งานศึกษาหนี้ครัวเรือน9.8ล้านล้าน ธปท.เผยคนไทยก่อหนี้เร็วก่อนอายุ25ปี

น.ส.โสมรัศมิ์ จันทรัตน์ หัวหน้ากลุ่มวิจัยสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยงานศึกษามุมมองหนี้ครัวเรือนไทย ผ่านบิ๊กดาต้าของเครดิตบูโร จากข้อมูลของสถาบันการเงิน 90 แห่ง (ไม่รวมสหกรณ์) ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2552 – เดือนกรกฎาคม 2559 พบว่า มียอดหนี้รวมกันถึง 9.8 ล้านล้านบาท จากบัญชีสินเชื่อกว่า 60.5 ล้านบัญชี และผู้กู้ทั่วประเทศ 19.3 ล้านราย คิดเป็น 1 ใน 3 ของประชากรทั้งประเทศ หรือเฉลี่ยรายละ147,068 บาท

ทั้งนี้ ลักษณะการก่อหนี้ของครัวเรือนไทย มีการกระจุกตัวสูง โดยผู้กู้รายใหญ่สุด10% มีหนี้รวมกันถึง 62.4% ของหนี้ในระบบทั้งหมด แต่แนวโน้มการกระจุกเริ่มลดลงเรื่อยๆ ส่วนปัญหาหนี้เสีย(เอ็นพีแอล) พบว่า1 ใน 5 ของคนไทยที่มีหนี้จะมีหนี้เสีย เฉลี่ยรายละ 56,529 บาท โดยตั้งแต่ปี 2552 เป็นต้นมา สัดส่วนของผู้กู้ที่มีหนี้เสียได้ลดลง ผิดกับปริมาณหนี้เสียรายคนเพิ่มขึ้น โดยกรุงเทพฯ ปริมณฑล และภาคกลาง เป็นภูมิภาคที่มีสัดส่วนของประชากรมีหนี้อยู่สูงสุด ขณะที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และใต้ มีปริมาณหนี้ต่อหัวมากที่สุด ส่วนหนี้เสียมากสุดในภาคใต้และภาคกลาง และน้อยที่สุดในภาคเหนือ

จากข้อมูล พบอีกว่า คนไทยมีหนี้ตั้งแต่อายุยังน้อย โดย1ใน 2 ของคนวัยเริ่มทำงานจะมีหนี้ และเป็นช่วงอายุที่มีสัดส่วนคนเป็นหนี้มากที่สุด โดยเกิน 1 ใน 5 ของกลุ่มนี้จะมีหนี้เสีย รวมทั้งคนไทยมีหนี้นาน โดยจะเห็นได้ว่าทั้งสัดส่วนของประชากรที่เป็นหนี้และปริมาณหนี้ต่อผู้กู้ไม่ได้ลดลงมากนัก ตั้งแต่เริ่มทำงานจนจะเกษียณหรือแม้แต่เมื่อเข้าสู่วัยชราประมาณ 20%ของคนกลุ่มอายุ 60-80 ปี ยังคงมีหนี้

เมื่อมองจากสัดส่วนของประชากรในแต่ละช่วงอายุที่มีหนี้ เห็นว่าลักษณะหนี้แต่ละช่วงอายุ ในสินเชื่อบ้านและบัตรเครดิต จะเริ่มมีหนี้เมื่อเข้าสู่วัยทำงาน หนี้เพิ่มขึ้นในวัยกลางคน และลดลงเมื่อใกล้วัยเกษียณ และพบว่า คนไทยมีสินเชื่อบางประเภทเร็วกว่าในต่างประเทศ อาทิ สินเชื่อส่วนบุคคล โดยคนไทยอายุน้อยกว่า 25 ปี มักจะมีสินเชื่อส่วนบุคคลก่อน ตามมาด้วยการเริ่มมีบัตรเครดิต และรถยนต์ เมื่อเข้าสู่วัยเริ่มทำงาน อายุ 25 – 35 ปี จะเริ่มมีสินเชื่อบ้านและหนี้อื่นๆ

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image