วัส ติงสมิตร เขียนบทความ เหตุผลที่ไม่ควรรีเซตกสม.-ทางออกที่ดีกว่าการรีเซต

นายวัส ติงสมิตร ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) โพสต์ข้อความทางเฟซบุ๊กส่วนตัว หัวข้อบทความ แนวคิดการรีเซตคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) โดยระบุว่า เดิมคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ซึ่งมีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ มีความเห็นว่า เมื่อกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ออกมาใช้บังคับ ให้ กสม.พ้นจากจากตำแหน่งเฉพาะรายที่ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญใหม่ แต่ต่อมา กรธ.กลับมีความเห็นว่า ให้รีเซต กสม. นับแต่วันที่ พ.ร.ป. กสม.ใช้บังคับ เหตุใดจึงเป็นเช่นนี้ และร่าง พ.ร.ป. กสม.ของ กรธ.ชอบด้วยมาตรฐานสากลตามที่กล่าวอ้างหรือไม่ เป็นเรื่องที่ควรแก่การพิจารณาเป็นอย่างยิ่ง

ความเป็นมา

ตามร่าง พ.ร.ป.กสม.ของ กรธ. ฉบับวันที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๐ ให้ประธาน กสม. และ กสม. ซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในวันก่อนวันที่ พ.ร.ป.กสม. ใช้บังคับ บรรดาที่มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญใหม่ ยังคงดำรงตำแหน่งต่อไปจนกว่าจะครบวาระตามที่กำหนดในกฎหมายเดิม โดยให้ยังคงได้รับเงินเดือน เงินประจำตำแหน่ง และประโยชน์ตอบแทนอื่นตามที่ได้รับอยู่ในวันก่อนที่ พ.ร.ป.กสม.ใช้บังคับไปพลางก่อนตามที่ กสม.เสนอร่างให้ กรธ.พิจารณา (มาตรา ๖๐) แต่ตามร่าง พ.ร.ป.กสม.ของ กรธ.ฉบับวันที่ ๗ มิถุนายน ๒๕๖๐ ปรากฏว่า กรธ.เปลี่ยนใจ โดยให้ประธาน กสม. และ กสม. ซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ก่อนวันที่ พ.ร.ป.กสม.ใช้บังคับ พ้นจากตำแหน่งนับแต่วันที่ พ.ร.ป.กสม.ใช้บังคับ (รีเซต) แต่ให้ยังคงปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่า กสม.ที่แต่งตั้งขึ้นใหม่จะเข้ารับหน้าที่ (มาตรา ๖๐ วรรคหนึ่ง)  ให้ผู้ซึ่งต้องปฏิบัติหน้าที่ต่อไปดังกล่าวมีสิทธิได้รับเงินเดือนและค่าตอบแทนอื่นตามที่ได้รับอยู่ในวันก่อนวันที่ พ.ร.ป.กสม.ใช้บังคับ ในกรณีที่ดำรงตำแหน่งมาไม่น้อยกว่า ๑ ปี ให้มีสิทธิได้รับบำเหน็จตอบแทนโดยให้ถือว่าเป็นการพ้นจากตำแหน่งเพราะลาออก (มาตรา ๖๐ วรรคสอง) นับเป็นเรื่องประหลาดอย่างยิ่ง

เหตุผลในการรีเซต

Advertisement

ในร่าง พ.ร.ป.กสม.ของ กรธ.ฉบับวันที่ ๗ มิถุนายน ๒๕๖๐ ที่ให้ กสม.แสดงความเห็นส่งไปภายในก่อนเที่ยงวันที่ ๙ มิถุนายน ๒๕๖๐ ไม่ได้ให้เหตุผลใดๆ ที่ กรธ.เปลี่ยนใจเป็นให้รีเซต กสม. เท่าที่ติดตามการให้สัมภาษณ์ของประธาน กรธ.ได้ความว่า รีเซต กสม. เพื่อให้สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชนสากลที่ประเทศไทยถูกทักท้วงว่ามีปัญหาว่าด้วยกระบวนการได้มาซึ่งไม่สอดคล้องกับหลักการว่าด้วยสถานะและหน้าที่ของสถาบันแห่งชาติเพื่อการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน (หรือหลักการปารีส) ซึ่งตรงกับเหตุผลในร่าง พ.ร.ป.กสม.ฉบับวันที่ ๗ มิถุนายน ๒๕๖๐ ของ กรธ. ที่ระบุว่า วิธีการได้มาซึ่ง กสม.ชุดปัจจุบันยังไม่สอดคล้องกับหลักการสากลเกี่ยวกับกระบวนการได้มาซึ่ง กสม. ที่ต้องมาจากความหลากหลายของภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง นับเป็นเหตุผลที่ไม่ถูกต้อง เพราะหลักการปารีสไม่ได้กำหนดกระบวนการสรรหาว่าต้องมีกระบวนการเช่นนั้น
เนื้อหาของร่าง พ.ร.ป.กสม.ที่เกี่ยวข้อง

ครั้นพิจารณาร่าง พ.ร.ป.กสม.ของ กรธ.ฉบับวันที่ ๗ มิถุนายน ๒๕๖๐ พบว่า กรธ. กำหนดให้ กสม.ประกอบด้วยกรรมการจำนวน ๗ คน ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตามคำแนะนำของวุฒิสภา จากผู้เป็นกลางทางการเมือง และมีความรู้และประสบการณ์ด้านการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนเป็นที่ประจักษ์ ในด้านดังต่อไปนี้ อย่างน้อยด้านละหนึ่งคนแต่จะเกินด้านละสองคนมิได้ คือ

(๑) มีประสบการณ์ในการทำงานด้านสิทธิมนุษยชนต่อเนื่องกันเป็นเวลาไม่น้อยกว่า ๑๐ ปี
(๒) มีความรู้ความเชี่ยวชาญในการสอนหรือทำงานวิจัยเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนใระดับอุดมศึกษามาแล้วเป็นเวลาไม่น้อยกว่า ๕ ปี
(๓) มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านกฎหมายเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนทั้งภายในประเทศและต่างประเทศที่จะยังประโยชน์ต่อการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการ
(๔) มีความรู้และประสบการณ์ด้านการบริหารงานภาครัฐที่เกี่ยวกับการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนมาแล้วเป็นเวลาไม่น้อยกว่า ๕ ปี
(๕) มีความรู้และประสบการณ์ด้านปรัชญา วัฒนธรรม ประเพณี และวิถีชีวิตของไทยเป็นที่ประจักษ์ที่จะยังประโยชน์ในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนมาแล้วเป็นเวลาไม่น้อยกว่า ๑๐ ปี (ร่างมาตรา ๘)

Advertisement

หลักการปารีส

ผู้เขียนได้ตรวจดูแล้ว กฎเกณฑ์ตามร่าง พ.ร.ป.กสม. ของ กรธ.ดังกล่าวไม่มีปรากฏในหลักการว่าด้วยสถานะและหน้าที่ของสถาบันแห่งชาติเพื่อการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน (หรือหลักการปารีส) หลักการปารีสกำหนดแต่เพียงว่า การกำหนดองค์ประกอบของสถาบันแห่งชาติควรประกอบด้วยสมาชิกของสถาบัน ไม่ว่าจะด้วยวิธีการเลือกตั้งหรือด้วยวิธีการอื่นใด จะต้องเป็นกระบวนการที่มีหลักประกันที่ทำให้มั่นใจได้ว่าสถาบันจะเป็นตัวแทนที่หลากหลายของพลังทางสังคม (หรือภาคประชาสังคม) ที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อำนาจที่จะทำให้สถาบันได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีกับตัวแทนของกลุ่มต่าง ๆ หรือโดยผ่านการเข้าร่วมของตัวแทนกลุ่มต่าง ๆ ดังนี้ (ก) องค์กรเอกชนที่ทำงานเกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษยชนและขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติ สหภาพแรงงาน องค์กรด้านสังคมและวิชาชีพต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น สมาคมทนายความ แพทย์ สื่อมวลชน และนักวิทยาศาสตร์ที่มีชื่อเสียง (ข) กระแสแนวคิดด้านปรัชญาหรือศาสนา (ค) มหาวิทยาลัยและผู้เชี่ยวชาญที่มีคุณสมบัติเหมาะสม (ง) รัฐสภา (๕) หน่วยงานต่างๆ ของรัฐ (หากรวมข้อนี้ ผู้แทนหน่วยงานภาครัฐควรมีส่วนร่วมในการพิจารณาที่มีหน้าที่เพียงการให้คำแนะนำปรึกษาเท่านั้น)

การที่ กรธ.กำหนดไว้ในร่าง พ.ร.ป.กสม.ดังกล่าว จึงเป็นการกำหนดที่เกินเลยจากหลักการปารีสค่อนข้างมาก ไม่ยืดหยุ่น และสรรหามาได้ยาก  รัฐธรรมนูญ ๒๕๖๐ ที่ กรธ.สร้างมาได้กำหนดคุณสมบัติของคณะกรรมการสรรหาไว้ระดับเทพแล้ว ยังกำหนดคุณสมบัติของบุคคลที่จะได้รับการสรรหามาเป็น กสม.ให้เกินเลยไปจากมาตรฐานสากล ทั้งจะกลายเป็นปัญหายุ่งยากในการสรรหาทั่วไปและสรรหาซ่อมในอนาคตต่อไป
ผู้เขียนไม่รู้ว่า กรธ.คิดร่างดังกล่าวมาได้อย่างไร

การรีเซตองค์กรอิสระกับเจตนารมณ์ในการปฏิรูปประเทศ

ผู้เขียนเห็นว่าองค์กรผู้เริ่มแสดงท่าทีต่อการรีเซตองค์กรอิสระมีอยู่ ๒ ฝ่าย ฝ่ายแรกคือ กมธ.วิสามัญของ สนช.เสียงข้างมากให้รีเซต กกต. และฝ่ายที่สองคือประธาน กรธ.มีท่าทีจะรีเซต กสม.

กมธ.ของ สนช.ให้เหตุผลในการรีเซต กกต.ว่า  เป็นการตัดสินใจบนพื้นฐานและเจตนารมณ์ที่จะทำให้เกิดการปฏิรูปประเทศ ไม่ได้คำนึงถึงตัวบุคคลผู้ดำรงตำแหน่ง กกต.นั้น ผู้เขียนไม่เห็นด้วย เพราะคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของบุคคลผู้จะมาดำรงตำแหน่งใด และกระบวนการสรรหาตามที่บัญญัติไว้รัฐธรรมนูญหรือกฎหมายไม่สามารถและไม่มีหลักประกันที่จะทำให้ได้บุคคลตามที่ต้องการได้ เริ่มตั้งแต่กระบวนได้มาซึ่งคณะกรรมการสรรหา และการสรรหาของคณะกรรมการสรรหา ซึ่งคล้ายเป็นสิ่งมีชีวิต มีความแปรผัน หากกระบวนการสรรหาในระบบกฎหมายไทยได้ผลตามที่มุ่งหวัง ประเทศไทยคงไม่ต้องย่ำอยู่กับที่หรือถอยหลังเข้าคลองครั้งแล้วครั้งเล่าดังที่ปรากฏมาตลอด ๘๐ กว่าปีที่ผ่านมา
ส่วนความเห็นของประธาน กรธ. ในการรีเซต กสม.ที่ว่า เพื่อให้สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชนสากลที่ประเทศไทยถูกทักท้วงว่ามีปัญหาว่าด้วยกระบวนการได้มาซึ่งไม่สอดคล้องกับหลักการว่าด้วยสถานะและหน้าที่ของสถาบันแห่งชาติเพื่อการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน (หรือหลักการปารีส) ก็ไม่ถูกต้อง เพราะหลักการปารีสไม่ได้กำหนดกระบวนการสรรหาว่าต้องมีผู้แทนองค์กรเอกชนด้านสิทธิมนุษยชนเท่านั้นเข้าร่วมในการสรรหาด้วย

ความเห็นของบุคคลทั้งสองฝ่ายดังกล่าวจึงไม่ตรงตามเจตนารมณ์ในการปฏิรูปประเทศ

การทำงานของ กสม.มีปัญหา หรือที่มาของ กสม.ชุดปัจจุบันขาดความหลากหลายหรือไม่
มีบุคคลบางคนเห็นว่า การรีเซต กสม.มีเหตุผล โดยอ้างว่า”ต้องยอมรับว่าปัจจุบันการทำงานของ กสม.มีปัญหาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะที่มาของ กสม.ชุดปัจจุบันขาดความหลากหลาย” ผู้เขียนเห็นว่า ไม่ถูกต้องทั้งในข้อกฎหมายและข้อเท็จจริง เพราะ กสม.ชุดปัจจุบัน (ชุดที่ ๓) มีผลงานออกมาทั้งระดับภายในประเทศและระหว่างประเทศมากขึ้นและต่อเนื่องอย่างเห็นได้ชัด ส่วนองค์ประกอบของ กสม.ชุดปัจจุบันก็นับว่ามีความหลากหลาย มีทั้งอดีตข้าราชการในงานที่เกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษยชน ผู้พิพากษา นักจิตอาสา และภาคประชาสังคม ข้อตำหนิของ ICC (หรือ GANHRI ในปัจจุบัน) ไม่ใช่ความหลากหลายของกรรมการสิทธิมนุษยชน

เหตุผลที่ไม่ควรจะรีเซต กสม.

กสม.ชุดปัจจุบันสามารถทำงานให้เป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติและประชาชนได้อย่างชัดแจ้งทั้งด้านการคุ้มครองสิทธิฯ (มีการประสานการคุ้มครอง และรายงานผลการตรวจสอบหรือพิจารณาที่มีคุณภาพและปริมาณเพิ่มขึ้นจากเดิมมาก) และด้านส่งเสริมสิทธิฯ (ทั้งภายในและระหว่างประเทศ เช่น การจัดงานสัมมนาวิชาการเรื่อง ”การเผยแพร่และขับเคลื่อนหลักการชี้แนะว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติในประเทศไทย” ที่ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ ถนนราชดำเนินนอก กทม.เมื่อเร็ว ๆนี้ โดย ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้กรุณามาปาฐกถาพิเศษ ในหัวข้อ “หลักการชี้แนะว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ กับการสร้างความยั่งยืนทางเศรษฐกิจและสังคม” จนเป็นที่ชื่นชมทั้งภายในและระหว่างประเทศอันเป็นผลดีต่อประเทศชาติโดยรวม)

นอกจากนี้ การรีเซตองค์กรอิสระ จะกระทำได้ก็ต่อเมื่อมีเหตุจำต้องกระทำโดยไม่มีทางหลีกเลี่ยงได้ และต้องคำนึงถึงความเป็นธรรมต่อผู้อาสาละทิ้งงานเดิมมาทำงานให้องค์กรอิสระ

ผลของการรีเซต กสม.จะกระทบกับการทำงานหรือไม่

ผู้เขียนเห็นว่า งานของ กสม.น่าจะถูกกระทบกระเทือนมาก โครงการต่างๆ ที่กำลังเดินไปได้ด้วยดี จะหยุดชะงักทันทีที่มีการรีเซต ย่อมเป็นผลเสียแก่องค์กรและประเทศชาติ

ทางออกที่ดีกว่าการรีเซต

ผู้เขียนเห็นว่า ทางออกของเรื่องนี้ที่จะทำได้มากที่สุดที่สุดคือ เขียนในบทเฉพาะกาลของ พ.ร.ป.ขององค์กรอิสระให้ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระพ้นจากตำแหน่งเฉพาะรายที่เป็นบุคคลผู้ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายใหม่ ไม่ใช่ให้พ้นไปทั้งชุด (รีเซต)

สภาวะปลาสองน้ำจะกระทบกับการทำงานของ กสม.หรือไม่

องค์อิสระหลายองค์กรมีสภาวะปลาสองน้ำทั้งนั้น เท่าที่ผ่านมาไม่ปรากฏว่ามีผลกระทบต่อการทำงาน เพราะต่างก็อาสามางานเพื่อประโยชน์ของส่วนรวมด้วยกันทั้งนั้น น่าจะวัดกันที่ศักยภาพของคนมากกว่า

หากมีการรีเซตคิดว่าควรจะเยียวยากรรมการที่ต้องพ้นจากตำแหน่งอย่างไร

ผู้เขียนเห็นว่า ยากแก่การเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้น ด้วยเหตุนี้ในอดีตที่ผ่านมา ผู้ร่างรัฐธรรมนูญจึงต้องเลิกล้มความตั้งใจที่จะรีเซตองค์กรอิสระ หรือแม้เพียงให้ดำรงตำแหน่งต่อไปเพียงครึ่งวาระที่ยังเหลืออยู่ก็ตาม เพราะไม่เป็นธรรมต่อผู้ดำรงตำแหน่งองค์กรอิสระนั้น

สรุป

รัฐธรรมนูญ ๒๕๖๐ มีปัญหาทั้งในด้านหลักการเขียนและการนำไปใช้ในทางปฏิบัติ จึงขอให้ผู้มีอำนาจในการเขียน พ.ร.ป.กสม.เปิดใจให้กว้าง พิจารณาให้รอบคอบ และให้ความเป็นธรรมแก่ผู้อื่น ผู้มีอำนาจพิจารณาควรคิดแก้ปัญหาอื่นๆ ที่รอการแก้อยู่ไม่น้อย แทนการมาคิดรีเซตองค์กรอิสระให้เกิดปัญหาเพิ่มขึ้นอีก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image