นักวิชาการจุฬาฯมองนโยบายการเงินไทยโปร่งใสได้อีก ธปท.เล็งปรับปรุงโครงสร้างสื่อสารทั้งระบบ

พงศ์ศักดิ์ เหลืองอร่าม - วราพงศ์ วงศ์วัชรา

นายพงศ์ศักดิ์ เหลืองอร่าม อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า ไทยได้ดำเนินนโยบายการเงินภายใต้กรอบเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อจากเดิมที่ใช้อัตราแลกเปลี่ยนคงที่มากว่า 17 ปี นอกจากการดูแลเงินเฟ้อให้เป็นไปตามเป้าหมาย ปัจจัยสำคัญที่ผู้วางนโยบายต้องคำนึงถึงเสมอ คือ ความโปร่งใส การสื่อสารต่อสาธารณะ และความรับผิดชอบ ซึ่งเป็นปัจจัยเชิงสถาบันที่จะทำให้ธนาคารกลางมีความน่าเชื่อถือ โดยความโปร่งใสในการทำนโยบายการเงินสอดคล้องกับระดับการเปิดเผยข้อมูลของธนาคารกลางในการตัดสินใจนโยบายการเงิน ทั้งวัตถุประสงค์ ข้อมูลที่ใช้ในการตัดสินใจ ความโปร่งใสของกระบวนการตัดสินใจ และการนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติ ซึ่งจากการศึกษา พบว่าไทยได้คะแนนอยู่ที่ 10.0 คะแนน จากคะแนนเต็มที่ 15 คะแนน ซึ่งถือเป็นประเทศที่มีคะแนนสูงที่สุดในอาเซียน ขณะที่ค่าเฉลี่ยคะแนนของประเทศอาเซียนอยู่ที่ 6-7 คะแนน สำหรับประเทศที่มีคะแนนความโปร่งใสสูงที่สุด คือ สวีเดน ได้คะแนนเต็ม 15 คะแนน รองลงมา คือ สาธารณรัฐเช็ก 14.5 คะแนน และนิวซีแลนด์ 14.0 คะแนน ฮังการี 13.5 คะแนน และอิสราเอล 12.5 คะแนน ส่วนสหรัฐได้คะแนน 12.0 คะแนน ตามลำดับ

ทั้งนี้ พบว่า ความยากง่ายในการอ่านเอกสารแถลงผลการประชุมการตัดสินนโยบายการเงิน มีความสอดคล้องกับความโปร่งใสในการทำนโยบายการเงิน โดยประเทศที่มีความโปร่งใสสูงจะมีความง่ายในอ่านเอกสารแถลงผลการประชุมการตัดสินนโยบายการเงินสูงเช่นกัน โดยคนที่จะสามารถอ่านเอกสารแถลงผลการประชุมการตัดสินนโยบายการเงินได้เข้าใจ สาธารณรัฐเช็กต้องผ่านการศึกษาราว 11.1 ปี นอร์เวย์ 9.8 ปี หรือเทียบเท่าการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ไทยต้องผ่านการศึกษา 13.9 ปี หรือระดับการศึกษามหาวิทยาลัย ปี 2 ส่วนสหรัฐต้องผ่านการศึกษากว่า 16.8 ปี เทียบเท่าระดับปริญญาตรี

“มิติการสื่อสารเป็นเรื่องสำคัญต่อความโปร่งใส ที่ผ่านมาการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินไทยมีการแถลงข่าวผลการประชุม มีการออกรายงานฉบับย่อ นอกจากภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน ให้ตัวเลขและแบบจำลองการคาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจอนาคต และหากอยากให้ไทยมีความโปร่งใสเพิ่มมากขึ้นอีก อาจจะพิจารณาการเปิดเผยข้อมูลการประชุมของคณะกรรมการรายบุคคล ซึ่งจะมีผลต่อพฤติกรรมและวินัยของคณะกรรมการในอนาคต อย่างไรก็ตาม กรณีนี้มีทั้งผลดีและอาจจะทำให้เกิดผลเสีย เช่น การคล้อยตามกันได้ จึงต้องมีการวางแผนอย่างรอบคอบและให้ออกมาในผลดีมากกว่าผลเสีย ทั้งนี้ มองว่าการที่ประธานคณะกรรมการเป็นผู้ลงมาแถลงผลการประชุมเองจะทำเกิดความน่าเชื่อถือและสามารถตอบข้อซักถามต่อสาธารณะได้ ไม่จำกัดเพียงแต่เฉพาะผลการประชุมเท่านั้น นอกจากนี้อาจจะมีการใช้ช่องทางอื่น เช่น โซเชียลมีเดียในการสื่อสารสู่สาธารณะได้” นายพงศ์ศักดิ์กล่าว

นายวราพงศ์ วงศ์วัชรา ผู้ช่วยผู้อำนวยการ กลุ่มงานพัฒนาแบบจำลองและวิจัยเชิงเทคนิค ฝ่ายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) กล่าวว่า โครงสร้างภาษาที่มีความซับซ้อน และศัพท์เทคนิคต่างๆ ยังเป็นข้อจำกัดในการสื่อสารนโยบายการเงินของ ธปท. ซึ่ง ธปท.ได้พยายามปรับปรุงเพื่อให้สามารถอ่านได้ง่ายขึ้น รวมทั้งขณะนี้รายงานการประชุมฉบับย่อของ ธปท.ได้มีการเขียนรายละเอียดและเพิ่มจำนวนหน้า ทั้งนี้ สำหรับแนวทางการสื่อสารของ ธปท.นั้น มีแนวคิดที่จะมีการเผยแพร่ข้อมูลการประชุมแบบรายบุคคลซึ่งต้องพิจารณาข้อดีข้อเสีย และมองว่าการปรับปรุงแนวทางการสื่อสารอาจจะต้องทำทั้งโครงสร้างทั้งหมด ทั้งในแง่การประชุม ทั้งวันและเวลารูปแบบการประชุม การแถลงผลการประชุม รายงานการประชุมฉบับย่อและอาจจะมีฉบับเต็ม ผู้ที่ทำหน้าที่แถลงข่าว เป็นต้น

Advertisement

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image