‘ปู’ซ้ำรอย’พี่’ จับตา’แม้ว’ทวีต กม.-ยุติธรรม

จากวันที่ 25 สิงหาคม ซึ่งเป็นวันที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองนัดพิพากษาคดี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี

มาถึงวันนี้นับเวลาได้สัปดาห์กว่า

ระหว่างวันที่ 25 สิงหาคมถึงปัจจุบัน ทุกอย่างยังคงสะท้อนภาพเก่า

สะท้อนภาพการเมืองที่คมชัด

Advertisement

สะท้อนภาพประเทศชาติที่ยังมืดมน

ย้อนกลับไปก่อนปี 2548 ซึ่งประเทศไทยกำลังฮึกเหิมกับการเป็นผู้นำในภูมิภาค

หลังจากนั้น 1 ปี เมื่อปี 2549 ประเทศไทยภายใต้ความขัดแย้งอย่างรุนแรงก็หวนกลับสู่การรัฐประหาร

Advertisement

และหลังจากการรัฐประหารปี 2549 ประเทศไทยก็ตกอยู่ในสภาพล้มลุกคลุกคลานมาโดยตลอด

มีการกวาดล้างพรรคไทยรักไทย มีการไล่ล่า ทักษิณ ชินวัตร มีการเลือกตั้งใหม่

มีความขัดแย้งในสภา มีความขัดแย้งนอกสภา มีคนเสียชีวิตกลางเมือง มีเผาเมือง

แล้วก็มีการรัฐประหาร

 

ความเปลี่ยนแปลงหลังจากการรัฐประหารครั้งล่าสุด คือ ทิศทางการเมืองของประเทศชัดเจนขึ้น

นั่นคือไม่เอาทักษิณและตระกูลชินวัตร

ไม่เอาพรรคพลังประชาชน และรวมถึงไม่เอาพรรคเพื่อไทยด้วย

แม้หลังการรัฐประหาร จะมีความหวังจากฝ่ายคนเสื้อแดงว่าเลือกตั้งเมื่อใดก็จะได้อำนาจกลับคืน

หากแต่จนถึงปัจจุบัน กระแสเสียงเรื่องการเลือกตั้งก็เริ่มแผ่ว

แม้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะยืนยันหนักแน่ในโรดแมปที่ประกาศไป

แต่ความไม่เชื่อมั่นเริ่มก่อเกิดขึ้น

 

ความเชื่อมั่นที่เริ่มถูกบั่นทอน เริ่มจากความเชื่อมั่นทางการเมือง

เมื่อมีการเลื่อนโรดแมปครั้งแล้วครั้งเล่า เมื่อมีการประกาศเริ่มต้นใหม่ในหลายรูปลักษณะ

ทั้งการเริ่มต้นใหม่โดยแม่น้ำ 5 สาย การเริ่มต้นใหม่โดยเปลี่ยนแปลงภายในแม่น้ำ 5 สาย

การเริ่มต้นใหม่โดยตั้งคณะกรรมการ คณะอนุกรรมการชุดใหม่

รวมไปถึงการเริ่มต้นใหม่ด้วยการออกกฎหมายออกมากำหนด

กำหนดในรูปของการปฏิรูป

ทุกประการคือความหวังเมื่อครั้งแรกมีการรัฐประหาร แต่พอเวลาผ่านพ้นไป 3 ปี

นี่ย่อมส่งผลสะเทือนต่อการบริหาร

ส่งผลต่อความเชื่อมั่นทางการเมือง

 

อีกความเชื่อมั่นหนึ่งที่ได้รับผลกระทบ และมีอานุภาพใต้น้ำŽ ที่รุนแรงกว่า คือ ความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจ

ขณะที่ตัวเลขทางเศรษฐกิจออกมาสวยหรู

สวยหรูจนถึงกับต้องปรับเป้าหมายการเติบโตทางเศรษฐกิจกันใหม่

ปรับให้เติบโตขึ้น เพราะดูเหมือนปัจจัยต่างๆ เอื้ออำนวย

หากแต่ผลการสำรวจความเป็นอยู่ของ รากหญ้าŽ กลับพบว่ากำลัง ถดถอยŽ

จำนวนหนี้สินภาคครัวเรือน ความเดือดร้อนของธุรกิจเอสเอ็มอี รวมถึงตัวเลขอื่นๆ ที่กำลังเป็นปัญหา

แสดงถึงความเป็นอยู่คน 2 กลุ่มในประเทศเดียวกัน แต่มีทิศทางของรายได้แตกต่างกัน

ทุนกำลังมีรายได้เพิ่ม แต่ประชาชนกลับมีรายได้น้อย

ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้ความเชื่อมั่นในถ้อยคำที่ว่าเศรษฐกิจกำลังฟื้นถูกบั่นทอน

ความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจถูกบั่นทอน

นั่นคือสภาพที่เกิดขึ้น

 

เหตุการณ์หลังวันที่ 25 สิงหาคม ยังมีเหตุการณ์อื่นๆ อีกหลายอย่างตามมา

มีการติดตามเส้นทางหลบหนีของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ มีคำโพสต์คิดถึง มีคำโพสต์ล้อเลียน

มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์กล่าวหา คสช.ว่า เปิดทาง ร่วมมือ

และอื่นๆ จึงทำให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์หนีไปได้

และมีคำชี้แจงจากฟากฝั่งของ คสช. ปฏิเสธรู้เห็นการ

หลบหนีไปของ น.ส.ยิ่งลักษณ์

ทั้งนี้หนึ่งในปรากฏการณ์ คือ ถ้อยความที่ ทักษิณ ชินวัตร ทวีต

“มงแต็สกีเยอ เคยกล่าวไว้ว่า ไม่มีความเลวร้ายใด ที่จะยิ่งไปกว่าความเลวร้ายที่ได้กระทำโดยอาศัยอำนาจตามกฎหมายหรือในนามของกระบวนการยุติธรรม” Ž

เป็นข้อความทวีตที่กล่าวขึ้นมาลอยๆ ไร้คำอธิบายเพิ่มเติม

แต่เป็นถ้อยความที่ถูกนำมาตีความ และมีความเชื่อมโยงถึงความเชื่อมั่น

ความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม

ไล่เรียงเหตุการณ์จากปี 2548 เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน จากความขัดแย้งที่เกิดขึ้นมาจนถึงบัดนี้

ประเทศไทยมีเพียงเรื่องเดียวที่คมชัด

นั่นคือ ความขัดแย้งระหว่างฝ่ายทักษิณ และฝ่ายต่อต้านทักษิณ

สังเกตได้จากอารมณ์กองเชียร์ที่ออกมาแสดงตนหลังจากมีปรากฏการณ์ต่างๆ ออกมา

อาทิ ไพฑูรย์ ธัญญา ที่เขียนกลอนหู กระทั่งเกิดความปั่นป่วนบานปลายอยู่ในแวดวงนักเขียนอยู่ในขณะนี้ ฯลฯ

นี่ย่อมเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนของความคมชัดเกี่ยวกับความขัดแย้ง

 

ขณะที่ความขัดแย้งระหว่างทักษิณกับฝ่ายต่อต้านชัดแจ้ง

เรื่องอื่นๆ ในประเทศกลับยังมืดสลัว

การเลือกตั้งครั้งหน้าจะเกิดขึ้นได้ตรงตามโรดแมปหรือไม่กลายเป็นคำถามที่ดังอยู่เนืองๆ

เศรษฐกิจที่กำลังเติบโตด้วยตัวเลขอันสวยงาม จะนำพาประเทศไปสู่ ความสุขŽ ได้จริงหรือไม่

เพราะหากรายได้ที่ประเทศได้รับคือความเหลื่อมล้ำของคนในชาติ

โอกาสจะทำให้ประเทศมีความสุขก็ดูยังห่างไกล

สุดท้ายคือเรื่องทางสังคม อันเป็นหัวใจของความปรองดอง

นั่นคือ ความรู้สึกว่ายุติธรรมหรือไม่ยุติธรรม

เมื่อ ทักษิณ ชินวัตร ทวีตครั้งแรกหลังจากเหตุการณ์วันที่ 25 สิงหาคม

เมื่อ ทักษิณ ชินวัตร ยกถ้อยคำของ มงแต็สกีเยอŽ ขึ้นมา

นักอาชญาวิทยาอย่างทักษิณ คงไม่ได้ยกถ้อยคำนี้ขึ้นมาลอยๆ

หากแต่ต้องการส่งสัญญาณอะไร คงต้องติดตาม

ติดตามผลที่จะเกิดขึ้นกับการเมือง เศรษฐกิจ และอาจจะเลยไปถึงสังคมในลำดับต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image