หมอล๊อต แจงช้างแก่งหางแมวเจอขวดน้ำกรด คิดว่าน้ำ งวงเกี่ยวราดลงหัวตัวเอง แผลเหวอะ ไม่ใช่ฝีมือคน

วันที่ 23 พฤษภาคม นายสัตวแพทย์(นสพ.)ภัทรพล มณีอ่อน นายสัตวแพทย์ประจำกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุืพืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) เปิดเผยว่า กรณีที่เคยมีช้างพัง อายุประมาณ 25-30 ปี ได้รับบาดเจ็บค่อนข้างสาหัส บริเวณหัว งวง ใบหู ถึงลำคอ เดินออกจากป่ารอยต่อ 5 จังหวัด ป่าแก่งหางแมว จ.จันทบุรี เพื่อขอความช่วยเหลือ โดยชาวบ้านในพื้นที่มาแจ้งกับตนให้เข้าไปช่วยเหลือนั้น เมื่อมีโอกาสได้เข้าไปใกล้ๆพบว่า บาดแผลน่าจะเกิดจากการถูกสารเคมีที่มีฤทธิ์ค่อนข้างรุนแรงสาดใส่

“ตอนแรกมีหลายคนตั้งข้อสงสัยว่า แผลดังกล่าว เกิดจากชาวบ้านในพื้นที่ ที่โกรธช้าง เพราะลงมาทำลายพืชผล จึงเอาน้ำกรดสาดใส่ แต่จากการตรวจลักษณะของบาดแผลแล้ว ทำให้ผมค่อนข้างมั่นใจ 100% ว่า แผลดังกล่าวนั้น ไม่ได้เกิดจากฝีมือคนสาดน้ำกรดใส่อย่างที่เข้าใจกันแน่นอน แต่น่าจะเกิดจากช่วงที่ช้างออกมาจากป่าเพื่อหาน้ำกิน โดยเดินเข้าไปในสวนยางพารา แล้วเจอขวดน้ำ ซึ่งตามสัญชาตญาณ ช้างคิดว่าเป็นน้ำดื่มได้จึงใช้งวงเกี่ยวขึ้นมาแล้ว สาดลงไปบนตัว โดยไม่รู้ว่า สิ่งใสๆในขวดไม่ใช่น้ำ แต่เป็นสารเคมี มีฤทธิ์กัดกร่อนค่อนข้างรุนแรง ที่มั่นใจว่าเป็นเช่นนี้ เพราะรอยแผลเกิดจากการสาดในระยะใกล้ชิดมาก ละอองของสารเคมีก็กระจายเป็นวงกว้าง ไหลจากด้านบนเป็นทางลงด้านล่าง หากเกิดจากมีคนสาด แผลจะไม่ไกล้ ขนาดนี้ เป็นอุบัติเหตุที่เกิดจากพฤติกรรมของช้างเอง”นสพ.ภัทรพล กล่าว

 

Advertisement

นสพ.ภัทรพล กล่าวว่า เบื้องต้นที่เห็นแผลนั้น ค่อนข้างเป็นกังวล เพราะแม้ว่า ผิวหนังช้าง แม้จะมีความหนามากคือหนาประมาณ 1 นิ้ว แต่จะตอบสนองต่อแสงแดดและสารเคมีค่อนข้างดี จะสังเกตว่า ช้างที่อยู่กลางแดดจะชอบเอาดินพ่นใส่ตัวเองตลอดเวลา เพื่อป้องกันการระคายเคืองจากแสงแดด กรณีนี้ พบว่าแผลค่อนข้างลึกและใหญ่หลายจุด ผิวหนังแดงพุพอง แสดงออกว่าเจ็บปวดอย่างเห็นได้ชัด

 

Advertisement

“ตอนแรกเราวางแผนกันว่า จะยิงยาสลบแล้ว ทำแผล โดยการทาครีมคลุมบาดแผลให้ แต่ยาคงไม่สามารถอยู่กับแผลได้นาน เพราะธรรมชาติของช้างนั้นจะต้องเอาน้ำ เอาดิน สาดใส่ตัวอยู่ตลอดเวลา จึงเปลี่ยนวิธีการรักษาเป็นการใช้ธรรมชาติบำบัด โดยเจ้าหน้าที่เราเข้าไปทำดินโป่ง และสร้างบ่อซิเมนต์แล้วเอาน้ำใส่เพิ่มขึ้นอีก 3-4 บ่อ เรียกว่าเป็นการสร้างห้องพยาบาล ให้ช้างรักษาตัวเอง คือ ดินโป่งนั้น มีเกลือแร่ที่ช่วยสมานแผลอยู่หลายชนิด ที่สำคัญคือ ช่วงฤดูฝน น้ำฝนคอยชะล้างบาดแผลให้แผลหายเร็วยิ่งขึ้น” นสพ.ภัทรพล กล่าว

นสพ.ภัทรพล กล่าวว่า กรณีช้างบ้านปกติ หากเป็นแผลขนาดนี้รักษาด้วยยาอาจจะต้องใช้เวลาถึง 8 เดือน แต่วิธีธรรมชาติบำบัดนั้นใช้เวลาประมาณ 2 เดือนเศษๆเท่านั้น ล่าสุดเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม พบว่า แผลของช้างพังตัวดังกล่าวดีขึ้นกว่าเดิมมาก ไม่ค่อยมีอาการเจ็บปวดเหมือนก่อนหน้านี้แล้ว

นสพ.ภัทระพล มณีอ่อน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image