เบื้องหลัง ‘กระถางเซรามิก’ ประดับ ‘พระเมรุมาศ’ น้อมรำลึกชั่วนิรันดร์

(ซ้าย)กระถางเก้าเหลี่ยมขนาดเล็ก (ทรงตรง) ประดับสัญลักษณ์เลข ๙ (ขวาบน)กระถางเขามอ (ขวาล่าง) กระถางเก้าเหลี่ยมลายคราม

ระหว่างการก่อสร้างพระเมรุมาศ ในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช งานด้านการออกแบบตกแต่งเป็นอีกส่วนที่ชาวไทยเฝ้ารอคอย ภาพที่มีส่วนประกอบจากความตั้งใจของทุกคนที่ได้เข้ามามีส่วนร่วมกับงานพระราชพิธีสำคัญครั้งนี้ ไม่ว่าเป็นงานส่วนใด เชื่อว่าความมุ่งหมายเดียวที่มีร่วมกันคือทำให้ดีที่สุดในระยะเวลาที่มีก่อนถึงพระราชพิธีสำคัญ

ส่วนหนึ่งในงานภูมิสถาปัตยกรรมคือ กระถางเซรามิกประดับพระเมรุมาศ ซึ่งพระราชพิธีครั้งประวัติศาสตร์นี้ โรงงานเซรามิกเถ้าฮงไถ่ เป็นผู้รับผิดชอบในการออกแบบและจัดทำกระถางทั้งหมดที่จะใช้ในพระราชพิธี

เถ้าฮงไถ่ เป็นโรงงานผลิตเครื่องปั้นดินเผาเก่าแก่ในจังหวัดราชบุรี ซึ่งโด่งดังมาจากการผลิต “โอ่งมังกร” เคยมีประสบการณ์ในการจัดทำกระถางประกอบงานฉลอง 60 ปี แห่งการครองราชย์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 และงานพระศพสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี

วศินบุรี สุพานิชวรภาชน์ ทายาทรุ่นที่ 3 ของเถ้าฮงไถ่เผยว่า เมื่อทราบว่าจะได้ทำงานนี้ก็ถือเป็นโอกาสที่ต้องทำให้ดีที่สุด โดยทางกรมศิลปากรได้กำหนดขนาดฐานของกระถางมาให้ ส่วนลวดลายเมื่อออกแบบแล้วก็จะส่งไปให้พิจารณาก่อนจะนำมาสร้างงานจริง

Advertisement

ทั้งนี้ กระถางที่ทางเถ้าฮงไถ่เคยจัดทำเพื่องานฉลอง 60 ปี แห่งการครองราชย์ ได้มีการจัดทำขึ้นใหม่อีกครั้งเพื่อใช้ในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ซึ่งได้มีการปรับเปลี่ยนขนาดและรูปแบบจากเดิมที่ประดับตราราชวงศ์จักรี เป็นประดับพระปรมาภิไธยย่อ ภปร โดยกระถางนี้มีต้นแบบจากกระถางที่รัชกาลที่ 5 ทรงซื้อมาจากอิตาลีและใช้วางตกแต่งในพระบรมมหาราชวัง ภายหลังชำรุดเสียหายเหลือไม่มากชิ้น จึงมีการนำมาจำลองขึ้นใหม่โดยทำสีให้ใกล้เคียงของเดิม

กระถางเซรามิกที่จะใช้ประดับในงานพระราชพิธีสำคัญนี้ มีทั้งหมด 8 รูปแบบ ได้แก่ 1) กระถางเก้าเหลี่ยมขนาดเล็ก (ทรงตรง) ประดับสัญลักษณ์เลข ๙ 2) กระถางเก้าเหลี่ยมขนาดกลาง (80 cm) ประดับสัญลักษณ์เลข ๙ 3) กระถางเก้าเหลี่ยมขนาดกลางติดลายนูน 4) กระถางเก้าเหลี่ยมขนาดใหญ่ (100 cm) ประดับสัญลักษณ์เลข ๙ 5) กระถางเก้าเหลี่ยมลายคราม 6) กระถางทรงกลม ตามแบบกระถางในงานฉลอง 60 ปี แห่งการครองราชย์ 7) กระถางหูสิงห์ ประดับพระปรมาภิไธยย่อ ภปร – ตราจักรี 8) กระถางเขามอ และมีส่วนประกอบเพิ่มเติมคือกี๋หรือฐานรอง

กระถางหูสิงห์ประดับพระปรมาภิไธยย่อ ภปร-ตราจักรี

ลึกในรูปร่างลวดลายคือสัญญะ

วศินบุรีเผยว่า การออกแบบพยายามใช้สัญลักษณ์ที่น้อมรำลึกถึงในหลวงรัชกาลที่ 9 สิ่งแรกสุดของงานออกแบบคือ “รูปทรง” ของกระถาง เป็นกระถางทรงเก้าเหลี่ยม โดยทั่วไปกระถางจีนโบราณจะทำเป็นเหลี่ยมเลขคู่ เช่น หกเหลี่ยม แปดเหลี่ยม การทำเหลี่ยมเป็นเลขคี่จะยากขึ้นมาอีกและยังไม่เคยมีใครทำมาก่อน วศินบุรีนึกถึงเหรียญ 5 บาทสมัยก่อนที่เป็นเหรียญเก้าเหลี่ยม จึงคิดออกแบบและทำกระถางทรงเก้าเหลี่ยมที่มีเก้าชั้นขึ้นมา

Advertisement

ส่วนลวดลายต่างๆ ที่ประดับบนกระถาง วศินบุรีกล่าวว่า คิดถึงการนำลวดลายดั้งเดิมอย่างลายก้านขดมาประยุกต์ใช้ แต่ต้องการสร้างลายที่มีลักษณะเฉพาะเพื่อใช้ในงานนี้ จึงเริ่มหาข้อมูล และได้เลือกใช้ “ดอกดาวเรือง” มาออกแบบเป็นลวดลายที่จะวาดลงบนกระถาง ซึ่งดอกดาวเรืองมีสีเหลืองตรงกับสีวันพระราชสมภพ เป็นดอกไม้ที่มีความหมายดีทั้งในไทยและของเอเชียโบราณ สื่อความหมายถึงความเป็นนิรันดร์ จึงเลือกใช้เพื่อสื่อความหมายถึงความรักชั่วนิรันดร์ที่ในหลวงมีให้พสกนิกรและความรักที่พสกนิกรมีต่อพระองค์ท่าน

ดอกดาวเรืองที่ออกแบบจะมี 90 กลีบ สื่อถึงความรักชั่วนิรันดร์ ส่งต่อจากรัชกาลที่ 9 ไปยังรัชกาลที่ 10 ตรงกลางดอกดาวเรืองก็จะมี 9 กลีบ อย่างเช่นในกระถางเขามอจะมีดาวเรืองขนาดใหญ่ 9 ดอก ขนาดเล็กและกลาง 18 ดอก (บวกกันได้เลข 9) และในลายก้านดอกดาวเรืองจะมีเลข ๙ ขดซ่อนอยู่ นอกจากนี้ยังมีรูป “กระต่าย” ประดับอยู่ด้วย 5 ตัว ซึ่งตรงกับปีพระราชสมภพ และวันพระราชสมภพ 5 ธันวาคม

กระถางเก้าเหลี่ยมลายคราม

นอกจากนี้ ส่วนกี๋ซึ่งเป็นฐานรองกระถางได้ฉลุลวดลาย “เครื่องแขวนดอกไม้สด” ดอกมะลิ มีความหมายแทนความรักที่บริสุทธิ์บริเวณฐานของกี๋ วศินบุรีแทรกความเป็นวัฒนธรรมพื้นถิ่นจาก “ผ้าจกราชบุรี” โดยเลือกใช้ลาย “มะลิเลื้อย” สอดคล้องกับลายเครื่องแขวนดอกมะลิ โดยวศินบุรีขยายความว่า เป็นความรู้สึกของศิลปินที่เมื่อใช้ชีวิตอยู่ในพื้นที่หนึ่งย่อมเกิดความผูกพันกับพื้นที่นั้น จึงได้หยิบเอาความเป็นชุมชนเป็นท้องถิ่นมาผสมผสานในงานที่ทำ

วศินบุรีเผยว่า งานออกแบบครั้งนี้ดูเรียบง่าย ทว่าซ่อนสัญญะไว้มากที่สุดที่เคยทำมา อย่างชั้นล่างสุดของฐานกี๋และกระถางบางรูปแบบประกอบด้วย “ลายคลื่น” ที่ได้แรงบันดาลใจจากพระราชนิพนธ์เรื่องพระมหาชนก

“หนึ่งในสิ่งที่พระองค์ทรงสอนและคนคุ้นเคยคือเรื่อง ‘พระมหาชนก’ จึงมีลายคลื่นแฝงอยู่ มีความหมายเกี่ยวกับความเพียร ปัญหาและอุปสรรคจะต้องอยู่ล่างสุด เพราะเป็นพื้นฐานความสำเร็จทั้งปวง และลายคลื่นในความหมายของเอเชียเป็นที่อยู่ของมังกรสื่อถึงสัญลักษณ์ของพระมหากษัตริย์” วศินบุรีกล่าว

ช่างเขียนลายบนกี๋รองกระถาง

คำว่า ‘ที่สุด’ ไต่ระดับความท้าทาย

แม้เทคโนโลยีการทำเซรามิกจะมีหลากหลาย แต่วศินบุรีเน้นว่าพยายามคงความเป็นภูมิปัญญาพื้นฐานของการทำงานหัตถกรรมแบบดั้งเดิมไว้ โดยนำมาผสมผสานกับงานออกแบบร่วมสมัย แม้ว่าปัจจุบันเทคนิคการทำงานเซรามิกสามารถนำเครื่องจักรหลายอย่างเข้ามาใช้ได้ แต่ก็ยังคงพยายามใช้รูปแบบการทำงานหัตถกรรมดั้งเดิมไว้

ในส่วนของระยะเวลาของการทำกระถางแต่ละใบ วศินบุรีกล่าวว่า เฉพาะการเขียนลายบนกระถางใหญ่หนึ่งใบใช้เวลา 2 วัน ส่วนใบเล็กที่มีรายละเอียดเยอะกว่าจะมีนักศึกษาจิตรกรรมมาช่วยเขียน ใช้เวลามากกว่า 4 วัน เมื่อเขียนลายเสร็จแล้วนำไปเผา หากเกิดความผิดพลาดแตกระหว่างเผาก็ต้องนับหนึ่งเริ่มใหม่หมดตั้งแต่ขั้นตอนแรก งานชิ้นที่ยากที่สุดจะเป็น กระถางลายคราม แม้จะมีขนาดเล็กแต่เมื่อเผามีโอกาสบิดเบี้ยวเสียหายสูง

“การเขียนสีและเขียนลายครามบนเซรามิกเป็นศาสตร์เฉพาะ ไม่เหมือนการเขียนสีบนกระดาษที่จะเห็นสีจริง การทำสีเซรามิก สีที่เห็นอาจไม่ใช่สีที่จะออกมาหลังเผา จึงต้องอาศัยประสบการณ์และจินตนาการเข้ามา อย่างสีม่วงที่เห็นเผาจะออกมาเป็นสีน้ำเงิน การแลเงาเส้นหนักกับอ่อนก่อนเผาจะใกล้เคียงกันมาก อยู่ที่ประสบการณ์ช่างแต่ละคน ต้องกะยังไงให้ออกมาเป็นภาพที่ต้องการ อย่างกระถางที่ทำตอนงานฉลอง 60 ปีแห่งการครองราชย์ มีต้นแบบจากกระถางเซรามิกอิตาลีซึ่งมีสีสันมาก ผมใช้เวลา 6 เดือนกว่าจะจำลองสีทั้งหมดให้ได้เหมือนต้นแบบ เป็นความท้าทายที่สนุก” วศินบุรีกล่าว

ปัจจุบันชิ้นงานเสร็จเกือบหมดแล้ว เหลือรายละเอียดลวดลาย การเขียนลายและเผา วศินบุรีเผยว่า รู้สึกประหลาดใจที่การทำงานครั้งนี้แทบไม่มีความผิดพลาดเกิดขึ้นเลย ทั้งที่ปกติในงานใหญ่ขนาดนี้โอกาสเสียหายจะมีเยอะกว่านี้มาก ถ้าในการทำงานปกติสามารถทำมาตรฐานได้ขนาดนี้จะดีมาก เนื่องจากปกติความเสียหายจากการผิดพลาดของการทำงานจะอยู่ที่ 20-30 เปอร์เซ็นต์

หากงานครั้งนี้มีความผิดพลาดเกิดขึ้นเหมือนปกติงานจะเสร็จไม่ทันแน่นอน จึงรู้สึกได้ว่าทุกคนที่มีส่วนร่วมในการทำงานครั้งนี้เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ร่วมกันทำงานเพื่อถวายพระองค์ท่าน เป็นฟันเฟืองสำคัญให้งานครั้งนี้สำเร็จลุล่วงอย่างดีที่สุด

บทจำลองชีวิต’สติ-สมดุล-สำเร็จ’

“เซรามิกเป็นเรื่องเหนือการคาดเดามากๆ แม้เราจะทำมาทุกวันตลอดชั่วชีวิต แต่หากละเลยบางอย่างจะมีผลต่อทั้งระบบ อย่างเช่น เผาเร็วไปก็ไม่ได้ อัดดินไม่แน่นเผาแล้วแตก มีปัญหาหลายสิ่งอย่างที่คาดเดาไม่ได้ ปัจจัยจากภายนอกอย่างโรงงานก็เหมือนกัน ต่อให้ทุกคนทำตามขั้นตอนทุกอย่าง แต่วันนี้แดดร้อนทำให้อุณหภูมิฝั่งหนึ่งมากกว่าอีกฝั่ง เซรามิกที่รอการเผาเกิดการรัดตัวทำให้เผาแล้วแตก ส่วนผสมทุกอย่างต้องลงตัวกว่าจะออกมาเป็นงานที่สมบูรณ์ชิ้นหนึ่ง

“การทำเซรามิกเหมือนการจำลองชีวิตของคนที่ต้องผ่านทุกสิ่งอย่าง จากดินนิ่มๆ เป็นวัสดุที่อ่อนน้อมถ่อมตน ถูกกด ถูกบีบอัดเหมือนขั้นตอนการเรียนรู้ในชีวิต ต้องผ่านประสบการณ์ความล้มเหลวความผิดพลาดหลายอย่าง ผ่านการเผาเป็นอุปสรรคมาทดสอบ จนแข็งแกร่งขึ้นมาเป็นภาชนะที่สมบูรณ์ คล้ายจำลองความเป็นมนุษย์” วศินบุรีเปิดเผยความในใจ

วศินบุรีกล่าวถึงการออกแบบเซรามิกว่า บางครั้งสเกตช์มาแล้วขึ้นสามมิติจึงจะเห็นความผิดพลาด ทำให้ต้องปรับหน้างานเยอะมาก บางส่วนต้องเรียนรู้จากการเห็นในทุกวินาทีที่เปลี่ยนแปลงไป สติเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในเวลาจำกัด ขณะที่งานสเกลใหญ่ขนาดนี้และยากขนาดนี้ สติของคนปั้น คนทำดิน คนเขียนลาย คนเผาเครื่อง คนเผาเตา แค่สติหลุดไปนิดเดียวอาจต้องมานับหนึ่งใหม่ ทุกอย่างต้องสมดุลและสมบูรณ์ จึงออกมาเป็นงานที่ใช้ได้จริง

ส่วนรายละเอียดเล็กน้อยในการทำงานซึ่งเป็นความรู้สึกส่วนตัว วศินบุรีเล่าว่า ในการเผาเซรามิกอุณหภูมิที่แตกต่างกัน 5-10 องศา จะไม่เกิดผลแตกต่างอะไร โดยปกติเผากันที่อุณหภูมิ 1,100 องศา แต่วศินบุรีเลือกที่จะเผาในอุณหภูมิสูงขึ้นมาอีกเล็กน้อยเพื่อให้ได้ตัวเลขที่ต้องการ คือแทนที่จะเผาที่อุณหภูมิ 1,100 องศา กระถางใบใหญ่จะเผาที่อุณหภูมิ 1,125 องศา กระถางลายครามเผาที่อุณหภูมิ 1,260 องศา กระถางอื่นๆ เผาที่อุณหภูมิ 1,080 องศา ตัวเลขของทุกอุณหภูมิเผาจะรวมกันได้เลข 9 ซึ่งคนทำเซรามิกทั่วไปอาจบอกว่าไม่มีความจำเป็นเพราะให้ผลไม่ต่างกัน แต่ในเมื่อผลไม่ต่างกันทำไมจะเลือกทำสิ่งที่ต้องการสื่อถึงไม่ได้

แม้งานนี้จะเป็นงานที่ยาก เมื่อการทำเซรามิกมีหลายคน หลายขั้นตอน หลายประสบการณ์ หลายพื้นฐานความคิด วศินบุรีจึงพยายามอุดรูรั่วความผิดพลาดให้ได้มากที่สุด เพื่อให้งานออกมาดีที่สุด และตั้งใจให้การทำงานของทุกคนเข้าใกล้ศักยภาพที่ดีที่สุดของทุกคนให้ได้มากที่สุด

ความงดงามของกระถางเซรามิกที่ใช้ประดับพระเมรุมาศ นอกจากความสวยงามที่ตาเห็นแล้วคือความตั้งใจอันเป็นน้ำหนึ่งใจเดียว ด้วยความเชื่อที่ว่าสิ่งที่ทำอยู่เป็นการบันทึกประวัติศาสตร์ร่วมกันของคนทั้งประเทศ

กระถางทรงกลม ตามแบบกระถางในงานฉลอง 60 ปี แห่งการครองราชย์
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image