เพาะเมล็ดพันธุ์ทุนมนุษย์ กับการเดินหน้าประเทศไทย 4.0 โดย:รัฐพงศ์ บุญญานุวัตร

ภายหลังที่รัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศโดยเฉพาะการสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจแนวใหม่ด้วยการผลักดันให้ก้าวไกลสู่ 4.0

ปัจจัยที่สำคัญในการผลักดันให้นโยบายของรัฐบาลประสบความสำเร็จซึ่งจะส่งผลดีต่อประเทศชาติโดยรวมคือ “คน” คนได้ชื่อว่าเป็นสัตว์ที่ประเสริฐ ซึ่งนักวิชาการทั่วโลกได้ศึกษาวิจัยแล้วพบว่าคนเป็นทรัพยากรที่สำคัญ เพราะการพัฒนาหรือการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ใดก็ตามล้วนแล้วต้องเริ่มที่คนทั้งสิ้น

วันนี้โลกกำลังอยู่ในการแข่งขันและเข้าสู่ยุคดิจิทัลอย่างเต็มตัว ทุกประเทศต่างเร่งในการพัฒนาคนสายพันธุ์ใหม่เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลง ในขณะที่การบริหารจัดการประเทศหรือองค์กร ต่างเชื่อว่าคนเป็นทรัพยากรมนุษย์ที่มีพลังความสำคัญ โดยเฉพาะการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์เพื่อการพัฒนา องค์กรและประเทศจึงจำเป็นต้องอาศัยบุคลากรหรือคนที่มีความเชี่ยวชาญ มีประสบการณ์ในแต่ละสาขาวิชาหรือศาสตร์ต่างๆ ที่จำเป็น

การบริหารประเทศเพื่อนำพาไปสู่เป้าหมายที่คาดหวัง ผู้นำจึงจำเป็นที่จะต้องคัดสรรบุคคลที่มีคุณสมบัติที่สามารถตอบโจทย์ประเทศได้ เฉกเช่นเป็นพลังหรือเครือข่ายที่จะสนับสนุนพันธกิจของรัฐบาลให้เป็นไปตามแผนยุทธศาสตร์ได้คือ บุคลากรในองค์กรภาครัฐและเอกชน ตลอดจนประชาชนทุกภาคส่วน

Advertisement

เมื่อประเทศและองค์กรจำเป็นที่จะต้องก้าวไปสู่ทิศทางอนาคตแห่งการเปลี่ยนแปลงโดยเฉพาะการเข้าสู่ 4.0 ประเทศและองค์กรจำเป็นที่จะต้องบริหารจัดการคนหรือทรัพยากรมนุษย์ให้มีคุณภาพพร้อมที่จะเดินหน้าและเข้าใจในบริบทต่างๆ ของโลก

กลยุทธ์ในการบริหารจัดการทรัพยากรมนุษย์ในโลกของการแข่งขันหรือโลกยุคดิจิทัลอาจจะมีความแตกต่างจากการบริหารจัดการในอดีต และที่สำคัญวันนี้ยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศจำเป็นต้องอาศัยคนหรือทรัพยากรมนุษย์แห่งอนาคตที่มีความพร้อม มีความสมบูรณ์ เป็นพลเมืองที่สามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง เป็นคนที่ความตื่นรู้ มีจิตสาธารณะ และทำประโยชน์ต่อส่วนรวม เป็นพลเมืองไทย พลเมืองอาเซียน และพลเมืองโลกที่แท้จริง

ต้นทางของการพัฒนาเพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงคือการสร้างผู้นำแห่งการเปลี่ยนแปลง ประเทศไทยในศตวรรษที่ 21 การเดินหน้าประเทศเพื่อการพัฒนาก้าวสู่ 4.0 วันนี้ สิ่งที่ท้าทายรัฐบาลหรือผู้นำประเทศ

Advertisement

คำถามที่ตามมาคนไทยพร้อมหรือยัง ผู้บริหารการเปลี่ยนแปลงมีมากน้อยแค่ไหน หน่วยงานราชการซึ่งถือได้ว่าเป็นมือไม้ที่สำคัญของรัฐบาล ระบบการบริหารจัดการ กฎระเบียบ ตลอดจนการพัฒนาคนมีความพร้อมและทันต่อโลกในศตวรรษนี้ได้มากน้อยแค่ไหน

เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2560 ที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาลในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการพัฒนาทักษะด้านดิจิทัลสำหรับข้าราชการและบุคลากรภาครัฐ (Digital Government Skill Development) ระหว่างสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน สำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ และสถาบันพัฒนาคุณวุฒิวิชาชีพเพื่อจัดทำแผนพัฒนาทักษะด้านดิจิทัลให้บุคลากรภาครัฐเตรียมพร้อมรัฐบาลดิจิทัลยุคใหม่ ความตอนหนึ่งว่า “การจะขับเคลื่อนรัฐบาลดิจิทัลได้คือต้องบูรณาการจาก 3 ส่วน คือ ข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่ แผนงานหรือแผนยุทธศาสตร์ และการบริหารจัดการคือการดำเนินการด้านงบประมาณ ต้องคำนึงถึงภารกิจหลักและภารกิจรองไปพร้อมกัน ประเด็นสำคัญคือต้องปรับความคิดข้าราชการให้เป็น ‘ผู้นำการเปลี่ยนแปลง’ นำระบบดิจิทัลมาเสริมการทำงาน ข้าราชการมีหน้าที่ที่จะต้องพัฒนาตนเองเพื่อให้สามารถปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ต้องเรียนรู้ตลอดชีวิตและต้องทันสมัย โดยคำนึงถึงการทำงานระหว่างคนรุ่นใหม่ รุ่นเก่า ที่จะต้องเตรียมพร้อมและก้าวเดินไปด้วยกัน” การกล่าวของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในครั้งนั้นเป็นการส่งสัญญาณให้สังคมไทยโดยเฉพาะข้าราชการหรือผู้บริหารองค์กรภาครัฐให้เห็นว่า ถึงเวลาและจำเป็นที่จะต้องปรับตัวเพื่อการเป็นทรัพยากรบุคคลภาครัฐเพื่อการเปลี่ยนแปลงที่ทรงคุณค่าแห่งอนาคต

ในขณะเดียวกันการผลักดันให้ข้าราชการมีส่วนร่วมและเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการเดินหน้าประเทศไทยก้าวสู่ 4.0 ตามแผนยุทธศาสตร์ชาตินั้น สอดคล้องกับการที่นายกรัฐมนตรีได้กล่าวในการเป็นประธานการประชุมเปิดหลักสูตรการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และความสามัคคีปรองดอง หรือ ป.ย.ป.

ตอนหนึ่งความว่า “ขอให้ข้าราชการตระหนักถึงความสำคัญของตนเองว่ามีหน้าที่ในการบริหารและวางรากฐานประเทศ สร้างความเข้มแข็งให้เกิดความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน และไม่ทิ้งประชาชนไว้เบื้องหลัง ข้าราชการถือเป็นตัวแปรสำคัญ มีหน้าที่เป็นสะพานให้ประชาชนข้ามผ่านอุปสรรคดังแม่น้ำเชี่ยวกราก”

ในขณะเดียวกันการสร้างหรือพัฒนาเมล็ดพันธุ์ทุนมนุษย์ให้มีความพร้อมรองรับการเปลี่ยนแปลง นักพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในยุคดิจิทัลเชื่อว่า คนหรือผู้ที่ผ่านการพัฒนาเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงจะมองเห็นถึงโอกาสของการปรับตัวเพื่อให้ทันยุคทันสมัย ดังนั้นการที่ผู้นำหรือผู้มีหน้าที่ในการบริหารจัดการองค์กรหรือประเทศทราบวิธีการค้นหาการเปลี่ยนแปลงที่ถูกต้อง รวมทั้งวิธีที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงอย่างมีประสิทธิผลทั้งภายในและภายนอกองค์กรได้แก่ นโยบาย และการคาดการณ์ถึงการเปลี่ยนแปลงด้านนโยบายในการสร้างสมดุลระหว่างการเปลี่ยนแปลงกับความต่อเนื่อง

ทั้งนี้เพราะนโยบายการสร้างสิ่งใหม่อย่างเป็นระบบ สามารถสร้างจิตสำนึกในองค์กรในฐานะผู้นำการเปลี่ยนแปลง อีกทั้งทำให้องค์กรมองเห็นว่าการเปลี่ยนแปลงคือโอกาสที่เกิดขึ้นใหม่ภายใต้บทบาทสำคัญ อาทิ การทำความรู้จักกับการเปลี่ยนแปลง, การสร้างความเปลี่ยนแปลง, การเป็นตัวแทนการเปลี่ยนแปลง, การเป็นนักคิด, การบริหารแบบประชาธิปไตย, การเป็นผู้ประสาน, การประนีประนอม, การประชาสัมพันธ์ และการประชาสงเคราะห์ เป็นต้น

โมเดลการพัฒนาเพื่อการขับเคลื่อนประเทศไทยให้มีความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน สู่ไทยแลนด์ 4.0 ตามนโยบายรัฐบาลจะสำเร็จได้นั้น ปัจจัยที่สำคัญในอีกหนึ่งมิติคือ การยกระดับคุณค่ามนุษย์ ให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ในศตวรรษที่ 21 ควบคู่ไปกับการเป็นคนไทย 4.0 ในโลกแห่งปัจจุบันและอนาคต ตัวชี้วัดที่สำคัญ เช่น ดัชนีการพัฒนามนุษย์ (HDI) จาก 0.722 ในปี พ.ศ.2556 หรืออันดับที่ 89 เป็น 0.80 หรือ 50 อันดับแรกภายใน 10 ปี รวมทั้งยกระดับคุณภาพฝีมือแรงงานให้สอดคล้องกับความต้องการและทิศทางการพัฒนาประเทศ จำนวน 500,000 คน ภายใน 5 ปี มหาวิทยาลัยไทยติด 100 อันดับแรกของโลก จำนวน 5 สถาบัน ภายใน 20 ปี และนักวิทยาศาสตร์ไทยได้รับรางวัล Noble Prize อย่างน้อย 1 ราย ภายใน 20 ปี ซึ่งโมเดลดังกล่าวอาจจะไกลเกินฝัน แต่ถ้าพลังของทรัพยากรมนุษย์ในภาครัฐและเอกชนทุ่มเท พร้อมใจในการเดินหน้าอย่างแท้จริง เชื่อว่าโอกาสแห่งอนาคตจะปรากฏให้เห็นในเร็ววัน

รายงานวิจัยซึ่งเป็นผลผลิตของนักวิชาการแห่งการเปลี่ยนแปลงได้มีการศึกษาเกี่ยวกับการขับเคลื่อนการพัฒนาทุนมนุษย์ไว้น่าสนใจหลายประการ โดยเฉพาะการสร้างให้คนไทยสู่ 4.0 พบว่าจำเป็นที่จะต้องกำหนดให้เป็นวาระแห่งการพัฒนาที่เปรียบเสมือนการเตรียมเมล็ดพันธุ์ใหม่ ด้วยการบ่มเพาะคนไทยให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ในศตวรรษที่ 21 ควบคู่ไปกับการพัฒนาคนไทย 4.0 สู่โลกแห่งอนาคต
งานวิจัยยังพบว่าคุณลักษณะของคนไทยที่สมบูรณ์ในยุคดิจิทัลมีพลังที่จะมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์เพื่อการพัฒนาชุมชน สังคม และประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ ควรเป็นผู้ที่มีปัญญาเฉียบแหลม (Head) มีทักษะที่เห็นผล (Hand) มีสุขภาพที่แข็งแรง (Health) และมีจิตใจที่งดงาม (Heart)

อย่างไรก็ตาม การที่ชุมชน สังคม และประเทศจะก้าวสู่การพัฒนาเทียบเคียงได้กับชาติที่เจริญแล้ว รากฐานหรือต้นทางที่สำคัญต้องเริ่มจาก “คนไทยทุกคน” ซึ่ง “คนไทย” เหล่านี้จะเป็นพลังในการเสริมสร้างคุณภาพและความเข้มแข็งให้กับสังคมในทุกมิติ และเมื่อคนไทยมีคุณภาพก็จะสามารถลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมได้พร้อมกันนั้นหากคนไทยมีค่านิยมเพื่อการเปลี่ยนแปลงบนพื้นฐานแนวคิดของการรู้จักเติม รู้จักพอ และรู้จักปัน การเข้าสู่ไทยแลนด์ 4.0 จึงเป็นเรื่องที่มองเห็นได้ในเวลาอันรวดเร็ว

การเติมในสิ่งที่จำเป็น เติมในสิ่งที่ต้องการ เติมให้เต็ม เพื่อความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน บนพื้นฐานของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงจะเป็นแรงผลักที่สำคัญให้คนไทยหรือเมล็ดพันธุ์ใหม่ทุกภาคส่วนพร้อมที่จะเดินหน้านำพาประเทศไปเคียงคู่กับนโยบายแห่งรัฐ

การวางรากฐานแห่งการเปลี่ยนแปลงเพื่อการพัฒนาคนหรือทุนมนุษย์ให้เป็นไปตามยุทธศาสตร์ชาติ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการขับเคลื่อนสนับสนุนจากองค์กรหลักของภาครัฐหน่วยงานแรกที่สำคัญที่สุดคงหนีไม่พ้นกระทรวงศึกษาธิการ เพราะเป็นหน่วยงานหลักในการวางรากฐานการพัฒนาคนตั้งแต่ระดับปฐมวัยจนถึงอุดมศึกษาเพื่อนำไปสู่การสร้างงานและสร้างชาติ

อย่างไรก็ตาม ความหวังความศรัทธาของประชาชนที่มีต่อหน่วยงานนี้ในรอบหลายปีที่ผ่านมา พบว่าการพัฒนาการศึกษาบ้านเรายังตกอยู่ในวังวนและเป็นความหวังแห่งปลายอุโมงค์ ซึ่งอาจจะเนื่องมาจากนโยบายตลอดจนทิศทางการปฏิรูปการศึกษายังไม่สามารถตอบโจทย์ได้อย่างชัดเจน โดยเฉพาะเมื่อเปลี่ยนผ่านรัฐบาล เปลี่ยนรัฐมนตรี ไอเดียหรือวิสัยทัศน์ใหม่ที่เกิดขึ้นย่อมที่จะส่งผลกระทบรากฐานเดิมที่คนเก่าก่อไว้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

กระทรวงศึกษาธิการพร้อมไปด้วยอำนาจที่ซ่อนอยู่ในระบบขององค์กรภาครัฐซึ่งเปี่ยมล้นไปด้วยคน เงิน และอำนาจแห่งกฎหมาย แต่ในบางครั้งกลับไม่สามารถพัฒนาการศึกษาให้มีทิศทางแห่งอนาคตที่ชัดเจนได้อย่างประเทศที่เจริญแล้ว เช่น ฟินแลนด์หรือสิงคโปร์ เป็นต้น ในประเด็นนี้คนในกระทรวงศึกษาธิการและรัฐบาลต่างรู้ดีว่าการจะเกาให้ถูกที่คันเพื่อผลักดันการพัฒนาคนให้เป็นความหวังของคนในชาติได้คือ การปฏิรูปการศึกษา แต่สิ่งสำคัญของการปฏิรูปที่จะนำไปสู่ความสำเร็จได้นั้นต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่องและชัดเจน

วันนี้หากสังคมไทยมีจุดยืนและเป้าเป็นหนึ่งเดียวกัน การที่จะผลักดันแนวคิดการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมให้ประเทศไทยก้าวสู่ 4.0 อย่างเร็ววันและมีทิศทางอนาคตที่ชัดเจน คงถึงเวลาที่ผู้นำประเทศตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะรัฐบาลแห่งอนาคตที่จะเข้าสู่การเลือกตั้งในปี 2561 จำเป็นต้องวางรากฐานการเพาะเมล็ดพันธุ์ทุนมนุษย์ที่ชัดเจน พร้อมทั้งกำหนดพิมพ์เขียวการพัฒนาอันเป็นความหวังที่ทันต่อการเปลี่ยนแปลงและการแข่งขันในยุคดิจิทัลอย่างแท้จริง

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image