เปิดเทอมใช้จ่ายสะพัดกว่า5หมื่นล. มากสุดรอบ8ปี ต้นเหตุค่าเทอม/ของแพง

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า คาดว่าการใช้จ่ายเงินช่วงเปิดเทอมที่จะถึงกลางเดือนพฤษภาคมนี้ จะมีมูลค่ากว่า 50,196 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.14% เมื่อเทียบกับปีก่อนที่มีมูลค่า 49,145 ล้านบาท ในแง่มูลค่าถือว่าสูงสุดรอบ 8 ปีตั้งแต่เริ่มสำรวจเมื่อปี 2553 สาเหตุผู้ปกครองซื้อเพิ่มจากรายได้ที่ดีขึ้น และราคาสินค้าแพงขึ้น อีกทั้งมองว่าการศึกษาเป็นสิ่งจำเป็นต่อบุตรหลาน

ในการสำรวจผู้ปกครอง 46.9% ระบุยังมีความสามารถใช้จ่ายค่าเปิดเทอมได้ เพราะมองว่า เศรษฐกิจเริ่มดีขึ้นแล้ว แม้ยังไม่ฟื้นตัวทุกภาคส่วน แต่ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อการเรียนของบุตรหลาน ยังคงใช้จ่ายด้านการเรียนอย่างเต็มที่ หรือมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยคนละ 12,295 บาท แต่เมื่อดูอัตราขยายตัวเพียง 2.14% ใกล้เคียงปีก่อน สะท้อนว่า ผู้ปกครองต้องใช้จ่ายอย่างระมัดระวังอยู่ แม้ผู้ปกครองที่ไม่มีเงินเพียงพอกับค่าใช้จ่ายช่วงเปิดเทอมมีถึง 53.1% ก็จะหาเงินด้วยการใช้จำนำทรัพย์สินมากสุด รองลงมาคือ กู้ยืมเงินทั้งในและนอกระบบ ที่น่าจับตาคือใช้เงินเบิกเงินสดจากบัตรเครดิต และเสี่ยงโชค มากขึ้น

สำหรับค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นในช่วงเปิดเทอม คือ ค่าเล่าเรียน ค่าหน่วยกิต 13,894.83 บาท เพิ่มขึ้น 41.3%, ค่าบำรุงโรงเรียนตามปกติ 2,133 บาท เพิ่มขึ้น 42.9%, ค่าบำรุงโรงเรียนกรณีเปลี่ยนโรงเรียน (แป๊ะเจี๊ยะ) 9,138.63 บาท เพิ่มขึ้น 47.1%, ค่าหนังสือ 1,642.34 บาท เพิ่มขึ้น 34.2%, ค่าอุปกรณ์การเรียน 1,928.79 บาท เพิ่มขึ้น 35.1%, ค่าเสื้อผ้า 1,267.20 บาท เพิ่มขึ้น 49%, ค่ารองเท้า ถุงเท้า 772.32 บาท เพิ่มขึ้น 46% และค่าบริการจัดการพิเศษ เช่น ค่าประกันชีวิต 1,685.63 บาท เพิ่มขึ้น 31.1%

นอกจากนี้ ผู้ปกครอง ยังเห็นว่า การเรียนพิเศษเพิ่มเติม แม้ผู้ปกครอง 46% เห็นว่าระบบการศึกษาของไทยดีขึ้น อีก 20% เห็นว่าไม่มีความแตกต่าง และ16.3% เห็นว่าแย่ลง ทำให้ได้คะแนนเฉลี่ยสำหรับการศึกษาไทย 7.58 คะแนน จาก คะแนนเต็ม 10 ทั้งที่กระทรวงศึกษาธิการเป็นหน่วยงานที่ได้งบประมาณสูงสุด แต่ประสิทธิภาพที่ออกมาถือว่าต่ำมาก ผู้ปกครองส่วนใหญ่ต้องการให้ปรับปรุงระบบการศึกษาของไทย โดยเฉพาะ ภาษาอังกฤษ ภาษาอาเซียน วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี คณิตศาสตร์ ส่วนเรื่องมาตรฐานคุณภาพการศึกษาส่วนใหญ่ 68.8% ยังเห็นว่าเท่าเทียมกัน และยังเห็นความสำคัญของโครงการเงินกู้ของรัฐบาลเพื่อการศึกษา(กยศ.)

Advertisement

นอกจากนั้น ผลสำรวจ พบว่า บุตรหลานเล่นอุปกรณ์อิเลคโทรนิคส์มากขึ้น ทั้ง สมาร์ทโฟน เครื่องเล่นเกมส์ที่บ้าน เกมส์ออนไลน์ แทปเล็ต เกมส์พกพอขนาดเล็ก และเกมส์ตู้ โดยใช้เวลาเฉลี่ยเกือบ 3 ชั่วโมง/วัน เสี่ยงต่อการเสียการเรียนมากขึ้น ผู้ปกครองจึงพยายามจำกัดเวลาในการเล่นแต่ละวันลดลง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image