ผลวิจัยชี้ ป.4 เริ่มมองเพศตรงข้าม เสี่ยงท้องไม่พร้อม

นพ.วิศิษฎ์ ตั้งนภากร อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า สบส.ได้สำรวจพฤติกรรมสุขภาพตามหลักสุขบัญญัติแห่งชาติ โดยมุ่งศึกษาในประเด็นการมีเพศสัมพันธ์ของเด็กอายุระหว่าง 10-14 ปี ตามหลักสุขบัญญัติข้อ 5 การมีเพศสัมพันธ์ที่เหมาะสม โดยใช้การสัมภาษณ์เชิงลึกกลุ่มเป้าหมายที่ท้องก่อนวัยอันควรในพื้นที่ 4 ภาค และสำรวจสภาวะสุขภาพของวัยรุ่นไทยในพื้นที่ 13 จังหวัด พบว่าปัญหาที่เกิดขึ้นมีสาเหตุสำคัญ 3 ส่วน คือ 1.พฤติกรรมของเด็กเอง ได้แก่ ความอยากรู้อยากลอง มีความรู้เรื่องการคุมกำเนิดที่ผิด ประมาทไม่ระวังตนเองเมื่อมีเพศสัมพันธ์ ขาดความรู้สึกสำนึกในคุณค่าตนเอง มีการตัดสินใจที่ผิดพลาด 2.ปัจจัยด้านครอบครัว ส่วนใหญ่เด็กที่มีปัญหาท้องก่อนวัยอันควรจะมีครอบครัวแตกแยก ยากจน ขาดการใส่ใจในการอบรมเลี้ยงดูและการรับฟังและการให้คำแนะนำ 3.ปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมทางสังคม ได้แก่ อิทธิพลของการเลือกคบเพื่อน อิทธิพลของสื่อที่ไม่เหมาะสม มีสถานที่ท่องเที่ยวแหล่งมั่วสุมในพื้นที่ทำให้เป็นจุดรวมตัวและพบเจอกัน

“จากการเก็บข้อมูลยังพบว่า กลุ่มตัวอย่างให้ข้อมูลว่าเริ่มมองหาเพศตรงข้ามตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 หรืออายุประมาณ 10-11 ปี โดยจะชอบไปกับรุ่นพี่ที่เกเรหรือกลุ่มหัวโจกของโรงเรียน บางคนอยากมีแฟนเพราะอยากรู้ อยากลอง เห็นเพื่อนมีเลยอยากมีบ้างเมื่อมีแล้วสามารถคุยอวดเพื่อนในกลุ่มได้ โดยใช้โทรศัพท์ เฟซบุคหรือไลน์เป็นช่องทางในการติดต่อกัน สำหรับผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการมีแฟน บางรายอาจทำให้การเรียนดีขึ้น แต่บางรายกลับแย่ลง ชวนกันออกเที่ยวกลางคืน ดื่มเหล้าและสารเสพติด นำมาซึ่งการมีเพศสัมพันธ์แบบไม่ป้องกันทำให้เกิดปัญหาท้องก่อนวัยตามมา โดยสาเหตุหลักคือ เด็กยังขาดทักษะในการจัดการตนเองเมื่ออยู่ในสถานการณ์เสี่ยง” นพ.วิศิษฎ์ กล่าวและว่า ได้มีการพัฒนารูปแบบการสื่อสารความเสี่ยงเพื่อการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการตั้งครรภ์ไม่พร้อมในวัยรุ่น ซึ่งเป็นการวิจัยเชิงปฏิบัติการและกระบวนการมีส่วนร่วม ใช้ระยะเวลาในการพัฒนา 3 ปี และจะนำรูปแบบการพัฒนาฯที่สำเร็จแล้ว ผลิตเป็นชุดเพื่อสนับสนุนการจัดการเรียนรู้ให้กับครูในโรงเรียนต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image