พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ : ข่าวอาชญากรรมกับโลกแห่งความเป็นจริง

แม้ว่าเราจะคุ้นชินกับข่าวสารข้อมูลต่างๆ แต่อาจจะมีการวิเคราะห์กันไม่มากนักว่าทำไมข่าวบางข่าวจึงปรากฏบนหน้าสื่อต่างๆ มากกว่าข่าวอื่นๆ

และสื่อที่มีลักษณะต่างกัน เช่น หนังสือพิมพ์ โทรทัศน์ และอินเตอร์เน็ตนั้นลงข่าวเหมือนกันหรือแตกต่างกัน

ที่สำคัญ ในกรณีของบางประเทศ สิ่งที่น่าสนใจเพิ่มเติมก็คือ หากบริบททางสังคมนั้นเป็นสังคมประชาธิปไตย หรือเผด็จการ หรือถ้าจะละเอียดลงไปกว่านั้นก็คือ บริบททางด้านเสรีภาพในการตีพิมพ์และเสนอความคิดเห็นนั้น มันจะเกี่ยวข้องกับลักษณะของเรื่องราวต่างๆ ของสื่อที่ปรากฏหรือไม่

ในกรณีหนึ่งที่มีงานวิจัยในหลายที่ในโลกก็คือความสัมพันธ์ระหว่างข่าวกับอาชญากรรม ดังที่จะขอเล่าสู่กันฟังในวันนี้

Advertisement

มีงานวิจัยชิ้นหนึ่งในสหรัฐอเมริกา มีประเด็นที่น่าสนใจในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างอาชญากรรมกับข่าว โดยศึกษาทั้งการปรากฏตัวของข่าวอาชญากรรมในสื่อหนังสือพิมพ์และโทรทัศน์ (สมัยนั้นยังไม่มีงานวิจัยในอินเตอร์เน็ต ซึ่งน่าสนใจมากในวันนี้ เพราะแม้ว่าส่วนหนึ่งนั้นอินเตอร์เน็ตอาจจะตีพิมพ์ข่าวจากการอ้างอิงข่าวโทรทัศน์และหนังสือพิมพ์ แต่ลักษณะการแพร่กระจายของอินเตอร์เน็ตนั้นเกิดจากผู้เสพข่าวส่งต่อเอง และจะมีเรื่องของการให้ความเห็นของผู้ส่งต่อ และการพูดคุยกันในเครือข่ายทางสังคมของตัวเอง ซึ่งทำให้ประเด็นสลับซับซ้อนไปกว่าเดิม ที่ข่าวนั้นอย่างน้อยก็ถูก “ผลิต” โดยมืออาชีพ (คือสื่อที่อ้างตัวว่าเป็นมืออาชีพ มองว่าเป็นการรายงานอย่างตรงไปตรงมาปราศจากอคติ)

กล่าวโดยสรุป มีการค้นพบกันมานานแล้วว่า สิ่งที่สื่อรายงานเป็นเรื่องของการสร้างความจริงอย่างหนึ่ง แม้ว่าอาจจะไม่ถึงกับเป็น “มายาคติ” ในความหมายของการโกหกหลอกลวงไปเสียทั้งหมด แต่สื่อก็อาจจะไม่ได้นำเสนอโลกของความเป็นจริงทั้งหมด

โดยเฉพาะในกรณีของข่าวอาชญากรรม เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ถกเถียงกันมานานว่า ข่าวอาชญากรรม แม้ว่าจะเกิดขึ้นจริง แต่มันไม่ใช่ตัวแทนของข่าวการกระทำผิดที่เกิดขึ้นในสังคมเสียทั้งหมด

Advertisement

อธิบายง่ายๆ ก็คือ ข่าวอาชญากรรมจะมีลักษณะข่าวแบบหนึ่ง ซึ่งไม่ได้สะท้อนโครงสร้างภาพรวมของการกระทำผิดกฎหมายที่เกิดขึ้นในสังคมทั้งหมด ดังนั้น จึงเกิดการวิจัยขึ้นว่า ข่าวอาชญากรรมสะท้อนความเป็นตัวแทนของข่าวการกระทำผิดกฎหมายที่เกิดขึ้นทั้งหมดของสังคมมากแค่ไหน

ในอีกด้านหนึ่งก็มีการค้นหาว่า ข่าวอาชญากรรมมีองค์ประกอบอะไรเป็นพิเศษ ถึงได้ถูกขับเน้นขึ้นมาเป็นข่าวหน้าหนึ่งได้เสมอ

ตัวอย่างข้อมูลที่เคยพบมาในสหรัฐอเมริกาบางพื้นที่ก็คือ อาชญากรรมจริงนั้น ตามสถิติมีการกระทำผิดมากมายที่ไม่ถูกรายงานเป็นข่าวอาชญากรรม ดังนั้น ในทางหนึ่งเราก็คงจะเข้าใจกันว่าอะไรคือสิ่งที่จะกลายเป็นข่าว เช่น มันกระทบถึงคนในวงกว้าง แต่จากการศึกษาวิจัยแล้วพบว่า ข่าวอาชญากรรมมีลักษณะที่จะต้องเร้าอารมณ์เป็นพิเศษ (เรียกว่า dramatic หรือที่เรียกอย่างไม่เป็นทางการในภาษาไทยว่าจะต้องมีลักษณะ “ดราม่า”) ซึ่งเรื่องนี้ทางหนึ่งอาจไม่ใช่เรื่องของข้อเท็จจริงทางภาววิสัย

แต่มันเกี่ยวเนื่องกับอคติของผู้ผลิตข่าวและความสนใจของผู้เสพข่าว ซึ่งก็ขึ้นกับว่าใครมีอำนาจ หรือเป็นกลุ่มเป็นเป้าหมายที่เสพข่าวนั้น

นั่นหมายความว่า คุณค่าของข่าวถูกคัดสรรจากผู้ผลิตข่าวและจากความนิยมของผู้เสพข่าวมากกว่าข้อมูลความจริงของสังคม เช่น แม้ว่าสถิติอาชญากรรมจะบ่งชี้ไปในทางหนึ่ง แต่ข่าวอาชญากรรมก็อาจจะวนเวียนอยู่กับเรื่องหลักๆ ไม่กี่เรื่อง โดยเฉพาะเรื่องของการฆาตกรรมและเรื่องของการทุจริตคอร์รัปชั่น โดยเฉพาะในกรณีของนักการเมืองอาจจะเป็นข่าวหรือได้รับความสนใจเป็นพิเศษ

นอกจากนี้ สื่อที่มีจุดยืนทางคุณค่าทางอุดมการณ์ที่ต่างกัน ก็อาจจะนำเสนอข่าวอาชญากรรมเดียวกันในลักษณะที่แตกต่างกันด้วย (เช่น มีโทน หรือเลือกข้างการนำเสนอข่าวที่แตกต่างกัน) แต่ในภาพรวมแล้วอารมณ์สำคัญของเรื่องราวในข่าวก็คือการรู้สึกเสียใจและเข้าข้างเหยื่อ

ตัวอย่างที่สำคัญก็คือ เมื่อมีการพูดถึงเยาวชนในข่าวอาชญากรรม ข่าวที่ถูกเลือกสรรก็จะเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับความรุนแรง ทั้งที่เรื่องนี้อาจไม่ใช่เรื่องที่เกิดขึ้นจริงในทุกพื้นที่ หรือไม่ได้มีการนำเสนอเรื่องราวอื่นๆ นอกเหนือไปจากเรื่องของผู้กระทำผิดและผู้ที่ตกเป็นเหยื่อ อาทิ อะไรคือที่มาที่ไปของสภาวะทางสังคม การเมือง และเศรษฐกิจของพื้นที่ที่อาชญากรรมนั้นเกิดขึ้น รวมทั้งมันเกี่ยวข้องกับการขาดแคลนโครงสร้างพื้นฐานที่รัฐจะเข้าไปเกี่ยวข้องในพื้นที่นั้นเป็นฐานเดิมมากน้อยแค่ไหน

นอกจากนี้ ในเรื่องของข่าวเยาวชนที่เกี่ยวกับอาชญากรรมนั้น ในอเมริกามีการค้นพบว่าคนสนใจเรื่องราวของผู้กระทำผิดมากกว่าเหยื่อ ในกรณีที่ทั้งสองฝ่ายเป็นเยาวชน รวมทั้งส่วนใหญ่จะเน้นรายงานข่าวเรื่องราวของผู้กระทำผิดที่มาจากคนผิวสีมากกว่าคนผิวขาว รวมทั้งการนำเสนอข่าวกระบวนการยุติธรรมที่เกี่ยวข้องกับเรื่องอาชญากรรมก็มีน้อยกว่าตัวข่าวว่าผู้กระทำผิดเป็นใคร

ข้อค้นพบที่สำคัญอีกประการหนึ่งก็คือ เมื่อพูดถึงข่าวอาชญากรรมที่เกี่ยวข้องกับเยาวชนแล้ว เรื่องราวสำคัญก็คือการนำเสนอข่าวที่ตัวผู้กระทำผิดมีลักษณะที่ไม่มีเหตุผล ใช้อารมณ์เป็นหลัก และมีการสร้างผลกระทบทางอารมณ์ให้เห็นว่าสิ่งสำคัญในบ้านเมืองก็คือความปลอดภัยและความมั่นคงทางสังคม

เงื่อนไขสำคัญในการทำให้ข่าวนั้นเร้าอารมณ์ก็คือเรื่องของการปลูกฝัง “ความ(หวาด)กลัว” ลงไปในสังคมและผู้อ่าน เพื่อให้เกิดลักษณะของการส่งสัญญาณว่าถึงเวลาแล้วที่จะต้องตื่นตัว (และตื่นกลัว) กับเรื่องเหล่านี้ ไม่ว่าจะเรื่องฆาตกรรม การล่วงละเมิดทางเพศ หรือการลักพาตัว

เรื่องสำคัญที่เกิดขึ้นในสังคมบ้านเราที่อาจจะต่างกับเรื่องราวในอเมริกาก็คือ เมื่อเรื่องราวของอาชญากรรมมันไปเกี่ยวข้องกับเรื่องราวของยาเสพติด และเดี๋ยวนี้เรื่องราวของข่าวจำนวนหนึ่งที่กลายเป็นข่าวในระดับประเทศนั้นอาจไม่จำเป็นจะต้องเกิดขึ้นในกรุงเทพฯ อีกต่อไป ไม่ว่าจะข่าวกรณีการค้าประเวณีที่แม่ฮ่องสอน หรือการฆาตกรรมที่ขอนแก่น เป็นต้น เรื่องนี้ทำให้เกิดความน่าสนใจว่าตัวพื้นที่เกิดเหตุนั้นไม่จำเป็นจะต้องเป็นเรื่องของกรุงเทพฯอีกต่อไป

กรณีการศึกษาข่าวอาชญากรรมอีกกรณีที่น่าสนใจก็คือกรณีของข่าวอาชญากรรมในอินเดีย ซึ่งมีงานวิจัยพบว่า ข่าวที่ถูกจัดว่าเป็นข่าวอาชญากรรมในอินเดียที่เป็นที่สนใจมากที่สุดคือข่าวการก่อการร้าย ข่าวเกี่ยวกับการทุจริตของข้าราชการ นักการเมือง และผู้มีอิทธิพล รวมทั้งข่าวความวุ่นวายอันเนื่องมาจากความขัดแย้ง การประท้วง และการจลาจลของชุมชนต่างๆ แม้ว่าสถิติอาชญากรรมจริงๆ นั้นการกระทำผิดที่เยอะที่สุดมาจากการกระทำผิดต่อทรัพย์สินมากกว่าการกระทำผิดต่อร่างกายและความวุ่นวายในบ้านเมือง

นอกจากนี้ ในอินเดียมีการตีพิมพ์ข่าวที่เกี่ยวข้องกับอาชญากรรมบนท้องถนนหรือคนเดินดินทั่วไปมากกว่าข่าวเกี่ยวกับอาชญากรรมของชนชั้นกลาง และข่าวนั้นตีพิมพ์เรื่องราวที่เกิดขึ้นในอาชญากรรมจริงในเรื่องของแม่ฆ่าทารก กรณีพิพาทเกี่ยวกับเงินสินสอด และการล่วงละเมิดทางเพศน้อยกว่าจำนวนอาชญากรรมในเรื่องนี้ที่เกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก

รวมทั้งกรณีอาชญากรรมที่เกิดจากคนชั้นสูงก็จะมีสัดส่วนน้อยกว่าอาชญากรรมที่พวกเขาทำจริง

ในงานวิจัยของบ้านเรามีข้อค้นพบที่น่าสนใจเพิ่มเติมอีกว่า กระบวนการนำเสนอข่าวอาชญากรรม โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับเยาวชนนั้น แม้ว่าคดียาเสพติดจะเป็นคดีที่มีมากที่สุดตามสถิติ แต่ข่าวที่ลงหน้าหนึ่งมากที่สุดคือข่าวความรุนแรงทางกายภาพมากกว่า นอกจากตัวเนื้อหาข่าวที่สำคัญในการสร้างวาทกรรมของภาพลักษณ์ของเยาวชนว่าเต็มไปด้วยความรุนแรงแล้ว การใช้ภาษาในการรายงานข่าวก็เป็นเรื่องที่สำคัญ นอกจากนั้นแล้วภาพลักษณ์ที่สำคัญของอาชญากรรมของเยาวชนก็คือการที่พวกเขานั้นรวมตัวกันเป็นแก๊ง และทำไปด้วยอารมณ์และความไม่พอใจ มากกว่าเรื่องของการวางแผนอย่างเป็นระบบ

ทั้งหมดนี้สิ่งที่ยังไม่มีคนตั้งคำถามต่อก็คือ ข่าวอาชญากรรมในสังคมเผด็จการกับข่าวอาชญากรรมในสังคมประชาธิปไตยจะมีการนำเสนอเหมือนกันหรือแตกต่างกันอย่างไร และผู้คนมีความคาดหวังต่อเรื่องราวต่างๆ อย่างไร

หมายเหตุโปรดพิจารณาเพิ่มเติมจาก J. Pollak and C. Kubrin. “Crime in the News: How Crimes, Offenders and Victims are Portrayed in the Media”. Journal of Criminal Justice and Popular Culture. 14(1). 2007 และ M.Jonjua. “Coverage of Crime in National Dailies: A Critical Analysis”. Abhinav National Monthly Refereed Journal of Research in Arts and Education. 3(8), 2014. และ P. Duanprakhon. Critical Discourse Analysis of News Headlines: A Case of Youth Crime in Thailand. MA Thesis, NIDA, 2012.

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image