บก.ฟอรั่ม

สะดวกมาก

เรียน บก.ฟอรั่ม ที่นับถือ
ตามที่ท่าน บก.ฟอรั่มได้กรุณานำข้อร้องเรียนของผม กรณีไม่ได้รับความสะดวกในการไปยื่นคำขออนุญาตแจ้งแรงงานต่างด้าว ตีพิมพ์ในหนังสือมติชนรายวัน ฉบับวันอาทิตย์ที่ 9 กรกฎาคม 2560 เป็นเวลาที่กรมแรงงานได้เปิดจุดรับคำขออนุญาตแจ้งแรงงานต่างด้าว ตั้งแต่วันที่ 14 กรกฎาคม 2560 ถึงวันที่ 4 สิงหาคม 2560 ซึ่งผมได้เลือกไปยื่นคำขออนุญาตที่สนามกีฬารามอินทรา (ถนนรามอินทรา ซอยรามอินทรา 5) โดยใช้สถานที่ของสนามกีฬาซึ่งเป็นสถานที่กว้างขวาง มีที่จอดรถมากและเพียงพอสำหรับนายจ้างที่มายื่นคำขออนุญาต
นอกจากนี้ ยังได้เตรียมโต๊ะรับคำขอพร้อมเจ้าหน้าที่จำนวนมาก ทำให้ได้รับความสะดวกมาก ผมจึงขอขอบคุณท่าน บก.ฟอรั่มมา ณ โอกาสนี้ด้วยครับ
และผมได้อ่าน นสพ.มติชนฉบับวันอังคารที่ 26 กรกฎาคม 2560 คอลัมน์สมหมาย ภาษี ซึ่งได้เขียนเกี่ยวกับแรงงานต่างด้าว ซึ่งตรงกับข้อเท็จจริงความเดือดร้อนของผู้ประกอบการที่ขาดแคลนแรงงานต่างด้าว โดยเฉพาะประโยคที่เขียนไว้ว่า “กฎหมายของไทยคือปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดความยุ่งยาก” และประโยค “…การบริหารบ้านเมืองโดยใช้แต่หลักรัฐศาสตร์ คิดแต่ความสะดวกของตนเป็นหลักนั้น ล้าหลังเต็มทีแล้วครับ…”
ขอบพระคุณคุณสมหมาย ภาษี ครับ
ขอแสดงความนับถือ
พาณิช สันติวณิชย์

ตอบคุณพาณิช
กม.แรงงานต่างด้าว มีผลรุนแรงกว้างขวางมาก สาเหตุมาจากรัฐบาลไม่ได้ข้อมูลอย่างเพียงพอจากหน่วยงานที่รับผิดชอบ เป็นระบบภายในที่รัฐบาลจะต้องไปสะสางกัน
ก็ยังดีที่รัฐบาลรับฟัง รับทราบความเดือดร้อนของประชาชนและพยายามแก้ไข แม้ทุลักทุเลบ้าง แต่ก็ช่วยแก้ปัญหาได้มากครับ

ทำได้-ทำไม่ได้

Advertisement

เรียน บก.ฟอรั่ม
1.มันมีประเด็นที่น่าสนใจว่า ในบางรัฐบาลย้ายข้าราชการระดับสูง คนสองคน คนสั่งย้ายถูกลงโทษ แต่บางรัฐบาลย้ายได้นับสิบๆ คน ทำไมทำได้?
2.ผมว่าต้องดูเป็นกรณีไปนะครับ ข้อเท็จจริงอาจแตกต่างกันไป แต่ถ้าถามผม ผมเกษียณมานานหลายทศวรรษ ก็หลงๆ ลืมๆ ไปบ้าง แต่คุณที่คนรุ่นก่อนๆ ได้สอนสั่งไว้มันคุ้มตัว จึงได้มากินบำนาญ นานๆ ผมยึดคำท่านเหล่านั้นและขอยกคติโบราณที่ นางทองประศรี มารดาพระสุรินทฦๅชัยมไหศูรย์ภักดี (ขุนแผน) นำมาสอนก่อนขุนแผนจะไปทำราชการ คือ วุฒิ 4 ประการ
“หนึ่งเป็นผู้ดีมีเชื้อชาติ กิริยามารยาทส่งสัณฐาน
หนึ่งได้ศึกษาวิชาชาญ เป็นแก่นสารคือคุณอุดหนุนตัว
หนึ่งว่า อายุเจริญวัย เข้าใจผิดชอบประกอบทั่ว
หนึ่งปัญญา ว่องไวไม่มืดมัว จึงจะรู้ดีชั่วในทางงาน”
3.สิ่งที่ผมยึดถือคือ “ปัญญาวิชาชาญ” ครับผม อาจารย์สอนว่า ถ้าโง่ๆ เง่าๆ ก็อย่าไปหากินทางกฎหมายจะทำให้ลูกความเสียประโยชน์ ราชการเสียหาย ผมจำใส่หัวมาจนวันนี้มิรู้ลืมเลย
4.เวลาจะเซ็นหนังสือราชการ (ลงนาม) จ่อปากกาลงไป แล้วให้ถามตัวเองเสมอว่า… “เซ็นแล้วจะติดคุกไหม?” คิดให้รอบคอบด้วยปัญญาวิชาชาญ วุฒิสี่ แล้วก็ลงนามไป ข้อคิดพิจารณาก่อนเซ็นคือว่า กรณีต่างๆ นั้น “เป็นไปตามขั้นตอนและชอบด้วยกฎหมายระเบียบหรือไม่?” ดังนั้น เราต้องเป็นผู้รอบรู้กฎหมายระเบียบ และชัดเจนในงานที่รับผิดชอบ จะไม่เสียหายกับตนเอง ครอบครัว และราชการงานที่ทำประจำอยู่ครับผม
5.ครับเมื่อหันมาดูคำถามในข้อ 1 ว่าทำไมทำได้ ผมตอบว่า “ทำได้และชอบด้วยกฎหมายระเบียบ” แต่…
5.1 เพราะแต่ละสมัยแต่ละยุคของกรณีดังกล่าวใช้กฎหมายแตกต่างกัน (และข้อเท็จจริงอาจต่างกัน)
5.2 มีองค์ประกอบที่ต้องนำมาพิจารณาประกอบคือ เวลาปกติและเวลาไม่ปกติ เช่น รัฐบาลเลือกตั้ง และรัฐบาลรัฐประหาร เข้าใจหรือยังครับ?
5.3 ข้อกฎหมายที่แตกต่างไปจากเวลาปกติที่ต้องรู้ (รัฐบาลมาจากการเลือกตั้ง) คือมี ม.44 ครับผม อย่าลืมนำมาประกอบการพิจารณาด้วยครับผม
6.ผมลืมไปว่า “เมื่อปฏิวัติแล้ว ก็ออกกฎหมายเองนำมาใช้เอง” มันจะทำอะไรได้มากมายกว่าเวลาปกติ “เพราะมันทำได้มากกว่าปกตินี่แหละ มันเป็นต้นเหตุที่ต้องมีการตรวจสอบ” แล้วมันจะตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจได้ไหม? เนี่ย…เขียนมาตั้งนาน ความจริง เขียนเพียงวลี 2 วลีก็กินความได้ทั้งหมดแล้ว ครับผม
“นี่คือความแตกต่างระหว่าง….กับประชาธิปไตย” สวัสดี
จาก “คนเคยสั่งราชการแทนปลัดกระทรวง”

ตอบคุณเคยสั่งฯ
ครับ ตามนั้นครับ

ไม่เห็นด้วย

Advertisement

เรื่อง ร้องเรียนโครงการก่อสร้างสะพานคนเดินและจักรยานข้ามแม่น้ำฯ ระหว่างท่าพระจันทร์-ศิริราช
เรียน บรรณาธิการหนังสือพิมพ์มติชน
ตามที่กรุงเทพมหานครมีโครงการก่อสร้างสะพานคนเดินและจักรยานข้ามแม่น้ำฯ ระหว่างท่าพระจันทร์-ศิริราช โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นสะพานสำหรับคนเดิน ทางจักรยาน ทางผู้พิการและเป็นสวนสาธารณะเป็นแหล่งพักผ่อน ออกกำลังกาย ส่งเสริมด้านการท่องเที่ยวและเสริมภาพลักษณ์ของประเทศ โดยมุ่งหมายให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ของกรุงเทพมหานคร
เนื่องด้วยข้าพเจ้าเป็นผู้อยู่อาศัยริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา เล็งเห็นว่าบริเวณริมฝั่งแม่น้ำระหว่างท่าพระจันทร์-ศิริราช เป็นแหล่งอนุรักษ์วัฒนธรรมไทย และเป็นแหล่งประวัติศาสตร์โบราณคดีที่สำคัญ สะท้อนให้เห็นถึงวิถีชีวิตของคนไทยในสมัยก่อน จึงไม่เหมาะสมที่จะสร้างสิ่งก่อสร้างหรือวัตถุใดๆ ลงในแม่น้ำ
ดังนั้น การก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำดังกล่าวจึงไม่ได้เป็นไปในแนวทางของการอนุรักษ์ ทั้งยังเป็นการทำลายและบดบังทัศนียภาพของเกาะรัตนโกสินทร์
ทั้งนี้ โครงการก่อสร้างสะพานดังกล่าวยังใช้งบประมาณในการก่อสร้างสูงถึง 2,000 ล้านบาท
ข้าพเจ้าจึงตั้งข้อสังเกตถึงผลตอบแทนทางเศรษฐกิจว่าผลประโยชน์ที่ได้รับนั้นคุ้มค่ากับค่าใช้จ่ายที่สูญไปหรือไม่ และแท้ที่จริงแล้วผลประโยชน์ตกอยู่กับประชาชนหรือกลุ่มบุคคลใด
และหากในอนาคตโครงการดังกล่าวแล้วเสร็จเปิดให้ประชาชนทั่วไปใช้บริการก็ย่อมจะต้องมีค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นไปเกี่ยวกับการใช้สะพาน หน่วยงานใดจะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายดังกล่าวนี้
จึงเป็นกรณีสุ่มเสี่ยงที่ในอนาคตสะพานดังกล่าวอาจถูกนำมาอ้างเพื่อนำพื้นที่มาสร้างในเชิงพาณิชย์ต่อไป ซึ่งทำให้ผิดวัตถุประสงค์ของการก่อสร้างสะพานที่เน้นเพื่อประโยชน์สาธารณะตามนโยบายของกรุงเทพมหานคร อันทำให้ผู้ที่ได้รับประโยชน์มีเพียงแค่เฉพาะคนบางกลุ่มเท่านั้น
ข้าพเจ้าในฐานะประชาชนคนหนึ่งหวังเป็นอย่างยิ่งว่าท่านในฐานะสื่อมวลชนหลักของประเทศและเป็นกระบอกเสียงแทนประชาชนเสมอมาจะเห็นถึงความสำคัญอันเกี่ยวเนื่องกับผลประโยชน์ส่วนรวม ทั้งจะได้ตรวจสอบความเป็นมาอย่างละเอียดถี่ถ้วนร่วมกับภาคประชาชนอย่างละเอียดในส่วนอื่นๆ เพื่อประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติต่อไป
จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา
ขอแสดงความนับถือ
ประชาชนคนริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา

ขอความเป็นธรรม

เรื่อง ร้องเรียนถูกเอาเปรียบจากการใช้โทรศัพท์เครือข่าย….
เรียน หนังสือพิมพ์มติชน
ด้วยข้าพเจ้า นางจิตทรารัตน์ โถววิริยะกุล อ.เมือง จ.สมุทรสงคราม ได้ซื้อโทรศัพท์ไอโฟน 5s พร้อมแพคเกจรายเดือนของค่ายโทรศัพท์แห่งหนึ่ง ตั้งแต่วันที่ 28 กันยายน 2559 และต้องใช้เครือข่ายดังกล่าวเป็นเวลา 1 ปี สิ้นสุดวันที่ 27 กันยายน 2560
ซึ่งการใช้โทรศัพท์จากเครือข่ายตามโปรโมชั่นดังกล่าว ได้เกิดปัญหามาอย่างต่อเนื่อง คือ ไม่สามารถรับสายจากการโทรเข้าได้ ซึ่งเกิดขึ้นบ่อยมาก ตั้งแต่ใช้งานเกิดผลกระทบทางธุรกิจทำรีสอร์ตเสียหายอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากลูกค้าโทรเข้าไม่ได้ ทั้งที่ต้องเสียค่าบริการรายเดือน ตกเดือนละประมาณ 606 บาท ติดต่อศูนย์ให้แก้ไขจำนวน 6 ครั้ง แต่ก็มิได้แก้ไขปัญหาดังกล่าวได้ นอกจากแจ้งให้เปลี่ยนซิมใหม่ แต่อาการก็เหมือนเดิม (โทรออกไม่มีปัญหา แต่มีปัญหาตอนโทรเข้า) บางทีก็บอกว่าอยู่ในพื้นที่อับสัญญาณ บางทีก็บอกว่าตรวจสอบแล้วปกติ จะแก้ปัญหาด้วยการเปลี่ยนไปใช้เครือข่ายอื่นก็ไม่ได้ ต้องรอให้หมดเงื่อนไขตามโปรโมชั่นก่อน เสียทั้งเงิน เสียหายทางธุรกิจ เปลี่ยนเครือข่ายก็ไม่ได้
เสียความรู้สึก ข้าพเจ้าทุกคน จึงแจ้งมายังท่าน ได้โปรดให้ความเป็นธรรมกับผู้บริโภคด้วยเพราะไม่มีทางอื่นที่จะช่วยเหลือได้ นอกจากหวังความเมตตาจากท่าน
จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา
จิตฑรารัตน์ โถววิริยะกุล

ระวัง ‘คืนสนอง’

เรียน บก.ฟอรั่มที่นับถือ
ขอออกความเห็นเงื่อนไขนำไปสู่การปรองดองล้มเหลว เรามาลองพิจารณาดูว่าการแก้ปัญหาของรัฐบาลหลังการยึดอำนาจปี 2549 กับการยึดอำนาจปี 2557
1.การยึดอำนาจปี 2549 ตั้งกรรมการเอาผิดรัฐบาลที่ผ่านมาก่อให้เกิดการขัดแย้งเรื่อยมา
2.นักการเมืองอีกฝ่ายสนับสนุนยุยงออกมากล่าวหาอีกฝ่ายหนึ่ง
3.องค์กรอิสระไม่ตั้งอยู่ในความเป็นกลาง มีการกล่าวหาว่า 2 มาตรฐาน ไม่ตั้งอยู่ในความเป็นกลาง มีอคติ เช่น รีบเร่งพิจารณาคดีไม่เป็นไปตามลำดับก่อนหลัง
สามส่วนนี้เป็นเหตุก่อเกิดการขัดแย้ง ความจริงสาเหตุมีมากกว่า
3.แต่ยังมีอีกมากมาย ลองมาพิจารณาดูซิว่า การยึดอำนาจปี 2549 กับการยึดอำนาจปี 2557 รัฐบาลหลังยึดอำนาจตั้ง 2 ครั้งมีอะไรปฏิบัติคล้ายคลึงกันบ้าง ทั้งๆ ที่รู้อยู่แล้วว่าการกระทำหลังปี 2549 เป็นเหตุก่อการขัดแย้งเรื่อยมา มีอะไรจงใจเอาผิดรัฐบาลที่ผ่านมา ผู้เขียนเห็นว่าการแก้ปัญหาไม่ตรงจุดกับสาเหตุที่เกิดขึ้น วิธีปฏิบัติแก้ปัญหามีลักษณะคล้ายคลึงกัน แต่การปฏิบัติไม่ตรงกัน
เหตุหนึ่งที่รัฐบาลหลังปี 2557 มุ่งมั่นไว้ก็คือ การแก้ปัญหาการขัดแย้งกับทำให้มีการปรองดองของบุคคลในชาติ ผลการบริหารผ่านมา 3 ปีกว่าได้แก้ปัญหานี้ตรงจุดหรือไม่ มีอะไรบ้างเป็นรูปธรรม เรื่องปรองดองนี้มากระทำในปลายโรดแมป ตั้งกรรมการขึ้นมาผลการปฏิบัติออกมาสู่สายตาประชาชน ไม่มีข้อใดบ่งบอกการแก้ปัญหาการขัดแย้งตามสาเหตุ แต่ละข้อเป็นเพียงพูดถึงหลักการ วิธีการอยู่ร่วมกันที่จริงหลักธรรมมีให้ปฏิบัติอยู่แล้ว
ผู้เขียนเห็นว่า การแก้ปัญหา ถ้าขาดคำว่า “การให้อภัย” แล้วไม่มีทางแก้ปัญหาได้ แก้ขัดแย้งไม่ได้ ปรองดองไม่เกิด
อีกเรื่องหนึ่งการออกกฎหมายมาบังคับบุคคลเฉพาะส่วนเป็นการก่อเกิดการขัดแย้งด้วยการออกกฎหมายนั้น ไม่ใช่บังคับเฉพาะส่วน ต้องบังคับกับบุคคลทุกคนเท่าเทียมกันทุกวงการ การออกกฎหมายมาลงโทษในเชิงทุจริต เราต้องรู้ว่าการทุจริตนั้นมาจากที่ไหนบ้าง เห็นว่าการทุจริตมาจากทุกวงการ ไม่ว่าข้าราชการ บริษัท ห้างร้าน รัฐวิสาหกิจ การบริหารส่วนท้องถิ่น และวงการการเมือง ต้องบังคับทุกส่วนและต้องเป็นไปตามหลักนิติธรรม ไม่ขัดกับมาตรา 26 และ 27 แห่งรัฐธรรมนูญปี 2560
อีกอย่างหนึ่ง การกระทำใดๆ อย่าลืม คำว่า “ดาบนี้คืนสนอง” การยึดทรัพย์สินผู้กระทำผิด ควรจะมาจากคำพิพากษาของศาลเท่านั้น
จาก
คนแก่กว่าขิง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image