‘คอลัมนิสต์’ใหม่ ใน’ลายพราง’ โดย:กล้า สมุทวณิช

ทันทีที่สำนักข่าวออนไลน์ชื่อใหม่ (โดยทีมงานเก่า) ประกาศรายชื่อ “คอลัมนิสต์” ที่จะมาร่วมหัวจมท้าย ก็เรียกเสียงฮือฮาจากผู้คนทุกสีทุกฝั่ง

เพราะหนึ่งในนั้นมี “อดีตนายกรัฐมนตรี” ผู้หนึ่งอยู่ในรายชื่อผู้เขียน เคียงข้างไปกับนักคิด นักเขียน และคอลัมนิสต์ชื่อดังไม่แบ่งสีและฝั่งฝ่าย

เป็นอดีตนายกฯผู้ซึ่งมีภาพลักษณ์ที่ให้ความรู้สึกแตกต่างกันในสายตาของผู้คน ซึ่งขึ้นกับมุมมองทางการเมืองว่าจะอยู่ฝ่ายฝั่งไหน

โดยมีข้อเท็จจริงหนึ่งที่อาจพอถือได้ว่ายุติแล้ว และเป็นข้อเท็จจริงที่เจ้าตัวก็มิได้ปฏิเสธด้วย นั่นคือ เขาเป็นนายกรัฐมนตรีผู้ออกคำสั่งให้ใช้ “อาวุธสงคราม” พร้อม “กระสุนจริง” เข้าสลายการชุมนุมของประชาชนในช่วงเดือนเมษายนและพฤษภาคม ปี 2553 เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์นั้นเกือบร้อยคนและบาดเจ็บอีกจำนวนมาก

Advertisement

หากแต่ “เหตุผลและความจำเป็น” ของการกระทำนั้นยังเป็นสิ่งที่ยังต้องถกเถียงต่อสู้กันต่อไปในกระบวนการยุติธรรม ซึ่งแม้ที่ผ่านมาเรื่องจะเงียบไปด้วยมีปัญหาในเชิงกระบวนพิจารณาว่าคดีนี้ควรขึ้นศาลไหน แต่ในอนาคตก็ยังไม่แน่ว่าเราจะได้เห็นการรื้อฟื้นชำระคดีนี้อีกหรือไม่ โดยศาลใด รวมถึงการต่อสู้ในเชิงประวัติศาสตร์ว่า ท้ายสุดแล้วเราจะบันทึกเรื่องนี้ไว้ให้ลูกหลานได้รับรู้อย่างไร

เช่นนี้เอง ทำให้เมื่ออดีตนายกฯผู้จะกลายมาเป็นคอลัมนิสต์ในวันนี้ได้รับ “เสียงตอบรับ” ที่ร้อนแรง บ้างก็ช่วยกันตั้งชื่อคอลัมน์ที่กองบรรณาธิการและเจ้าตัว “ขออุบไว้ก่อน แต่รับรองว่ามีเซอร์ไพรส์” ให้พวกเขากันอย่างเฮฮาแสบสันต์ อาทิ “เสียดาย คนตาย(ในปี 2553) ไม่ได้อ่าน” หรือ “Unfortunately, some people want to be a columnist.”

เสียงตอบรับใน “บทบาทใหม่” ของอดีตนายกฯผู้นั้น ทำให้นึกไปถึงประเด็นที่เคยถกเถียงกันเบาๆ เมื่อราวกลางเดือนที่แล้ว ในช่วงเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองคานส์ ที่ “เน็ตไอดอล” ชื่อดังผู้โดดเด่นเป็นที่จดจำด้วยรอยสักที่มีเอกลักษณ์ ได้มีโอกาสไปเดินบนพรมแดงที่ทรงเกียรติและเป็นตำนานแห่งเมือง
คานส์ ในฐานะของ “นักแสดง” ภาพยนตร์ต่างประเทศที่ได้รับเลือกให้เข้าฉายอย่างเป็นทางการ

Advertisement

นักแสดงและเน็ตไอดอลท่านนั้น คือ คุณเก่ง ลายพราง ผู้รับบทบาทในภาพยนตร์เรื่อง A Prayer Before Dawn โดยผู้กำกับชาวฝรั่งเศส Jean-Stephane Sauvaire

ประวัติของคุณเก่ง ลายพราง นับว่าไม่ธรรมดา เนื่องจากเขาเป็นเน็ตไอดอล “สายมืด” ที่เคยถูกจำคุกในคดีพยายามฆ่าและปล้นทรัพย์อยู่หลายปี ปัจจุบันก็ยังถูกกล่าวหาในคดีเกี่ยวข้องกับยาเสพติดและอาวุธปืนที่ยังต้องต่อสู้กันอยู่ในกระบวนการยุติธรรม

การ “เดินพรมแดง” และการยอมรับจากสื่อและสังคม ก็เรียกเสียงไม่เห็นด้วยจากผู้คนอีกส่วนหนึ่งที่เห็นว่า สังคมเราจะให้การยอมรับกับคนเพียงเพราะเขาไปสร้าง “ชื่อเสียง” ระดับโลก โดยไม่สนใจภูมิหลัง ความเป็นไป หรือตัวตนที่ผ่านมาของเขาเลยหรือ โดยเฉพาะกับคนกลุ่มหนึ่งที่รู้สึก “รับไม่ได้” ตั้งแต่ความเป็น “เน็ตไอดอล” ของเขาแล้ว

เรื่องของอดีตนายกรัฐมนตรีผู้นั้น กับเน็ตไอดอลชื่อดัง จึงมีจุดเชื่อมต่อกันเช่นนี้เอง คือปัญหาว่าเราสามารถแยกแยะ “ตัวตน” และสิ่งที่เขาเคยทำ กับบทบาทใหม่ หรือสิ่งที่เขาได้ทำ หรือจะทำต่อไปได้หรือไม่ อย่างไร

ความแตกต่างประการหนึ่งสำหรับเรื่องนี้ ก็คือ คุณเก่ง ลายพราง นั้น แม้จะเคยทำอะไรที่เป็นความผิดใดๆ ในอดีตที่ผ่านมา แต่เขาก็ได้ผ่านกระบวนการยุติธรรมจนถึงที่สุดและได้รับโทษตามกฎหมายจนพ้นโทษออกมาแล้ว ส่วนคดีใหม่ก็ต้องต่อสู้ชำระความกันไป ซึ่งตัวเขาเองก็ไม่เคยปฏิเสธในสิ่งที่เขาเป็นหรือเคยเป็น
ส่วนอดีตนายกฯผู้นั้น อย่างที่ได้กล่าวไปแล้วว่า เขายอมรับเพียง “ข้อเท็จจริง” ของการกระทำ แต่ต่อสู้ตลอดมาในเรื่องความรับผิด ปกป้องตัวเองว่าสิ่งที่เขาได้กระทำไปนั้นสมควรแก่กรณีและความจำเป็นในสถานการณ์ตามความคิดความเชื่อของเขาแล้ว

และที่สำคัญ คือเขาไม่เคยผ่านการพิสูจน์ใดๆ จากกระบวนการยุติธรรมที่มีอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งถ้าใครมองแต่ในเชิงหลักการเท่านั้น คงต้องถือว่าเขาคือ “ผู้บริสุทธิ์” ไปจนกว่าจะมีการตัดสินจากคำพิพากษาอันถึงที่สุดโดยกระบวนการยุติธรรมที่เชื่อถือได้ ที่อาจจะมีหรือไม่ก็ไม่อาจทราบได้ในอนาคต

หากสำหรับคนส่วนหนึ่งแล้ว แม้กฎหมายยังไม่สามารถเอาผิดได้ แต่การสั่งการดังกล่าวและผลของมันก็จะติดตามตัวเขาไปดังเงาที่จะปรากฏขึ้นเสมอเมื่อออกมาสู่ที่แจ้งแสงสว่าง เช่นการมาเป็น “คอลัมนิสต์” หน้าใหม่ในคราวนี้

อาจกล่าวได้ว่า คนหนึ่งนั้น “โปร่งใส” ในโลกมืด ส่วนอีกคนหนึ่งบริสุทธิ์อยู่ใต้ลายพรางแห่งความคลุมเครือของกระบวนการยุติธรรมและประวัติศาสตร์ที่ยังไม่ชำระ

มีผู้ให้เหตุผลไว้น่าสนใจว่า ในฐานะของนักแสดง สิ่งที่ควรเพ่งเล็ง คือ ทักษะความสามารถในการแสดง ส่วนนักเขียนหรือคอลัมนิสต์นั้น สิ่งที่เป็นสาระสำคัญคือผลงานของเขา ได้แก่งานเขียนที่กลั่นออกมาจากสมอง จิตใจ และตัวตนของผู้เขียนนั้น

ดังนั้น ในฐานะนักแสดงแล้ว “ตัวตน” ที่แท้จริงหรือสิ่งที่เขาเคยทำมา อาจจะไม่ใช่เรื่องสำคัญอะไรเลย หากเขาสามารถทำหน้าที่ในการ “แสดงเป็นคนอื่น” ได้อย่างแนบเนียนเป็นตัวจริง

ซึ่งในแง่นี้ “ตัวตน” ที่ผ่านมาของคุณเก่งนั้นก็ช่วยสนับสนุนส่งเสริม “บทบาท” ที่เขาได้รับเป็นอย่างดี เนื่องจากเขาต้องรับบทเป็นนักโทษในภาพยนตร์ที่สร้างมาจากเค้ารอยจากเรื่องจริงของชาวอังกฤษที่เคยมาติดคุกอยู่ด้วยคดียาเสพติดในเรือนจำของประเทศไทย และได้รับการฝึกฝนมวยไทยจากที่นั่น

ดังนั้น “บทบาทใหม่” ที่เขาได้รับก็คือตัวตนและอดีตส่วนหนึ่งของเขานั่นเอง

ส่วนผู้ที่จะมาเป็น “คอลัมนิสต์” บอกเล่าเปิดเผย “อีกด้านของอดีตนายกรัฐมนตรีที่คนไม่เคยรู้” ตามที่สำนักข่าวนั้นโปรยเรียกแขกไว้ ก็คงจะเป็น “ตัวตน” ของคนผู้นั้น ซึ่งกองบรรณาธิการหรือผู้บริหารสำนักข่าวออนไลน์ที่เชิญมาเขียนเลือกแล้ว และประสงค์จะได้มุมมองจากตัวตนของบุคคลเช่นนั้นมาถ่ายทอดเป็นตัวอักษรให้เราได้อ่านกัน

เราคงจะไปกะเกณฑ์อะไรให้สังคมจะต้องมี “ท่าที” อย่างไรต่อเรื่องนี้คงไม่ได้ นอกจากตัวเราเองอาจจะต้องประเมินด้วยตัวเองว่า เราให้น้ำหนักกับสิ่งที่เขาได้ทำมา กับสิ่งที่เขาจะทำต่อไปแค่ไหน

กรณีของคุณเก่ง ลายพราง นั้น ก็มีทั้งมุมมองของคนที่เห็นว่า ความผิดที่เขาเคยทำนั้นเป็นความผิดอาญาที่เกี่ยวข้องกับชีวิตและทรัพย์สินของคนอื่น ส่วนความผิดที่เขาถูกกล่าวหาพัวพันนั้นก็เป็นเรื่องยาเสพติดและอาวุธ อันเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับความสงบเรียบร้อยและความเป็นอยู่ร่วมกันโดยปลอดภัยของสังคม ดังนั้น เราจะยอมให้คนที่มีประวัติเช่นนี้เป็น “บุคคลที่มีชื่อเสียง” เป็นที่ยอมรับในสังคม เป็น “เน็ตไอดอล” ที่เชื่อกันว่ามีผลต่อการชี้นำความคิดของผู้คน ก็เท่ากับว่าสังคมไม่ให้น้ำหนักอะไรเลยกับการกระทำที่รบกวนสังคมที่ผ่านมาของบุคคลคนหนึ่ง

กับมุมมองว่านักแสดงก็คือนักแสดง เราควรเพ่งเล็งที่ผลงานการแสดงของเขา มิใช่ตัวตนหรือสิ่งที่เขาเป็นหรือเคยเป็น ทำหรือเคยทำ อีกทั้งความผิดนานาที่เขาเคยทำนั้น ก็ได้รับการเอาความชำระโทษตามกฎหมาย หรือกำลังจะโดนดำเนินคดีต่อไปอยู่แล้ว ก็ควรจะถือยุติจบได้แล้วแค่นั้น สิ่งที่เขาเคยทำมา ควรมี “น้ำหนัก” น้อยกว่าการจะพิจารณาในสิ่งที่เขาจะกระทำต่อไป

เรื่องของอดีตนายกรัฐมนตรีอนาคตคอลัมนิสต์ ก็มีมุมมองว่าสิ่งที่เป็นเงาพรางตามหลังเขานั้น เป็นสิ่งที่แยกแยะออกจากบทบาทใหม่นี้ได้ คนที่เห็นว่า “หากตัดเรื่องการเมืองออกไป… ก็อยากจะเห็นตัวตนความคิดของเขา” หรือมองในแง่ว่า เขายังเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่จนกว่าจะมีคำพิพากษา กระทั่งกับคนอีกฝั่งอีกฝ่ายที่มองเหตุการณ์ในปี 2553 ว่าเป็นเรื่องของการจลาจลเผาบ้านเผาเมือง สิ่งที่อดีตนายกฯผู้นั้นกระทำคือ สิ่งที่ชอบแล้วสมควรแล้ว ก็มีอยู่ไม่น้อย

ในทางตรงกันข้าม คนส่วนหนึ่งที่ยังไม่ลืมสิ่งที่เขาได้กระทำไปในตอนนั้น มีส่วนร่วมในเหตุการณ์และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ที่ยังมี “บาดแผล” อยู่กับเหตุการณ์ และผู้คนที่นิยามช่วงเวลาดังกล่าวในประวัติศาสตร์ว่า เป็นการสังหารหมู่กลางเมืองโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐ ก็ย่อมที่จะมีมุมมองต่อเรื่องนี้ที่แตกต่างออกไป

“น้ำหนัก” ของการกระทำโดยผู้ซึ่งออกคำสั่งให้ใช้อาวุธสงครามและกระสุนจริงยิงใส่ประชาชนผู้มาชุมนุม ไม่ว่าด้วยเหตุหรือข้ออ้างใด ไม่ว่าเหตุหรือข้ออ้างนั้นจะมีจริงหรือไม่นั้น มีน้ำหนักมากกว่าหรือน้อยกว่าการที่เราจะยอมรับให้เขามาเป็นคอลัมนิสต์เขียนอะไรต่อมิอะไรที่อาจจะไม่เกี่ยวกับเหตุการณ์หรือประเด็นการเมืองอื่นๆ ให้เราอ่านได้กัน อันจะอ่านได้อย่างปลอดโปร่งใจหรือไม่ ก็เป็นเรื่องที่ต่างคนต่างต้องชั่งน้ำหนักกันเอง

หาก “สำนักข่าว” นั้นคงจะ “ให้น้ำหนัก” ไปแล้วว่า สิ่งที่บุคคลผู้นั้นได้กระทำไปในเดือนเมษาถึงพฤษภา 53 นั้นมีน้ำหนัก “เบากว่า” การที่จะได้บุคคลผู้มีชื่อเสียงผู้นี้มาเป็นคอลัมนิสต์ในสังกัด และคงเบาจนพวกเขาสามารถวางข้อกังขาของคนกลุ่มหนึ่งลงได้อย่างไม่ตะขิดตะขวงใจ

แต่ก็จะมีคำถามที่หลีกเลี่ยงได้ยาก ยิงย้อนกลับไปสู่ “นักคิด นักเขียน” ที่นิยามตัวเองว่าเป็น “ฝ่ายประชาธิปไตย” ที่จะร่วมเขียนให้สำนักข่าวนั้น

นักคิดนักเขียนที่เห็นว่าคนตายมีใบหน้า คนถูกฆ่ามีชีวิต นักคิดนักเขียนที่เชื่อในความเสมอภาค บรรดาผู้ที่แสดงจุดยืนเสมอมาว่า เหตุการณ์ในวันนั้นคือการสังหารหมู่กลางเมือง ที่ผู้สั่งการควรต้องรับผิดชอบในทางกฎหมาย ในทางการเมือง และต่อการบันทึกในประวัติศาสตร์

พวกเขาจะให้ “น้ำหนัก” เช่นไรกับการที่จะได้เผยแพร่ผลงานอยู่ใต้เครื่องหมายการค้าของสำนักข่าวชื่อใหม่ ร่วมกับบุคคลผู้ซึ่งท่านเคยเรียกร้องความรับผิดจากเขาอยู่เสมอมาตลอดระยะเวลากว่า 7 ปี

หรืออาจจะมองว่า นี่คือความเป็น “มืออาชีพ” ที่จะต้องแยกแยะออกจากกัน และเพราะ “เชื่อในความหลากหลาย ชอบในความแตกต่าง และรักในความเชี่ยวชาญ” ก็ควรปล่อยให้เป็นหน้าที่ซึ่งผู้อ่านจะต้องเลือกคิดและเลือกคลิกได้เองว่าจะอ่านจะเสพรับมุมมองจากใคร

นักเขียน นักคิด ผู้ที่จะกลายเป็น “คอลัมนิสต์ร่วมสำนัก” กับอดีตนายกฯผู้นั้น คงต้องตอบคำถามนี้กับตัวเองและผู้อ่านของพวกเขา โดยจะตอบดังๆ ก็ได้ หรือตอบในใจก็ไม่ว่ากัน

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image