‘ปลัดสธ.’ สะท้อนปัญหาระบบสุขภาพ จำเป็นต้องแก้ ‘กม.บัตรทอง’

นพ.โสภณ เมฆธน

เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ถึงประเด็นกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ 4 ภาคออกแถลงการณ์คัดค้านและแสดงออกไม่เข้าร่วมเวทีประชาพิจารณ์แก้พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 ว่า  ตนได้ปรึกษานพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ซึ่งท่านชื่นชมการทำประชาพิจารณ์ที่มีคนมาแสดงความคิดเห็นกัน อย่างไรก็ตาม ร่างพ.ร.บ.ฯ ฉบับที่ประชาพิจารณ์นี้ก็ไม่ใช่ร่างหลักที่จะใช้ เพราะจะมีการปรับปรุงจากการทำประชาพิจารณ์ และเดิมทีท่านรัฐมนตรีฯ และตนต่างไม่อยากแสดงความคิดเห็นเรื่องนี้มากนัก แต่เมื่อมีคำถามและอาจเกิดความไม่เข้าใจก็จำเป็นต้องออกมาย้ำว่า การแก้กฎหมายครั้งนี้เป็นในเรื่องของการปรับแก้การบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น แต่ไม่ได้ไปแตะต้องกับสิทธิประโยชน์ หรือสิทธิบริการใดๆของประชาชนเลย

ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีกลุ่มไม่เห็นด้วยมองว่าการแก้กฎหมายครั้งนี้เอื้อประโยชน์ต่อกระทรวงสาธารณสุข เพื่อดึงอำนาจกลับคืน  นพ.โสภณ กล่าวว่า  ไม่เคยคิดจะยึดอำนาจใครเลย ตั้งแต่มีพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพฯ พวกตน หน่วยบริการก็ทำงาน และเคารพพ.ร.บ.ที่มีมา โดยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.)  เป็นผู้ซื้อให้บริการเพื่อประชาชน ทางกระทรวงฯ ก็มีรพ.ให้บริการแก่ประชาชน ซึ่งตนคิดว่าควรมาร่วมกันคิดร่วมกันทำงานเพื่อประชาชนมากกว่า ไม่ใช่มาแบ่งกันว่า ผู้ซื้อ ผู้ขาย

“กรณีการแก้ไขให้ปลัดกระทรวงสาธารณสุขไปเป็นรองประธานคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(บอร์ดสปสช.) นั้น ส่วนตัวผมว่าไม่ใช่เรื่องจำเป็น เพราะคณะกรรมการดูให้สมดุลกันก็เพียงพอแล้ว เพราะที่ผ่านมามีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธาน อย่างผมก็เป็นกรรมการ ซึ่งผมมองว่า หากกรรมการหากบอร์ดคิดถึงประโยชน์ของประชาชน คิดถึงความเป็นจริงในการให้บริการ ที่จะส่งผลต่อการบริการประชาชน มีจุดยืนที่ประชาชนเป็นที่ตั้ง  ทุกอย่างก็จะดำเนินไปได้ คือ ถ้าเราทำอะไรที่ไม่ยึดหลักพวกพ้อง ไม่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัวก็จะไม่มีปัญหา” ปลัดสธ.กล่าว

Advertisement

เมื่อถามถึงกรณีกลุ่มไม่เห็นด้วยมองว่าการแก้กฎหมายแยกเงินเดือนบุคลากรสาธารณสุขออกจากงบเหมาจ่ายรายหัว ถือเป็นการดึงอำนาจกลับคืน และจะส่งผลกระทบต่อระบบในเรื่องการกระจายบุคลากรทางการแพทย์ นพ.โสภณ กล่าวว่า ตลอด 15 ปีที่ผ่านมามีการวมเงินเดือนอยู่ในงบเหมาจ่าย ก็เห็นผลชัดเจนแล้วว่า ไม่ได้ช่วยในการแก้ปัญหาการกระจายตัวของบุคลากรเลย แต่กลับทำให้เกิดปัญหางบประมาณของหน่วยบริการไม่เพียงพอ โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีประชากรน้อย อย่างสมุทรสงคราม และสิงห์บุรี เนื่องจากเมื่อหักเงินเดือนบุคลากรออกจากบเหมาจ่ายรายหัวที่รพ.ได้รับ กลับมีงบเหลือไม่เพียงพอที่จะให้บริการแก่ประชาชน อย่างรพ.บางแห่งติดหนี้ จนไม่สามารถสั่งซื้อยาเข้ามาได้ แต่หากมีการแยกเงินเดือนออกจากงบเหมาจ่ายรายหัวแล้ว จะทำให้ทุกรพ.ได้รับงบเหมาจ่ายรายหัวเพื่อใช้เป็นการบริการประชาชนที่เท่ากัน เพราะไม่ต้องมีตัวแปรเงินเดือนมาเกี่ยวข้อง ยกเว้นบางรพ.ที่อาจได้รับเพิ่ม เพราะเป็นพื้นที่พิเศษ เนื่องจากอยู่ห่างไกล อยู่บนเกาะ เป็นต้น

“เรื่องแยกเงินเดือนมีการศึกษามาก่อนว่า จำเป็นต้องแยกออกจากงบเหมาจ่ายรายหัว ซึ่งสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ก็บอกว่าจำเป็นต้องเอาเงินเดือนแยกออกมา เพราะหากทำแล้วระบบจะอยู่ได้ และจะส่งผลดีต่อการบริการประชาชน ซึ่งเรื่องพวกนี้มีข้อมูลการันตี และรพ.ในพื้นที่ก็ประสบปัญหาจริงๆ สุดท้ายก็จะส่งผลต่อประชาชน อย่างรพ.อินทร์บุรี รพ.สิงห์บุรี ในจ.สิงห์บุรี และรพ.สมุทรสงคราม” นพ.โสภณ กล่าว

เมื่อถามว่าถูกมองว่าเป็นการแก้กฎหมายที่นอกเหนือจากมาตรา 44 คำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ที่ให้แก้ปัญหาการบริหารจัดการ นพ.โสภณ กล่าวว่า  การแก้กฎหมายครั้งนี้ เป็นไปตามคำสั่งคสช.ที่ต้องการปลดล็อกให้การบริหารจัดการทำงานได้ อย่างการจัดซื้อยารวมของสปสช. เดิมทีคณะกรรมการติดตาม และตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.) ทักท้วงว่า สปสช.ไม่มีอำนาจตามกฎหมายในการทำตรงนี้ ซึ่งตนถามว่าการซื้อยาร่วมทำไมต้อง 1.ให้สปสช.ซื้อ หรือ2. ให้กระทรวงฯซื้อ แต่ทำไมไม่เลือกทางเลือกที่ 3. คือ ให้ทั้งสปสช.และกระทรวงฯร่วมกันซื้อเพื่อประโยชน์ของประชาชน ทำไมเราทำงานร่วมกันไม่ได้ ทั้งที่ตอนนี้เป็นยุคปฎิรูป ยุคปรองดอง

Advertisement

“สำหรับการแก้กฎหมายบัตรทองนั้น ขณะนี้  นพ.มรุต จิรเศรษฐสิริ หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงฯ ในฐานะโฆษกคณะกรรมการพิจารณายกร่างพ.ร.บ. กำลังประสานสถาบันพระปกเกล้า มาประเมินผลกระทบจากการแก้พ.ร.บ.ฯด้วย ล่าสุดทางกระทรวงฯร่วมด้วยคณะกรรมการกฤษฎีกาอยู่ระหว่างร่างรายละเอียดในการจัดตั้ง คณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอขึ้น ซึ่งจะเป็นการบูรณาการงบประมาณด้านคุณภาพชีวิตทั้งหมด ทั้งงบส่วนของสธ. งบท้องถิ่น งบกองทุนสุขภาพตำบล  งบหน่วยงานต่างๆ เพื่อให้ทำงานโดยไม่ซ้ำซ้อน เช่นเรื่องการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุ หากมีงบของหน่วยงานอื่นเข้าไปแล้ว ทางสธ.ก็ไม่ต้องส่งไปต่อ เพื่อให้ไม่ซ้ำซ้อนและนำงบไปใช้อย่างอื่นได้อีก โดยขณะนี้อยู่ระหว่างจัดทำร่างรายละเอียด ซึ่งล่าสุดรัฐมนตรีฯ ได้นำเรียนท่านนายกรัฐมนตรี ซึ่งเห็นด้วยกับเรื่องนี้ โดยจะตั้งเป็นคณะกรรมการระดับชาติ ระดับจังหวัด และระดับอำเภอ ทั้งหมดก็เพื่อให้การบริหารจัดการงบประมาณเพื่อคุณภาพชีวิตของประชาชนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพจริงๆ” ปลัดสธ.กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image