ฉัตรชัย ศิริไล ผู้บริหารรุ่นใหม่ ชีวิตไอที กับไลฟ์สไตล์สะสมของเก่า

ถือเป็นหนึ่งในผู้บริหารแบงก์อายุน้อยที่สุด ฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.)

นั่งเก้าอี้เมื่อ 1 ปีก่อน ขณะนั้นด้วยวัยเพียง 45 ปี การทำงานจึงถูกจับตามองเป็นพิเศษทั้งด้วยวัยวุฒิ คุณวุฒิ และภาพคนรุ่นใหม่ สวนทางภาพ ธอส.ในอดีต เพราะหลายคนยังติดภาพ ธอส.ทำงานแบบกึ่งราชการ

ตลอด 1 ปี “ฉัตรชัย” ปรับเปลี่ยน ธอส.พอสมควร นำนวัตกรรมใหม่ทางการเงินเข้ามาใช้ เรียกแผนงานดังกล่าวว่า Transformation to Digital Services หรือเข้าใจง่ายๆ คือ นวัตกรรมผลิตภัณฑ์ทางการเงิน โดยเปลี่ยนทั้งระบบปฏิบัติการหลักของแบงก์เรียกว่า Core Banking System และเปลี่ยนทั้งงานด้านบริการ หรือ IT Services งานไอทีเกี่ยวข้องกับการบริการลูกค้า

เป้าหมายด้านไอทีคือผลักดัน ธอส.สู้กับแบงก์อื่นๆ ทั่วโลกได้ “ฉัตรชัย” บอกว่า นวัตกรรมการเงินตอนนี้ไปไกลมาก ดังนั้นการมัวนั่งใช้วิธีทำงานแบบเก่าคงตกขบวน และเรื่องไอทีเปลี่ยนแปลงทุกวัน มัวแต่คิด มัวแต่ศึกษา มัวแต่รีรอตัดสินใจ สิ่งที่มองไว้จะตกรุ่น ล้าสมัยทันที ดังนั้นแผนงานด้านไอทีจึงต้องเร็วและใช้งานได้จริง

Advertisement

ฉัตรชัยจบปริญญาโท คอมพิวเตอร์ Master of Computer Science จาก Syracuse University, New York, USA ปริญญาตรี พาณิชยศาสตร์และการบัญชี (สถิติ) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นนักเรียนทุน ธอส.

รุ่นแรกและทำงาน ธอส.มาตั้งแต่เรียนจบ จึงทำให้เข้าใจวัฒนธรรมองค์กรเป็นอย่างดี มีความคุ้นเคยกับผู้บริหารและพนักงานอย่างเหนียวแน่น

ดังนั้นการปรับโฉม ธอส.เป็นธนาคารที่ทันสมัยขึ้นจึงไม่ใช่เรื่องยาก

Advertisement

ไม่ใช่แค่งานด้านไอทีอย่างเดียวที่ให้ความสำคัญ “ฉัตรชัย” ยังมีเป้าหมายผลักดันให้ ธอส.มีสัดส่วนอันดับ 1 ใน 3 ของตลาดรวมสินเชื่อบ้าน เพื่อเอาไว้เป็นเครื่องมือของรัฐในการผลักดันนโยบายด้านอสังหาริมทรัพย์ วางเป้าหมายพอร์ตสินเชื่อระดับ 1 ล้านล้านบาท เพื่อให้สมกับการเป็นผู้นำในตลาดสินเชื่อบ้าน

สิ่งสำคัญสูงสุดของ ธอส.คือทำให้คนไทยมีบ้าน ถือเป็นหนึ่งในนโยบายรัฐบาลมอบให้ ธอส.ดำเนินการ

พร้อมกันนี้ยังวางเป้าหมาย ธอส.ให้เป็นที่พึ่งของคนชั้นกลาง ชั้นล่าง เพราะคนกลุ่มนี้เข้าถึงสินเชื่อที่อยู่อาศัยลำบาก เนื่องจากธนาคารพาณิชย์ไม่ค่อยให้ความสนใจ

 

20 ปี สู่การเป็นผู้บริหารระดับสูง

ลำดับขั้นของการก้าวขึ้นมาเป็นผู้บริหารสูงสุด “ฉัตรชัย” เล่าให้ฟังว่าเมื่อเรียนจบปริญญาโทจากต่างประเทศ ด้วยทุนของ ธอส.ก็เข้ามารับตำแหน่งพนักงานอาวุโสของ ธอส.ที่ผ่านมาทำงานก้าวหน้าตามระดับขั้นไม่เคยใช้วิธีพิเศษใด แต่คนชอบมองว่าได้รับสิทธิพิเศษ

ผมเข้าทำงานปี 2539 ใช้เวลา 20 ปี ในการไต่เต้าจนเป็นผู้บริหารระดับสูงของธนาคาร บางคนก็บอกว่าเร็วแต่เขาไม่ดูเลยว่าแต่ละขั้นที่ผมขึ้นมาตามเกณฑ์เป๊ะๆ แต่อาจโชคดีกว่าคนอื่นคือพอถึงเกณฑ์แล้วมันได้ ไม่มีการพัก

โชคชะตาลิขิตผมให้มาอยู่ที่ ธอส.เพราะสมัยเมื่อจบใหม่ๆ ที่บ้านพ่อแม่รับราชการ พ่อเสียชีวิตตั้งแต่สมัยเด็ก แม่เลี้ยงผมมาคนเดียว เงินเดือนแม่แค่หมื่นกว่าบาท เลี้ยงลูกสองคน

พอผมจบปริญญาตรีมีความตั้งใจอยากไปเรียนนอกแต่ไม่มีปัญญา เพราะตอนนั้นจน จบปริญญาตรีได้ก็ถือว่าดีแล้ว

เมื่อจบปริญญาตรีใหม่ๆ ตั้งเป้าว่าถ้าได้เรียนต่อปริญญาโทที่ กทม.ก็โอเคแล้ว บ้านผมอยู่สำโรงซึ่งตอนนั้นยังถือเป็นบ้านนอก ยังมีราวขายค้างคาวแม่ไก่อยู่เลยและด้วยความขี้เกียจเดิน ไม่ชอบรถติดใน กทม.ผมสมัครเข้าทำงานที่บริษัทพานาโซนิค ห่างจากบ้านไปแค่สองป้ายรถเมล์ เพื่อเก็บเงินมาเป็นทุนเรียนต่อปริญญาโท ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

แต่อยู่มาวันหนึ่งมีจดหมายจาก ธอส.บอกว่าให้มาสมัครสอบแข่งขันเข้ารับทุนเรียนต่อต่างประเทศจาก ธอส.ปีนั้นถือเป็นปีแรกที่กรรมการผู้จัดการ ธอส.มีนโยบายให้ทุนการศึกษาต่อต่างประเทศ

โดยคัดจากเด็กที่จบปริญญาตรีจาก 5 มหาวิทยาลัยชั้นนำ ในเกรด 3.0 แล้วส่งจดหมายไปเชิญมาสมัคร ปรากฏว่ามีคนมาสมัครทั้งหมด 7 คน แต่คัดเลือกเอา 3 คน เพื่อไปเรียนด้านการเงิน 1 คน เศรษฐศาสตร์ 1 คน และคอมพิวเตอร์สถิติ 1 คน

ปรากฏว่าผมสอบได้คะแนนมาเป็นอันดับสี่ โดยคนได้ที่หนึ่ง เลือกไปเรียนการเงิน คนได้ที่สองเรียนเศรษฐศาสตร์ คนที่ได้คะแนนที่สาม เลือกเรียนการเงินซ้ำกัน คนได้ที่หนึ่งเลือกไปแล้ว ดังนั้นจึงเป็นจุดพลิกชีวิตของผมที่ได้คะแนนเป็นอันดับที่สี่ แต่เลือกไปเรียนคอมพิวเตอร์สถิติเลยได้ทุนมา

การไปเรียนต่างประเทศถือเป็นการเดินทางออกนอกประเทศครั้งแรกในชีวิต ค่อนข้างลำบากจนเกือบจะท้อ เพราะการสอบครั้งแรก เต็ม 100 คะแนน ผมได้คะแนนลบ 120 คะแนน เพราะระบบการสอบคือ ถ้าทำได้ มีโอกาสได้ 10 คะแนน แต่ถ้าทำผิด ทำไม่ได้ ติดลบ 10 คะแนนทันที ตอนนั้นแม่บอกว่าพยายามเรียนให้จบเทอมหนึ่ง ถ้าไม่ไหวก็ให้กลับมา

ปรากฏว่าเทอมหนึ่งรอดเลยจบมาได้ ตอนที่เรียนต่างประเทศวันๆ อยู่แต่ในห้องแล็บ กลางคืนเดินออกจากตึกเรียนราวตี 2 ถึงบ้านตี 3 อาบน้ำนอน พอ 6 โมงเช้าต้องตื่นแล้ว แล้วเข้าแล็บอยู่อย่างนี้ทุกวัน

เมื่อเรียนจบแล้วกลับมารายงานตัวที่ ธอส.แต่วันนั้นกรรมการผู้จัดการที่เป็นคนส่งผมไปเรียนต่างประเทศด้วยทุน ธอส.เสียชีวิต เมื่อกลับมารายงานตัวที่ ธอส.ในช่วงแรกค่อนข้างเคว้งเพราะไม่มีคนใน ธอส.รู้ว่ามีโครงการส่งนักเรียนทุนไปเรียนต่อต่างประเทศ เพราะโครงการนี้รู้กันเฉพาะผู้บริหารระดับสูงกลุ่มหนึ่งเท่านั้น

 

ยามว่างกับของมือสอง

เมื่อก้าวสู่ชีวิตวัยทำงาน สมัยก่อนเป็นผู้บริหารระดับกลาง เป็นพนักงานต้องทำงานทุกอย่างตามที่ข้างบนบอกว่าจะต้องเสร็จวันนี้ ต้องอยู่ทำงานกันถึงตีหนึ่งตีสอง แต่พอทำเสร็จเสนอให้ตัดสินใจแต่กลับไม่ตัดสินใจ คำถามคือแล้วให้เราทำทำไม เสียเวลา

ตอนนี้มีโอกาสก้าวขึ้นมาผู้บริหาร อะไรที่มาถึงผม ภายใน 24 ชั่วโมงต้องออกไป เพราะงานชิ้นนั้นกว่าที่จะมาถึงผมมันผ่านการใช้แรงงานของลูกน้องทั้งนั้น ผมคิดว่ามันเอาเปรียบนะถ้าลูกน้องเราเป็นสิบคนทุ่มเททำงานกันจนถึงตีหนึ่งตีสอง แล้วนำเสนอผู้บริหารแต่กลับไม่ตัดสินใจ

การใช้ชีวิตในช่วงนี้ ผมจะมาถึงที่ทำงาน 7 โมงเช้า ถึงบ้านก็ 3 ทุ่มครึ่ง อยู่บนเตียง 4 ทุ่ม นอนเที่ยงคืนครึ่ง ตื่น 6 โมงเช้า

ถ้าว่างไปเดินคลองถม เดินจตุจักร ซื้อของที่อยากได้ ของที่ชอบ ของบางอย่างหากซื้อของใหม่ ราคาบนห้างเป็นหมื่นบาทแต่ไปเจอของอย่างเดียวกันฉีกซองใช้ครั้งเดียว เหลือ 6 พันบาท

การเดินซื้อของมือสองมันเพลิน ผมเดินคนเดียวได้ทั้งวัน สมัยก่อนเดินคลองถมตั้งแต่ 1 ทุ่ม จนถึงตี 4 ซื้อหมดถ้าชอบเฟอร์นิเจอร์ ของแต่งบ้าน ของกะโหลกกะลา

เช่นตอนไปเดินที่พม่า เจอกระเป๋าหนังจระเข้แท้ทั้งตัว ให้คนทายราคาเท่าไหร่ บางคนบอกหลายหมื่น บางคนบอกหลายแสน แต่ผมซื้อมาได้ราคาแค่ไม่กี่พันบาท ผมภูมิใจนะ ตอนแรกที่เห็นมันซุกตัวในร้านของเก่า ฝุ่นจับเต็มเลย ผมเห็นแล้วชอบ ไปจับ ลูบๆ แล้วซื้อกลับมาเช็ด ขัดใหม่ กลายเป็นกระเป๋าใช้ประจำมาจนทุกวันนี้

เวลาไปต่างประเทศเจอร้านของเก่าวิ่งเข้าใส่ยิ่งกว่าร้านแบรนด์ เนมเสียอีก ผมไม่กลัวกับการใช้ของมือสอง เพราะถ้าเจอของที่ชอบ แสดงว่ามันจะมาอยู่กับผม ถ้าเขาจะมาด้วยก็มา แต่ถ้ามันไม่ใช่ของของผม ผมจะไม่มีทางได้สิ่งนั้นมา

แม่สอนผมมาตั้งแต่เด็กเมื่อมีปัญหาที่อะไร เช่น อีกนิดเดียวจะได้เกียรตินิยม แม่บอกว่า ของมันจะเป็นของเรานะต่อให้พระอินทร์ขี่ช้างมาขวางมันก็เป็นของเรา แต่ถ้าของที่มันจะไม่ใช่ของของเราลมพัดผ่านมันก็ไป

พอผมโตขึ้นจึงรู้ว่าเป็นเรื่องจริง เพราะของบางอย่างมาโดยที่มันไม่มีวิทยาศาสตร์อธิบายไม่ได้

(ซ้ายบน) นาฬิการูปพระอาทิตย์, (ขวาบน) นาฬิกา รูปวาด และหัวโขน, (ซ้ายล่าง) เช็กนาฬิกาโบราณที่สะสม, (ขวาล่าง) นาฬิกาแขวนในห้องประชุม

‘นาฬิกา’บนห้องทำงานชั้น 11

“ฉัตรชัย” บอกว่าแม้จบวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ แต่สิ่งที่อยู่ในชีวิตประจำวันกลับเป็นเรื่องงานศิลปะและของสะสมรักมากคือนาฬิกาโบราณ

บางชิ้นซื้อมาจากโลกออนไลน์ บางชิ้นซื้อมาจากเดินทางไปต่างประเทศ บนห้องทำงานชั้น 11 ตึก ธอส.จึงเต็มไปด้วยนาฬิกาโบราณทั้งแบบแขวนและตั้งโต๊ะหลายเรือน กระจายอยู่ตามมุมห้องทำงานรวมไปถึงห้องประชุมข้างห้องทำงาน

นาฬิกาโบราณเป็นความชอบตั้งแต่เด็กๆ ล่าสุดมีสะสมไว้หลายสิบเรือน การสะสมนาฬิกาให้แง่คิดในการดำรงชีวิตบางอย่างกับ “ฉัตรชัย”

“ในห้องนอนทุกคนมีนาฬิกา สังเกตกันไหมว่าทุกครั้งที่ไม่สบายใจ เวลาเครียด หรือกังวลจะได้ยินเสียงนาฬิกา ดังนั้นถ้าผมได้ยินเสียงเข็มนาฬิกา ทำให้ผมรู้ว่าตัวเองเครียดก็จะพยายามไม่ให้ตัวเองได้ยินเสียงเข็มนาฬิกา มีบ้างถ้าเผลอๆ แล้วได้ยิน ทำให้ผมเริ่มรู้แล้วว่าเริ่มเครียด ต้องพยายามปรับวิธีคิด วิธีทำงานใหม่ เพื่อไม่ให้ตัวเองเครียด”

นาฬิกาเรือนที่เก่าสุดมาจากศตวรรษที่ 16 อีกเรือนรักมากอายุกว่า 200 ปี มีหลายชิ้นอายุกว่า 100 ปี หรือหลายสิบปี แพงสุดสุด มีราคาเกินกว่า 6 หลัก

นาฬิกาได้มาแต่ละเรือนนั้น ถ้าชอบซื้อทันที ที่มามีทั้งจากร้านของเก่าในไทยและในต่างประเทศรวมถึงในโลกออนไลน์

แม้จะเรียนคอมพิวเตอร์มาแต่กลับชอบศิลปะ ของเก่า ของมือสอง “ฉัตรชัย” มองตัวเองเป็นอะไรที่แปลกดี ในการเรียนคอมพิวเตอร์นั้นแม่ไม่ได้บังคับ เรียนเอง เพราะสุดท้ายอยู่ในพื้นฐานชีวิตคนเราไม่ใช่ 1+1 แล้วได้ 2 แต่มันเป็นอะไรไม่รู้ อธิบายไม่ได้

อย่างภาพวาดหลังโต๊ะทำงาน ผมคิดเองว่าอยากได้แบบนี้ ตั้งใจวาดเพื่อนำมาติดตั้งตอนที่มารับตำแหน่งเอ็มดี ธอส.คนวาดคือ อาจารย์ ดร.อนุชา ทีรคานนท์ อาจารย์ประจำคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

รูปนี้เป็นรูปแสดงถึงความมั่นคงทางจิตใจ เป็นรูปเกี่ยวกับสิ่งมงคลทั้งหมด ตอนเด็กๆ มีคนบอกว่าหลังโต๊ะทำงานผู้บริหารควรมีรูปภูเขา แม่น้ำ เพื่อความมั่นคง ครั้งแรกคนวาดจะวาดภูเขาเมืองจีน ภูเขาเอเวอเรสต์ ผมบอกไม่เอา ขอเป็นป่าหิมพานต์แล้วกัน ในรูปวาดมีทั้งพระพุทธเจ้า พระนารายณ์ พระอินทร์ พระอิศวร

รูปนี้ใช้เวลาวาด 2 เดือน พอรู้ว่าผมได้ตำแหน่ง ผมเตรียมเลย ถามว่าถือเคล็ดอะไรไหม ผมไม่ถือนะ แต่มีผู้ใหญ่บอกมาว่าผู้บริหารต้องมีภาพวาดหลังโต๊ะทำงาน มีก็มี

ส่วนด้านข้างโต๊ะทำงานเป็นรูปหัวโขน เนื่องจากคนชอบมาถามว่าเป็นเอ็มดีแล้วเป็นยังไงบ้าง ผมมองว่าเป็นหัวโขนอันหนึ่ง เลยเอาหัวโขนมาตั้งไว้ข้างๆ โต๊ะ

เมื่อถามถึงพระพุทธรูปในห้องมีมาก ฉัตรชัยบอกว่ามีคนให้มาตั้งแต่เป็นรอง ธอส.สะสมมาเรื่อย

ของที่ผมได้มา ผมมองว่าเป็นความบังเอิญที่มาอยู่กับผม อะไรเป็นของผม คือของผม ถ้ามันใช่ของเรา คงไม่ใช่ ผมใช้หลักการนี้ในทุกๆ เรื่องแม้แต่การทำงานหรือตำแหน่งที่ได้มา เพราะคนมองว่ารับตำแหน่งอายุยังน้อย

กระเป๋าหนังจระเข้มือ 2 จากพม่า

‘คิดเเล้วลงมือทำ’ไม่เสียเวลากับงานกระดาษ

ถามว่ามีแรงกดดันมากในฐานะผู้บริหารรุ่นหนุ่มที่เข้ามาบริหารองค์กรขนาดใหญ่อย่าง ธอส.ไหม ผมเฉยๆ นะ เพราะผมคิดว่ามาถึงจุดสูงสุดเราไม่ได้หวังว่าจะไม่ต่อที่ไหน ก็จะทำตรงนี้ให้ดีที่สุด บริหารให้ได้ตามดัชนีชี้วัด (KPI) ไม่ได้หวังว่าจบจากที่นี่ (ธอส.) แล้วจะไปที่ไหนต่อ อีกอย่างเพราะผมลูกหม้ออยู่แล้ว ผมรู้ในเนื้องานมากกว่าคนอื่น มันก็ชิน

เวลากลับบ้านคืออยู่บ้าน ใช้ชีวิตเหมือนสมัยเด็ก เมื่ออยู่บ้าน จัดบ้านบ้าง ดูปลา ตัดต้นไม้ ทำอะไรเหมือนที่เคยทำสมัยเด็ก และโดยธรรมชาติไม่ใช่เป็นคนเครียด ยกเว้นเรื่องที่ซีเรียสมากๆ โดยเรื่องที่มันเครียดสมัยก่อนคือ เมื่อทำงานแล้วมันยังไม่เสร็จ ก็มีความเครียด แต่เมื่อ 5 ปีก่อน เปลี่ยนความคิดใหม่คือถ้าทำเต็มที่แล้ว ได้เท่าไหร่ เท่านั้น ไม่ไปเครียดกับมัน

สมัยเริ่มงานใหม่ๆ ก็เครียดนะ ถามตัวเองสมัยเด็กว่าทำไมมันไม่เป็นอย่างนั้นอย่างนี้ แต่เดี๋ยวนี้ช่างมันคือถ้าทำเต็มที่แล้ว ถ้ามันจะไม่เสร็จมันก็ไม่เสร็จ

การก้าวขึ้นมาเป็นผู้บริหารในระดับอายุ 45 ปี (เมื่อปีที่แล้ว ตอนนี้อายุ 46 ปี) มีความคาดหวังของคนทั่วไปและรอบข้างและมีความเป็นห่วงว่าการมีผู้ใต้บังคับบัญชาที่อายุมากกว่าจะมีปัญหาไหม ผมมองว่าคนมีสิทธิที่จะคิดอย่างนั้น มันเป็นเรื่องธรรมดา แต่อยู่ที่ว่าเวลาคุยกัน คุยแบบไหน ถ้าคุยกันเรื่องงานก็คืองาน แล้วจบ คนที่อายุมากกว่าอย่ามาใช้ความอาวุโสในที่ประชุม ในที่ประชุมก็ว่ากันตามงาน แต่ถ้านอกห้องประชุมถือว่าคุณเป็นผู้อาวุโส อย่าเอามาปนกัน ถ้าเอามาปนกันเมื่อไหร่เละทั้งองค์กร

สำหรับหลักการในการบริหารงาน ผมมองว่าอย่าไปเสียเวลาอะไรกับงานบนกระดาษ อะไรที่เสียเวลาคิดแล้วไม่เอา ไม่ควรทำ แต่ควรคิดแล้วลงมือทำเลย อย่าทำประเภทศึกษา ปรับแผน ประเภทที่ทำงานอยู่บนกระดาษ ประชุม รับรองรายงานการประชุม อยู่แค่นี้ ไม่ควรทำ

ผมไม่ใช่เป็นคนใจร้อน แต่เวลาประชุมขอแต่ประเด็นเลยอย่าไปอ้อมโลก เช่น เวลาเจ้าหน้าที่ระดมความคิดเพื่อทำนโยบายใหม่ในองค์กร ให้ขึ้นมาหาผมบ่อยๆ เพื่อหารือและปรึกษาแนะนำ

อย่าเสียเวลาเลี้ยวผิดซอย ทำแล้วไม่แน่ใจให้ขึ้นมาถามหรือทำไปแล้วต้องการเช็กว่าถูกต้องหรือเปล่า ให้ขึ้นมาถาม เพื่อไม่ให้เสียเวลา

 

เป้าหมายในอนาคต

เคยคิดสมัยทำงานใหม่ๆ ว่าชีวิตจะเกษียณตอน 50 ปี ตอนมารับตำแหน่งเอ็มดี ธอส.มีวาระงาน 4 ปี ผมก็ครบอายุ 50 ปีพอดี

ตั้งใจอายุ 50 ปี หยุดทำงาน เพราะเห็นตั้งแต่สมัยรุ่นพ่อรุ่นแม่ที่ทำงานหนักตลอดชีวิต หลายคนคิดว่าหลังเกษียณอายุ 60 ปีแล้วจะเริ่มท่องเที่ยว แต่ถึงช่วงเวลานั้นถ้าสุขภาพไม่ดี ก็ไม่สนุกกับการท่องเที่ยว

ผมตั้งเป้าหมายกับตัวเองว่า พอครบ 4 ปีของการดำรงตำแหน่งนี้ คืออายุ 50 พอดี จะมีเงินก้อนหนึ่งและยังแข็งแรงก็จะไปเที่ยว ใช้ชีวิตให้สนุก

ผมเขียนชีวิตมาตั้งแต่เด็กแล้วว่า 50 ปี จะเลิกทำงาน คือหลังจากนี้จะทำอะไรก็ได้ เพราะหากรอเกษียณ 60 ปีแล้วเริ่มเที่ยว แค่ลงรถบัสไปเข้าห้องน้ำคงไม่มีแรงแล้ว

 

“ฉัตรชัย ศิริไล” เป็นหนึ่งในวิทยากรในงานสัมมนามติชน “ก้าวที่ 40 มติชน ก้าวคู่ประเทศไทย 4.0” ครั้งที่ 2
ในหัวข้อ “ฟินเทค นวัตกรรมการเงินเรื่องใกล้ตัวที่ต้องรู้”
ซึ่งจัดขึ้นในวันที่ 14 มิถุนายน 2560 ณ ห้องบอลรูม ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image