คอลัมน์ เดือนหงายที่ชายโขง : ทายาทผู้อพยพขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย

ทุกวันนี้ถ้าคุณเดินเข้าไปในตลาดสด จะเห็นได้ว่าแม่ค้าพ่อค้าเริ่มเปลี่ยนหน้าไปจากเดิม รวมถึงสำเนียงการพูดจา ภาษา และกลุ่มเครือข่ายก็ต่างไปจากเดิมอย่างเห็นได้ชัด คือเป็นชาวพม่าบ้าง กัมพูชาบ้าง หรือแม้แต่คนขายโรตีหน้าตลาดยังเป็นแขกโรฮีนจา แทนที่พ่อค้าแม่ค้าคนไทยคนจีนเหมือนแต่ก่อน ความเปลี่ยนแปลงที่อยู่ต่อหน้านี้อาจทำให้หลายคนกังวลใจว่าจะถูกผู้อพยพแย่งงานหรืออาจมีปัญหาอาชญากรรมตามมา

อย่างไรก็ตาม การขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทยนับแต่ยุคอยุธยาก็ดำเนินมาเพราะผู้อพยพต่างชาติ ซึ่งเชื้อชาติผู้อพยพสำคัญ ได้แก่ จีน จาม และแขกเปอร์เซีย

ดังพบว่าในกระทรวงคลังมีกรมท่าซ้ายและกรมท่าขวา ทำหน้าที่ติดต่อค้าขายกับจีนและเปอร์เซียเป็นหน่วยงานใหญ่ และมีขุนนางเชื้อสายต่างชาติดำรงตำแหน่งโชฎึกราชเศรษฐีและจุฬาราชมนตรีเป็นคู่กัน สร้างความมั่งคั่งให้กรุงศรีอยุธยา รวมถึงจัดหาอาวุธยุทโธปกรณ์เพื่อป้องกันประเทศ ทั้งปืนใหญ่ ปืนยาว ม้าศึก มาโดยตลอด

เมื่อเข้าสู่สมัยรัตนโกสินทร์ คลื่นผู้อพยพจากจีนได้ทยอยเข้าสู่แผ่นดินไทยหลายระลอก ทั้งจากเหตุการณ์กวาดล้างผู้ต่อต้านราชวงศ์ชิงของเจ้าแผ่นดินแมนจู เหตุการณ์ปฏิวัติซินไห่ สงครามรุกรานจีนของญี่ปุ่น การปฏิวัติคอมมิวนิสต์และการหนีทุพภิกขภัย ทำให้จำนวนชาวจีนโพ้นทะเลในไทยเพิ่มสูงขึ้นจนถึงปัจจุบัน

Advertisement

คาดว่ามีชาวจีนโพ้นทะเลในไทย รวมถึงทายาทเชื้อสายจีนราว 9.39 ล้านคนในปี 2012 คิดเป็นกว่า 14% ของประชากรไทยทั้งหมด ถ้านับรวมผู้ที่มีเชื้อสายจีนบางส่วนอาจมากถึง 26 ล้านคน หรือ 40% ของประชากรไทย

การมีบทบาทอย่างสูงยิ่งในทางเศรษฐกิจและสังคมของชาวไทยเชื้อสายจีน ทำให้วัฒนธรรมเมืองและกิจกรรมเศรษฐกิจผูกพันกับวัฒนธรรมความเป็นจีนไปด้วย เช่น มีเทพเจ้า เจ้าแม่ พระโพธิสัตว์แบบพุทธมหายานของจีนเข้าร่วมกับพระพุทธรูปในวัดไทย งานฉลองเทศกาลแบบจีน เช่น งานงิ้ว งานตรุษจีนผสมเข้ากับงานประจำปีตามฤดูกาลของไทยดั้งเดิม

อย่างไรก็ตาม อิทธิพลของคนเชื้อชาติจีนในไทย ได้รับเอาเป็นส่วนหนึ่งของความเป็นไทยไปโดยปริยาย ภายหลังจากที่คนจีนสามารถเปลี่ยนสัญชาติเป็นคนไทยได้ในปี พ.ศ.2508 ที่พระราชบัญญัติสัญชาติฉบับใหม่บังคับใช้

Advertisement

เช่นเดียวกันกับชาวเวียดนามอพยพหรือเวียตเกี่ยว (Vit Kiu) ที่เข้ามามีบทบาททางเศรษฐกิจและสังคมสูงขึ้นในรอบยี่สิบปีที่ผ่านมา หลังจากรัฐบาลอนุญาตให้ชาวเวียตนามที่อพยพหนีภัยสงครามหลังปี พ.ศ. 2518 แปลงสัญชาติเข้าเป็นคนไทยได้ตามประกาศของกระทรวงมหาดไทยใน พ.ศ. 2535 และเป็นกำลังสำคัญของระบบเศรษฐกิจในต่างจังหวัด โดยเฉพาะจังหวัดริมชายแดนทางตะวันออกและตะวันออกเฉียงเหนือ

ผู้อพยพที่หนีภัยในประเทศของตนเองมาเพื่อแสวงหาโอกาสที่ดีกว่านั้น มักจะมีแรงขับดันและแรงจูงใจสูงที่จะเลื่อนระดับฐานะและความเป็นอยู่ของตัวเองให้ดีขึ้น และสร้างกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เข้มแข็ง ไม่ว่าจะเพื่อส่งเงินกลับไปเลี้ยงครอบครัวหรือเครือญาติในแผ่นดินเกิดของตัวเอง หรือเพื่อนำครอบครัวตัวมาอยู่ในประเทศใหม่

การมองผู้อพยพ แรงงาน ชาวพม่า ลาว กัมพูชา หรือแม้แต่โรฮีนจาและอุยกูร์ ในยุคปัจจุบันว่าเป็นภัยต่อความมั่นคงทั้งทางเศรษฐกิจและสังคมจึงไม่ใช่ทางออกเพียงทางเดียว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อประเทศไทยเข้าสู่ภาวะสังคมสูงวัย

เรายังต้องการแรงงานและคนทำงานเข้ามาขับเคลื่อนประเทศอย่างสร้างสรรค์และมีพลัง ซึ่งผู้อพยพอาจเป็นทางออกที่ดีและมีคุณภาพ หากเราเปิดใจเปิดรับ แก้ไขส่วนที่มีปัญหา และให้โอกาสให้งานผู้อพยพเหล่านั้น ได้รับการศึกษา การสาธารณสุข และความเป็นมิตรที่ดี เพื่อที่วันหนึ่งพวกเขาจะกลายเป็นคนไทย อยู่ในเมืองไทยใต้ร่มพระบรมโพธิสมภาร เช่นเดียวกับที่บรรพบุรุษของคนไทยส่วนใหญ่ในปัจจุบันเป็นมา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image