คนละชั้น โดย ชุมฉันท์ ชำนิประศาสน์

แฟ้มภาพ

การประกวดนางงามเวทีมิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ 2017 เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ช่วงตอบคำถามของนางงามเป็นช่วงน่าชมมากขึ้นกว่าหลายๆ ปีที่ผ่านมา เพราะผู้ประกวดตอบคำถามได้ดีขึ้น คือตอบตรงคำถามและด้วยท่าทางเป็นธรรมชาติมากขึ้น ไม่ค่อยเกร็งหรือมัวท่องบท

คำตอบของผู้พิชิตมงกุฎในปีนี้ มารีญา พูนเลิศลาภ ในเรื่องความเท่าเทียมระหว่างชายหญิงนั้นน่าสนใจมาก เพราะหญิงสาวบอกว่าเรื่องนี้ไม่ได้เป็นเรื่องเฉพาะผู้หญิง เพราะหากจะพัฒนาความเท่าเทียมแล้วต้องเป็นเรื่องของทุกคน

แนวคิดนี้เกิดขึ้นใกล้ๆ กับช่วงที่บรรดานักการเมืองหญิงให้สัมภาษณ์แสดงความคิดเห็นว่า ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งกับกรณีที่มีการเปรียบเทียบ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของประเทศ กับนางออง ซาน ซูจี อดีตนักโทษทางการเมืองที่ปัจจุบันเป็นผู้นำตัวจริงในรัฐบาลเมียนมา

เหตุผลเพราะคดีโครงการรับจำนำข้าวซึ่งอาจทำให้อดีตนายกฯหญิงต้องถูกลงโทษจำคุก เป็นความด่างพร้อยโยงใยถึงการคอร์รัปชั่น จึงไม่เหมือนนางซูจีที่ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย

Advertisement

เมื่อฟังดูแล้วจึงคล้ายกับว่าเป็นสาระว่าด้วยการปฏิบัติหน้าที่ แต่พอพิจารณาคำวิจารณ์กลับพบว่ายังไม่หนีจากประเด็นสตรีในวงการการเมือง

อย่างน้อยผู้นำทั้งสองคนนี้มีจุดเชื่อมอยู่ที่ความเป็นผู้หญิง ส่วนชะตาที่ต้องต่อสู้ดิ้นรนทางการเมืองอาจคล้ายกันในแง่ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาไม่ปกติ

นางซูจี ถูกกักกันบริเวณในช่วงหลังเหตุการณ์นองเลือดที่ทหารล้อมปราบประชาชนและตั้งรัฐบาลทหารยาวนานจากปี 2532 ก่อนจะมีการเลือกตั้งจริงจังในปี 2558 ส่วน น.ส.ยิ่งลักษณ์ถูกดำเนินคดีหลังเหตุการณ์รัฐประหารปี 2557 ขณะที่ประเทศไทยมีรัฐบาลทหารมาถึงปัจจุบัน

Advertisement

จุดคล้ายคลึงอาจมีเพียงเท่านี้จริงๆ 

การใช้ถ้อยคำคัดค้านอย่างหนักว่าสตรีสองคนเทียบกันไม่ได้เพราะเป็น “คนละชั้น” เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจ

คำว่า “คนละชั้น” นอกจากจะสื่อถึงความแตกต่างของบุคคลแล้ว ดูจะเจือเรื่องชนชั้นด้วย ยิ่งมาใช้กับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ด้วยแล้ว ยิ่งตอกย้ำถึงการชุมนุมเป่านกหวีดตั้งแต่ปลายปี 2556 ข้ามมาถึงปี 2557 เพราะมีคำเรียกอดีตนายกฯหญิง สะท้อนความนิยมในชนชั้นอย่างฝังรากว่า “อีปู”

การเรียกผู้หญิงนำหน้าว่า “อี” เป็นการหยามเหยียดทางชนชั้นอยู่ในตัว เพราะถ้าเรียกใครว่าอีแล้ว แปลว่าสตรีนั้นต่ำต้อยเหมือนคนในยุคทาส เช่น ในละครนางทาสก็มีตัวละครเอกชื่อ “อีเย็น” และถ้าใช้ร่วมสมัยขึ้นมาหน่อยก็จะหมายถึงผู้หญิงที่มีพฤติกรรมไม่ดี เช่น “อีลำยอง” หรือ “อีพริ้ง” เป็นต้น

ดังนั้น กรณีของอดีตผู้นำหญิงของไทยถูกประท้วงต่อต้านจนมาถึงถูกดำเนินคดีทางการเมือง ด้วยบรรยากาศของการหยามเหยียดทางชนชั้นและความเป็นสตรี ก็คงจะเปรียบเทียบกับนางซูจี ไม่ได้จริงๆ

หรือถ้าจะเปรียบเทียบการดำเนินคดีคอร์รัปชั่นกับผู้นำประเทศอื่นๆ ก็ยากอีกเช่นกัน เนื่องจากแต่ละคนถูกดำเนินคดีด้วยหลักฐานทางการเงินที่นำไปใช้ส่วนตัวในทางมิชอบ หรือทำผิดกฎหมายข้อใดข้อหนึ่ง

คดีของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ที่เป็นเรื่องของการดำเนินนโยบาย จึงหากรณี หรือหาชั้น เพื่อเปรียบเทียบอย่างเท่าเทียมได้ยากมาก

……………

ชุมฉันท์ ชำนิประศาสน์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image