แบงก์ชาติรับแทรกแซงบาทดันทุนสำรองพุ่ง ยันดูใกล้ชิดไม่ให้แข็งค่าเร็วเกินไป

นายเมธี สุภาพงษ์ รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เปิดเผยถึงกรณีที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมีความเป็นห่วงสถานการณ์ค่าเงินบาทที่แข็งค่าในขณะนี้ และอยากให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง ว่า ธปท. รับทราบความเป็นห่วงดังกล่าว ซึ่งที่ผ่านมา ธปท. ได้มีการติดตามสถานการณ์ค่าเงินบาทอย่างใกล้ชิดและได้เข้าไปแทรงแซงค่าเงินบาทเป็นระยะเพื่อไม่ให้ค่าเงินบาทแข็งค่าเร็วเกินไป โดยตัวเลขสะท้อนออกมาจากตัวเลขเงินทุนสำรองระหว่างประเทศที่เพิ่มสูงขึ้น

อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ต้นปีค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น 8% เทียบดอลลาร์สหรัฐ เป็นการแข็งค่ามากที่สุดในภูมิภาค เป็นผลจากค่าเงินดอลลาร์สหรัฐที่อ่อนค่าลงเนื่องจากความไม่เชื่อมั่นด้านการนโยบายและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐ เงินทุนจึงไหลกลับเข้ามาในประเทศตลาดเกิดใหม่รวมทั้งไทย ทั้งนี้ ไทยยังมีปัจจัยหนุนในประเทศจากการเกินดุลเดินสะพัดสูงจากการส่งออกสินค้าและการท่องเที่ยวที่ขยายตัวดี มีต่างชาติเงินเข้ามาลงทุนโดยตรง รวมทั้งความการคลายกังวลจากปัจจัยการเมือง จึงมีเงินไหลเข้ามาในไทยมากเป็นพิเศษ และจากการติดตามการไหลเข้าของเงินทุนพบว่ามีการเก็งกำในบางจุด และเห็นการทำธุรกรรมค่าเงินบาทหนาแน่นในช่วงเวลาที่ค่าเงินบาทแข็ง จึงอยู่ระหว่างข้อมูลการทำธุรกรรมเพิ่มเติมของผู้มีถิ่นที่อยู่นอกประเทศจากธนาคารพาณิชย์เพื่อดูข้อมูลโดยละเอียด

นายเมธี กล่าวว่า สำหรับการลดอัตราดอกเบี้ยนั้น ขณะนี้ดอกเบี้ยนโยบายไทยที่ 1.50% อยู่ในระดับผ่อนคลายสะท้อนจากตัวเลขอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่แท้จริงที่ติดลบและยังอยู่ในระดับต่ำกว่าภูมิภาค ทั้งนี้ ในภาวะที่เศรษฐกิจขยายตัวดีและแนวโน้มดีขึ้นต่อเนื่องในปีหน้า จึงยังไม่จำเป็นต้องลดดอกเบี้ยนโยบาย หรือใช้นโยบายการเงินไปกระตุ้นเศรษฐกิจหรือเร่งการเติบโตเร็วมากเกินไป เพราะเมื่อใดที่เกิดปัญหาขึ้นกับเศรษฐกิจที่ขยายตัวมาก ๆ เศรษฐกิจก็จะหดตัวแรง ซึ่งนโยบายการเงินควรช่วยสนับสนุนให้เศรษฐกิจเติบโตได้ต่อเนื่องและไม่ผันผวน โดยศักยภาพการเติบโตเศรษฐกิจไทยระยะสั้นอยู่ที่ราว 3.5-4.0%

ด้านเงินเฟ้อปัจจุบันของไทยที่ยังต่ำกว่ากรอบเงินเฟ้อเป้าหมายที่ 1-4% นั้น ถือว่าไม่ใช่เรื่องผิดปกติและไม่น่าเป็นกังวล เพราะอยู่ภายใต้บริบทที่เศรษฐกิจกำลังขยายตัวดีขึ้น ยืนยันว่าแม้เงินเฟ้อต่ำแต่ไม่ใช่ภาวะเงินฝืด เพราะอัตราเงินเฟ้อปัจจุบันเป็นบวกและปรับเพิ่มขึ้นตามแนวโน้มเศรษฐกิจ ซึ่งแรงกดดันให้เงินเฟ้อต่ำมาจากด้านอุปทาน ทั้งราคาน้ำมันในตลาดโลกที่อยู่ระดับต่ำ ราคาอาหารสดที่ลดลงเนื่องจากผลผลิตที่ออกมาจำนวนมาก ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ผู้บริโภคได้ประโยชน์ เพราะต้นทุนประกอยการลดลงตามราคาน้ำมัน และซื้อสินค้าได้ในราคาถูก โดย ธปท.ประเมินว่าเงินเฟ้อจะเข้าสู่กรอบล่างที่ 1% ในช่วงปลายปีนี้หรือต้นปี 2561 อย่างไรก็ตาม การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในวันที่ 27 กันยายนนี้ ธปท.จะมีปรับประมาณการณ์เงินเฟ้อ รวมทั้งปรีบคาดการณ์คาดการณ์ตัวเลขเศรษฐกิจปีนี้และปี 2561 ด้วย

Advertisement

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตัวเลขเงินทุนสำรองระหว่างประเทศของไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาและล่าสุดสูงสุดเป็นประวัติการณ์ โดยข้อมูลรายเดือนระบุว่า เมื่อเดือนมกราคมอยู่ที่ 1.79 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยเดือนกุมภาพันธ์เพิ่มขึ้นเป็น 1.83 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ เดือนมีนาคมอยู่ที่ 1.80 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ เดือนเมษายนและพฤษภาคมอยู่ที่ 1.84 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ เดือนมิถุนายนเพิ่มขึ้นมาที่ 1.85 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ และเพิ่มขึ้นอีกในเดือนกรกฎาคมและสิงหาคมที่ 1.90 และ 1.96 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ตามลำดับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image