สุจิตต์ วงษ์เทศ : น้ำป่ามากกว่าพันปี ที่เมืองอู่ทอง ความทรงจำจากสุพรรณบุรี 50 ปีมาแล้ว

ขุดค้นพื้นที่น้ำท่วมมากกว่าพันปีที่แล้ว โดยอาจารย์และนักศึกษาคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร เมื่อ พ.ศ. 2509 ฝึกงานขุดค้นเมืองอู่ทอง อ. อู่ทอง จ. สุพรรณบุรี (กลางขวา) ยืนยกมือเสมอเอว เสื้อสีคล้ำปล่อยชาย คือ ศ. ฌอง บวสเซอลิเยร์ ส่วนยืนคู่กันใส่ชุดข้าราชการสีกากี คือ ศ. หม่อมเจ้า สุภัทรดิศ ดิศกุล (ภาพเก่าของใครก็ไม่รู้ ได้จากผู้ไม่ประสงค์ออกนาม)

เมืองอู่ทอง (อ. อู่ทอง จ. สุพรรณบุรี) ร่วงโรยแล้วทรุดโทรมเสื่อมถอยเพราะภัยธรรมชาติ จากภูมิประเทศแวดล้อมที่นั่นเอง

เมื่ออ่านพบในรายงานการศึกษาดินตะกอนน้ำพารูปพัดฯ ทับถมท่วมเมืองอู่ทอง ของสำนักงานทรัพยากรธรณีเขต 3 (ปทุมธานี) กรมทรัพยากรธรณี พ.ศ. 2559 ผมเลยนึกขึ้นได้ว่าเคยได้ยินเรื่องภัยธรรมชาติราว 50 ปีมาแล้ว จากนักปราชญ์ฝรั่งเศส

นักโบราณคดีทางการไม่ว่าข้าราชการหรืออาจารย์มหาวิทยาลัยควรทบทวนคำอธิบายที่เคยมีมาก่อน ให้เข้ากันได้กับหลักฐานวิทยาศาสตร์ที่พบใหม่ เรื่องกำเนิดและความเสื่อมถอยของเมืองอู่ทอง

50 ปีมาแล้ว ที่เมืองอู่ทอง

Advertisement

ฌอง บวสเซอลิเยร์ (ศาสตราจารย์ในมหาวิทยาลัยซอร์บอนน์ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ผู้เชี่ยวชาญศิลปะโบราณคดีภาคเอเชียอาคเนย์) รับเชิญจากกรมศิลปากร ตั้งแต่ พ.ศ. 2507 เข้ามาศึกษาค้นคว้าและแนะนำแบบอย่างวิธีการสำรวจขุดค้นแก่เจ้าหน้าที่ซึ่งอยู่ประจำเมืองอู่ทอง

พ.ศ. 2509 หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล (ศาสตราจารย์ทางประวัติศาสตร์ศิลปะในประเทศไทย และคณบดีคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร) นำนักศึกษาคณะโบราณคดีฝึกงานขุดค้นที่เมืองอู่ทองกับบวสเซอลิเยร์

ขณะนั้นผมเป็นนักศึกษาสอบตกต้องเรียนซ้ำชั้นครั้งแรก (และมีอีกหลายครั้งอย่างไม่เบื่อ) อยู่ในกลุ่มออกฝึกงานขุดค้นด้วย ต้องขุดทุกวันตั้งแต่เช้าถึงเย็น ทำอยู่นานมาก รวมแล้วเป็นอาทิตย์ๆ

Advertisement

วันหนึ่ง บวสเซอลิเยร์ กับท่านสุภัทรดิศ (คอยแปลคำอธิบายภาษาฝรั่งเศสของบวสเซอลิเยร์) เมื่อตรวจงานและแนะนำการขุดค้น ได้บอกอย่างธรรมดาๆ ไม่มีอะไรตื่นเต้นว่าบริเวณที่ขุดอยู่นั้นเป็นพื้นที่น้ำป่าหลากท่วมนับพันๆ ปีมาแล้ว มีตะกอนทับถมหนาแน่น แสดงว่าเมืองอู่ทองเคยถูกน้ำท่วม

จำได้แค่นี้ คำอธิบายของบวสเซอลิเยร์มีมากกว่านี้ แต่จำได้แค่นี้ (เพื่อสนับสนุนงานของทรัพยากรธรณี) หลังจากนั้นมีผลสรุปทางวิชาการอย่างไร? ผมไม่รู้เรื่อง ไม่สนใจ ไม่ติดตามทั้งนั้น

จำได้ เพราะเจ็บมือที่ถือจอบขุดค้น

ความทรงจำแม่นยำมากๆ เรื่องนี้ เพราะผมกับเพื่อนที่ขุดค้นด้วยกันหลายคน  แอบนินทาว่าแล้วพามาขุดทำไมตรงน้ำท่วม? ดินตะกอนอัดแน่น ขุดลำบาก เจ็บมือ ยกจอบขุดทีไรจอบกระเด้ง เพราะดินแข็ง มือพอง แสบ

ขอย้ำว่าที่จำได้นี้ไม่มีอะไรเกี่ยวกับวิชาการด้านไหนเลย สาบานได้ ไม่ว่าประวัติศาสตร์, โบราณคดี, ธรณีวิทยา, มานุษยวิทยา ฯลฯ เพราะไม่มีสันดานฝักใฝ่ในวิชาการมาแต่ต้น ถึงได้สอบตกซ้ำซาก

แต่ที่จำได้ถึงวันนี้ เพราะตอนนั้นเหนื่อยและเจ็บมือที่จับจอบขุดด้วยมือเปล่า

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image