ทางสองแพร่งยุทธศาสตร์ชาติ โดย สมหมาย ปาริจฉัตต์

เป็นอันว่ากฎหมายสำคัญ 2 ฉบับ คือ พ.ร.บ.การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ และ พ.ร.บ.แผนและขั้นตอนการดำเนินการปฏิรูปประเทศ ผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติวาระสามแล้วเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2560 ให้ประกาศใช้บังคับเป็นกฎหมายต่อไป

ไม่ว่าใครจะมองต่างมุมอย่างไรว่ากฎหมายทั้งสองฉบับจะส่งผลให้ประเทศชาติบ้านเมืองเจริญก้าวหน้าไปสู่ประเทศพัฒนาแล้ว รายได้เฉลี่ยต่อหัวสูงกว่า 13,000 เหรียญสหรัฐต่อปี และก้าวไปสู่ประเทศไทยแลนด์ 4.0 หรือเห็นตรงกันข้ามว่าจะเป็นการจุดชนวนความขัดแย้งเกี่ยวกับทิศทาง และวิธีบริหารจัดการประเทศระหว่างภาครัฐที่เป็นผู้ควบคุมกำกับ กับภาคประชาชนก็ตาม

มุมมองของฝ่ายหลังนี้เห็นว่ากฎหมายทั้งสองฉบับจะทำให้บทบาทของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งถูกจำกัด ไม่ต่างจากถูกมัดตราสัง กระดิกกระเดี้ยไม่ได้ มีสภาพกลายเป็นเป็ดง่อย หากทำอะไรนอกเหนือ บิดเบี้ยว ผิดเพี้ยนไป หรือไม่ทำอะไรตามที่กฎหมายสองฉบับเขียนไว้มีโอกาสเป็นความผิดถูกลงโทษทางคดีความและทางการเมืองได้

ขณะที่ฝ่ายแรกเห็นว่าเพราะที่ผ่านมาการบริหารประเทศจะขึ้นอยู่กับแนวทางนโยบายของพรรคการเมือง ที่มักมองปัญหาระยะสั้นเฉพาะหน้า มีเป้าหมายทางการเมืองมุ่งสร้างคะแนนนิยมเพื่อผลประโยชน์ของผู้มีอำนาจในพรรคเป็นหลัก ทำให้ขาดยุทธศาสตร์ที่เกิดจากการมองปัญหาระยะยาวซึ่งมุ่งยึดประโยชน์ของชาติเป็นที่ตั้ง อีกทั้งเกิดความเปลี่ยนแปลงบ่อยทำให้นโยบายที่ดีขาดความต่อเนื่อง กระทบต่อผลประโยชน์ประเทศชาติและประชาชนโดยตรง

Advertisement

เหตุนี้จึงมีความจำเป็นต้องมีกฎหมายสองฉบับกำหนดแนวทาง หรือยุทธศาสตร์ในระยะยาวไว้ ไม่ว่าจะเกิดความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองขึ้นมา ทิศทางการบริหารจัดการประเทศเพื่อประโยชน์ของส่วนรวมยังคงต้องดำเนินต่อไป

เมื่อกฎหมายผ่านการพิจารณาเพื่อบังคับใช้แล้ว ต่อไปนี้จึงเป็นบทพิสูจน์ศักยภาพคนไทยและสังคมไทยครั้งสำคัญว่าจะสามารถจัดการกับความเห็นต่าง ความขัดแย้งทางความคิด และความขัดแย้งทางผลประโยชน์ได้ราบรื่นลงตัวหรือไม่ จะบริหารจัดการกลไกที่สร้างขึ้นมาใหม่ไปทางไหน

ระหว่างเป็นกลไกที่ทำให้เกิดความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาคราชการ ภาคการเมือง ภาคเอกชน ภาคประชาชน กับกลไกที่ทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างภาครัฐกับภาคการเมือง ภาคเอกชนและภาคประชาชน

Advertisement

ตั้งแต่คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ 1 คณะ คณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติคณะเดียวหรือหลายคณะ จนถึงคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ 11 ด้าน ด้านละไม่เกิน 13 คน ซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งมีวาระการดำรงตำแหน่ง 5 ปี

คณะกรรมการทั้งหมดนี้จะเกิดขึ้นตามลำดับนับตั้งแต่บัดนี้ คณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติจะต้องจัดทำร่างยุทธศาสตร์เบื้องต้นให้เสร็จภายใน 120 วัน นับแต่วันที่ได้รับแต่งตั้ง และส่งให้คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติพิจารณาและเสนอคณะรัฐมนตรีภายใน 30 วัน และ ครม.ต้องส่งให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติภายใน 30 วัน และ สนช.ต้องให้ความเห็นชอบภายใน 30 วัน

ส่วนคณะกรรมการปฏิรูปประเทศจะต้องดำเนินการให้เสร็จภายใน 90 วัน จากนั้นเสนอให้ที่ประชุมร่วมของคณะกรรมการปฏิรูปทุกคณะพิจารณา และเสนอให้คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติพิจารณาว่าแผนการปฏิรูปสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติหรือไม่ ภายใน 30 วันก่อนเสนอ ครม.ให้ความเห็นชอบ

จากโครงสร้างกลไกดังกล่าว นอกจากคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติซึ่งเป็นองค์กรสูงสุดแล้ว คณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติจะมีบทบาทสำคัญภายหลังจัดทำยุทธศาสตร์แล้วยังอยู่ทำหน้าที่ต่อคอยติดตาม เฝ้ามอง ใคร ข้าราชการ ส่วนราชการ ฝ่ายการเมือง องค์กรอิสระใดไม่ปฏิบัติตามยุทธศาสตร์ชาติ ให้รายงานต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อพิจารณาดำเนินการตามกฎหมายต่อไป

พิจารณาจากภารกิจที่แต่ละคณะต้องปฏิบัติตามกำหนดเวลาที่กฎหมายบัญญัติไว้นี้ ประเด็นพิจารณาจึงมีว่าจะทำอย่างไรไม่ให้รัฐบาลใหม่ที่มาจากการเลือกตั้งกลายเป็นสิ่งแปลกปลอม หรือแปลกแยกจากสิ่งที่กลไกอำนาจปัจจุบันจัดวางไว้ รวมถึงสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน ไม่กลายเป็นสิ่งแปลกปลอม หรือแปลกแยกเช่นเดียวกัน จากการที่ถูกกำกับโดยวุฒิสภา

ทำอย่างไรให้คณะผู้มีอำนาจชุดใหม่ยอมรับสิ่งที่คณะเดิมดำเนินการไว้ แทนที่จะมองเห็นว่าเป็นกับดัก แต่มองอีกด้านว่าเป็นเครื่องมือที่สามารถปรับปรุงแก้ไขได้ หากมีข้อเสนอใหม่ที่ดี มีเหตุผล มีความเป็นไปได้มากกว่า เพราะทันสมัยเข้ากับสถานการณ์ความเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยและโลกได้ดีกว่า

ทางออกต่อประเด็นปัญหานี้ก็คือ กระบวนการมีส่วนร่วมของสังคมทุกระดับ ทุกฐานะเศรษฐกิจ สังคม การเมือง นั่นเอง

นับแต่นี้ไป การชี้แจงข้อเท็จจริงเพื่อสร้างการรับรู้ ความรู้ ความเข้าใจให้กว้างขวางทั่วถึงในทุกขั้นตอนจึงเป็นสิ่งสำคัญ และจะส่งผลต่อความเป็นไปในทิศทางไหนระหว่างบวกกับลบเป็นอย่างยิ่ง

ตั้งแต่กระบวนการคัดเลือกผู้เข้ามามีส่วนร่วมในทุกขั้นตอน ต้องสะท้อนความเป็นตัวแทนทุกฝ่าย โดยเฉพาะฝ่ายเห็นต่าง ฝ่ายภาคประชาชน ทำให้การหาบทสรุปในแต่ละประเด็นเป็นเรื่องของการต่อสู้กันด้วยเหตุผลใครดีกว่า ไม่ใช่อำนาจที่เหนือกว่า

เพื่อทำให้ทิศทางยุทธศาสตร์ชาติเป็นไปอย่างที่ คุณมณเฑียร บุญตัน สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ยกเป็นประเด็นขึ้นมาทำให้มีการเขียนเพิ่มเติมในหลักการของกฎหมายว่า ทิศทางของยุทธศาสตร์ชาติควรเป็นไปเพื่อเสริมพลังอำนาจของประชาชนเป็นหลัก ไม่ใช่ภาครัฐหรือภาคราชการเป็นสำคัญ เพราะความเข้มแข็งของประชาชนต่างหาก คือคำตอบของความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืนของสังคมที่แท้จริง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image