‘ปิยะสกล’ เตรียมแถลงนโยบายสธ. 5 มิ.ย. ชูลดความเหลื่อมล้ำการบริการ

นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร

เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม  นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) นพ.โสภณ เมฆธน  ปลัด สธ. พร้อมด้วยผู้บริหาร ร่วมพบสื่อมวลชนพร้อมแถลงข่าวการดำเนินการกระทรวงสาธารณสุขในช่วงที่ผ่านมา ว่า  ในวันที่ 5 มิถุนายน  สธ.จะเข้าพบนายกรัฐมนตรีเพื่อร่วมเสนอผลงานกระทรวงฯในรอบ 3 ปีที่ผ่านมาว่า มีอะไรและปฏิรูปอะไรบ้างที่เข้ากับไทยแลนด์ 4.0  โดยที่เห็นเด่นชัด คือ นโยบายลดความเหลื่อมล้ำที่ชัดเจนมาก ได้แก่ โครงการ “เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่” หรือ  ยูเซป (UCEP Coordination Center)   ซึ่งดำเนินการตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2560 ยึดหลักให้บริการผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตโรงพยาบาล(รพ.) ใกล้ที่สุด ทั้งรัฐและเอกชน ไม่ใช่มุ่งแค่รพ.เอกชนเท่านั้น

“นอกจากนี้ในเรื่องของไพรมารี่แคร์ ครัสเตอร์ หรือการดูแลปฐมภูมิ โดยผ่านทีมหมอครอบครัว 3 ทีมต่อต่อ 3 หมื่นคน ได้ดำเนินการตั้งแต่ปี 2559 มุ่งเน้นทำงานเชิงรุก ลงไปดูแลในระดับพื้นที่ ชุมชน  ส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคตั้งแต่ต้นทาง ลดความแออัดในรพ.ขนาดใหญ่ ไม่เพียงเท่านี้ ยังมีการพัฒนาระบบส่งต่อกรณี โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล(รพ.สต.) หรือโรงพยาบาลชุมชน(รพช.) ไม่สามารถดูแลได้จะมีการส่งต่อไปยังรพ.ขนาดใหญ่ ขณะเดียวกันเมื่อผู้ป่วยอาการดีขึ้นก็จะมีระบบส่งกลับมายังรพ.ระดับปฐมภูมิด้วย เพื่อลดเวลาการอยู่รพ.ขนาดใหญ่ๆ เป็นเวลานาน” นพ.ปิยะสกล กล่าว

นพ.ปิยะสกล กล่าวอีกว่า สำหรับเรื่องการใช้ยาในประเทศนั้น จากนโยบายรัฐบาลในการสนับสนุนผลงานวิจัยและผลิตภัณฑ์ของคนไทย ได้กำหนดให้การจัดซื้อยาคุณภาพ ที่ผลิตโดยคนไทยได้ร้อยละ 30  ด้วยวิธีการจัดซื้อจัดจ้างแบบพิเศษเฉพาะ เพื่อเป็นการสนับสนุนคนไทยในการวิจัยพัฒนา ซึ่งรวมทั้งเครื่องมือทางการแพทย์ เหมือนล่าสุดที่ทาง สธ.ร่วมมือกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ(สวทช.) ในการใช้เครื่องสแกนฟัน 3 มิติฝีมือคนไทย

นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข  กล่าวว่า สำหรับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 นั้นในส่วนของสธ.จะมีการนำไปผนวกเข้ากับการวางแผนงานระยะ 20 ปี ของ สธ. เพื่อทำให้ประเทศเกิดความยั่งยืนทางสุขภาพ ตาม 3 โมเดล คือ1. Inclusive Growth Engine การสร้างความเท่าเทียม  2.Productive Growth Engine การยกระดับและเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์  และ3.Green Growth Engine กลไกการขับเคลื่อนที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย เช่น มีการสร้างอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมูบ้าน(อสม.)4.0 ให้ อสม.มีความรู้เพิ่มมากขึ้นสามารถให้ความรู้ชาวบ้านได้ การทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการทางการแพทย์ที่ใกล้บ้านโดยใช้แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว และสร้างความมั่นคงทางสุขภาพเพื่อลดความเหลื่อมล้ำของประชาชน

Advertisement

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image