แนวทางการประยุกต์ใช้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน โดย:กฤษณ์สัมพันธ์ เมนะสูต

 

ตอนที่ 2 ระดับของเศรษฐกิจพอเพียง และการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปสู่การปฏิบัติในระดับบุคคลและครอบครัวและชุมชน


ะดับของเศรษฐกิจพอเพียง
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงเตือนสติประชาชนให้มีความพอเพียง พออยู่พอกิน พอดีพอเหมาะตามอัตภาพ โดยทรงชี้ให้เห็นว่าความพอมี พอกิน พอใช้ ของประชาชนเป็นจุดที่ควรเริ่มต้นก่อน และเมื่อมีพื้นฐานมั่นคงแล้ว จึงสร้างความเจริญและฐานทางเศรษฐกิจที่สูงขึ้น ซึ่งหมายถึงการทำให้ประชาชน พอมี พอกิน เพื่อเป็นการสร้างพื้นฐานที่เข้มแข็งก่อนที่จะพัฒนาในด้านอื่นๆ ต่อไป

ความพอเพียงในนิยามของปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง มิได้หมายความเพียงแค่บุคคลพึ่งตนเองได้ (Self Sufficiency) แต่เศรษฐกิจพอเพียง หรือ Sufficiency Economy มีความหมายกว้างมากกว่า เพราะเศรษฐกิจพอเพียงเป็นแนวทางสำหรับปรับใช้ได้ทุกคน เศรษฐกิจพอเพียงไม่ใช่การหยุดอยู่กับที่ แต่เศรษฐกิจพอเพียงใช้ได้ทั้งกับกลุ่มบุคคล และชุมชน โดยมีความเป็นพลวัต (Dynamism) สามารถพัฒนาได้ตามเหตุผลให้เหมาะสมกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปได้ โดยสรุป เศรษฐกิจพอเพียงมี 3 ระดับ คือ

Advertisement

ระดับที่หนึ่ง – เป็นเศรษฐกิจพอเพียงแบบพื้นฐานที่เน้นความพอเพียงในระดับบุคคลและครอบครัว คือ การที่บุคคลและสมาชิกในครอบครัวมีความพอประมาณในการกิน มีอาหารที่เพียงพอในการบริโภคของตนเองและครอบครัว สามารถสนองความต้องการพื้นฐานหรือปัจจัยสี่ของครอบครัวได้ มีความเป็นอยู่และคุณภาพชีวิตที่ดีที่ไม่บริโภคนิยม ใช้สติปัญญาในการดำรงชีวิต ไม่ประมาท รู้จักพึ่งตนเองและแบ่งปัน ช่วยเหลือคนในครอบครัว และคนอื่นๆ

ระดับที่สอง – เป็นเศรษฐกิจพอเพียงแบบก้าวหน้า คือ ยกระดับความพอเพียงที่มีการรวมตัวกันเป็นกลุ่มหรือทั้งชุมชน โดยมีการร่วมคิดร่วมทำและร่วมมือกัน เพื่อช่วยเหลือต่อส่วนรวม รักษาผลประโยชน์ภายในชุมชนและส่วนรวม มีการเรียนรู้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นซึ่งกันและกัน มีการจัดการและแก้ไขปัญหาร่วมกันของคนในชุมชน โดยมุ่งเน้นความสามัคคีและสร้างความเข้มแข็งในชุมชน

ระดับที่สาม – เป็นเศรษฐกิจพอเพียงแบบก้าวไกล โดยมีความร่วมมือกันสร้างเป็นเครือข่าย ที่เน้นความร่วมมือระหว่างชุมชน กลุ่ม องค์กรและภาคธุรกิจเอกชน หรือกิจกรรม หรือธุรกิจภายนอกกลุ่ม โดยมีการประสานงานเพื่อให้ได้รับประโยชน์ร่วมกันทุกฝ่าย

Advertisement

การน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปสู่การปฏิบัติ

ทุกคนสามารถนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง มาเป็นหลักปฏิบัติและประยุกต์ใช้ในการดำเนินชีวิตได้ โดยต้อง “ระเบิดจากข้างใน” คือ การมีจิตสำนึก มีความศรัทธา มีความเชื่อมั่น เห็นคุณค่า และนำไปปฏิบัติด้วยตนเอง แล้วจึงขยายไปสู่ครอบครัว ชุมชน เกษตรกร/กลุ่มเกษตรกร โรงเรียน/สถาบันการศึกษา องค์กรหรือหน่วยงานของรัฐ ภาคธุรกิจเอกชน สังคมและประเทศชาติต่อไป

แนวทางการประยุกต์ใช้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในระดับบุคคลและครอบครัว

ผู้นำไปประยุกต์ใช้ต้องสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและต้องให้คนในครอบครัวเป็นผู้ประเมินให้ว่ามีความก้าวหน้าในการปรับตัวเข้าสู่วิถีชีวิตพอเพียงมากน้อยเพียงใด (เพื่อไม่ให้เข้าข้างตัวเอง) สำหรับแนวทางในการประยุกต์ใช้หลักปรัชญาฯ ในระดับบุคคลและครอบครัว มีดังนี้

1) ความพอประมาณ หมายถึง ความพอดีที่ไม่มากและไม่น้อยจนเกินไป ไม่สุดโต่ง มีการทำบัญชีรายรับรายจ่ายของตนเอง และครอบครัว หรือบัญชีครัวเรือน มีการวางแผนในการหารายได้และจัดสรรรายจ่ายตามความจำเป็นและเหมาะสม ไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น เช่น มีการผลิตและบริโภคที่พอประมาณ ไม่บริโภคนิยม เป็นต้น

2) ความมีเหตุผล หมายถึง การใช้หลักเหตุผลในการตัดสินใจเรื่องต่างๆ โดยพิจารณาจากเหตุปัจจัยที่เกี่ยวข้องและคาดว่าจะเกิดขึ้นอย่างรอบคอบ การมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ และไม่ใช้อารมณ์

3) การมีภูมิคุ้มกันที่ดี หมายถึง การเตรียมตัวให้พร้อมรับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงรอบตัวและทันโลก ด้านการเงินมีการออมในครัวเรือน ปลอดอบายมุขทั้งปวง มีสุขภาพใจและกายที่ดี สร้างความอบอุ่นในครอบครัว หารายได้เสริมเพื่อลดความเสี่ยง

4) การมีคุณธรรมและความรู้เป็นพื้นฐาน รู้จักเสียสละ แบ่งปันให้ผู้อื่นไม่ว่าจะเป็นเงินทองหรือทรัพย์สินตามอัตภาพ หรือบริจาคแรงงาน มีการขวนขวายหาความรู้ ใช้หลักวิชาการ และนำความรู้มาใช้ประโยชน์ในการประกอบอาชีพหรือในครอบครัว มีความขยันหมั่นเพียร ซื่อสัตย์สุจริต อดทน การมุ่งต่อประโยชน์ส่วนรวมเป็นที่ตั้ง มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้

และทำกิจกรรมเศรษฐกิจพอเพียง นำภูมิปัญญาท้องถิ่นมาใช้และการทำงานที่เป็นแบบอย่างที่ดีแก่คนทั่วไปและในสังคม

แนวทางการประยุกต์ใช้เศรษฐกิจพอเพียงในระดับชุมชน

1.ชุมชนเศรษฐกิจพอเพียง หมายถึง ชุมชนที่สมาชิกของชุมชนรวมตัวกันตั้งแต่ 10 ครัวเรือนขึ้นไป สามารถพึ่งตนเองได้ มีความสามัคคี รวมกลุ่มกันทำกิจกรรมต่างๆ ที่สร้างประโยชน์สุขให้กับชุมชน โดยส่วนรวม

2.ในการดำเนินกิจกรรมตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของชุมชน ควรดำเนินการในรูปของคณะกรรมการของชุมชนและคณะกรรมการดังกล่าวควรมีหน้าที่ในการกำกับ การดำเนินงาน และการประเมินบทบาทของชุมชนในเรื่องความสัมฤทธิผลของการเป็นชุมชนเศรษฐกิจพอเพียงอีกด้วย

3.แนวทางในการประยุกต์ใช้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในระดับชุมชน มีประเด็นสำคัญที่ควรดำเนินการ ดังนี้

3.1 ในภาพรวมในชุมชนหรือหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง ควรมีครอบครัวหรือครัวเรือนที่ดำเนินชีวิตตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงอย่างน้อยไม่ต่ำกว่าร้อยละ 50 หรือระดับปานกลาง

3.2 การดำเนินงานของชุมชนตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง มีประเด็นสำคัญ ดังนี้

1) ความพอประมาณ
ให้มีการผลิตเพื่อบริโภคในชุมชน หากมีเหลือจึงจำหน่าย/วิเคราะห์ศักยภาพของชุมชน แล้วปฏิบัติตามหลักการพึ่งตนเอง โดยใช้ทรัพยากรภายในชุมชนเพื่อพัฒนาชุมชน/มีการวางแผนค่าใช้จ่ายและจัดสรรค่าใช้จ่ายเพื่อการพัฒนาชุมชนอย่างเหมาะสม

2) ความมีเหตุผล

สมาชิกของชุมชนมีส่วนร่วมในการศึกษาวิเคราะห์สภาพเศรษฐกิจและสังคมของชุมชน/สมาชิกของชุมชนมีส่วนร่วมคิด ร่วมวางแผน โดยคำนึงถึงผลลัพธ์และผลกระทบ วิเคราะห์ปัญหาและอุปสรรคในการพัฒนา ร่วมดำเนินการและร่วมติดตามและประเมินผล/ชุมชนรู้จักใช้และจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างฉลาด รอบคอบ โดยเลือกใช้ทรัพยากรที่คำนึงถึงความยั่งยืน สมดุล และความสงบสุขในสังคม

3) การมีภูมิคุ้มกันที่ดี

การสนับสนุนให้ครอบครัวและครัวเรือนทุกบ้านมีการทำบันทึกหรือบัญชีรายรับรายจ่าย หรือบัญชีครัวเรือนอย่างสม่ำเสมอ/การสนับสนุนให้ครอบครัวหรือครัวเรือนมีการออมเงิน เพื่อรองรับความจำเป็นฉุกเฉินหรืออุบัติภัยต่างๆ/การส่งเสริมให้ชุมชนมีการแบ่งปันกันและช่วยเหลือกันในชุมชน โดยการทำเป็นเครือข่ายความช่วยเหลือและการประกอบอาชีพต่างๆ ในชุมชน/การส่งเสริมให้ชุมชน รวมกลุ่มเป็นจิตอาสา หรืออาสาสมัคร เพื่อช่วยเหลือกันในชุมชน/การส่งเสริมให้ชุมชนมีการออกกำลังกายและเข้าถึงบริการสุขภาพที่ดีทั้งของชุมชนและของรัฐ เมื่อยามเจ็บป่วย/ชุมชนมีการจัดการและจัดทำแผนปฏิบัติการเพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เช่น การปลูกป่า การมีระบบจัดการขยะที่ดี เป็นต้น / ชุมชนมีความหลากหลายในการผลิตทั้งอาชีพหลัก อาชีพรอง การตลาดหลักและการตลาดรอง เพื่อลดความเสี่ยง/ชุมชนมีกิจกรรมสร้างงานและสร้างรายได้ในชุมชน/ชุมชนมีการจัดตั้งองค์กรและกองทุนเพื่อช่วยเหลือสมาชิกและสวัสดิการต่างๆ แก่คนในชุมชน

เช่น กองทุนสัจจะออมทรัพย์ กองทุนฌาปนกิจสงเคราะห์กันในชุมชน เป็นต้น ฯลฯ

4)การสร้างองค์ความรู้ในชุมชน

ชุมชนมีการใช้หลักวิชาการในการดำเนินโครงการและกิจกรรมของชุมชน โดยมีการเผยแพร่ความรู้ภายในชุมชน/ชุมชนมีการจัดเวทีประชาคมและจัดให้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันภายในชุมชน/ชุมชนมีศูนย์เรียนรู้ของชุมชน รวมทั้งศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง/ชุมชนมีการใช้ภูมิปัญญาของคนในชุมชน เพื่อการพัฒนาของชุมชน มีการถ่ายทอดองค์ความรู้และประสบการณ์การดำเนินชีวิตและการประกอบอาชีพจากผู้รู้ให้แก่คนในชุมชน/ชุมชนมีการพึ่งตนเอง โดยความร่วมมือร่วมใจของคนในชุมชน เพื่อการพัฒนาชุมชน/ชุมชนมีการจัดทำแผนพัฒนาของชุมชนและสมาชิกมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวาง

5) การยึดหลักคุณธรรมในชุมชน

มีผู้นำชุมชนที่เข้มแข็งและมีสัมพันธ์ที่ดีต่อสมาชิกในชุมชน/สมาชิกในชุมชน ให้ความร่วมมือและช่วยเหลือซึ่งกันและกัน/สมาชิกในชุมชน ยึดหลักปฏิบัติที่กำหนดร่วมกันอย่างเคร่งครัด/ชุมชนมีการพัฒนาวัดหรือศาสนสถานในชุมชน

หรือจัดให้มีแหล่งเรียนรู้ด้านคุณธรรมและจริยธรรมในชุมชน/ชุมชนมีการขยายผลเรื่องการประยุกต์ใช้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงให้แก่ชุมชนอื่นๆ และร่วมมือเป็นเครือข่าย

(มีต่อตอนที่ 3)

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image