‘ขบ.-ทรูฯ’ร่วมพัฒนาระบบ GPS รถบรรทุกเพื่อยกระดับบริการสาธารณะ

นายสนิท พรหมวงษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางบก เปิดเผยในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเพื่อพัฒนาระบบสารสนเทศและการสื่อสาร ตามโครงการมั่นใจทั่วไทย รถใช้ GPS ระหว่างกรมการขนส่งทางบก และ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ว่าการร่วมมือในครั้งนี้เป็นการดำเนินงานร่วมกันเพื่อสานต่อนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ ที่ต้องการส่งเสริมการดำเนินกิจการของภาคธุรกิจโลจิสติกส์ และเป็นส่วนหนึ่งของมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพความปลอดภัยในรถโดยสารสาธารณะ ทั้งยังสอดคล้องกับนโยบายเพื่อสนับสนุนและจูงใจให้ผู้ประกอบการรถโดยสารสาธารณะ รถบรรทุก รถแท็กซี่ และรถประเภทอื่นๆ ตามที่กรมการขนส่งทางบกกำหนดให้ติดตั้ง GPS Tracking เพื่อติดตามการเดินรถ ซึ่งเป็นเครื่องมือทางการบริหารจัดการด้านความปลอดภัยที่สำคัญ

นายสนิทกล่าวว่า ทางกรมการขนส่งทางบกตั้งเป้ามีรถที่ติด GPS Tracking รวมทั้งสิ้น 1 ล้านคัน ภายในปี 2562 โดยกลุ่มเป้าหมายแบ่งเป็น รถโดยสารสาธารณะ 200,000 คัน, รถบรรทุก หรือรถลากจูง 500,000 คัน และรถแท็กซี่ 100,000 คัน และรถขนส่งของผู้ประกอบการรายย่อย 200,000 คัน

นายสนิทกล่าวว่า นอกจากนี้ ในเดือนพฤศจิกายน 2560 กรมการขนส่งทางบกเริ่มขยายขอบเขตการใช้ประโยชน์จากการติดตั้ง GPS Tracking ในรถแท็กซี่ภายใต้โครงการ Taxi OK และ Taxi VIP ซึ่งประชาชนจะได้รับประสบการณ์ตรงจากการใช้บริการรถแท็กซี่มาตรฐานใหม่ที่เหนือกว่าทั้งด้านคุณภาพความปลอดภัยและการให้บริการ ควบคู่กับการกำกับ ควบคุม คัดกรอง และบังคับใช้กฎหมายจากภาครัฐ รวมทั้งภายในปีนี้ กรมการขนส่งทางบกจะเริ่มดำเนินการติดตั้งจอแสดงตารางเวลาการเดินรถแบบเรียลไทม์ที่สถานีขนส่งผู้โดยสาร (Smart Bus Terminal) ในสถานีขนส่งผู้โดยสารที่ดำเนินการโดยกรมการขนส่งทางบกและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรวม 85 แห่งทั่วประเทศ เพื่อให้ผู้โดยสารทราบเวลาและเส้นทางการเดินรถ ซึ่งเป็นโครงการต่อยอดใช้ประโยชน์จากระบบ GPS Tracking ที่ติดตั้งในรถโดยสารสาธารณะ โดยคาดว่าภายในปี 2561 จะติดตั้งจอแสดงตารางเวลาแล้วเสร็จทุกสถานี

นายวิเชาวน์ รักพงษ์ไพโรจน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ (ร่วม) ด้านการพาณิชย์ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่นฯ กล่าวว่า กลุ่มทรู มีความพร้อมนำศักยภาพเครือข่ายทรูมูฟ เอช ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของระบบ GPS Tracking ในการเชื่อมต่อกับฐานข้อมูลออนไลน์ของศูนย์บริหารจัดการเดินรถระบบ GPS กลาง และเติมเต็มการใช้งานในยุคดิจิทัลให้ประชาชนทั่วไปสามารถติดตามการเดินรถผ่าน Application : DLT GPS ของกรมการขนส่งทางบก บนสมาร์ทโฟนทุกระบบได้อีกด้วย พร้อมนำเสนอโซลูชั่นที่จะช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถบริหารจัดการธุรกิจขนส่งได้อย่างคล่องตัวและช่วยบริหารค่าใช้จ่ายได้อย่างมีประสิทธิภาพ ด้วย “Business IoT SIM” ที่สามารถใช้งานร่วมกับอุปกรณ์ GPS และกล้องในรถที่ต้องมีการส่งข้อมูลขนาดใหญ่ เชื่อมต่อกับฐานข้อมูลกลางที่จัดเก็บบนระบบคลาวด์และดาต้าเซ็นเตอร์ ซึ่งผู้ประกอบการสามารถบริหารจัดการ ได้ด้วยตัวเอง และโซลูชั่น “True Smart Transport with DLT” ที่ผ่านการรับรองมาตรฐานจากกรมการขนส่งทางบก ให้บริการ GPS Tracking มีอุปกรณ์ติดตั้งครบชุด สามารถบันทึกภาพความละเอียดสูง จัดเก็บข้อมูลบนระบบคลาวด์ พร้อมมีระบบแจ้งเตือน สามารถรองรับการทำงานได้ทั้งบนเครื่องคอมพิวเตอร์ สมาร์ทโฟน และแท็บเล็ต ตอบโจทย์การดำเนินธุรกิจโลจิสติกส์ให้กับผู้ประกอบการไทยในยุคดิจิทัลได้อย่างครบวงจร

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image