จุดพลุ ลูกใหม่ สร้างหอชมเมือง กับเสียงนก-เสียงกา

เป็นเรื่องใหม่ เปิดประเด็นใหม่

และทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์รอบใหม่

27 มิถุนายน พ.อ.อธิสิทธิ์ ไชยนุวัติ ผู้ช่วยโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลอนุมัติก่อสร้างหอชมเมืองกรุงเทพมหานคร บนที่ดินราชพัสดุแปลงหมายเลข กท.3257 เขตคลองสาน กรุงเทพมหานคร

หลังกระทรวงคมนาคมเสนอข้อยกเว้นให้เกิดโครงการพัฒนาดังกล่าว พร้อมทั้งให้มีการดำเนินการคัดเลือกเอกชนโดยไม่ใช้วิธีประมูล

Advertisement

เนื่องจากเป็นโครงการขนาดใหญ่ จึงต้องคำนึงถึงผลสัมฤทธิ์

และเพื่อหลีกเลี่ยงความล่าช้าในขั้นตอนการประมูล

โครงการนี้สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2559 ที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบสร้างหอชมเมืองตามนโยบายของรัฐบาล มูลค่าโครงการ 4,621 ล้านบาทเศษ

Advertisement

แบ่งเป็น ค่าการลงทุนก่อสร้าง 4,422 ล้านบาท และเป็นค่าที่ราชพัสดุ 198 ล้านบาทเศษ

โครงการดังกล่าวจะดำเนินการก่อสร้างโดย “มูลนิธิหอชมเมืองกรุงเทพมหานคร” ซึ่งเป็น “องค์กรเอกชน”

ได้ประเมินงบลงทุนไว้ที่ 4,621.47 ล้านบาท เป็นเงินตั้งต้นของมูลนิธิ 5 แสนบาท เงินกู้จากสถาบันการเงิน 2,500 ล้านบาท เงินบริจาคจากบริษัทเอกชนชั้นนำ 2,100 ล้านบาท

ประมาณการรายได้จากการจำหน่ายบัตรเข้าชม 1,054 ล้านบาท/ปี จากราคาตั๋วที่ 750 บาท/คน มีส่วนลดให้คนไทย 50%

และมีค่าใช้จ่ายปีละ 892 ล้านบาท จ่ายดอกเบี้ยปีละ 38 ล้านบาท

โดยรายได้หลังหักค่าใช้จ่ายต่างๆ จะนำไปบริจาคให้องค์กรสาธารณกุศลต่างๆ ตามวัตถุประสงค์ของมูลนิธิ

ทั้งนี้ รัฐบาลระบุวัตถุประสงค์ในการจัดทำโครงการว่าเพื่อเป็นต้นแบบน้อมนำศาสตร์พระราชาที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชได้พระราชทานไว้มาดำเนินการ

และจัดเป็นสถานที่ท่องเที่ยวแห่งใหม่ของไทย เป็นสัญลักษณ์สำคัญแห่งยุค

พร้อมทั้งเป็นต้นแบบก่อสร้างอาคารสูงซึ่งเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ด้วยการใช้เทคโนโลยีชั้นสูงและความรู้ทางการบริหารจัดการการออกแบบและวิศวกรรมอันล้ำสมัย

นอกจากนี้ ยังจัดให้นักเรียนนักศึกษาเข้าเรียนรู้ขั้นตอนการก่อสร้าง เพื่อยกระดับพื้นฐานทางปัญญาเยาวชนไทย

โดยมีเงื่อนไขสำหรับเอกชนที่เข้ามาจัดทำโครงการคือ ให้จัดทำแผนบริหารการสัญจร การรักษาสิ่งแวดล้อม การพัฒนาชุมชนในบริเวณใกล้เคียง และแผนรับมือการจราจร

แต่เนื่องจากโครงการนี้มีมูลค่าเกินกว่า 1,000 ล้านบาท

และเป็นการนำที่ดินของรัฐเข้าไปร่วมดำเนินการโดยตีราคาค่าเช่าระยะ 30 ปี เป็นเงินร่วมลงทุนกับเอกชน

จึงจำเป็นต้องดำเนินการตามพระราชบัญญัติการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ.2556

เสียงวิจารณ์ที่ตามมาโดยพลันก็คือ

มีความจำเป็นมากน้อยเพียงใดที่จะต้องเร่งรัดดำเนินโครงการดังกล่าวในช่วงเวลานี้

และการเปิดให้เอกชนเพียงบางรายเข้ามาดำเนินการ โดยไม่ต้องมีการแข่งขัน จะมีความโปร่งใสมากน้อยเพียงใด

และดูเหมือนเสียงวิจารณ์นี้จะลอยไปเข้าหู พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อย่างรวดเร็ว

หนึ่งวันหลังจากการประชุมคณะรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรีต้องให้สัมภาษณ์ในเรื่องดังกล่าวว่า

ไม่ได้เป็นการใช้งบประมาณของรัฐบาล จึงขอสื่อมวลชนชี้แจงให้ประชาชนเข้าใจ

สิ่งที่ทำเป็นโครงการที่เสนอขึ้นมา มีการจัดตั้งคณะกรรมการ รวมถึงมีการพิจารณามานานแล้ว

ซึ่งรัฐบาลมองเห็นประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นในการเป็นสัญลักษณ์ของกรุงเทพมหานคร ซึ่งได้ทำเป็นหอชมเมืองให้ประชาชนขึ้นไปชม โดยภายในเป็นพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ชาติไทย และสถาบัน

“ไม่ใช่เรื่องธุรกิจ รัฐบาลเห็นว่าความมีส่วนร่วมกับเขา เขามีส่วนร่วมกับเรา รัฐบาลไม่ต้องออกเงิน ก็หาที่ตรงนั้น

“จริงๆ เป็นที่ต้องใช้ประโยชน์อยู่แล้ว ก็มีโยกสลับที่ไปจัดหาที่ใหม่ให้ เพื่อเอาที่ตรงนี้ทำให้เกิดประโยชน์

“จะต้องดูแบบนี้ ดูว่ามันไม่ได้เอื้อประโยชน์

“ถ้ามองแบบนี้มันก็เอื้อประโยชน์ทั้งหมด สร้างตรงนี้ไปเอื้อตรงโน้น

“มองแบบนี้ก็ไม่ต้องเกิดอะไรขึ้นทั้งสิ้น”

ประเด็นก็คือเมื่อชี้แจงแล้ว จะโน้มน้าวใจผู้รับฟังได้หรือไม่

ยังต้องรอดู

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image