หอการค้า-ส.อ.ท.เอ็มโอยูไคดันเรน-เจซีซีไอร่วมหนุน10อุตฯเป้าหมาย

เมื่อเวลา 18.00 น. นายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย นายเจน นำชัยศิริ ประสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ได้ลงนาม ความร่วมมือ (เอ็มโอยู) ระหว่าง สมาพันธ์ธุรกิจญี่ปุ่น (Keidanren) หอการค้าและอุตสาหกรรมแห่งญี่ปุ่น (JCCI) เพื่อสนับสนุน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายของไทย โดยมีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นางอรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการบริหารการพัฒนาระเบียง เศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ร่วมเป็นสักขีพยาน

นายกลินท์ กล่าวว่า ความร่วมมือระหว่าง 2 ประเทศครั้งนี้ มีเป้าหมายร่วมกันถึงความร่วมมือใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศไทย และ และความร่วมมือในการพัฒนาอุตสาหกรรมที่มุ่งเน้นในประเทศไทยและญี่ปุ่น ประกอบด้วย การแลกเปลี่ยนข้อมูลการค้า การตลาดและเศรษฐกิจ การเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าบริการระหว่างกัน การให้ความช่วยเหลือและแลกเปลี่ยนเทคโนโลยีเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมของทั้งสองประเทศที่มีมาตรฐานสากล นอกจากนี้จะมีความร่วมมือในการแลกเปลี่ยนบุคคลากร องค์ความรู้ ตลอดจนการให้ความรู้สนับสนุนการเริ่มต้นธุรกิจขนาดเล็ก และบริษัทขนาดกลาง (เอสเอ็มอี) ผู้ประกอบการรุ่นใหม่ หรือ สตาร์ท อัพในอุตสาหกรรมที่มุ่งเน้นของทั้ง 2 ประเทศ

“การมาเยือนของนักธุรกิจญี่ปุ่นครั้งนี้ จำนวน 563 คนจาก 460 บริษัท ประกอบด้วย บริษัทด้านเกษตรและอาหาร ค้าปลีก สุขภาพ โลจิสติกส์ พลังงาน ท่องเที่ยว ไอที สิ่งทอเครื่องสำอาง ถือเป็นโอกาสที่ดีในการสร้างความเชื่อมั่นและโอกาสร่วมลงทุนระหว่างญี่ปุ่น ซึ่งจะสามารถช่วยตอบสนองการเกิดขึ้นของเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกหรือ อีอีซี และผลักดันประเทศไทยตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ตามที่รัฐบาล ได้ตั้งเป้าหมายไว้คาดว่าหลังจากลงนามความร่วมมือในครั้งนี้จะมีการประชุมเพื่อสร้างความร่วมมือให้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องได้อีกครั้งภายในเดือนหน้า”นายกลินท์ กล่าว

นายกลินท์ กล่าวว่า ความร่วมมือที่ทางสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย จะผลักดันกับทางฝ่ายญี่ปุ่น จะประกอบด้วยกัน 3 ซัพพลายเชน คือ 1. การค้าการลงทุนระหว่าง2 ประเทศให้มีปริมาณและมูลค่าเพิ่มมากขึ้น 2.การส่งเสริมด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร ซึ่งประเทศญี่ปุ่นมีความต้องการสินค้าเกษตรและอาหารจากประเทศไทยเป็นจำนวนมาก ซึ่งก็ถือเป็นโอกาสของประเทศไทยที่จะ ดันสินค้าของไทยให้ไปสู่ประเทศญี่ปุ่นเพิ่มมากขึ้น 3. การยกระดับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและบริการของประเทศไทย โดยประสานความร่วมมือกับประเทศญี่ปุ่น ซึ่งถือเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านภาคบริการเข้ามาร่วมสนับสนุนองค์ความรู้ให้กับผู้ประกอบการไทย รวมถึงการพัฒนาผลิตภัณฑ์บรรจุภัณฑ์สินค้าให้ได้รับการพัฒนามากยิ่งขึ้น คาดว่าภายในเดือนหน้าจะสามารถหารือความร่วมมือในกลุ่มย่อยกับทางฝ่ายญี่ปุ่นได้

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image