากับดักรายได้ปานกลางคือ เราต้องนำเอานวัตกรรมและเทคโนโลยีมาอัพเกรดอุตสาหกรรมในประเทศ และต้องพัฒนาคน คำอธิบายเช่นนี้ไม่ใช่ไม่ถูกเสียเลย แต่การมาถึงข้อสรุปข้อนี้ต้องตั้งคำถามมากมายว่าการที่เรามีปัญหาที่ไม่สามารถพัฒนาจากสังคมอุตสาหกรรมหนัก (3.0) มาสู่สังคมนวัตกรรมสร้างสรรค์ ฯลฯ ที่ดูดีอีกมากมายนั้น เป็นเพราะเราขาดเทคโนโลยีและขาดคุณภาพคนเท่านั้นหรือเปล่า หรือว่ารัฐเราไม่มีประสิทธิภาพจริงๆ และประชาธิปไตยบ้านเราก็ขาดคุณภาพด้วย

ความเชื่อว่ารัฐบาลทหาร มหาวิทยาลัย และธุรกิจขนาดใหญ่จะสามารถนำพาประเทศเข้าสู่โลกาภิวัตน์ได้ในนามของความร่วมมือ หรือการที่ประชาชนเชื่อฟังรัฐแบบนี้แล้วจะดีเองนั้นเป็นจริงหรือไม่

แน่นอนว่าคำถามในเชิงธรรมาภิบาลที่สำคัญก็คือจะทำให้รัฐมีประสิทธิภาพอย่างไรนั้น แม้ว่าประชาธิปไตยจะเป็นเพียงมิติเดียวในเงื่อนไขมากมายของประสิทธิภาพของรัฐ แต่ต้องถามคำถามให้ดีว่ารัฐทหารและราชการแบบไทยๆ มีประสิทธิภาพพอที่จะนำพาสังคมไปสู่ประเทศไทย 4.0 จริงๆ ไหม

ประสิทธิภาพของรัฐแน่นอนว่าย่อมไม่เท่ากับเรื่องประชาธิปไตย

แต่ประสิทธิภาพของรัฐก็แน่นอนว่าย่อมไม่เท่ากับเรื่องการเชื่อฟังรัฐโดยไม่สามารถตรวจสอบหรือตั้งคำถาม หรือเห็นต่างไปจากแนวทางของรัฐได้

ความใฝ่ฝันของประเทศไทย 4.0 นั้นย่อมป็นสิ่งดี ในฐานะแนวคิดการตลาดทางเศรษฐกิจ แต่เมื่อนำมาใช้ในเงื่อนไขที่เป็นอยู่ มันกลายเป็นปฏิบัติการทางจิตวิทยาของรัฐที่กลวงเปล่าและตลกร้ายยิ่ง

การพัฒนาคุณภาพของแรงงานถูกแยกขาดจากการพูดถึงค่าจ้างที่เป็นธรรม และเสรีภาพในการชุมนุมเรียกร้องของผู้ใช้แรงงาน ไม่ใช่ว่ากับดักรายได้ปานกลางไม่จริง แต่กับดักรายได้ปานกลางมันเชื่อมโยงกับเรื่องราวหรือกับดักอีกหลายเรื่อง เช่น กับดักรัฐประหาร กับดักประชาธิปไตยที่ไม่มีคุณภาพ กับดักการ(ไม่) ยอมรับความเท่าเทียมกันของผู้คน รวมไปถึงกับดักความไร้ประสิทธิภาพของรัฐ

สุดท้ายเราก็ฝันอยากเป็นสิงคโปร์ แต่เราไม่เคยเข้าไปดูจริงๆ ว่าแม้ว่าสิงคโปร์อาจจะมีปัญหาเรื่องความสมบูรณ์เรื่องประชาธิปไตยบางส่วน แต่อะไรคือเงื่อนไขให้เขามีประสิทธิภาพรัฐและธรรมาภิบาลที่สูงกว่าบ้านเรา เขาแก้ปัญหาด้วยผลงาน หรือปฏิบัติการทางจิตวิทยา

 

ภาพมติชนออนไลน์

ไทยแลนด์ 4.0 บางครั้งก็ตลกร้ายคล้ายๆ กับรายการทีวีแนวปรับรูปแบบธุรกิจรายย่อย ที่บ่อยครั้งให้ความสำคัญกับการปรับหีบห่อ เหมือนกับว่าถ้าเคลือบด้วยภาษาสวยๆ แล้วทุกอย่างจะดูดี อยากได้ไทยแลนด์ 4.0 แล้วใช้งบประมาณซื้ออาวุธมหาศาล แต่ไม่ได้ชี้ให้เห็นว่าอาวุธเหล่านั้นจะสร้างนวัตกรรมอะไรกับเศรษฐกิจไทย อันนี้จะตอบอย่างไร

ไทยแลนด์ 4.0 จะเกี่ยวข้องกับภาคส่วนของความมั่นคง (security sector) อย่างไร? เราจะพัฒนาประเทศผ่านการพัฒนาเทคโนโลยีและคนอย่างไร มันอาจจะต้องเริ่มที่การปฏิรูปมิติความมั่นคงเสียก่อน การตีความมิติความมั่นคงให้กว้างขึ้น การพูดถึงความมั่นคงของมนุษย์และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เป็นเรื่องสำคัญ การพัฒนาแบบไทยแลนด์ 4.0 มันจะเข้ามาพัฒนาเรื่องนี้อย่างไร งบประมาณที่ลงไปจะทำอย่างไร ไม่ใช่คิดแต่เรื่องการขายของให้ได้แพงๆ

หลักคิดง่ายๆ แค่ว่า โรดแมปทางการเมืองก็ยังไม่นิ่ง แต่ช่วงนี้เร่งพัฒนาเศรษฐกิจแบบ 4.0 ก่อน คงไม่น่าจะใช้ได้ในยุคโลกาภิวัตน์ การต้องการเชื่อมโยงกับโลกโดยแช่แข็งทางการเมือง และมุ่งเชื่อมโยงและเชื่อว่าจะได้ประโยชน์จากโลกทางเศรษฐกิจไม่น่าจะทำได้ง่ายๆ

คําตอบทั้งหมดอาจไม่ใช่เรื่องประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนอย่างเดียว อันนี้ก็ถูกอยู่ แต่แม้แค่รูปแบบประชาธิปไตยบ้านเราก็ยังไม่มีเลย

ที่สำคัญคือคำตอบเรื่องประสิทธิภาพรัฐเราก็ไม่มี หรือดันไปเชื่อว่าการใช้อำนาจเด็ดขาดแบบมาตรา 44 นั้นจะนำมาซึ่งประสิทธิภาพรัฐ นักรัฐศาสตร์ที่ไม่สมาทานเรื่องประชาธิปไตยทั้งหลายนั้นก็มีอยู่ไม่น้อย ที่พยายามหาข้ออ้างร้อยแปดที่จะตั้งคำถาม รวมไปถึงโค่นล้มและหาทางออกในเรื่องระบอบการปกครองที่ไม่ใช่ประชาธิปไตย

แต่การจะใช้สูตรสำเร็จแบบเดิมว่า ระเบียบทางการเมือง (political order) และความมั่นคงคือทางเลือกไปจากประชาธิปไตยนั้นกรุณากลับไปทบทวนตำราด่วน

เรื่องใหญ่คือ ประสิทธิภาพและสมรรถนะของรัฐ (state capacity) ที่ไม่ได้แปลว่ารัฐทหาร รัฐข้าราชการ หรือประชารัฐนั้นจะเท่ากับประสิทธิภาพและสมรรถนะของรัฐโดยทันที หรือรัฐเผด็จการ = รัฐที่ทรงประสิทธิภาพ (เว้นแต่จะมองว่าทรงประสิทธิภาพเพราะออกกฎหมายและบังคับใช้กฎหมายนั้นได้ แต่กฎหมายนั้นมีประโยชน์ต่อคนไหม ใครได้ประโยชน์ อันนี้ต้องถามด้วย)

รัฐจะมีประสิทธิภาพและสมรรถนะที่ดีได้ ย่อมต้องถูกตรวจสอบได้ และรับฟังความคิดเห็นของผู้คน รวมทั้งยอมรับความเป็นไปได้ที่หลากหลาย การอ้างถึงการเคารพกฎหมายนั้นไม่เท่ากับการเชื่อฟังรัฐบาล แต่ต้องถามด้วยว่ารัฐบาลนั้นมาจากประชาชนอย่างไร เพราะการเคารพกฎหมายนั้นมันไม่ใช่เรื่องแค่ว่าห้ามทำอะไร หรือรัฐเป็นคนออกคำสั่ง กฎหมาย

เรื่องราวของการประชาสัมพันธ์แนวคิดประเทศไทย 4.0 ก็ยังดำเนินต่อไปในฐานะยากล่อมประสาทที่เราเชื่อกันไปเองว่ามันต้องใช่แน่ๆ และเป็นความอีหลักอีเหลื่อของผู้นำเราที่ไม่กล้าปฏิเสธโลกาภิวัตน์ทางเศรษฐกิจ แต่ไม่กล้า ยอมรับเสรีนิยมประชาธิปไตยทางการเมือง และไม่สามารถพัฒนาประชาธิปไตยให้มีคุณภาพและรัฐมีสมรรถนะที่ีดีไปในเวลาเดียวกัน สุดท้ายก็กลายเป็นความพยายามจับแพะชนแกะประเด็นมากมายเพื่อทำให้ข้อเสนอดูน่าเชื่อถือ

เป็นที่น่าห่วงใยยิ่ง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image