ถอดรหัส… “ดาร์ตาญังกับสามทหารเสือ” จินตนิยายอิงประวัติศาสตร์ชั้นเลิศของโลก

(ซ้าย) ฉบับไตรภาค (ขวา) สมบัติแสนรักของ อ.วัลยา

และแล้ว “ดาร์ตาญังกับสามทหารเสือ” วรรณกรรมอิงประวัติศาสตร์ระดับโลกเรื่องเยี่ยมจากปลายปากกาของ อเล็กซองด์ร์ ดูมาส์ ฉบับสมบูรณ์ก็ได้เวลาเผยตัวสู่สายตาชาวโลก

เป็นเวลานานกว่า 2 ปี เพื่อให้ผลงานแปลชิ้นนี้มีความสมบูรณ์ที่สุดในการถ่ายทอดภาษาและเนื้อความได้ตรงตามต้นฉบับของผู้ประพันธ์มากที่สุด

วัลยา วิวัฒน์ศร อดีตอาจารย์คณะอักษรศาสตร์ สาขาภาษาฝรั่งเศส จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เจ้าของผลงานแปล “ก็องดิด” และ “ชุดประดาน้ำกับผีเสื้อ” ผู้แปล Les Trois Mousquetaires บอกว่า เลอ ทัวส์ มูเกอแตร์ เป็นประวัติศาสตร์ของดาร์ตาญัง ซึ่งเป็นบุคคลที่มีตัวตนจริงในประวัติศาสตร์ช่วงศตวรรษที่ 17 สมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ 13-14

ดูมาส์เป็นคนศตวรรษที่ 19 แต่บรรยากาศยังเป็นบรรยากาศของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ซึ่งคนฝรั่งเศสก็ยังอยากจะรู้ว่าประวัติศาตร์ของชาติเป็นอย่างไร เปลี่ยนแล้วดีหรือไม่ อย่างไร โดยในเรื่อง “ดาร์ตาญังกับสามทหารเสือ” นั้นเป็นการหยิบประวัติศาสตร์ในช่วงที่มีสงครามปิดล้อมเมืองลา โรแชล ในยุคสมัยที่ภายในประเทศฝรั่งเศสเองมีความขัดแย้งด้านศาสนา ลา โรแชล เป็นโปรแตสแตนท์ แต่ศาสนาประจำชาติคือ คาทอลิก จึงมีการปิดล้อมฝรั่งเศสด้วยกันเองเพื่อกำจัดโปรแตสแตนท์

Advertisement

สำหรับ ดูมาส์ ได้รับยกย่องเป็นผู้เขียนนวนิยายอิงประวัติศาสตร์ฝรั่งเศส มีงานเขียนมากกว่า 100 เรื่อง และที่เป็นบทละครอีก 90 กว่าชิ้น ส่วนใหญ่เนื้อหาว่าด้วยประวัติศาสตร์ ซึ่งเกี่ยวกับพระราชา รวมทั้งเรื่องนี้ด้วย

อย่างไรก็ตาม “ดาร์ตาญังกับสามทหารเสือ” ฉบับสำนักพิมพ์มติชน แม้จะไม่ใช่การแปลเป็นภาษาไทยครั้งแรก โดยก่อนหน้านี้สำนักพิมพ์ก้าวหน้าเคยพิมพ์ขึ้นในปี 2507 แต่ก็เป็นการแปลแบบไม่สมบูรณ์ และแปลจากต้นฉบับภาษาอังกฤษ

ในงานเสวนาเปิดตัวหนังสือ ดาร์ตาญังกับสามทหารเสือ ที่หอสมุกเมือง กรุงเทพมหานคร


วัลยา วิวัฒน์ศร เลือกที่จะแปลเล่มนี้ ด้วยเหตุผลที่ว่า เป็นหนังสือที่มีเสน่ห์ มีคุณค่าทางมิติเวลา ส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น จากประเทศสู่ประเทศ จากซีกโลกสู่ซีกโลก จึงอยากให้คนไทยได้อ่านฉบับสมบูรณ์ พร้อมกับบอกว่า…

Advertisement

“สนุก และมีความสุขมากระหว่างการแปล ความสุขของคนแปลหนังสือคือ เมื่อเราเจอปัญหาเราจะแก้ปัญหาอย่างไร เราจะถ่ายทอดความหมายในภาษาไทยให้ได้ตรงกับต้นฉบับได้อย่างไร ถ้าทำได้นั่นเป็นความสุข”

ดาร์ตาญังกับพระอภัยมณี

ขณะที่ กล้า สมุทวณิช นักเขียนและคอลัมนิสต์ แสดงทรรศนะผ่านประสบการณ์ตนเองว่า สถานะของเรื่องดาร์ตาญังกับสามทหารเสือในฝรั่งเศส บรรยากาศมีความใกล้เคียงกับพระอภัยมณี ซึ่งเด็กทุกคนได้อ่าน ทุกคนได้รู้จัก แต่ก็ไม่มีใครพูดถึงอย่างชัดเจน

จุดเด่นของเรื่องนี้ คือ มิตรภาพ เรื่องนี้เป็นมิตรภาพระหว่างอัศวิน ถ้าเทียบกับคนฝรั่งเศสในปัจจุบัน กล้าบอกว่า คนฝรั่งเศสที่ได้รู้จักเป็นคนในศตวรรษที่ 21 แม้จะมีมิตรภาพ แต่เห็นไม่ชัดเจนเท่าที่ปรากฏในเรื่องนี้ คือถ้าเป็นเพื่อนกันแล้วจะช่วยเหลือกัน มีความเป็นพี่น้องมากกว่า แต่ถามว่าชัดแบบในหนังสือมั้ย คงไม่ถึงขนาดนั้น

“ผมประทับใจในวัฒนธรรมการอ่านของคนฝรั่งเศส อย่างบางครั้งเราอ่านเท็กซ์ (text) ของอาจารย์ฝรั่ง จะใช้บริบทของวรรณกรรมมาใส่ อย่างบอกว่า หลักกฎหมายนี้มาจากต่างประเทศเหมือนกับ “กัลลิเวอร์” ในวงการกฎหมายฝรั่งเศส จะหมายถึงสิ่งแปลกปลอมเหมือนยักษ์ที่เข้ามาในระบบกฎหมายฝรั่งเศส ซึ่งเราจะเห็นการเปรียบเปรยแบบนี้ในงานเขียนวิชาการของฝรั่งเศสเป็นปกติ แสดงให้เห็นว่าสำหรับเขา วรรณกรรมเป็นเรื่องพื้นฐาน เด็กทุกคนต้องได้อ่านต้องได้เรียน”

กล้า สมุทวณิช

โลกอวตารในงานดูมาส์

คอลัมนิสต์ผู้เคยใช้ชีวิตช่วงหนึ่งในฝรั่งเศส ยังชื่นชมความสามารถในการประพันธ์ของอเล็กซองด์ร์ ดูมาส์ ว่ามีเทคนิคการประพันธ์ที่แพรวพราว ซึ่งแม้ “ดาร์ตาญังกับสามทหารเสือ” จะเขียนขึ้นเมื่อ 200 กว่าปีก่อน ใช้เทคนิคการเขียนด้วยมุมมองของพระเจ้า ถือเป็นรูปแบบที่คลาสสิกที่ก็ยังใช้ได้อยู่ สมควรที่นักเขียนในยุคปัจจุบันจะได้ศึกษาเรียนรู้

“สำหรับนักอ่าน เราได้เห็นฉากของประเทศฝรั่งเศสในศตวรรษที่ 17 การเรียนประวัติศาสตร์หรือการอ่านหนังสือเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ เราจะรู้ว่าในยุคนั้นเกิดอะไรขึ้น แต่เราไม่รู้บรรยากาศ หนังสือเล่มนี้ทำให้เราได้รู้ว่าสมัยนั้นเกิดอะไรขึ้น ซึ่งแม้ว่าจะเป็นการเขียนถึงเหตุการณ์เมื่อ 200 กว่าปีก่อนหน้า แต่ด้วยความสามารถของนักเขียนทำให้เราได้รู้ว่าถนนสมัยนั้น บรรยากาศของปารีสในยุคนั้นเป็นอย่างไร ซึ่งเป็นสิ่งที่หนังสือประวัติศาสตร์ทำไม่ได้ แต่อเล็กซองด์ร์ ดูมาส์ ทำได้ดีมาก ทำให้เราเหมือนหลุดเข้าไปในฝรั่งเศสยุคนั้น เดินตามหลังดาร์ตาญัง เดินตามสามทหารเสือบนถนนในปารีส ชนิดที่แทบจะได้กลิ่นเลย เป็นความวิเศษของหนังสือเล่มนี้” กล้าบอก และว่า

“ความโดดเด่นที่สุดของหนังสือเล่มนี้คือความสนุก สามารถเอาเรื่องประวัติศาสตร์มาเล่าให้เป็นเรื่องการผจญภัยที่สนุกได้

“…เหมือนได้ดูหนัง เหมือนเล่นเกม ได้ไปพักโรงเตี๊ยม ได้เห็นว่าในโรงเตี๊ยมนั้นมีอะไร ซึ่งในเรื่องเรียกเรือนแรม

“ผมไม่ได้อยู่ปารีส แต่บางอย่างเราก็ได้ยังเห็น เช่น ย่านชัยโย ในหนังสือบรรยายว่าเป็นย่านที่เปลี่ยว มีโจรด้วย เข้าใจว่าปัจจุบันคือ ปาเล่ส์ เดอ ชัยโย เป็นที่ตั้งของหอไอเฟล ส่วนวังลูฟว์ร์ก็คือ พิพิธภัณฑ์ลูฟว์ร์ในปัจจุบัน….”

ฝรั่งเศส ศ.21 ท้าดวลกันด้วยวิชาการ

แน่นอน ถ้าเป็นอัศวินสิ่งที่เลี่ยงมิได้ย่อมเป็นการท้าดวล เช่นในตอนเปิดเรื่องที่ดาร์ตาญังเข้าไปพบเมอสิเยอร์เดอ เทรวิล หมายจะเป็นทหารเสือราชินี แต่ที่สุดก็กลายเป็นว่าไปท้าดวลกับทหารเสือทั้งสาม

กล้าบอกว่า เมื่อเปรียบเทียบความละม้ายคล้ายคลึงในวิถีชีวิตที่ย้อนกลับไปเมื่อ 200 กว่าปีก่อนกับปัจจุบัน สิ่งที่รู้สึกว่ายังคงมีอยู่ของคนฝรั่งเศสนอกจากความเจ้าชู้ของผู้ชายฝรั่งเศสแล้ว อีกประเด็นที่น่าสนใจคือ การท้าดวล

“คนฝรั่งเศสในปัจจุบันไม่ได้ดวลกันด้วยกระบี่ แต่ดวลกันด้วยการถกเถียง ด้วยวิชาความรู้ด้วยปรัชญาและด้วยวิธีคิด เช่น ถ้าในชั้นเรียนจะประลองกันด้วยการถกในเชิงปรัชญา โดยอาจารย์จะยิงคำถามขึ้นมา ยกเอาสถานการณ์ในปัจจุบันขึ้นมาให้นักศึกษาได้ถกเถียงกันเป็นที่สนุกสนาน และดวลกันแล้วจบ เหมือนตอนจบที่ดาร์ตาญังได้ดวลกับคาร์ดินัล ดวลกันแล้วจบก็คือจบ เป็นนิสัยของคนฝรั่งเศสที่ยังพัฒนามาจนถึงทุกวันนี้”

สามทหารเสือ ไม่ใช่งานของดูมาส์

แม้ว่า ดาร์ตาญังกับสามทหารเสือ จะเป็นหนึ่งในสองเรื่องที่สร้างชื่อเสียงให้กับอเล็กซองด์ร์ ดูมาส์ อย่างมาก และถือเป็นสัญลักษณ์ของเขาเลยก็ว่าได้ แต่ทว่า อาจารย์วัลยาบอกว่า แท้ที่จริงแล้ว ดูมาส์ ไม่ใช่ผู้ประพันธ์เพียงคนเดียว

มาเก้ต์ (โอกุสต์ มาเก้ต์) ครูสอนวิชาประวัติศาสตร์ในโรงเรียนมัธยมปลายชาร์ลมาญที่ปารีส ที่เราเข้าใจกันว่าเป็นผู้ร่วมงาน แท้ที่จริงคือ เจ้าของบทประพันธ์ตัวจริง

โดยมาเก้ต์เป็นผู้หาข้อมูลบุคคลและเกร็ดต่างๆ จากบันทึกความทรงจำและพงศาวดาร ร่วมกันวางโครงเรื่องและเขียนบางบทบางตอน ซึ่งดูมาส์จะแก้ไขด้วยศิลปะการประพันธ์ของเขา

เคยมีผู้บันทึกว่า จากข้อเขียนยาวประมาณ 20 บรรทัดของมาเก้ต์ ดูมาส์จะขยายออกได้ถึง 60-70 บรรทัด

อย่างไรก็ตาม การที่ดูมาส์ใช้ชื่อตนเองเป็นผู้ประพันธ์ก็มีที่มาที่ไป อาจารย์วัลยาบอกว่า หลังจากเขียนเรื่อง เลอ เชอวาลิเย ดามองตาล (Le Chevalier d”Harmental) แล้วลงชื่อร่วมกันเพื่อนำไปตีพิมพ์ลงหนังสือพิมพ์ ปรากฏว่า ถ้าใช้ชื่อ ดูมาส์ เป็นผู้แต่ง จะได้รับค่าจ้าง 3 ฟรังก์ แต่ถ้าลงชื่อ 2 คนจะได้แค่ 30 ซู (100 ซู = 1 ฟรังก์) จึงใช้ชื่อ ดูมาส์เพียงคนเดียว โดยมาร์เก้ได้ค่าตอบแทนสำหรับเรื่องนี้ 8,000 ฟรังก์

ดังมีหลักฐานที่ปรากฏชัดเจนคือ จดหมายที่มาร์เก้ต์เขียนถึงดูมาส์ หลังจากมีผู้ฟ้องสมาคมนักประพันธ์ว่าดูมาส์แอบอ้างผลงานผู้อื่นเป็นของตนเพื่อเป็นการแก้แค้น ใจความตอนหนึ่งว่า…

“…เพื่อล้างมลทินที่มีผู้กล่าวหาเราอย่างต่ำช้าและเพื่อมอบเกียรติยศยิ่งใหญ่ซึ่งข้าพเจ้าไม่เคยกล้าคาดหวังแก่ข้าพเจ้า นั่นก็คือ ประกาศว่าข้าพเจ้าได้เขียนนวนิยายร่วมกับท่านหลายเรื่อง…ข้าพเจ้าขอประกาศว่านับแต่วันนี้เป็นต้นไป ข้าพเจ้าขอสละสิทธิ์ทุกประการในการเป็นเจ้าของและในการตีพิมพ์ผลงานต่อไปนี้ ซึ่งเราได้เขียนร่วมกัน ได้แก่ Le Chevalier d”Harmental, Sylvandire, Les Trois Mousquetaires, …ข้าพเจ้ารู้สึกเป็นสุขและเป็นเกียรติยิ่งที่ได้เป็นเพื่อนร่วมงานและเพื่อนแท้ของนักประพันธ์ฝรั่งเศสผู้มีชื่อเสียงที่สุด….”

สามทหารเสือเป็นเรื่องอิงประวัติศาสตร์ที่ประสบความสำเร็จที่สุด ดูมาส์คิดว่าจะนำประวัติศาสตร์มาทำเป็นนวนิยาย จึงเขียนมา 100 กว่าเรื่อง และเป็นประวัติศาสตร์ฝรั่งเศสจนถึงสมัยปฏิวัติ จน มิชาเล่ ซึ่งเป็นบิดาแห่งประวัติศาสตร์สมัยเดียวกับดูมาส์ บอกว่า “นวนิยายของท่านสอนประวัติศาสตร์ให้กับคนฝรั่งเศสมากกว่านักประวัติศาสตร์ฝรั่งเศสทั้งหลายร่วมกัน”

ถามว่า “ดาร์ตาญังกับสามทหารเสือ” เล่มนี้ถือเป็น “มาสเตอร์พีซ” ของดูมาส์ได้หรือไม่? อาจารย์วัลยาบอกว่า

คำว่า “มาสเตอร์พีซ” ควรใช้กับผู้ประพันธ์มากกว่า จากการที่ได้อ่านภาค 2 รู้สึกได้ถึงความละเมียดละไม ซึ่งเกิดจากการสั่งสมประสบการณ์ ยิ่งเขียนยิ่งทำได้ดี

ดาร์ตาญังกับสามทหารเสือ แจ็กเก็ตปกออกแบบโดย ยุรี เกนสาคู


ทำไมต้อง “ดาร์ตาญังกับสามทหารเสือ”

3 คำถาม เปิดใจ สุพจน์ แจ้งเร็ว บรรณาธิการเล่ม

ที่มาของการเลือกพิมพ์หนังสือ “ดาร์ตาญังกับสามทหารเรือ” ทั้งที่เป็นนวนิยายเรื่องยาวกว่า 800 หน้า?

การแปลและจัดพิมพ์นวนิยายเรื่องนี้ ไม่ได้เกิดขึ้นลอยๆ หรือปัจจุบันทันด่วนอะไร สำนักพิมพ์มติชนมีแนวคิดที่จะจัดพิมพ์งานวรรณกรรมระดับโลกมาก่อนแล้ว และก็ได้พิมพ์มาแล้วหลายเล่มเช่นเรื่อง ก็องดิด ของวอลแตร์ และ ราชมรรคา ของมาร์ลโรซ์ เราเรียกว่าชุด world selection มาถึงเรื่อง ดาร์ตาญังฯ ผู้แปลคืออาจารย์วัลยาเห็นว่าน่าแปล เพราะเป็นงานวรรณกรรมระดับโลกอีกเล่มหนึ่ง ที่ยังมีคุณค่า และอ่านได้สนุก แม้ว่าจะเขียนมานานแล้วก็ตาม เทียบกันแล้วช่วงเวลาที่ผู้เขียนเขียนขึ้นนั้นจะตรงกับสมัยรัชกาลที่ 3 ที่ 4 ของไทย

เรื่องนี้ความจริงเคยมีผู้แปลมาก่อน ในคำนำของสำนักพิมพ์ให้รายละเอียดไว้บ้างแล้ว แต่ฉบับที่แปลมาก่อนนั้น แปลอย่างย่อบ้าง และแปลจากฉบับภาษาอังกฤษ เมื่อผู้เชี่ยวชาญวรรณคดีฝรั่งเศสและมีผลงานแปลมาไม่น้อยอย่างอาจารย์วัลยาเสนอว่าวรรณกรรมเอกชิ้นนี้น่าจะได้รับการแปลใหม่ให้ครบสมบูรณ์จากภาษาฝรั่งเศส ซึ่งเป็นภาษาเดิม ประกอบกับสำนักพิมพ์มติชนเองก็ต้องการพิมพ์งานที่มีคุณค่าออกเผยแพร่ต่อนักอ่าน นี่แหละ ดาร์ตาญังกับสามทหารเสือ ฉบับแปลใหม่ของสำนักพิมพ์มติชนจึงเกิดขึ้น ความยาวของเรื่องไม่ใช่ปัญหา ขอเพียงเป็นหนังสือมีคุณค่าน่าอ่านเท่านั้น

ความแตกต่างระหว่างวรรณกรรมอิงประวัติศาสตร์ของฝรั่งเศสกับวรรณกรรมอิงประวัติศาสตร์ไทย?

ในแง่ของความเป็นวรรณกรรมอิงประวัติศาสตร์แล้ว โดยลักษณะของมันเอง ไม่ว่าจะเป็นของฝรั่งเศส อังกฤษ จีน ญี่ปุ่น ไทย มันก็ไม่ต่างอะไรกัน เพราะหลักนั้น ถ้าพูดง่ายๆ ก็คือเอาเรื่องหรือตัวละครและเหตุการณ์ต่างๆ นานาที่ผู้เขียนจินตนาการขึ้นหรือวาง plot ไว้ใส่เข้าไปในอดีตหรือประวัติศาสตร์ให้กลมกลืนแนบเนียน เรื่อง ดาร์ตาญังฯ นั้นมีทั้งตัวละครจริง ตัวละครแต่ง มีทั้งเหตุการณ์จริง และเหตุการณ์ที่ผู้เขียนแต่งขึ้น หรือแม้แต่ในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง แต่ผู้แต่งทำให้มันสอดคล้องกับเรื่องที่วาง plot ไว้ก็มี คุณดูตอนที่เฟลตันฆ่าดยุคออฟบักกิงแฮมเป็นตัวอย่างเหตุการณ์ตอนนี้เกิดขึ้นจริงในประวัติศาสตร์ แต่เบื้องหลังจะแค่ไหนอย่างไรเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ผู้เขียนเอามาใช้เป็นเหตุการณ์ที่วางแผนโดยมิลาดี ซึ่งเป็นตัวละครในจินตนาการ คุณลองอ่านงานของกิมย้งดูก็ได้ อย่าง มังกรหยก หรือ จอมใจจอมยุทธ์ จะเห็นว่ามีทั้งตัวละครแต่ง บุคคลจริง เหตุการณ์แต่ง เหตุการณ์จริง สอดร้อยเข้าด้วยกันอย่างไม่สะดุด นี่คือนวนิยายอิงประวัติศาสตร์ชั้นดี ไม่ใช่สักแต่ว่าเอาพงศาวดารมากางแล้วยัดตัวละครลงไป

นวนิยายอิงประวัติศาสตร์ไม่ใช่กล่าวแค่เหตุการณ์ในอดีต หรืออาหารการกิน การแต่งกายทรงผม ฯลฯ จากที่เราทราบในยุคปัจจุบันเท่านั้น แต่ผู้เขียนจะต้องเข้าใจอารมณ์ ความรู้สึกค่านิยม ของอดีตจนเอามาย่อยสลายให้กลายเป็นพื้นของนวนิยายได้ คนสมัยนั้นถือสาเรื่องอะไร โกรธเรื่องอะไร ตลกกับเรื่องอะไร อะไรคืออาการที่แสดงการยกย่อง และเหยียดหยาม ฯลฯ ทั้งหมดนี้ คือ ความหมายของนิยายอิงประวัติศาสตร์ ซึ่งผู้เขียนต้องค้นคว้าและเข้าใจกับมันจริงๆ จะว่าไปแล้วนี่ก็เป็นงานของนักประวัติศาสตร์เหมือนกัน สำนัก Annals ของฝรั่งเศสถนัดเรื่องแบบนี้

มองในแง่นี้ ความแตกต่างของนวนิยายอิงประวัติศาสตร์ระหว่างแต่ละประเทศขึ้นกับฝีมือความสามารถของผู้เขียนมากกว่า แต่ว่าแต่ละชาติก็มีวัฒนธรรมในการนำเสนอของตัวเอง อันนี้เทียบกันยาก

ในฐานะผู้ที่ส่งเสริมการอ่าน สิ่งที่คาดว่าผู้อ่าน โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ได้รับจากการอ่านหนังสือเล่มนี้คืออะไร?

การอ่านงานวรรณกรรมชั้นเยี่ยมหรือวรรณคดีชั้นอมตะนั้นคงไม่ต้องแบ่งเป็นนักอ่านรุ่นเก่าหรือรุ่นใหม่ พวกเราเองก็เป็นคนรุ่นใหม่ของคนรุ่นก่อนหน้าเรา ก็ยังอ่านเรื่องเดียวกัน ลาฟคาดิโอ เฮอร์น ฝรั่งที่หลงใหลญี่ปุ่นบอกว่า ลักษณะสำคัญของวรรณคดีก็คือมันสามารถจะเอามาอ่านอีกกี่ครั้งๆ ก็ได้ ความหมายก็คือว่า ในงานระดับนี้มักจะมีสิ่งที่เราพบใหม่ทุกครั้งที่อ่านใหม่ คนรุ่นไหนก็อ่านได้เหมือนกัน แม้ภูมิหลังสังคมจะต่างกันก็ตาม ขึ้นอยู่กับว่าคุณจะหาอะไร “เอาเอง” ในงานวรรณกรรมนั้นๆ

สำหรับเรื่อง ดาร์ตาญังกับสามทหารเสือ ซึ่งเป็นวรรณกรรมผจญภัยอิงประวัติศาสตร์ สิ่งแรกก็คือความสนุกตื่นเต้น การวางโครงเรื่องที่ทำให้เราอยากติดตาม สำบัดสำนวนของผู้เขียน รวมทั้งบุคลิกลักษณะของตัวละครแต่ละตน ที่ผู้เขียนถ่ายทอดออกมา คุณลองดู เดอเทรวิล ดูคาร์ดินาล ตัวละครเหล่านี้ไม่ธรรมดา แต่ผู้เขียนสามารถแสดงกิเลสของความเป็นมนุษย์ออกมาให้เราเห็นได้อย่างชัดเจน หรือแม้กระทั่งบุคลิกอย่างเมอร์ซิเยอร์โบนาซิเยอซ์ก็เหมือนกัน

สำหรับคนรุ่นใหม่ที่อยากเป็นนักเขียนนิยาย โดยเฉพาะนิยายอิงประวัติศาสตร์ เรื่อง ดาร์ตาญังกับสามทหารเสือ เป็นแบบเรียนที่ดีที่สุด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image