‘กรมชลฯ-กปน.’ลงนามร่วมมือจัดการน้ำอุปโภคบริโภคอย่างยั่งยืน

นายสัญชัย เกตุวรชัย อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยภายหลังพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจ (เอ็มโอยู) ว่าด้วยความร่วมมือในการบริหารทรัพยากรน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคอย่างยั่งยืนระหว่างกรมชลประทานและการประปานครหลวง (กปน.) ว่า การลงนามบันทึกความเข้าใจในครั้งนี้เป็นการเสริมสร้างความร่วมมือระหว่าง 2 หน่วยงาน เพื่อนำไปสู่การบริหารจัดการน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคให้เพียงพอกับความต้องการและสอดคล้องกับปริมาณน้ำต้นทุน ตลอดจนร่วมกันในการพัฒนาแหล่งน้ำและแลกเปลี่ยนความรู้เพื่อลดปัญหาปริมาณน้ำและคุณภาพน้ำสำหรับการอุปโภคบริโภคอย่างยั่งยืน โดยกรมชลประทานและ กปน. จะมีการตั้งคณะทำงานขึ้นมา เพื่อร่วมกันใช้ทรัพยากรน้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุด และประสานงานเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงาน อาทิ การสนับสนุนข้อมูลการจัดทำแผนงานโครงการในอนาคต กำหนดแผนและการจัดสรรน้ำสำหรับการผลิตน้ำประปาของการประปานครหลวง ดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาร่วมกันในช่วงเวลาที่เกิดวิกฤติการณ์น้ำดิบด้อยคุณภาพ รวมทั้งแลกเปลี่ยนความรู้และเสริมสร้างทักษะร่วมกันของบุคคลากรทั้ง 2 หน่วยงาน

นายสัญชัยกล่าวว่า นอกจากนี้กรมชลประทานจะสนับสนุนให้กปน.เข้าร่วมเป็นตัวแทนในคณะกรรมการจัดการชลประทาน (เจเอ็มซี) ของพื้นที่ลุ่มน้ำทั้งฝั่งตะวันออกและตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำเกิดประโยชน์สูงสุด สอดคล้องกับภารกิจของกรมชลประทานที่นอกจากจะมีภารกิจในด้านการพัฒนาแหล่งน้ำและเพิ่มพื้นที่ชลประทานแล้ว ยังจะต้องบริหารจัดการน้ำอย่างบูรณาการให้เพียงพอต่อความต้องการใช้น้ำทุกภาคส่วน รวมทั้งยังสอดคล้องกับยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปีของรัฐบาล ที่กรมชลประทานได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบยุทธศาสตร์การจัดการน้ำเพื่ออุปโภคบริโภคอีกด้วย

นายปริญญา ยมะสมิต ผู้ว่าการ กปน. กล่าวว่า กปน. มีภารกิจในการสำรวจ จัดหาแหล่งน้ำดิบพร้อมผลิตและให้บริการน้ำประปาที่มีคุณภาพตามเกณฑ์มาตรฐานน้ำดื่มขององค์การอนามัยโลก ให้ประชาชนผู้ใช้น้ำในเขตจังหวัดกรุงเทพมหานคร นนทบุรี และสมุทรปราการ จำนวนกว่า 13 ล้านคน ปัจจุบันสามารถให้บริการน้ำประปา คิดเป็น 99% ของพื้นที่ที่ให้บริการ ผลิตจ่ายน้ำเฉลี่ยวันละ 5.9 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ขณะนี้ความต้องการใช้น้ำในทุกภาคส่วนเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากสถิติเมื่อปี 2559 ที่ผ่านมา มีการใช้น้ำไปเพื่อการอุปโภคบริโภค อยู่ที่ 2,172.34 ล้าน ลบ.ม. คาดว่าในปี 2590 จะเพิ่มสูงขึ้นถึง 2,800 ล้าน ลบ.ม. เนื่องจากการเพิ่มของจำนวนประชากร การขยายตัวของภาคบริการด้านการท่องเที่ยว ด้านการค้าขาย ตลอดจนภาคอุตสาหกรรม ซึ่งการลงนามเอ็มโอยูในครั้งนี้ ถือเป็นนิมิตหมายที่ดีที่จะนำไปสู่การใช้ทรัพยากรน้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุด อันจะเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่พี่น้องประชาชน และจะเป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้การบริหารทรัพยากรน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคเกิดความยั่งยืน และเพียงพอกับความต้องการที่เพิ่มสูงขึ้นในอนาคตต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image