อาศรม มิวสิก งานฉลอง 200 ปี มหาวิทยาลัยดนตรีเวียนนา โดย:สุกรี เจริญสุข

ระหว่างวันที่ 6-8 มิถุนายน 2560 มหาวิทยาลัยดนตรีแห่งกรุงเวียนนา (Universität für Musik und darstellende Kunst Wien – mdw) ประเทศออสเตรีย ได้จัดงานฉลอง 200 ปี ของการก่อตั้งสถาบันดนตรีแห่งชาติขึ้น เมื่อปี พ.ศ.2360 หลังการเสียชีวิตของโมสาร์ท (Mozart) 26 ปี ก่อนที่เบโธเฟน (Beethoven) เสียชีวิต 10 ปี

มหาวิทยาลัยดนตรีแห่งกรุงเวียนนาแห่งนี้ มีความภูมิใจในการเป็นสถาบันดนตรีของโลกเป็นอย่างมาก สามารถดำรงอยู่ ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องและยาวนาน อย่างน้อยครั้งหนึ่งกรุงเวียนนาเป็นศูนย์กลางของพัฒนาการดนตรีคลาสสิกโลก และในปัจจุบัน มหาวิทยาลัยดนตรีแห่งกรุงเวียนนา ก็มีความพยายามที่จะรักษาความรุ่งเรืองด้านดนตรีเอาไว้ แม้ว่าจะยากที่จะรักษาความเป็นวัฒนธรรมดนตรีและศูนย์กลางดนตรีคลาสสิก ในขณะเดียวกัน ก็ยากที่จะทอดทิ้งไป เพราะอดีตเป็นตำนานอันยิ่งใหญ่ จะไปทำดนตรีอย่างอื่นก็ยากยิ่ง

งานฉลองครบรอบ 200 ปี มหาวิทยาลัยดนตรีแห่งกรุงเวียนนาครั้งนี้ เขาได้เชิญผู้บริหารสถาบันดนตรีชั้นนำของโลก 200 แห่ง เพื่อไปร่วมกันเป็นสักขีพยานในการจัดงาน ส่วนใหญ่เป็นสถาบันดนตรีในยุโรป รองลงมาก็เป็นอเมริกา ออสเตรเลีย จีน เกาหลี ญี่ปุ่น

ส่วนในภูมิภาคอาเซียนนั้น ก็มีไทยและเวียดนาม ที่ได้รับเชิญให้เข้าร่วมงาน ท่ามกลางความตื่นเต้นที่ผู้บริหารสถาบันดนตรีในระดับต้นๆ ของโลกมารวมกัน ต่างก็อวดความยิ่งใหญ่ของสถาบันของดนตรีของตน

Advertisement

ส่วนไทยเรานั้น ยังใหม่อยู่ โอกาสที่เข้าไปอยู่ในสังคมชั้นสูง (ต้น 200) ก็เป็นเด็กน้อยคอยตามคอยดูและคอยเก็บข้อมูล เพื่อนำมาพัฒนาสถาบันวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งหมายรวมถึงสถาบันดนตรีในประเทศไทยด้วย

ความยิ่งใหญ่ของมหาวิทยาลัยดนตรีแห่งกรุงเวียนนา เขาจ่ายค่าเดินทางจำนวนครึ่งหนึ่งให้แก่ทุกคนที่เชิญ เพราะเขาเองก็คงจะกลัวว่าหากเชิญไปแล้วไม่มีใครมางาน จะทำให้เขาขาดความเชื่อมั่นได้ แต่เพื่อความมั่นใจว่า “ใหญ่จริงและแน่จริง” ทุกคนได้ไปจริง เมื่อได้ออกค่าใช้จ่ายให้จำนวนหนึ่ง บวกกับความเกรงใจ ซึ่งเชื่อว่าต่างก็มีความหวังที่จะได้รับประโยชน์อันจะเกิดขึ้นในอนาคตต่อกัน จึงมีผู้บริหารสถาบันดนตรีไปร่วมงานกันจำนวนมาก ทำให้เห็นความยิ่งใหญ่ของงาน ซึ่งดูได้จากใครเป็นแขกที่เข้ามาร่วมงานด้วย

งานฉลอง 200 ปี มหาวิทยาลัยดนตรีแห่งกรุงเวียนนา ได้จัดขึ้น 3 วัน งานหลักๆ ก็คือ การพบปะสังสรรค์ การแสดงวิสัยทัศน์ของผู้บริหารสถาบันดนตรีชั้นนำของโลก อาทิ ผู้อำนวยการราชวิทยาลัยดนตรีกรุงลอนดอน (Royal Academy of Music, London) ผู้อำนวยการโรงเรียนดนตรีแมนฮัตตัน (Manhattan School of Music, New York) ผู้อำนวยการสถาบันดนตรีกรุงบรัสเซลส์ เบลเยียม อธิการบดีมหาวิทยาลัยดนตรีกรุงเบอร์ลิน เยอรมนี อธิการบดีสถาบันดนตรีฟรานซ์ลิซต์ กรุงบูดาเปสต์ ฮังการี อธิการบดีมหาวิทยาลัยดนตรีซิบิเลส เฮลซิงกิ ฟินแลนด์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยดนตรีมอสโก รัสเซีย คณบดีดนตรีอีสต์แมน มหาวิทยาลัยโรเชสเตอร์ อเมริกา เป็นต้น แต่ละคนเสนอความเห็น 15 นาที ชั่วโมงละ 4 คน จำนวน 24 คน ซึ่งทำให้เกิดแรงบันดาลใจ มีความคิดเห็นกระฉูดเลย

Advertisement

พบว่า สถาบันการดนตรีใหญ่ๆ ดังๆ ของโลก มีปัญหาที่แตกต่างกันออกไป อาทิ ปัญหาค่าเล่าเรียนแพง (2.5 ล้านบาทต่อปี) เด็กที่ได้เข้าเรียนต้องเก่งและมีเงินด้วย ทำให้นักเรียนดนตรีที่เล่นเก่ง แต่ฐานะยากจน ไม่มีโอกาสที่จะเข้าเรียนในสถาบันดนตรีที่มีชื่อเสียงได้ หรือนักเรียนที่เก่งมากแต่เมื่อเรียนจบออกมาแล้วก็หางานทำไม่ได้ เพราะไม่มีทักษะด้านอื่น นอกจากเล่นดนตรี ทั้งนี้ ก็เพราะเลือกงาน ในเมื่อมีความมั่นใจสูง แต่งานที่ทำต่ำกว่าความคาดหวัง บัณฑิตก็ไม่อยากรับที่จะทำงาน ยอมตกงานดีกว่า

การศึกษาดนตรีของสถาบันที่เป็นตำนานของโลกนั้น ไม่สามารถที่จะละทิ้งอดีตที่ยิ่งใหญ่ได้ ความเป็นตำนานของสถาบัน ความเป็นโบราณของประวัติศาตร์ ทำให้นักศึกษาต้องเรียนดนตรีที่เกี่ยวกับโบราณ ซึ่งมีคนที่อยากเรียนน้อยลง ใช้ต้นทุนชีวิตสูง หางานทำยาก แล้วชีวิตและดนตรีโบราณจะอยู่ต่อไปอย่างไร

นอกจากนี้ อาชีพอื่นๆ ที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับดนตรียังมีอีกมาก นักศึกษาดนตรีไม่มีโอกาสได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ เท่าใดนัก อาทิ ธุรกิจดนตรี เทคโนโลยีดนตรี การสื่อสารดนตรี อุตสาหกรรมดนตรี ดนตรีกับทางการแพทย์ (อารมณ์ ความรู้สึก สมอง หัวใจ กล้ามเนื้อ) การซ่อมเครื่องดนตรี ดนตรีเพื่อการพัฒนาสังคม ดนตรีบำบัด ดนตรีกับการเรียนรู้ของเด็ก เป็นต้น ซึ่งโรงเรียนดนตรีชั้นนำของโลกยังไม่ได้เริ่มต้นเรื่องเหล่านี้อย่างจริงจังนัก เพราะมัวแต่สนใจเรื่องเล่นดนตรีและสร้างผลงานทางดนตรีใหม่ๆ (New Music) ขึ้นมา แม้จะขายดนตรีใหม่ให้แก่ผู้ฟังไม่ได้ก็ตาม ก็ยังมีความตั้งมั่นที่จะทำดนตรีในอุดมคติให้ได้

แต่สำหรับพวกมีพลังสร้างสรรค์และพลังจินตนาการสูง ก็จะยอมอดตายมากกว่าที่จะออกไปหางานอื่นทำ

เมื่อเปรียบเทียบกับการศึกษาดนตรีของไทยแล้ว ส่วนใหญ่เรายังวิ่งตามเขาอยู่ แต่ที่แย่หน่อยก็เพราะ การศึกษาดนตรีในมหาวิทยาลัยไทยนั้น เราเรียนดนตรีด้วยตัวหนังสือ เรามีความรู้มากกว่าความสามารถ เราพร้อมที่จะอธิบายเรื่องความรู้ พร้อมที่จะพูด พร้อมที่จะสอน แต่ไม่พร้อมที่จะเล่นดนตรี ซึ่งในขณะที่ยุโรปการศึกษาดนตรีอยู่กับการเล่นดนตรีเป็นหลัก เพราะเขาเชื่อว่า การเล่นดนตรีมาก่อน เล่นดนตรีเป็น เล่นดนตรีได้ แล้วจึงไปหาความรู้และทำความเข้าใจในภายหลัง

การได้เข้าร่วมสัมมนาในงาน 200 ปี มหาวิทยาลัยดนตรีแห่งกรุงเวียนนา ถือว่าประเทศไทยได้รับเกียรติเป็นอย่างมาก ประเทศไทยอยู่ในแผนที่โลกในเรื่องดนตรีคลาสสิกแล้ว หรืออย่างน้อยที่สุดเมื่อพูดถึงดนตรีคลาสสิก ประเทศไทยก็ไม่ได้อยู่ในฐานะยากจนหรือเป็นประเทศโลกที่ 3 อย่างที่เคยเป็นมา

ในงาน 200 ปี มหาวิทยาลัยดนตรีแห่งกรุงเวียนนา มีการแข่งขันเดี่ยวเปียโน (Internationaler Beethoven Klavierwettbewerb) ซึ่งได้จัดขึ้นทุกๆ 4 ปี และได้จัดมาแล้ว 15 ครั้ง (55 ปี) ซึ่งเป็นเวทีใหญ่ที่นักเปียโนทั้งหลายรู้จักกันดี มีการแสดงดนตรีที่หลากหลาย มีวงดนตรีเด็กในสวนสาธารณะเพื่อให้พ่อแม่ผู้ปกครองได้ชื่นชมและให้เด็กซึมซับการเรียนดนตรี การแสดงโอเปร่าของนักศึกษา ทุกวันจะมีรายการดนตรีให้ชม ทั้งนี้ เวียนนาเป็นเมืองดนตรีที่สำคัญของยุโรป และมหาวิทยาลัยดนตรีแห่งกรุงเวียนนาก็ใช้หอแสดงดนตรีของเมืองที่มีอยู่ เพื่อให้นักศึกษาดนตรีได้แสดงจริง

งานครบ 200 ปี มหาวิทยาลัยดนตรีแห่งกรุงเวียนนา เป็นการรวบรวมความก้าวหน้าการศึกษาดนตรีของโลก เป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของผู้นำการศึกษาดนตรี เพื่อที่จะนำไปปรับใช้กับสถาบันตนเองให้ทัดเทียมและไม่ตกยุค

สำหรับนักศึกษาของวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ก็ได้เข้าไปศึกษาในสถาบันดนตรีชั้นนำของโลกเกือบทุกสถาบันแล้ว ซึ่งก็พิสูจน์ได้ว่า การศึกษาดนตรีของไทยก็ไม่ได้ด้อยกว่าที่อื่นอีกต่อไป เด็กที่เก่งจำนวนหนึ่งไปศึกษาต่อที่ต่างประเทศ เด็กที่เก่งอีกจำนวนหนึ่งได้ทุนการศึกษาไปต่างประเทศ เด็กเก่งจำนวนหนึ่งออกไปประกอบอาชีพทั้งในและต่างประเทศ และเด็กเก่งอีกจำนวนหนึ่งก็ศึกษาต่อในประเทศไทย เพราะว่าคนเก่งแต่ละคนต่างก็มีเป้าหมายที่แตกต่างกัน

อย่างน้อยที่สุด งานครบ 200 ปี มหาวิทยาลัยดนตรีแห่งกรุงเวียนนา บอกให้เราทราบว่า การศึกษาดนตรีของยุโรปไม่ได้ทิ้งเราห่างจนมองไม่เห็นหลังอีกต่อไป แม้เราจะไม่ได้วิ่งไล่จนกระชั้นชิดแบบหายใจรดต้นคอเขาก็ตาม แต่การศึกษาดนตรีของเราก็มีมาตรฐานไม่แตกต่างไปจากการศึกษาดนตรียุโรปอีกต่อไป ยังมีส่วนอื่นๆ ที่เราสามารถทำได้ดีกว่าเขา (ยุโรป) ด้วยซ้ำไป

อาทิ การสร้างงานดนตรีในสังคมไทย การสร้างคนดนตรีออกไปสร้างงานรับใช้สังคมไทย เพราะว่าการศึกษาดนตรีในยุโรปจะเน้นเพียงเล่นให้เก่งแล้วออกไปหางานทำ การรับใช้สังคมเป็นเรื่องที่รองลงไป

แม้การศึกษาระบบใหญ่โดยรวมของไทย “ยังวิ่งตามก้นฝรั่ง” เพราะเรายังเชื่อว่า “ตามเขาว่าเก่ง ทำเองว่าโง่” การศึกษาไทยโดยรวมยังไม่สนใจการศึกษาเพื่อพัฒนาตัวเอง การศึกษาไม่ได้สร้างคนให้เก่งพอที่จะสร้างความเชื่อมั่นให้กับตนเอง และที่สำคัญก็คือ เราจัดการศึกษาเพื่อให้ฝรั่งมาวัดเราว่า “เราทำได้อย่างเขาหรือไม่” หากทำไม่ได้ ก็ต้องวิ่งตามโลก และวิ่งตามก้นฝรั่งต่อไป

ความจริงวันนี้ ที่วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล สถาบันดนตรีฝรั่งหลายๆ สถาบัน แวะมาดูงาน แวะมาดูระบบการจัดการศึกษา แวะมาชมการแสดงดนตรี เพราะคุณภาพของนักศึกษาที่ออกไป กับคุณภาพของกิจกรรมดนตรี ทำให้คนอื่นต้องมาดู

ซึ่งเชื่อว่า เมื่อครบ 200 ปี ก็น่าจะก้าวได้ทัดเทียมกับการศึกษาดนตรีในยุโรปแน่นอน

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image